ฉีกกฎการผลิตไวน์


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกกำลังทำลายกฎการผลิตไวน์ที่ดำเนินมานับร้อยๆ ปี

ภาวะโลกร้อนขึ้น (global warming) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศครั้งสำคัญของโลก โดยทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 2 องศาเซลเซียส กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าการผลิตไวน์ของโลกไปอย่างสิ้นเชิง เพราะภาวะโลกร้อนกำลังสั่นสะเทือนสภาพความได้เปรียบของผู้ผลิตไวน์ดั้งเดิมอย่างฝรั่งเศส เยอรมนีและออสเตรียอย่างถึงแก่น ยิ่งเมื่อบวกกับนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีการปลูกองุ่นและผลิตไวน์ที่ผู้ผลิตไวน์โลกใหม่คิดค้นขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผู้ผลิตไวน์ที่พร้อมจะรับมือกับภาวะโลกร้อนได้ดีที่สุดก็คือ ผู้ผลิตไวน์จากโลกใหม่อย่างออสเตรเลีย ชิลี แอฟริกาใต้ และแคลิฟอร์เนีย รวมไปถึงที่ใดก็ตามที่สามารถค้นพบวิธีใหม่ๆ ในการรับมือกับทุกสิ่งทุกอย่างที่จะมีผลต่อการทำไวน์ ตั้งแต่ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเอาแน่เอานอนไม่ได้ ไปจนถึงรสนิยมของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลง

นักภูมิอากาศวิทยาได้พยากรณ์ว่า ในช่วงเวลา 10 ปีต่อจากนี้ ฤดูกาลจะยังคงสั้นลงต่อไป การคาดการณ์ปริมาณฝนจะมีความแน่นอนน้อยลง และแสงแดดจะยิ่งร้อนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้องุ่นที่เติบโตในภูมิอากาศที่เย็น อย่างเช่น องุ่นพันธุ์ Gruner Veltiner จะไม่สามารถเติบโตได้ในที่ที่มันเคยคุ้นเคยอย่างเช่นในเขต Kamptal ของประเทศออสเตรียอีกต่อไป ในขณะที่ในพื้นที่ที่ไม่เคยปลูกองุ่นได้ ก็จะกลับสามารถปลูกองุ่นที่ใช้ทำไวน์รสเลิศได้ เช่นในอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น (โปรดดูแผนที่ "โฉมหน้าผู้ผลิตไวน์คลื่นลูกใหม่" ประกอบ) อย่างเช่นในอังกฤษ ขณะนี้สามารถผลิตไวน์ขาวแบบ sparkling ที่เอาชนะแชมเปญที่เก่าแก่ที่สุดบางยี่ห้อได้แล้ว ในการแข่งขันระดับโลกครั้งหนึ่งที่ทดสอบชิมไวน์ โดยปกปิดยี่ห้อ

แสงแดดมีผลโดยตรงต่อการปลูกองุ่น เพราะการสร้างน้ำตาลในผลองุ่น จำเป็นต้องได้รับแสงแดดในปริมาณที่ถูกต้อง หากได้รับแสงแดดน้อยเกินไป ผลองุ่นจะไม่สุกหรือให้รสเปรี้ยวมากเกินไป แต่หากได้รับแสงแดดมากเกินต้องการ องุ่นจะหยุดเติบโตจนถึงเหี่ยวแห้งเฉาตายได้ นอกจากนี้องุ่นซึ่งเป็นวัชพืชจึงชอบน้ำแต่ก็มีปัญหารากเน่าได้ง่าย ความร้อนจัดขึ้นของอากาศยังทำให้สีแดงขององุ่นที่ใช้ทำไวน์แดงซีดจางลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไวน์แดงที่ผลิตขึ้น

Robert Pincus นักภูมิอากาศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย โคโลราโด ได้พยากรณ์สภาพการปลูกองุ่นในช่วง 25 ปีข้างหน้าของแหล่งปลูกองุ่นชั้นดีดั้งเดิมที่อยู่ในฝรั่งเศส เยอรมนีและออสเตรีย โดยอิงกับการพยากรณ์ภาวะโลกร้อน คำพยากรณ์ของเขาแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในโลกของการทำไวน์ที่กำลังเกิดขึ้น โดยอากาศที่ร้อนขึ้นได้ให้คุณต่ออังกฤษรวมถึงสกอตแลนด์ ในขณะที่ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นรวมถึงภาวะน้ำท่วมอาจทำให้พื้นที่ที่เคยปลูกองุ่นมานานนับเป็นร้อยๆ ปีบางแห่งต้องปิดตัวลงไปอย่างถาวร ชะตากรรมของไวน์แบบ ice wine ซึ่งเป็นไวน์ที่โดดเด่นของ ออสเตรียที่ผลิตจากผลองุ่นที่ถูกปล่อยให้แช่แข็งคาต้นจากการเกิดน้ำค้างแข็ง จะเป็นเช่นใดยังไม่มีใครสามารถระบุได้ ในเมื่อช่วงเวลาเกิดน้ำค้างแข็งจะเปลี่ยนแปลงไปจาก เดิมโดยจะมาล่ากว่าการเกิดฝนและลมพายุ

