อุปัติศฤงศ์ กงสีเริ่มสั่นคลอน


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

ตระกูลอุปัติศฤงค์ เป็นอีกหนึ่งตระกูลเก่าแก่ของเมืองภูเก็ตที่มีความ โดดเด่นในการสร้างฐานะและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นปึกแผ่นในภูเก็ตยาว นาน ขณะกำลังสั่นคลอนมาจากภายในจากความขัดแย้งของรุ่นที่ 2

ระกูลอุปัติศฤงค์ เริ่มต้นตระกูลและธุรกิจจาก "ฮั่นก๋วน แซ่หงอ" ชาวจีนโพ้นทะเลจากมณฑลฮกเกี้ยนหอบเสื่อผืนหมอนใบ เข้ามาปักหลักทำมาหากินตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดภูเก็ตเมื่อประมาณ 90 กว่าปีที่แล้ว พร้อมด้วยลูกชายคนเดียว "ซันเหล แซ่หงอ" ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "จเร อุปัติศฤงค์"

ฮั่นก๋วน เริ่มต้นการทำธุรกิจในภูเก็ต เหมือนกับชาวจีนโพ้นทะเลทั่วๆไป ด้วยการเป็นเสมียนในบริษัท ซุ้ยหิ้น ของตระกูล ทองตัน บิดาหลวงชนาทรนิเทศ หรือ ตันเฮ่งห้อ อยู่หลายปี ด้วยความขยันขันแข็งและเก็บหอมรอมริบ จนกระทั่งได้เงินจำนวน หนึ่งพอที่จะทำธุรกิจด้วยตัวเองได้ จึงลา ออกมาเปิดร้านขายของชำชื่อ "ซินฮ่องซุ่ย" บริเวณถนนถลาง จำหน่ายสินค้าของชำทุกชนิด เช่น ข้าวสาร เกลือ นมตราแหม่มทูนหัว (ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว ) และขยาย การค้าขายสินค้าไปยังจังหวัดพังงาและกระบี่

บริษัท ซินฮ่องซุ่ย ร้านขายของชำเล็กๆ ได้พัฒนาตัวเองมาเป็นตัวแทนจำหน่ายเบียร์สิงห์ในยุคแรกที่บริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด เปิดโรงงานใหม่ตั้งแต่ปี 2478 จนถึงปัจจุบัน และได้ขออนุญาตเปิดโรงงาน เหล้ากะทู้ เพื่อผลิตเหล้าตรารวงข้าวด้วย (ปัจจุบันได้เลิกกิจการแล้ว)

ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ สิ้นสุดลง ฮั่นก๋วนได้ขยายกิจการสู่การทำเหมืองแร่ และกิจการสวนยางพารา ด้วยการ ลงทุนร่วมกับตระกูลตันติวิท ของบันลือ ตันติวิท นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.) ก่อตั้งบริษัท บ่านหงวนตินไม นิ่ง จำกัด ทำเหมืองแร่ที่อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต โดย ซื้อกิจการเหมืองแร่จากชาวมาเลเซีย และในปีถัดมาได้ขยายการลงทุนกันอีก โดยตั้ง บริษัท ปิ่นเยาะ จำกัด และบริษัทไทยทอง จำกัด ส่งออกแร่ไปต่างประเทศ บริษัท เหมืองแร่บ้านยูน จำกัด และเรือขุดแร่สหพิบูลย์ จำกัด

ส่วนกิจการสวนยางพารา ตระกูลอุปัติศฤงค์ ได้ก่อตั้งบริษัทภูเก็ตทองสิน จำกัด และบริษัทสหการอุตสาหกรรมและสวนยาง รับซื้อและส่งออกยางพาราไปต่างประเทศ

หลังจากประสบความสำเร็จในธุรกิจ เหมืองแร่และยางพาราแล้ว ฮั่นก๋วนได้แต่ง งานครั้งที่สอง กับนางหลิมบี้ แซ่หลิม มีลูก ด้วยกัน 7 คน ประกอบด้วย สุริยะ อุปัติศฤงค์ วิจิตร อุปัติศฤงค์ วิสันต์ อุปัติศฤงค์ เบญจา จินดาพล (แม่ของเรวุฒิ จินดาพล อดีตส.ส.ภูเก็ต) วิจารณ์ (อ้าน) อุปัติศฤงค์ วิจารณ์ (ซิ้ม) อุปัติศฤงค์ และนางสุวิมล อร่ามฤทธิ์

