ชีวิตไร้สายในเกียวโต

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

หนุ่มสาววัยใสใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปบริเวณหน้าวิหารทองคำ ในวัดคินคะคุจิ (Kinkaku-ji) เป็น 1 ในวัด 1,600 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงเก่าแก่อย่างเกียวโต ท่ามกลางสายฝนโปรยปรายลงมาในช่วงสายวันหนึ่ง เป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตการเชื่อมโยงระหว่างการเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ไฮเทค ที่ดำรงอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอันเก่าแก่ของที่นี่

ไม่แปลกนักที่สำนักงานใหญ่ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น อย่างเคียวเซร่าคอร์ปอเรชั่น จะตั้งอยู่ในอดีตเมืองหลวงเก่าแก่อย่าง "เกียวโต" ที่ยังคงทิ้งร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ผ่านวัดวาอาราม บ้านเรือนของผู้คน

ตลอดเส้นทางไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทเคียวเซร่าใจกลางเมืองเกียวโต บ้านเรือนเก่าแก่ที่พยายามอนุรักษ์ให้คงสภาพแวดล้อมแบบเดิม สลับกับแปลงปลูกผักสีเขียว ขนาบข้างด้วยอาคารขนาดย่อมและวัดวาอาราม

ภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ประดับอยู่บนฝาผนังบริเวณชั้นล่างต้อนรับผู้มาเยือนทำให้อาคารสีขาวโปร่งแห่งนี้ ดูผ่อนคลาย เมื่อเทียบกับเนื้อหาความเป็นไปของบริษัทแห่งนี้

เคนซูเกะ อิโต ประธานกรรมการวัย 66 ปี เคียวเซร่า คอร์ปอเรชั่น บอกเล่าถึงที่มาของความสำเร็จ ที่เริ่มต้นจากบริษัทผลิตเซรามิกเล็กๆ มีพนักงานเพียงแค่ 28 คน จนเติบใหญ่กลายเป็บริษัทอันดับต้นๆ ที่ทำรายได้ 1 ล้านล้านเยนต่อปี มีบริษัทลูก 146 บริษัท และบริษัทในเครือ 16 บริษัท ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ 7 กลุ่ม

เคนซูเกะ อิโต เลือกที่จะบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จที่มาจากอุดมการณ์บริหารงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เคียวเซร่ายึดถือมาตลอด

"ที่ผ่านมาปัญหาการขัดแย้งระหว่างบริษัทเพราะขาดอุดมการณ์" เคนซูเกะ อิโตบอก "สิ่งที่ทำให้บริษัทก้าวมาได้ขนาดนี้เป็นเรื่องของแนวคิดในการบริหาร เป็นสิ่งสำคัญที่เคียวเซร่าให้ความสำคัญตลอดมา"

"เปรียบได้กับภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่โผล่มาเหนือน้ำมีแค่ 20% ส่วนที่อยู่ใต้น้ำอีก 80% คือนโยบายการบริหารและเทคโนโลยี ผลักดันให้เกิดยอดขายปรากฏเป็นก้อนน้ำแข็งเหนือน้ำ" เคนซูเกะเปรียบเปรย

เป็นความตั้งใจที่ด้านหลังห้องประชุมขนาดใหญ่แห่งนี้ มีแผ่นป้ายอักษรญี่ปุ่นโบราณขนาดใหญ่ 4 ตัว ติดอยู่ด้านหลัง แปลความหมายได้ว่า "อ่อนน้อมถ่อมตน และรักเพื่อนมนุษย์" ที่บ่งบอกถึงปรัชญาการทำงานของพวกเขา

ยังถูกสำทับด้วยหนังสือ "Passion For Success" แรงปรารถนาสู่ความสำเร็จ ซึ่ง Kazuo Inamori ผู้ก่อตั้ง ที่ปัจจุบันนั่งเป็นผู้อำนวยการคณะกรรมการผู้จัดการกิตติมศักดิ์ ถ่ายทอดเรื่องราวปรัชญาการทำงานของเขาผ่านตัวอักษรในหัวหนังสือเล่มนี้ ที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยและวางจำหน่ายในไทย

