ในช่วงของการเปิดประเทศอย่างกว้างขวางเพื่อรับกับการลงทุนจากต่างประเทศและเปอร์เซ็นต์การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของไทยในช่วง
3-4 ปีที่ผ่านมานักลงทุนและนักธุรกิจจากไทยนั้น เปรียบไปแล้วก็เสมือนสาวงามบริสุทธิ์ที่หนุ่มเหน้าฟอร์มลูกเศรษฐีจากเมืองนอก
จ้องจะแต่งงานด้วยเสียทุกรายไป
ปรากฎการณ์การนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมข้ามชาติอย่างเช่นบริษัทน้ำมัน
สิ่งทอ การก่อสร้าง การผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งมีเงินลงทุนระดับร้อยล้านพันล้าน
เพื่อทดแทนการนำเข้าเหมือนเมื่อ 20-30 ปีก่อนเท่านั้น หากแต่ได้กระจาย ลงมาสู่การผลิตสินค้าและบริการเกือบทุกชนิด
โดยไม่จำกัดวงไว้เฉพาะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ
กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในการให้การส่งเสริมเท่านั้น
ธุรกิจบริการเช่นสำนักงานกฎหมายหรืออาชีพทนายความที่ให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ
(INTERNATIONAL LEGAL CONSULTANTS) ได้เติบโตขึ้นด้วยเหตุผลนี้พร้อมๆกัน
และก็อยู่ในข่ายถูกจับจ้องจากสำนักงานต่างชาติขอเข้ามาร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันมีสำนักงานกฎหมายประเภทนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยประมาณ 20 แห่ง
มีการคาดการณ์กันอย่างไม่เป็นทางการว่ามูลค่าการตลาดในธุรกิจประเภทนี้ตกประมาณกว่า
1,000 ล้านบาทต่อปี
"ดูจากข้างนอกแล้วมันเป็นธุรกิจที่ไม่หวือหวา เพราะลักษณะของมันเป็นการทำงานอยู่ข้างหลังของธุรกิจอื่นๆ
ภายในของมันเองก็หากินกันอย่างเงียบๆ เพราะเป็นวิชาชีพเฉพาะที่จะต้องจบมาทางกฎหมายโดยตรงจึงจะได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพนี้ได้
และได้รับการคุ้มครองพอสมควรตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวซึ่งจัดให้เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย
และมีการควบคุมไม่ให้มีการโฆษณาเหมือธุรกิจอื่นๆ แต่มูลค่าการตลาดธุรกิจบริการทางด้านนี้ในปัจจุบันผมคิดว่าไม่ต่ำกว่า
1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งความจริงมันน่าจะมากกว่านั้นไม่มีใครทราบแน่นอน เพราะตัวเลขนี้ผมคิดเฉลี่ยจากสำนักงานของเราที่มีรายได้ตกประมาณปีละ
50 ล้านบาท ความจริงน่าจะอยู่ในระดับ 3-5 % ของเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี
โดยเฉพาะในช่วงการลงทุนบูมยิ่งทำให้ธุรกิจนี้บูมไปด้วย" ทนายความในวงการคนหนึ่งกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
การลงทุนในปีนี้ ทางธนาคารพาณิชย์ชั้นนำบางแห่งอย่างไทยพาณิชย์ได้คาดคะเนจาก
REAL GROSS FIXED CAPITAL FORMATION น่าจะอยู่ในอัตรา 21-22% และชะลอตัวลงเหลือ
9%ในปีหน้า เนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมันและการเติบโตที่ไม่ทันของสาธาณูปโภค
ธุรกิจบริการทางด้านกฎหมายนี้ก็มีตั้งแต่การร่าง ตรวจสอบ และการดูแลสัญญาทางธุรกิจทุกประเภทการดูแลลิขสิทธิ์
สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ตลอดทั้งตราสารต่างๆ ภาษีอากร ขนส่ง อุตสาหกรรม