Pincus ชี้ว่า Bordeaux จะยังคงผลิตไวน์ต่อไปแต่รสชาติของไวน์จากที่นี่จะไม่เหมือนไวน์จาก Bordeaux อีกต่อไป ส่วนอากาศที่ร้อนขึ้นในแคว้น Burgundy อาจทำให้องุ่นพันธุ์ดีที่เคยเจริญงอกงามอยู่ที่นี่มานานแสนนาน สุกเร็วเกินไปหรือไม่ก็เหี่ยวแห้งเฉาตายไปก็ได้ Pincus สรุปว่า ภาวะโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ กำลังทำให้ความสัมพันธ์พิเศษเฉพาะระหว่างไวน์กับแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของมัน ไม่อาจดำรงอยู่ได้อีกต่อไป

ความจริงแล้ว ไม่ใช่เพราะภาวะโลกร้อนอย่างเดียวเท่านั้นที่ส่งผลให้ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างไวน์กับแหล่งปลูกองุ่น ต้องเปลี่ยนแปลงไป เดี๋ยวนี้องุ่นพันธุ์เก่าแก่ ที่ใช้ผลิตไวน์สามารถจะนำไปปลูกที่ใดก็ได้ ในโลกนี้ซึ่งการทำไวน์กำลังกลายเป็นธุรกิจระดับโลก ผู้ผลิตไวน์ในญี่ปุ่นสามารถชนะรางวัลจากไวน์ที่ผลิตจากองุ่นของฝรั่งเศส และองุ่นพันธุ์ดีที่สุดพันธุ์หนึ่งของโลกคือ Cabernet Sauvignons เดี๋ยวนี้ได้มาจาก ชิลีแทนที่จะเป็นฝรั่งเศส ไวน์ของออสเตรเลีย สามารถทำยอดขายแซงหน้าไวน์จากฝรั่งเศส ได้แล้วในตลาดสหรัฐฯ และอังกฤษ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี การปลูกองุ่นและการทำไวน์

ออสเตรเลียเป็นชาติที่ปฏิวัติเทคโนโลยีการปลูกองุ่นและการบริหารจัดการการผลิตไวน์ ที่โดดเด่นที่สุดชาติหนึ่ง หนึ่งในเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดคือ Wine Logic เป็นแบบจำลองคอมพิวเตอร์ของไร่องุ่น ที่สามารถจะระบุผลผลิตสูงสุดในแต่ละปีได้แม้ว่าภูมิอากาศจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาด ส่วนเครื่องมือที่เรียกว่า near-infrared spectrometry จะช่วยบอกว่า ต้องใส่ปุ๋ยมากน้อยแค่ไหนและจะเก็บเกี่ยวได้เมื่อไร แต่ความก้าวหน้าที่สำคัญ ที่สุดของผู้ผลิตไวน์ออสเตรเลียอาจเป็นระบบชลประทานน้ำหยด ซึ่งช่วยให้ออสเตรเลียสามารถเอาชนะความแห้งแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของตนได้ โดยระบบนี้จะให้น้ำเพียงบางส่วนของไร่องุ่น เพื่อหลอกให้ต้นองุ่นคิดว่าตอนนี้อากาศกำลังแห้งแล้งทำให้ต้นองุ่นพยายามจะเก็บรักษาน้ำไว้ วิธีนี้ทำให้เกษตรกรออสซี่สามารถประหยัดน้ำได้ถึง 80% ขณะนี้แม้แต่สหกรณ์โรงไวน์ในแคว้น Languedoc-Roussillon ในฝรั่งเศสซึ่งเป็นแหล่งผลิตไวน์ที่โด่งดังไม่แพ้ Bordeaux ถึงกับยอมที่จะเมินกฎของสถาบันที่ดูแลการผลิต ไวน์แห่งชาติของตน ที่ห้ามการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำไวน์ แล้วหันมาเรียกตัวผู้เชี่ยวชาญการทำไวน์ทั้งจากออสเตรเลีย สเปนและอาร์เจนตินา ให้มาเป็นที่ปรึกษาการผลิตไวน์โดยใช้เครื่องมือที่ทันสมัย

ชิลีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่สามารถผลิตไวน์ระดับรางวัลจากองุ่นพันธุ์ Syrah และ Cabernet Sauvignon และส่งไวน์ของตนไปขึ้นโต๊ะอาหารระดับหรูทั่วโลกได้แล้ว สิ่งที่ชิลีทำก็ไม่ต่างกับที่อีกหลายประเทศที่เพิ่งเริ่มหันมาผลิตไวน์กำลังทำ อยู่ นั่นคือนำองุ่นพันธุ์ดีจากโลกเก่า มาทำเป็นไวน์รสละมุนของโลกใหม่ แล้วส่งออกไปขายแข่งกับผู้ผลิตไวน์ดั้งเดิมอย่างไม่น้อย หน้า



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.