ไม่มีอะไรที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของเคียวเซร่าได้ดีเท่ากับพิพิธภัณฑ์ ที่ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคาร ซึ่งเริ่มต้นกิจการเมื่อ 45 ปีที่แล้วในชื่อ Kyoto Ceramic เป็นชื่อเดิมของเคียวเซร่า ที่บ่งบอกถึงรากฐานความเป็นมาของผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือแห่งนี้ เริ่มต้นธุรกิจมาจากผลิตเซรามิก

เคียวเซร่าเริ่มต้นโรงงานผลิตเซรามิก ด้วยพนักงาน 28 คน ทุกวันนี้ไม่เพียงแต่เคียวเซร่านำเอาความแข็งแรง ทนทานที่เป็นรองแค่เพชรของเซรามิกเข้าไปมีส่วนในชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนผ่านเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ แต่ยังนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลากประเภท เช่น ชิ้นส่วนไฟเบอร์ออพติก เครื่องถ่ายเอกสาร ลูกดรัมพ์ในเครื่องพิมพ์ หลอดภาพโทรทัศน์ นาฬิกา ฟันปลอม อวัยวะเทียม แม้กระทั่งขาของต่างหู และโทรศัพท์มือถือ

"นี่เป็นโทรศัพท์ยุคแรกของเคียวเซร่าผลิตขึ้น ชิ้นส่วนเซรามิก 800 ชิ้น" ผู้บริหารของเคียวเซร่าพาเดินไปยังตู้กระจกใส โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าแก่ที่มีทั้งรุ่นหิ้วถือ NMT ในตู้กระจกใส ที่บ่งชัดถึงการเข้าสู่อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งผลมาจากแสวงหาโอกาสใหม่ๆ อยู่เสมอ

สัดส่วนรายได้เกือบ 50% ของเคียวเซร่าได้มาจากธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องใช้ เช่น โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายภาพ คือผลลัพธ์ที่ได้จากความพยายามเหล่านี้

แม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะได้รับการพัฒนาย่อขนาดให้เล็กลงเรื่อยๆ ตามความ นิยมของผู้ใช้ ซึ่งส่งผลให้การใช้ชิ้นส่วนเซรามิก ลดลงเหลืออยู่เพียงแค่ 50% ของรุ่นก่อนๆ เท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้เคียวเซร่า ลดบทบาทของตัวเองในธุรกิจนี้ลงแม้แต่น้อย

ไม่กี่ปีมานี้เคียวเซร่าซื้อกิจการผลิตกล้องถ่ายรูป "ยาชิกา" มาอยู่ภายใต้ร่มธง ไม่เพียงแต่เกื้อกูลต่อการผลิตโทรศัพท์มือถือได้อย่างดีแล้ว เคียวเซร่ายังเป็น 1 ใน 3 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ KDDI ซึ่งมีบริษัทโตโยต้าเป็นหุ้นส่วนอีกราย

KDDI เป็นผู้ให้บริการอันดับ 2 ในตลาดโทรศัพท์มือถือของญี่ปุ่น ที่เคยถูก NTT Docomo ทิ้งห่างชนิดไม่เห็นฝุ่น แต่เมื่อก้าวข้ามจากระบบ PDC คลื่นความถี่ 1500 เข้าสู่มือถือยุคที่ 3 KDDI กลับเป็นฝ่ายตีตื้นแซงหน้า Docomo ขึ้นมาได้

ยอดลูกค้า 10 ล้านรายในช่วงเวลา ปีครึ่งจนถึงเดือนกันยายน เป็นสิ่งที่ KDDI ใช้การันตีถึงความสำเร็จที่ว่านี้ ที่ส่งผลต่อยอดขายของเคียวเซร่า ที่ผลิตโทรศัพท์มือถือป้อนให้กับ KDDI เป็นหลัก