การค้า การลงทุน อสังหาริมทรัพย์ การซื้อกิจการ รวมหรือควบกิจการ และรวมไปถึงการยกเลิกสิทธิและการหย่าร้างทางธุรกิจดังกล่าวนั้นด้วย
แต่ธุรกิจนี้ก็ไม่แตกต่างกับธุรกิจอื่นๆแม้ว่าจะไม่มีการประดาบห้ำหั่นกันชนิดเลือดท่วมจอเหมือนสินค้าอุปโภคบริโภค
แต่ภายในวงการก็เชือดเฉือนกันล้ำลึก อุปมาอุปไมยเหมือนสงครามที่ไม่มีการประกาศกันอย่างเป็นทางการ
โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มทนายความ ที่เห็นว่าอาชีพนนี้ควรจะเป็นของคนไทยแท้ๆ
ไม่ควรให้ชาวต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวกับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีแนวความคิดยอมรับว่าความรู้ความสามารถของทนายไทยยังขาดตกบกพร่องอยู่มาก
จำเป็นจะต้องเรียนรู้เทคนิคและวิธีการจากทนายต่างประเทศอีกนาน จึงจะทัดเทียมนานาชาติ
เพื่อพัฒนาขึ้นมาในระดับที่สามารถพึ่งตัวเองได้ในอนาคตทนายความกลุ่มหลังนี่จึง
ได้มีการเข้าร่วมธุรกิจกับทนายความจากต่างประเทศในลักษณะต่างๆ ตามแต่เงื่อนไขกฎหมายและกำลังการต่อรองจะเปิดช่องให้
พวกเขายังมีความเห็นอีกว่าวิธีการเข้าร่วมกับทนายความชาวต่างประเทศอย่างเปิดเผย
ยังจะช่วยเป็นการสกัดกั้นการไหลเข้ามาอย่างไม่เปิดเผยของทนายความต่างชาติได้อีกทางหนึ่ง
ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็ยอมรับว่ามีทนายความประเภทลักลอบเข้ามาทำธุรกิจเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน
โดยที่ผู้ควบคุมดูแลกฎหมายอย่างกรมแรงงาน และสภาทนายความแห่งประเทศไทยไม่สามารถจะดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างแท้จริงในการให้การคุ้มครองทนายความคนไทย
เอนก ศรีสนิท นิติศาสตร์บัณฑิตจากธรรมศาสตร์ไม่เคยจบปริญญาจากต่างประเทศ
แต่เห็นช่องทางในการให้บริการกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศเมื่อประมาณ 20 กว่าปีก่อนที่เขาเข้าทำงานเป็นทนายความประจำที่อู่ตะเภาซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐอเมริกาสมัยสงครามเวียดนาม
โดยหน้าที่ของเขาในขณะนั้นคือดำเนินการเกี่ยวกับการดูแลผลประโยชน์และการดำเนินพิธีการทางกฎหมายของไทยให้แก่คนต่างชาติทุกคนในฐานทัพแห่งนั้น
รวมไปถึงการดำเนินพิธีการในการนำเข้า และเคลื่อนย้ายอาวุธและยุทธปัจจัยทุกชนิดทั้งในและนอกราชอาณาจักร
พูดถึงกฎหมายและพิธีการทางด้านการทหารและยุทธปัจจัย (MILITARY SERVICE)
แล้วกล่าวได้ว่าเอนก ศรีสนิท เป็นทนายความคนไทยคนแรกและคนเดียวที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้มาก
เมื่อสงครามเวียดนามยุติลง ทหารอเมริกันถอนทัพออกจากอู่ตะเภา เอนกได้ร่วมกับ
ครูเกอร์นักกฎหมายชาวยุโรปซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เพิ่งมีคนไทยให้ความสนใจในวงกว้างเมื่อไม่กี่ปีมานี้เองเปิดสำนักงาน
ครูเกอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ อันเป็นจุดที่เอนกเข้าสู่วงจรของธุรกิจกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเต็มตัว
ก่อนที่เขาจะเข้าไปบริหารสำนักงานกฎ-หมายควาซ่าร์ในตำแหน่งหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นเวลาติดต่อกันอีก
10 กว่าปี
จากนั้นเอนกจึงได้ออกมาลงทุนเปิดสำนักงานเอนก แอนด์ แอสโซซิเอสท์ ขึ้นมาเองเมื่อปี