ฮั่นก๋วนได้ถ่ายโอนอำนาจการบริหารกิจการให้กับจเร อุปัติศฤงค์ ลูกชาย ที่หอบหิ้วกันมาจากเมืองจีน และสุริยะ อุปัติศฤงค์ ลูกชายคนโตที่เกิดจากภรรยาใหม่ เข้ามาบริหารแทนตน ในช่วงที่ลูกๆคน อื่นกำลังศึกษากันอยู่ในต่างประเทศ จเร และสุริยะ ช่วยกันบริหารกิจการจนเจริญรุ่งเรือง และทำหน้าที่ดูแลกิจการของตระกูล แทนบิดาในเวลาต่อมา

จเรได้แต่งงานกับเรวดี หงษ์หยก มีบุตรชายที่รู้จักกันดีในสังคมธุรกิจคือ ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต และนักพัฒนาที่ดินที่โด่งดัง ที่สุดบนเกาะภูเก็ต

ปัจจุบันตระกูลอุปัติศฤงค์ มีบริษัท ซินฮ่องซุ่ย เป็นบริษัทแม่ดูแลกิจการทั้ง หมดของครอบครัว และเป็นตัวแทนจำหน่าย รถจักรยานยนต์ฮอนด้า มีจเร อุปัติศฤงค์ เป็นกรรมการบริหารและสุริยะ อุปัติศฤงค์ เป็นกรรมการผู้จัดการ และมีไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ เป็นกรรมการ มีบริษัทในเครือประกอบด้วย

บริษัท ภูเก็ตทองสิน จำกัด ทำโรงงานยางแผ่นรมควันส่งออก

บริษัท ไทยทอง จำกัด รับซื้อแร่ ดีบุกในสมัยที่แร่ดีบุกกำลังเฟื่องฟู ปัจจุบัน เป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ซูซูกิ

บริษัท เหมืองแร่ บ้านยูน จำกัด และบริษัทเรือขุดแร่สหพิบูลย์ จำกัด ประ กอบกิจการเหมืองแร่

บริษัท สหการสวนยาง จำกัด ทำธุรกิจสวนยาง

บริษัท ศฤงค์พัฒนา จำกัด รับผิดชอบที่ดินของตระกูลอุปัติศฤงค์ ซึ่งคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นไร่

เกิดศึกสายเลือดรุ่นที่ 2

การบริหารงานเกือบทั้งหมดของตระกูลอุปัติศฤงค์ อยู่ในมือของจเร และ สุริยะ ทายาทคนอื่นๆ แทบจะไม่มีส่วนในการบริหารงานเลย หากจะเข้ามามีส่วนบ้าง ก็แทบจะไม่มีบทบาท จนทำให้อุปัติศฤงค์รุ่นที่ 2 ที่ไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการ บริหารกิจการในกงสีของตระกูลอุปัติศ ฤงค์เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบริหารงานของจเร และสุริยะ จึงได้เกิดศึกสายเลือดขึ้นในรุ่นที่ 2 ของตระกูลอุปัติศฤงค์

เมื่อวิจิตร อุปัติศฤงค์ หนึ่งในอุปัติศฤงค์รุ่นที่ 2 ที่ไม่ได้บริหารกิจการกงสีของ ครอบครัว ด้วยหลังจากจบการศึกษาจากรัฐ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย และได้ทำงานอยู่ในธนาคารยูไนเต็ดมาเลยันแบงก์ คอร์เปอเร ชั่น (UNBC) สาขากรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน ได้ยื่นฟ้องจำเลย 8 คน คือ จเร อุปัติศฤงค์ พี่ชายต่างมารดา สุริยะ อุปัติศฤงค์ พี่ชายสายเลือดเดียวกัน บันลือ ตันติวิท อัญชลี เกิดผล บัณฑิต ตันติวิท บันเทิง ตันติวิท อภิญญา ตันติวิท ข้อหาฐานความผิดเพิกถอนนิติกรรม ละเมิด เรียกค่าสินไหมทดแทนจำนวนทุนทรัพย์ 260,500,000 บาท ซึ่งศาลจังหวัดภูเก็ตได้ประทับรับฟ้องคดี หมาย เลขดำที่ 18/2539 ความแพ่ง เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2539