พวกเขาเชื่อว่า เหตุผลเบื้องต้นที่ทำให้ KDDI แซงหน้า Docomo ในมือถือ ยุคที่ 3 ได้ก็คือ เลือกใช้เทคโนโลยี CDMA ที่มีต้นทุนการลงทุนต่ำกว่าระบบ W-CDMA หรือ umts ที่ NTT Docomo และ J-Phone เลือกใช้ ซึ่งต้องลงทุนด้วยต้นทุนแพงกว่า และเครื่องลูกข่ายที่ใหญ่กว่า

เครือข่ายการผลิตโทรศัพท์มือถือในประเทศของเคียวเซร่าเกือบทั้งหมด จะถูกส่งป้อนให้กับ KDDI ผู้ให้บริการเบอร์ 2 ซึ่งให้บริการหลายระบบ ตั้งแต่บริการ tu-ka ที่ให้บริการในระบบ PHS และบริการ au ที่มี 3 ระบบภายใต้ชื่อบริการเดียวกัน 3 ระบบ คือ ระบบ cdmaOne และระบบ cdma 2000 1X ล่าสุด CDMA 2000 1X E-video เตรียมเปิดให้บริการปลายปีนี้

ทิศทางธุรกิจโทรศัพท์มือถือของเคียวเซร่า จึงผูกพันกับการดำเนินธุรกิจของ KDD อย่างแนบแน่น

การขยาย KDDI ขยายเครือข่ายของตัวเอง ที่เปรียบได้กับการขยายถนนจาก 2 เลนธรรมดาๆ มาเป็นถนนซูเปอร์ ไฮเวย์ เพื่อรองรับกับบริการ application หรือเนื้อหาต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

จากระบบ cdmaOne มาสู่ระบบ cdma 2000 1X ที่เพิ่มความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลเป็น 153 Kbps และกำลังพัฒนา ระบบ E-video 2000 1X ที่เตรียมเปิดให้บริการในปลายปีนี้ ทำให้ความเร็วในการส่งข้อมูลเพิ่มเป็น 2 เมกะไบต์ ที่เรียกว่า ดูหนัง ฟังเพลง ได้สบายๆ

ฟังก์ชันการใช้งานของโทรศัพท์มือถือต้องพัฒนาตามไปด้วย จะเห็นได้ว่า โทรศัพท์มือถือจำหน่ายในญี่ปุ่นเวลานี้มากกว่า 75% เป็นโทรศัพท์มือถือรุ่นติดกล้องกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว

โทรศัพท์มือถือที่เคียวเซร่าผลิตขึ้นต้องพัฒนาตาม นอกจากจะมีขนาดจอใหญ่ ความละเอียดมากขึ้น รุ่นที่มีความละเอียด 1 ล้านพิกเซลเรียกว่าเป็นกล้องดิจิตอลได้สบายๆ ใช้ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง เข้าสู่ความเป็นมัลติมีเดียเต็มรูปแบบ

โทรศัพท์มือถือรุ่นหนึ่งที่ผู้บริหารของเคียวเซร่านำมาแสดงในครั้งนั้น ได้ถูกแปรสภาพเป็นกล้องถ่ายภาพยนตร์ขนาดย่อมๆ ที่สามารถถ่ายหนังสั้นๆ ได้ 2 นาที หรือจะเลือกดาวน์โหลดภาพยนตร์มาใส่ไว้ในเครื่อง สามารถตัดต่อภาพตัด ส่วนที่ไม่ชอบใจออกไป ก่อนจะส่งภาพที่ตัดแต่งเรียบร้อยแล้ว ผ่านอีเมลไปถึงผู้รับอีกฝั่งได้ทันที

"นี่คือสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจว่าจะยกระดับผลิตภัณฑ์ให้แตกต่างกับยี่ห้ออื่นคือ NTT Docomo และเจโฟน" ประธานกรรมการบริหารของเคียวเซราบอก

ปลายปีนี้บริษัท KDDI พัฒนาระบบ เครือข่าย E-video เข้าสู่ตลาด ทำให้ความ เร็วรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงเพิ่มขึ้นอีก การทำวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ดูหนัง ฟังเพลง จะกลายเป็นเรื่องปกติ