2525 แล้วถึงมาถึงจุดที่เขาจะต้องเข้าร่วมลงทุนกับ สำนักงานกฎหมายเดนตัน
ฮอล์ล เบอร์กิ้น แอนด์ วาแรนท์ เปลี่ยนชื่อเป็น เอนก แอนด์ เดนตัน ฮอล์ล
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2532 ที่ผ่านมานี่เอง
"จะพูดไปแล้วในขณะนั้นถ้าเราอยู่ตามลำพังของเรา ก็สามารถอยู่ได้ค่อนข้างสบายแต่ในแง่ความจำเป็นในการขยายงานไปสู่ระดับโลก
และสร้างสมความรู้และประสบการณ์แก่ทีมงานที่กำลังจะขึ้นมาในรุ่นต่อๆไปแล้ววิธีนี้จะเป็นการเรียนลัดที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
จึงได้ตัดสินใจร่วมลงทุนกับทางสำนักฎหมายต่างประเทศ ซึ่งก่อนที่จะเลือกเอาเดนตัน
ฮอล์ลก็เลือกอยู่นานพอสมควร" เอนกกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงเหตุผลในการตัดสินใจร่วมลงทุนกับสำนักงานทนายความจากต่างประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา
แต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 ที่ผ่านมาเอนก ศรีสนิท ก็ได้ประกาศหย่าร้างทางธุรกิจกับเดนตัน
ฮอล์ล แล้วหันมาใช้ เอนก แอนด์ เอสโซซิเอสท์ เพียงอย่างเดียวอีกเช่นเคย
สำนักงานทนายความเดนตัน ฮอล์ล หรือมีชื่อเรียกเต็มๆว่า เดนตัน ฮอล์ล เบอร์กิ้น
แอนด์ วาแรนท์ นั้นเป็นสำนักงานที่ก่อตั้งขึ้นมานานถึง 212 ปีของทนายความชาวอังกฤษ
ซึ่งปัจจุบันยังคงมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีเครือข่ายในการให้บริการทางด้านธุรกิจ
กฎหมายระหว่างประเทศอยู่ทั่วโลกทั้งในรูปของสาขา และสำนักงาน ตัวแทน โดยเฉพาะในเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจอย่างลอส
แองเจลิส บรัสเซล ฮ่องกง สิงคโปร์และโตเกียว มีทนายความซึ่งประะจำอยู่ในที่ต่างๆรวมทั้งสิ้นถึง
360 คน ประมาณว่า มีรายได้ต่อปีกว่า 3,000 ล้านบาท
เดนตัน ฮอล์ล เริ่มขยายธุรกิจเข้ามาทางตะวันออกโดยร่วมกับ โรเบิร์ต จิวค์ส
กับพวกอีกสองคนคือ โจนาทาน ฮาริส กับ เดวิค เบสฟอนเปิดสำนักงานขึ้นที่ฮ่องกงเมื่อ
14 ปีที่ผ่านมา และต่อมาเมื่อ 6 ปีที่แล้วก็ได้เข้ามาเปิดสำนักงานที่สิงคโปร์ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง
และก็เข้ามาร่วมกับเอนกเมื่อปีที่ผ่านมา
โรเบิร์ต จิวค์ส ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการที่ฮ่องกงและเป็นตัวแทนสูงสุดของเดนตัน
ฮอล์ลในภูมิภาคนี้มองว่าภูมิภาคเอเชียเป็นย่านที่จะมีการขยายตัวทางธุรกิจและมีการเคลื่อนย้ายทุนมากที่สุดในอนาคต
เขาและพรรคพวกจึงได้ร่วมกันขยายงานกันอย่างเอาจริงเอาจังในช่วงที่ผ่านมา
โดยเข้าไปที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทเป
โรเบิร์ต จิวค์ส กับ เอนก ศรีสนิท รู้จักกันมานานร่วม 10 ปี และก็ได้มีการร่วมมือประสานงานในการให้บริการแก่ลูกค้าของกันและกันมาโดยตลอด
ทั้งสองมีแนวความคิดสอดคล้องกัน ในเรื่องการขยายงานในภูมิภาคนี้ รวมไปถึงความสนใจเฉพาะด้านของเอนกที่เข้าสู่ประเทศในอินโดจีนอย่างลาว
เขมร และเวียดนาม เมื่อหลังสงครามสงบลง ด้วยประเทศทั้งสามกำลังอยู่ในระหว่างการแสวงหาแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนเอง
ประเทศไทยเป็นจุดที่จิวค์สจะต้องเข้ามาเริ่มต้นอย่างจริงจังในการขยายงานให้แก่เดนตันฮอล์ล
