การกลับมาของกองทุนร่วมลงทุน


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อปีกลาย กองทุนร่วมลงทุนได้ลงทุนในฝรั่งเศสไปทั้งสิ้น 7.5 พันล้านยูโร ซึ่งมากกว่าในเยอรมนี 2 เท่าทั้งๆ ที่เยอรมนีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าฝรั่งเศสเท่าครึ่ง และเป็นครั้งแรกที่การลงทุนของกองทุนร่วมลงทุนในฝรั่งเศส สามารถแซงหน้าอังกฤษ ซึ่งปกติมีมูลค่าการลงทุนของกองทุนร่วมลงทุนสูงที่สุดในยุโรปได้ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดาสำหรับประเทศที่ยังมีการแทรกแซงเศรษฐกิจโดยรัฐอย่างฝรั่งเศส

Maurice Tchenio มองเห็นอนาคตของกองทุนร่วมลงทุน จึงได้ร่วมกับ Ronald Cohen จากลอนดอนและ Alan Patricof นักลงทุนประเภท venture capitalist ชื่อดังของสหรัฐฯ ก่อตั้งกองทุนร่วมลงทุน Apax ขึ้นในฝรั่งเศสประเทศบ้านเกิดของ Tchenio ซึ่งนับเป็นกองทุนร่วมลงทุนรายแรกๆ ของสหรัฐฯ และยุโรป แต่ Tchenio ต้องพบอุปสรรคตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยอมอนุญาตการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนที่มีเอกชนเป็นผู้บริหาร เพราะในสายตาของรัฐบาลฝรั่งเศส ผู้ที่มีสิทธิจะร่วมลงทุนได้มีเพียงรัฐบาลเอง ธนาคารขนาดใหญ่และบริษัทประกันที่เคยเป็นของรัฐบาลมาก่อน

แต่ในที่สุด Tchenio ก็ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้จัดตั้งกองทุนฯ ได้ซึ่งบัดนี้มีอายุ 26 ปีแล้ว ในขณะที่เพิ่งมีกองทุนร่วมลงทุนขนาดใหญ่ระดับโลกพาเหรดกันเข้ามาในฝรั่งเศสเพื่อมองหาธุรกิจดีๆ ที่จะลงทุน โดยมีอย่างน้อย 3 กองทุนยักษ์ใหญ่ระดับโลกแล้วที่มาเปิดสำนักงานในกรุงปารีสเมื่อปีกลาย และหนึ่งในนั้นคือกองทุน Warburg Pincus กองทุนร่วมทุนที่จัดว่าใหญ่ที่สุดกองทุนหนึ่งของโลก ซึ่งบริหารเงินทุนจำนวนมหาศาลถึง 14 พันล้านดอลลาร์

ส่วนดีลใหญ่ล่าสุดที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสโดยกองทุนร่วมลงทุนคือการที่ Saint-Gobain ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ที่กิจการกำลังซวดเซเนื่องมาจากถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการใช้สาร asbestos ได้ขายบริษัทกระเบื้อง Terreal ให้แก่กองทุน Carlyle and Eurazeo เป็นเงิน 400 ล้านยูโรเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.