โทรศัพท์มือถือที่มีการ์ดหน่วยความจำ memory card ที่ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ภายใต้แนวคิดการสื่อสารถึงกันได้ทุกที่และทุกเวลา

รายการเกมโชว์ชิงรางวัล memory card ที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือของช่วงดึกค่ำคืนวันนั้น ตอกย้ำถึงวิวัฒนาการของโทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่น ได้กลายสภาพเป็นกล้องถ่ายภาพยนตร์ขนาดย่อมๆ ไปแล้ว

แม้ว่าเคียวเซร่าจะจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะระบบ CDMA แต่การแสวงหาโอกาสใหม่ๆ นอกประเทศของเคียวเซร่า มีขึ้นตลอดมา

การตอบรับเอาระบบ CDMA ไปใช้ในหลายประเทศ ทำให้เคียวเซร่าแสวง หารายได้จากตลาดนอกประเทศญี่ปุ่น เช่น จีน เกาหลี และสหรัฐอเมริกา เป็นอีก 3 ตลาดใหญ่ของเคียวเซร่าระบบ CDMA

เมืองโยโกฮาม่าไม่ได้เป็นเพียงฐานการผลิตในประเทศแล้ว แต่เคียวเซร่ายังมีโรงงานผลิตในเกาหลี สหรัฐอเมริกา และจีน เป็นแหล่งผลิตที่เคียวเซร่าร่วมทุนกับบริษัทในท้องถิ่น ตั้งโรงงานผลิตขายไปทั่วโลก รวมทั้งไทยจะเป็น 1 ในตลาดเป้าหมายเหล่านี้

หลังจากผ่านเรื่องราวความทันสมัยของเทคโนโลยี ภัตตาคารญี่ปุ่นในช่วงเย็น เป็นสถานที่เคียวเซร่าสร้างไว้สำหรับต้อนรับแขกผู้มาเยือน ได้สัมผัสกลับสู่วัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาวเกียวโตแบบดั้งเดิมผ่านตัวสถานที่ สวนญี่ปุ่น เมนูอาหาร และการร่ายรำ และดนตรีที่พนักงานเสิร์ฟหญิงสูงวัย ที่ไม่เพียงชำนาญเฉพาะการเสิร์ฟอาหารเท่านั้น หากแต่พวกเธอยังพ่วง เอาฝีมือทางศิลปะของการร่ายรำและดนตรี แบบญี่ปุ่นโบราณควบคู่ไปด้วย

เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง ที่รถไฟความเร็วสูง "SHIKANSAN" พาพวกเราข้ามจากเกียวโต เมืองหลวงเก่าแก่เข้าสู่มหานครโตเกียว เนื้อหาของการรับรู้เปลี่ยนไป

สำนักงานเล็กๆ บนอาคารแห่งหนึ่ง ใจกลางกรุงโตเกียวของควอลคอมม์ที่มีพนักงานไม่ถึง 20 คน ได้บรรจุภาระที่ดูยิ่งใหญ่ ตรงกันข้ามกับขนาดขององค์กร

การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีระบบ CDMA ควอลคอมม์จึงต้องออกแรงทำทุกอย่างเพื่อผลักดันให้บริการนี้แพร่หลายมากที่สุด

ไม่เพียงแต่ผลักดันให้บรรดาโอเปอ เรเตอร์ที่นำระบบ CDMA ไปใช้เห็นความ จำเป็นในการ upgrade เครือข่ายจาก CDMAOne ต้องขยับมาเป็น CDMA 2000 1X และล่าสุดคือ E-video ที่ KDDI เพื่อเพิ่มความเร็วในการส่งข้อมูล ซึ่งเปรียบได้กับการสร้าง "ถนน" ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

เมื่อสร้าง "ถนน" แล้ว ก็ต้องหา "รถ" ให้มาวิ่งด้วยและ Brew ที่ ควอลคอมม์สร้างขึ้นคือ คำตอบที่ว่านี้