ก่อนที่จะกระโดดเข้าสู่อินโดจีนในช่วงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสาม
โครงการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั้งสองวาดฝันร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการทางด้านที่ปรึกษาการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานและอุตสาหกรรมหนักของภาครัฐบาล
และการลงทุนในธุรกิจของภาคเอกชนจากประเทศต่างๆ ที่จะตามเข้าไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดในอีก
30 ปีข้างหน้า ในขณะที่ตลาดลูกค้าหรือลูกความของเขาที่สนใจในเรื่องนี้พร้อมอยู่แล้วที่จะหลั่งไหลมาจากทางยุโรป
อเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์
ปัจจุบันทนายความกลุ่มนี้ได้เข้าไปมีบทบาทอยู่บ้างแล้วในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยได้รับความไว้วางใจจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย
หรือ เอดีบี. ที่ให้ทุนแก่รัฐบาลลาว จ้างเข้าไปศึกษากฎหมายและหาแนวทางในการแก้ไขเปลื่ยนแปลง
และออกกฎหมายใหม่ให้ลาว เพื่อรองรับการเปิดรับการลงทุนและธุรกิจจากต่างประเทศที่จะตามเข้าไปอย่างติดๆ
โดยสัญญาระหว่างเอดีบี.กับทนายความกลุ่มนี้ได้ทำขึ้นเมื่อกลางปีที่ผ่านมามีระยะเวลาของโครงการ
4 ปี นอกจากนั้นทนายความกลุ่มนี้ยังได้เข้าไปเปิดสำนักตัวแทนที่เวียดนามอีกด้วยเมื่อไม่นานมานี้เอง
สำหรับในประเทศไทยพวกเขามีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ใน 10 อันดับแรกของสำนักงานธุรกิจกฎหมายระหว่างประเทศในไทยซึ่งมีอยู่ประมาณ
20 สำนักงาน มีรายได้จากลูกความประจำกว่า 50 ล้านบาท ต่อปี
เฉพาะ เอนก ศรีสนิท คนเดียวเป็นที่ปรึกษาบริษัทในประเทศที่จ่ายค่าปรึกษาประจำเป็นรายเดือนประมาณ
200 กว่าแห่งในปัจจุบัน
นอกจากลู่ทางการตลาดที่สามารถจะเปิดออกไปอย่างกว้างขวางแล้ว เอนกยังเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟังอีกว่าสิ่งที่ตัวเขาและทีมงานจะได้ในระยะยาวจากการตัดสินใจร่วมกับสำนักงานกฎหมายต่างประเทศนั้นคือ
การพัฒนาวิชาชีพทนายความธุรกิจระหว่างประเทศซึ่งเขายอมรับว่าโดยลำพังคนไทยแล้วไม่อาจพัฒนาไปได้เท่าเทียมเขาในเวลาอันรวดเร็วได้
นอกจากวิธีการอย่างนี้
"ในการตัดสินใจคราวนั้นทางเดนตัน ฮอล์ลเขารับเงื่อนไขของผมทุกอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขอเชื่อมต่อเข้าไปในซอฟท์แวร์ทั้งหมดจากสำนักงานใหญ่
เพราะฉะนั้นมันจะทำให้เรามีข่าวสารข้อมูล เทคนิควิธีการต่างๆ ทัดเทียมกับที่สำนักงานใหญ่มีอยู่ที่อังกฤษ
การขอ ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่ทางสำนักงานใหญ่จะต้องส่งมาประจำอยู่ที่กรุงเทพ
ซึ่งนอกจากจะบริการลูกความของเราแล้วยังจะต้องสอนงานให้แก่คนของเราด้วย อันที่สามคือทางเขาจะต้องรับคนของเราไปฝึกงาน
ดูงาน และศึกษาต่อในเมืองต่างๆที่เขามีสำนักงานอยู่อย่างน้อยปีละสองคนซึ่งเงื่อนไขตัวนี้ถือว่ามีค่ามากที่สุดสำหรับผม"
เอนกกล่าว
ทั้งสองฝ่ายลงทุนจดทะเบียนร่วมกัน 4 ล้านบาทในสัดส่วน 49:51 โดยจิวค์สเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นทางฝ่ายเดนตัน
ฮอล์ล ส่วนเอนกและครอบครัวเป็นผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยและรับผิดชอบควบคุมการบริหารเองทั้งหมด