นอกจากนี้ในวันที่ 19 มกราคม 2539 ศาลจังหวัดภูเก็ตยังได้ประทับรับฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 210/2539 ความอาญา โดยวิจิตร อุปัติศฤงค์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องจำเลย 4 คน คือจเร อุปัติศฤงค์ สุริยะ อุปัติศฤงค์ บันลือ ตันติวิท และบัญชา อุปัติศฤงค์ ความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความ ผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด

การฟ้องร้องเกิดจากวิจิตรสงสัย การจัดการแบ่งที่ดินในหมู่กรรมการและหุ้นส่วนรู้เห็นเป็นใจในการขาย และซื้อที่ดินในการครอบครองของบริษัทบ่านหงวนติน ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททำเหมืองแร่ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างตระกูลอุปัติ ศฤงค์ กับตระกูลตันติวิท ที่เลิกจากการทำเหมืองแร่จำนวน 44 แปลง รวมเนื้อที่ 521-0-85 ไร่ ขายและรับซื้อที่ดินดังกล่าวต่ำกว่าราคาประเมินของกรมที่ดิน 3 เท่า และต่ำกว่าราคาซื้อขายในท้องตลาดถึง 10 เท่า ทำให้บริษัทบ่านฯเสียทรัพย์สินที่ควรจะได้ถึง 234,439,250 บาท

การฟ้องร้องดังกล่าวได้กลายเป็นชนวนให้เกิดความแตกแยกในรุ่นที่ 2 ของตระกูลอุปัติศฤงค์ จนถึงปัจจุบัน โดยมีการ แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายจเร, สุริยะ กับฝ่ายของวิจิตร และทายาทคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีบทบาทในการบริหารกงสี ของครอบ ครัว จนถึงปัจจุบันทายาทอุปัติศฤงค์ มีการฟ้องร้องเรื่องมรดกที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของศาล

จากปัญหาศึกสายเลือดได้ลุกลามจนถึงขั้นทำให้ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ อุปัติศฤงค์รุ่นที่ 3 คนเดียวที่เข้าไปเป็นกรรม การบริหารกงสีของอุปัติศฤงค์ ลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารบริษัทซินฮ่องซุ่ย

การลาออกจากกรรมการบริหารบริษัทซินฮ่องซุ่ย ของไพบูลย์ ได้สร้างความ สั่นคลอนต่อการเป็นตัวแทนจำหน่ายเบียร์สิงห์ ของกงสีอุปัติศฤงค์ เพราะเมื่อไพบูลย์ ลาออกจากกรรมการบริหารบริษัทซินฮ่องซุ่ย แล้ว เบียร์สิงห์ซึ่งเคยมีสายสัมพันธ์ที่แน่น แฟ้นกับจเร และไพบูลย์ จึงได้ยกเลิกการให้บริษัท ซินฮ่องซุ่ย เป็นตัวแทนจำหน่าย เพราะเชื่อมั่นในตัวไพบูลย์ ที่เป็นผู้ดูแลการ จำหน่ายเบียร์สิงห์ในภูเก็ต ตั้งแต่เริ่มต้นเข้า ไปทำงานในซินฮ่องซุ่ย จเรและไพบูลย์จึงได้ ตั้งบริษัท "สีวลี" จำกัด ขึ้นมาเป็นตัวแทนจำหน่ายเบียร์สิงห์

ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์

กับธุรกิจพัฒนาที่ดิน

ปัจจุบันตระกูลมีทายาทรุ่นที่ 2-4 ไม่ ต่ำกว่า 50 คน อุปัติศฤงค์รุ่นที่ 3 เริ่มที่จะแยกตัวออกมาทำธุรกิจของตนเองมากขึ้น ทายาทตระกูลอุปัติศฤงค์ที่แยกตัวออกมาทำธุรกิจและโดดเด่นมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์