นอกจากพัฒนา และขายชิปฝังอยู่ในตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือนำแอพพลิเคชั่นใส่ ในมือถือได้สะดวกขึ้น ควอลคอมม์สร้างโปรแกรม เพื่อให้นักพัฒนานำไปใช้สร้าง application และเนื้อหาใหม่ๆ ให้แพร่หลายมากที่สุด

เดิมทีควอลคอมม์ตั้งใจทำเป็นระบบ "ปิด" ที่มีแค่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นลงบนโทรศัพท์มือถือเท่านั้น แต่หลังจากโมเดลความสำเร็จของ Docomo ที่เปิดให้มีผู้พัฒนาจำนวนมาก ถึงแม้ KDDI จะมีเครือข่ายที่มีความเร็วสูงกว่า แต่ก็ยังพ่ายแพ้เพราะไม่มีแอพพลิเคชั่นและเนื้อหามากพอ ทำให้ควอลคอมม์ ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่

นอกจากจะสร้าง server platform เพื่อควบคุมการ download application ไปยังโทรศัพท์มือถือ ควอลคอมม์ยังสร้างเครื่องมือ Software Development kits (SDK) เป็น platform ที่เปิดให้บรรดานักพัฒนาดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ไปใช้ได้ฟรีๆ ปัจจุบันมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ดาวน์โหลดโปรแกรม SDK ไปใช้ 3,000 กว่ารายทั่วโลก

หลายคนอดเอา Brew ไปเปรียบเทียบกับ Java ไม่ได้

Java เป็นโปรแกรม Sun Micro system เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเก็บเกี่ยวผลประโยชน์โดยตรง ปล่อยให้นักพัฒนาไปดาวน์โหลดใช้กันเอง และหารายได้เอง ความนิยมจึงมีแพร่หลายมากกว่า

Brew นั้นพัฒนาขึ้นมาสำหรับระบบ CDMA โดยเฉพาะ ความใหม่และจำนวนการใช้โทรศัพท์ CDMA ยังจำกัดอยู่ ทำให้การแพร่หลายของ brew จึงแพร่หลายจึงสู้ Java

แต่ข้อดีของ brew ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอยู่ที่การพัฒนาให้นำมาใช้กับโทรศัพท์ มือถือโดยเฉพาะ ดังนั้นโปรแกรม Brew จึงใช้หน่วยความจำน้อยกว่า Java ซึ่งพัฒนาให้ใช้กับอุปกรณ์ปลายทางหลากหลาย ทำให้สิ้นเปลืองหน่วยความจำมากกว่า และต้นทุนการผลิตสูงกว่า Brew

เมื่อลงทุนลงแรงไปแล้ว ควอลคอมม์ เข้าไปมีส่วนในการเก็บเกี่ยวรายได้ของโอเปอเรเตอร์ที่นำ brew ไปให้บริการทุกครั้งที่มีรายได้จากการดาวน์โหลดเนื้อหา หรือแอพพลิเคชั่นไปใช้ ควอลคอมม์จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ตามแต่ละตกลงกับผู้ให้บริการและผู้พัฒนาเนื้อหาและแอพพลิเคชั่น โดยควอลคอมม์ได้พัฒนาระบบจัดเก็บเงิน (Billing) ขึ้นมารองรับ

สิ่งที่ทำคู่ขนานกันไป ก็คือการสร้างเว็บไซต์เป็น "ตลาดกลาง" นำแอพพลิเคชั่นทั่วโลกที่พัฒนาจากโปรแกรม Brew ขึ้นไปบนเว็บ เพื่อให้โอเปอเรเตอร์ระบบ CDMA มาเลือก "ชอป" ไปใช้ได้

วิธีนี้นับว่าเป็นกลยุทธ์แบบ win win เพราะโอเปอเรเตอร์มีเนื้อหาและบริการมากขึ้น ส่วนนักพัฒนาก็สามารถขยายตลาดไปได้ทั่วโลก ส่วนควอลคอมม์ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ยิ่งการใช้งานแพร่หลายเท่าใด ควอลคอมม์จะมีรายได้จากชิปเซตจากผู้ผลิตเครื่องลูกข่าย มีรายได้จากสิทธิบัตรที่เก็บจากผู้ขาย network และมีส่วนแบ่งรายได้จากเนื้อหา และแอพพลิเคชั่น

