นิคิล ศรีนิวาสัน "It's not an easy job"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

อุตสาหกรรมกองทุนรวมเริ่มมีการขยับตัวกันอีกครั้งเมื่อผู้เล่นหลายรายมีการปรับองค์กรและกำหนดทิศทาง ธุรกิจกันใหม่ ทั้งนี้จะเห็นว่าบลจ.หลายแห่งมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยสถาบันการเงินเข้ามาถือเต็ม 100% หลายแห่ง รวมทั้งรายล่าสุดคือบลจ.ไทยเอเชีย ที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นบลจ.บีโอเอ โดยมีธนาคารเอเชียเข้ามาถือหุ้นทั้งหมด และแต่งตั้งมร.นิคิล ศรีนิวาสัน เป็นประ-ธานเจ้าหน้าที่บริหาร

แม้ว่าธนาคารเอบีเอ็น แอมโรได้ เข้ามาซื้อหุ้นใหญ่ในธนาคารเอเชียตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน แต่ตอนนั้นธนาคารยังโฟกัสอยู่ในเรื่องของธนาคารเอเชียและปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจไทย ตอนนี้ธนาคารเริ่มโฟกัสมาที่บลจ.แล้ว จึงมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและการจัดองค์กรใหม่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทจัดการกองทุนในเครือของธนาคารคือเอบีเอ็น แอมโร แอสเซส แมนเนจเมนท์ ซึ่งมีประสบการณ์สูงมากในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะความชำนาญเรื่องการคิดค้นพัฒนากองทุนประเภทต่างๆ

มร.นิคิลกล่าวว่าบลจ.เริ่มมีการปรับองค์กรใหม่ (re-organised) โดยมีเป้าหมาย 2 ประการง่ายๆ คือ two sim-ple goals : bigger and better กล่าวคือทำให้ใหญ่ขึ้นและดีขึ้น หรือต้องมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารมากขึ้นและบริหารด้วยมาตรฐานของความเป็นมืออาชีพ โดยเขาตั้งเป้าหมายว่าภายใน 2 ปีบลจ.จะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสามเท่า เทียบกับปัจจุบันที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารอยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท

ส่วนความเป็นมืออาชีพนั้น เขาหมายถึงการมีมาตรฐานเดียวกับธนาคาร เอบีเอ็น แอมโร คือเข้าสู่ระดับ Global Best Practice ภายใน 1-2 ปีข้างหน้าผู้คนในวงการจะต้องอยากเข้ามาทำงานร่วมกับเขาที่นี่ ภาพพจน์ของบลจ.แห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับธนาคารเอเชียที่มีการเปลี่ยนแปลง (image change) หลังจากที่ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร เข้ามาถือหุ้นใหญ่ เช่น มีชื่อเสียงที่ดี มีการบริหารแบบมืออาชีพ (good reputation, professional, good management, get the right people in business development and investment, etc.)

มร.นิคิลกล่าวถึงผลการบริหารกองทุนของบริษัทว่าที่ผ่านมาทำได้ดีทีเดียว "เรามีเม็ดเงินภายใต้การบริหารไม่มากนัก เราจำเป็นที่จะต้องระดมทุนเข้ามา ซึ่งผมคาดว่าเราจะเปิดกองทุนใหม่ได้ภายในไตรมาสแรกปีหน้า ตอนนี้เรากำลังอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตจาก ก.ล.ต. คาดว่าจะเป็นกองทุนหุ้นหรือ Equity Fund เพราะสถานการณ์เรื่องดอกเบี้ยยังต่ำอยู่"

ทั้งนี้ มร.นิคิลมีความเชื่อว่าอุตสาหกรรมการบริหารกองทุนรวมในประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก จากประสบการณ์ที่เขาเห็นในสหรัฐฯ ซึ่งอุตสาหกรรมนี้มีเม็ดเงินมากกว่าเงินฝากธนาคารหรือ deposit มากหลายเท่าตัว เขามีบทสรุปว่า "เรายังมีหนทางอีกยาวไกลที่จะไปกัน" เขาเชื่อว่า ในระยะยาวคนจะหันมาให้ความสนใจเรื่องกองทุนกันมาก โดยเฉพาะเมื่อบลจ.ต่างๆ มีการปรับปรุงการดำเนินงาน กันมากขึ้น "ผมคิดว่าเราเดินผ่านเฟสแรกของอุตสาหกรรมนี้มาแล้ว ในช่วงภาวะตลาดกระทิงและการเผชิญปัญหาต่างๆ (bull market and problems) ตอนนี้เราเข้าสู่เฟสที่สอง คือการมีจำนวนกองทุนมากขึ้น กองทุนที่มีลักษณะใหม่ๆ มีการแข่งขันกันมากขึ้น มีผลการดำเนินงานดีมากขึ้น เป็นต้น"

ตอนนี้บลจ.บีโอเอมีกองทุนภายใต้การจัดการอยู่ 11 กอง ซึ่งบริษัทฯ กำลังอยู่ระหว่างขออนุญาต อาจจะมีการ ยุบรวมบางกองเข้าด้วยกัน รวมทั้งมีการ จัดตั้งกองใหม่หลายกอง ขึ้นอยู่กับภาวะ ตลาดและสถานการณ์ในอนาคต