ไพบูลย์ เริ่มต้นการทำงานในบริษัท ซินฮ่องซุ่ย ประมาณปี 2523 ด้วยการเป็นพนักงานฝ่ายรับซื้อ-ส่งออกยางและแร่ดีบุก หลังจากจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จากรัฐแมรี่ แลนด์ สหรัฐอเมริกา เข้ามาดูแลด้านการส่ง ออกยางอยู่ระยะหนึ่งได้เข้ามาดูแลการจำหน่ายเบียร์สิงห์ จนสร้างความเชื่อมั่น และได้รับความไว้วางใจจากบุญรอด บริวเวอรี่มาก

ไพบูลย์ดูแลด้านส่งออกยางและเบียร์สิงห์อยู่ห้าปี จึงได้เบนเข็มเข้าสู่วงการพัฒนาที่ดิน เมื่อปี 2529 ขณะที่ยังทำงานให้ กงสีของอุปัติศฤงค์

เริ่มต้นโครงการแรกด้วยการร่วมทุนกับเพื่อนสนิท ขึ้นโครงการกะตะพลาซ่า เป็นโครงการคอนโดมิเนียม 40 ยูนิต ใน ช่วงที่ธุรกิจพัฒนาที่ดินยังไม่บูม หลังจากธุรกิจพัฒนาที่ดินบูมได้ลงทุนพัฒนาที่ดินเป็นอาคารพาณิชย์ โครงการรอยัล พลาซ่า ภูเก็ตอาเขต 80 ยูนิต ประสบความสำเร็จอย่างมากทุกโครงการ สามารถขายได้หมดในเวลารวดเร็ว

ต่อจากนั้นได้ลงทุนทำโครงการบ้าน จัดสรรครบวงจร ที่มีทั้งสโมสร และสิ่ง อำนวยความสะดวก เริ่มจากโครงการภูเก็ต วิลล่า 1 จำนวน 500 หลัง ภูเก็ตวิลล่า 2 จำนวน 300 หลัง ภูเก็ตวิลล่า 3 จำนวน 1,000 หลัง ภูเก็ตวิลล่า 5 จำนวน 500 หลัง ภูเก็ตวิลล่าแคลิฟอร์เนีย จำนวน 800 หลัง และโครงการภูเก็ตวิลล่าแคลิฟอร์เนียเฟสพิเศษ จำนวน 200 หลัง หากรวมทุกโครงการแล้วกว่า 3,000 หลัง

ภูเก็ตวิลล่า 1 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านสามกอง อำเภอเมืองภูเก็ต นับเป็นโครงการพัฒนาที่ดินที่สร้างชื่อเสียงให้ไพบูลย์มากที่สุด เนื่องจากเป็นบ้านจัดสรรแห่งแรก ในภูเก็ต ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า เสริมเข้ามา ทั้งสโมสร สระว่ายน้ำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับบ้านจัดสรรใน ภูเก็ต จึงสามารถขายบ้านได้ ถึงแม้ว่าช่วงที่ขึ้นโครงการใหม่จะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย เมื่อซัดดัม ฮุสเซ็น สั่งกองทัพอิรัก บุกคูเวต ในปี 2533

ไพบูลย์ เล่าว่า ในช่วงนั้นต้องประสบ ปัญหาหลายด้าน ทั้งค่าวัสดุก่อสร้างขึ้นราคา ปัญหาไม่มีแรงงานก่อสร้าง แต่ในช่วงหลังจากนั้น เราแก้ไขปัญหา โดยการเสนอปัญหา ให้รัฐบาล ขอใช้แรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ได้ ขณะเดียวกันได้ควบคุมการหมุนเงินให้ ถูกต้อง สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

นอกจากธุรกิจพัฒนาที่ดินแล้ว ได้ตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ และบริษัท โอเอซิสเต็ม จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ แต่ธุรกิจ ที่ประสบความสำเร็จและสร้างชื่อให้กับ ไพบูลย์มากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นโครงการพัฒนาที่ดิน

ไพบูลย์เล่าให้ฟังว่า ธุรกิจพัฒนาที่ดินของตน ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด ได้รับการไว้วางใจจากลูกค้าเกินความ คาดหมาย ทุกโครงการขายหมดตั้งแต่เริ่มต้นโครงการแรกเป็นต้นมา แต่หลังจากที่เกิด ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังขึ้นโครงการภูเก็ตวิลล่าแคลิฟอร์เนีย ประมาณ 800 หลัง เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ ภูเก็ตวิลล่าแม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่ผลพวงวิกฤติเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายของ บริษัทเป็นอันมาก จากเดิมที่สามารถปิดโครง การตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่พอเกิดวิกฤติแผนงานที่วางไว้กลับพลาดไปหมด