เวลานี้มีโอเปอเรเตอร์ 10 รายทั่วโลกนำระบบ brew ไปให้บริการในเชิงพาณิชย์ โดยมีโทรศัพท์มือถือที่รองรับกับระบบ brew จำหน่ายในตลาด 5-10 ล้านเครื่อง และมีจำนวนการดาวน์โหลด 50 ล้านครั้ง

ความสลับซับซ้อนของเส้นทางในมหานครแห่งนี้ ที่แม้แต่ชาวญี่ปุ่นที่ไม่ได้อาศัยหรือคุ้นเคยกับเมืองโตเกียวมาก่อน ก็ยังมีโอกาสหลงทางได้ง่ายๆ

NAVITIME บริการค้นหาเส้นทาง เป็นตัวอย่างความสำเร็จของบริการแผนที่บอกเส้นทางบนโทรศัพท์มือถือ ที่พัฒนาจากโปรแกรม Brew และใช้ความสามารถของชิปเซตที่บรรจุ Location Base Service

Keisuke Onishi มีดีกรีดอกเตอร์วิศวกรรม เป็นผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหารในบริษัท ที่เริ่มต้นกิจการในปี 2543 เปิดให้บริการจริง ปี 2545 มีทุนจดทะเบียน 90 ล้านเยน

Keisuke Onishi เริ่มต้นธุรกิจจากการพัฒนาข้อมูลแผนที่ธรรมดามาเป็นบริการบอกเส้นทางต้นทางจน ถึงปลายทาง แถมคำนวณ ให้เสร็จสรรพว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาเดินทางเท่าไร ยังมีบริการเปรียบเทียบด้วยว่าควรจะไปเส้นทางไหนใกล้และประหยัดมากที่สุด

ไม่แค่นั้นหากต้องการนัดหมายเพื่อนสามารถส่งเส้นทางและจุดนัดหมายผ่านอีเมลไปให้เพื่อนได้ด้วย

บริการนี้เชื่อมโยงกับข้อมูลหลายส่วน ต้องมีระบบบอกพิกัดตำแหน่งดาวเทียม GPS ข้อมูลตารางเดินรถไฟ รถประจำทาง ซึ่งในญี่ปุ่นนั้นเวลาเป็นสิ่งที่เข้มงวดมาก บริการลักษณะนี้จึงไม่มีปัญหา และข้อมูลที่ทำต้อง update กันทุกนาที แต่ถ้ามาใช้ในเมืองไทยคงมีปัญหาไม่น้อย

ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉพาะ Map viewer ซึ่งเป็นบริการฟรี 3 ล้านราย ส่วน ลูกค้าที่ใช้บริการบอกเส้นทาง มีแสนกว่าราย เสียค่าบริการเดือนละ 200 เยน

ส่วนในไทยจะได้เห็นบริการเหล่านี้หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับ Hutch ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ระบบ CDMA รายเดียวของไทย จะมองเห็นโอกาส ความต้องการ และอุปสรรคของการประยุกต์บริการเหล่านี้ไปใช้หรือไม่

และแม้ว่าความล้ำสมัยของเทคโน โลยีจะยังคงพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีให้สัมผัสตลอดในเมืองหลวงใหญ่แห่งนี้ ทำให้วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นสะดวกสบายและรัดกุมมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังหนีไม่พ้นก็คือ ภัยธรรมชาติ

เช้าก่อนอำลาจากโตเกียว เหตุการณ์แผ่นดินไหวบนเกาะฮอกไกโด ที่แผ่ขยายมาถึงโตเกียว ให้ได้สัมผัสกันตอนตี 4 กว่า จึงเป็นส่งท้ายของการลาจาก พร้อมๆ กับสายฝนที่ยังโปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย

>> ไพเราะ เลิศวิราม
pairoh@gotomanager.com



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.