ด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ ผู้เล่นทุกรายยอมรับว่าธุรกิจบลจ.มีการแข่งขันกันสูงมาก และแต่ละรายต่างก็มีคู่แข่งที่น่ากลัว อย่างบีโอเอนี้มร.นิคิล มองว่าเขาไม่ประมาทต่อบลจ.ทุกรายแต่ ที่เขาสนใจมากเป็นพิเศษคือบลจ.อยุธยา จาร์ดีน เฟลมมิง หรือเอเจเอฟ และบลจ.นครธนชโรเดอร์

อย่างไรก็ดี เขามองว่าเขามีจุดแข็งสองสามประการ คือการที่เป็นส่วนหนึ่งของธนาคารเอเชียทำให้สามารถใช้เครือข่ายการจัดจำหน่ายผ่านสาขาของธนาคารฯ ได้ (BOA distribution network) รวมทั้งการมีพาร์ตเนอร์อย่างธนาคารเอบีเอ็น แอมโร ทำให้สามารถเข้าถึงความชำนาญในการบริหารกองทุน จากเอบีเอ็น (ABN expertices) "ตอนนี้เราอาจจะยังไม่สามารถเป็นคู่แข่งกับเขาได้อย่างเต็มที่ แต่ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เขาจะรู้สึกได้ เราจะต้องติดอยู่ใน top three ของ best performance"

ด้วยเป้าหมายต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น เขารู้ดีว่าภารกิจที่บลจ.บีโอเอไม่ใช่เรื่องง่ายๆ "It's not an easy job." เขากล่าวหลายครั้งในการสนทนากับ "ผู้จัดการ" ทั้งนี้บลจ.บีโอเอมีใบอนุญาต บริหารกองทุน 3 ประเภทคือกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งธุรกิจหลักของบริษัทฯ ยัง เน้นในเรื่องการบริหารกองทุนรวม

อุตสาหกรรมกองทุนรวมยังจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากในอนาคต เช่นการปรับปรุงเรื่องกฎระเบียบต่างๆ มีการแข่งขันเกิดขึ้นอีกมาก มีเม็ดเงินเข้ามาให้บริหารกันอีกมากภายใต้การจัด ตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น มร.นิคิลมองว่าบลจ.ของเขานั้นเล็กมากจนไม่คาดว่าจะมีความผิดพลาดอะไรเกิดขึ้นได้ เขาเน้นเรื่องการสร้างชื่อเสียงที่ดี เขาต้องการสร้างเว็บไซต์ของบลจ. ต้องการแทรกตัวเข้าไปในอินเตอร์เน็ต (โฮมเพจของบลจ.บีโอเอจะเสร็จภายในไตรมาสแรกปีหน้า) และเมื่อมีการอนุญาตให้ซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตได้ เขาก็พร้อมที่จะทำทันที เรื่องต่างๆ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับการผ่อนคลายกฎระเบียบของทางการ

ในการปรับปรุงองค์กรหรือ re-organised บริษัทนั้น โครงสร้างองค์กรจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือด้านการพัฒนาธุรกิจ (Business Develop-ment) ซึ่งได้แก่ การทำการตลาดของกองทุนทั้ง 3 ประเภท ด้านการบริหารงาน (operation) เกี่ยวเนื่องกับงาน back office งานไอที และด้านบริหารการลงทุน (Investment) ซึ่งจะมีการ recruite ผู้บริหารเข้ามาดำรงตำแหน่ง Chief Investment Officer หรือ CIO ในเดือนก.พ.ปีหน้า ดูแลเรื่องนโยบายการลงทุนและผู้จัดการกองทุน ส่วน Coplianc Unit จะเป็นหน่วยงานแยกต่างหากทำการรายงานตรงต่อคณะกรรมการบริษัท ตอนนี้บริษัทฯ มีพนักงานประมาณ 50 คน

มร.นิคิลสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ และด้านการจัดการและนโยบายมหาชนจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด สหรัฐฯ เคยผ่านงานบริหารสินทรัพย์กับบริษัทบริหารเงินทุนโซแฟร์ (Sofaer Capital) ซึ่งเป็นบริษัทที่บริหารกองทุนส่วนบุคคลและ Hedge fund ในฮ่องกง

จากนั้นได้มาร่วมงานกับบริษัทมอร์แกน สแตนเลย์ ที่ฮ่องกงดูแลการบริหารกองทุนของบริษัทซึ่งเรียกว่า Mor-gan Stanley Proprietary Fund ต่อมาเขาได้เป็นผู้แทนของมอร์แกน สแตนเลย์ในไทย ก่อนที่จะมาร่วมงานกับธนาคารเอเชียโดยการชักชวนของจุลกร สิงหโกวินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อกุมภาพันธ์ 1999 ในตำแหน่งหัวหน้า กลุ่มงานวางแผนด้านกลยุทธ์ ดูแลการกำหนดกลยุทธ์รุกธุรกิจในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ผลงานสุดท้ายที่เขาฝากไว้คือการระดมทุน 13 พันล้านบาทผ่านการออกหุ้นใหม่หรือ 315 ล้านเหรียญ ที่ระดมจากเอบีเอ็น แอมโร และในที่สุดก็มารับตำแหน่ง CEO ในบลจ.บีโอเอ เมื่อ 15 พฤศจิกายน 1999



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.