"ช่วงที่เกิดวิกฤติหนัก ค่าเงินบาท อยู่ที่ 50 กว่าบาท/ดอลลาร์ เมื่อปีที่แล้ว ลำบากมาก 3-4 เดือนไม่สามารถขายบ้านได้แม้แต่หลังเดียว เป็นช่วงที่ไม่สามารถกำหนดได้ว่าธุรกิจจะดำเนินไปทางไหน ข้างหน้าจะถึงทางตันหรือไม่ ไม่สามารถ บอกได้ รู้อย่างเดียวว่า จะต้องสร้างบ้านให้ได้ตามที่สัญญากับลูกค้าไว้"

วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้กระทบเฉพาะ ยอดขายของภูเก็ตวิลล่าเท่านั้น แต่ได้กระ ทบในวงกว้างออกไป ถึงแผนการลงทุน โดย ช่วงนั้นตั้งเป้าไว้ว่าหลังจากปิดโครงการภูเก็ต วิลล่าแคลิฟอร์เนียแล้ว จะเดินหน้าต่อเปิดโครงการบ้านจัดสรรในเขตตัวเมืองภูเก็ตอีก 1 โครงการ เป็นบ้านทาวน์เฮาส์ชั้นเดียวจำนวน 1,500 หลัง มูลค่าโครงการประมาณ 1,000 ล้านบาท ที่บริเวณตรงข้ามกับโรงเรียนดาวรุ่ง ห่างจากตัวเมือง 2-3 กิโลเมตร ตอนนั้นได้เตรียมที่ดินจำนวน 130 กว่าไร่ไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งขึ้นป้ายโครงการไว้แล้ว กำลังดำเนินการขอกู้จากธนาคารพาณิชย์อยู่ พอดีมาเจอภาวะเศรษฐกิจ ตกต่ำ ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อทำให้ต้องชะลอโครงการออกไป

แต่อย่างไรก็ตาม มีแผนที่จะกลับมา ลงทุนในโครงการดังกล่าวต่อ หลังจากนี้ 1-2 ปี รอให้พ้นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจไปก่อน เพราะธนาคารเริ่มที่จะปล่อยสินเชื่อลูกค้ารายย่อยมากขึ้น

ไพบูลย์แนะวิธีฝ่าวิกฤติว่า ตอนนั้นหากเป็นมือสมัครเล่นคงจะล้มไปแล้ว ลูกค้าเดือดร้อนแน่นอน แต่อาศัยว่าภูเก็ต วิลล่ามีประสบการณ์ในการพัฒนาที่ดินมากว่า 10 ปี ทำให้สามารถแก้ไขวิกฤติไปได้ โดยขั้นแรกบริหารให้มีความสมดุลกันระหว่างรายรับกับรายจ่าย มีการเปลี่ยนระบบการก่อสร้างใหม่หมด จากเดิมที่กำหนดไว้จะมีการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะการสร้างสโมสรพร้อมๆกับการสร้างบ้านให้ลูกค้า แต่พอเกิด วิกฤติขึ้นมา เลือกก่อสร้างเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ที่ต้องส่งมอบให้ลูกค้า อย่างกรณีสโมสรโครงการภูเก็ตวิลล่า 5 ซึ่งใช้เงินทุนประมาณ 20 ล้านบาทก็ชะลอไปก่อน นอกจากนี้แล้วใช้วิธีเปิดขายเป็นเฟสย่อยๆ จากที่เมื่อก่อน เปิดขายทั้งโครงการ

และสิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือเจ้าหนี้ ต้องให้เจ้าหนี้ทราบว่าเราลำบากจริงๆ แจ้งให้เจ้าหนี้ทราบตลอดว่าจะเดินไป ทางไหนเมื่อเกิดวิกฤติขึ้น แผนงานต่างๆ ที่ กำหนดไว้คงจะไม่เดินไปตามแผนที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม กรณีของการฟ้องร้อง กันระหว่างญาติพี่น้องไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อ การทำธุรกิจของไพบูลย์แต่อย่างใด เนื่อง จากการฟ้องร้องเป็นเรื่องของอุปัติศฤงค์ รุ่นที่ 2 ส่วนรุ่นที่ 3 ก็ต้องยอมรับว่า เลือดข้นกว่าน้ำอยู่แล้ว

ในช่วง 10 ปีที่อยู่ในธุรกิจพัฒนาที่ดินไพบูลย์ได้เก็บสะสมประสบการณ์ ตั้งแต่ช่วงแรกที่ธุรกิจที่ดินยังไม่บูม ผ่านยุคสงครามอ่าวเปอร์เซีย และการลดค่าเงินบาท ของรัฐบาลเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา สถาบันการ เงินไม่ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนหนัก ที่ทำให้เราทำงานธุรกิจโดยยึดหลักไม่ประมาท หากยังอยู่ในธุรกิจนี้ต่อไป

นอกจากการพัฒนาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยแล้ว ไพบูลย์ยังวางแผนเข้าสู่การลงทุนพัฒนาที่ดินส่วนของโรงแรม เนื่องจากตอนนี้ธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตดีมาก และแนว โน้มธุรกิจโรงแรมจะไปได้อีกไกล

"เรามองถึงขั้นที่จะพัฒนาที่ดินในเขตตัวเมืองภูเก็ต ที่มีอยู่ประมาณ 100 ไร่ ให้เป็นจุดท่องเที่ยวแบบครบวงจร มีทั้ง โรงแรม ศูนย์การค้านานาชาติ มีการบริการ ครบวงจร เช่น โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง ซึ่งขณะนี้ภูเก็ตยังไม่มี เราน่าจะใช้จุดนี้แทรก เข้าสู่ธุรกิจโรงแรมได้ เพราะสังเกตจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่เข้ามาเปิดที่ภูเก็ต สามารถขายได้วันละ 10-20 ล้านบาท และคาดว่า การค้าของภูเก็ตในอนาคตมีโอกาส โตอีกมาก"

ไพบูลย์เปิดเผยว่า ได้มีการเตรียมสถานที่ไว้หลายแห่ง ทั้งในตัวเมืองและริมหาด แต่ในเบื้องต้นคาดว่าจะลงทุนในส่วนของตัวเมืองก่อนมีการเจรจาหาผู้ร่วมทุนได้ แล้วหลายราย ทั้งจากอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ซึ่งคาดว่าประมาณปลายปี 2543 จะสามารถเริ่มโครงการได้ ตอนนี้เรายังไม่ได้กำหนดรายละเอียดการลงทุนมากนัก อยู่ในขั้นการเจรจากับผู้ร่วมทุน และในระยะนี้ กำลังเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก วุฒิสภา ในวันที่ 4 มีนาคม 2543

การออกมาทำธุรกิจพัฒนาที่ดินของ ไพบูลย์ เขาสามารถยืนได้ด้วยขาของเขาเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาธุรกิจของตระกูลอุปัติศฤงค์ เลยก็ว่าได้ เขาเคยกล่าวว่า "ที่ผมมี วันนี้ได้เพราะทางตระกูลเขาไม่ได้มอบอะไร ให้กับผม ถ้าผมไม่ถูกบีบมาตลอดก็คงจะไม่ สามารถยืนหยัดด้วยตัวเอง ผมต้องขอบคุณ พวกเขาที่ทำให้ผมมีวันนี้ "

แม้แต่ที่ดินที่ไพบูลย์นำมาพัฒนาทุกโครงการเป็นที่ดินที่เขาซื้อมาเองทั้งหมด ไม่มีที่ดินแปลงใด ที่ได้มาจากกองมรดกของ ตระกูลอุปัติศฤงค์

การบริหารงานจนประสบความสำเร็จนั้น ไพบูลย์ยอมรับว่าส่วนหนึ่งได้รับมาจากประสบการณ์จากการเข้าไปทำงาน ที่บริษัท ซินฮ่องซุ่ย ได้รับการถ่ายทอดเทคนิคการทำงานจากทุกคนในซินฮ่องซุ่ย จาก จเร ผู้เป็นพ่อ บวกกับนิสัยส่วนตัวชอบ ศึกษาหาความสำเร็จและความล้มเหลวของ นักธุรกิจหลาย ๆ คน เป็นแบบอย่างในการ ดำเนินธุรกิจตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.