เอนกกล่าวว่านับตั้งแต่การร่วมลงทุนกันมาเป็นเวลาร่วมปีเขาไม่ค่อยได้รับความร่วมมือที่ดีนักจากสำนักงานใหญ่เดนตัน
ฮอล์ล เช่นผู้เชี่ยวชาญที่เดนตัน ฮอล์ลส่งมาก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง
และก็มักมีจะเข้ากันไม่ได้กับเพื่อนร่วมงานและลูกความ เพราะคนที่ถูกส่งมานั้นยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนไทยดีพอ
ส่วนเรื่องการเชื่อมต่อซอฟท์แวร์ก็เพิ่งจะได้กระทำกันเมื่อไม่กี่เดือนมานี้เองและการส่งคนๆไปอบรมนั้นยังไม่ได้ดำเนินการอะไรก็ต้องมาล้มเลิกสัญญากันก่อน
"มันเป็นปัญหาที่คุณเอนกเองก็อึดอัดมานานพอสมควร พอมาเจอปัจจัยภายในของ
เดนตัน ฮอล์ลเองเข้าอีกก็เลยต้องตัดสินใจแยกตัวออกมาตั้งหลักใหม่เลยทันที"
คนใกล้ชิด เอนกกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เอนกกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ในเรื่องเดียวกันนี้ว่าเขายังไม่ได้เสนอปัญหาที่เขาพบให้กับทางสำนักงานใหญ่เดนตัน
ฮอล์ลพิจารณาทบทวนแต่อย่างใด เพียงแต่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หุ้นส่วนผู้จัดการของสำนักงานเดนตัน
ฮอล์ลจากอังกฤษ ไมเคิลฟิล์ล เดินทางมาที่ฮ่องกงเพื่อหารือธุรกิจกับโรเบิร์ต
จิวค์ส ซึ่งเขาเองก็ได้รับเชิญให้เข้าคุยด้วยในคราวนั้น แต่ไม่ทราบมาก่อนว่าทั้งสองจะคุยเรื่องอะไรกัน
"ผมไปทราบเอาทีหลังว่าการพูดคุยกันในวันนั้น เหมือนกับทางสำนักงานใหญ่เขาต้องการบีบจิวค์ส
เพราะทางสำนักงานใหญ่ต้องการส่งคนเข้ามาควบคุมบริหารสำนักงานที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ด้วย
ซึ่งแต่เดิมเขาเป็นผู้บริหารสูงสุดในย่านนี้ แต่ว่าจิวค์สกับเพื่อนของเขาอีกสองคนไม่ยอมแล้วก็จะมีการถอนตัวออกไป
แต่ทางสำนักงานใหญ่ก็พูดทำนองว่าเขาไม่แคร์หากจะมีใครถอนตัวออกไป เพราะสำนักงานของเขามีทนายความมากมายอยู่แล้วทั่วโลก
ซึ่งเป็นคำพูดที่ทำให้ผมตัดสินใจได้เดี๋ยวนั้นเลยว่าจะต้องถอนตัวออกมาเหมือนกัน
เพราะมันขัดกับวัฒนธรรมของเราสำหรับผมแล้วคิดว่าคนที่มั่นคงแข็งแรง แล้วก็เหมือนต้นไม้ใหญ่ที่ใบยิ่งดก
นกก็ยิ่งชุม แต่แทนที่เขาจะห่วงไม่ให้ใบไม้มันหล่นเขากลับบอกว่าไม่แคร์ ผมก็เลยบอกเขาไปว่าถ้าอย่างนั้นผมก็คงต้องถอนตัวเหมือนกัน"
เอนกเล่าให้ฟัง
"ผมกับจิวค์สคบกันมานานก่อนที่เราจะร่วมลงทุนกันเสียอีก เมื่อเขาต้องเลิกกับทางเดนตัน
ฮอล์ลผมก็คงจะต้องเลิกด้วย เพราะจะว่ากันจริงๆแล้วผมกันเดนตัน ฮอล์ลสำนักงานใหญ่ก็ไม่ได้ใกล้ชิดกันเลยทุกอย่างที่ร่วมกันก็เพราะเพื่อน
คือจิวค์สที่ได้รับปากเขาไว้ก่อนหน้านั้น เวลาตัดสินใจจึงไม่ต้องคิดอะไรมากเพราะถ้าจะเอาเรื่องธุรกิจมาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจแล้วผมไม่มีอะไรต้องเป็นห่วง"
เอนกกล่าว
เอนกกล่าวอีกว่าปัญหาทางด้านวัฒนธรรมที่แตกต่างกันดูจะป็นปัญหาใหญ่อย่างยิ่งที่สะท้อนออกมาในทางความคิดและการทำงาน
เพราะทางอังกฤษนั้นมีบริการทางด้านนี้มายาวนานเป็นร้อยๆ ปีนักธุรกิจของเขาใช้บริการนักกฎหมายพอๆ
กับการใช้บริการทางการแพทย์ของคนในประเทศ ด้อยพัฒนาอย่างประเทศไทย
ทนายความสามารถจะบอกลูกความไปพบได้ทุกหนทุกแห่งตามที่เขาต้องการ แม้จะต้องนั่งรอเป็นชั่วโมงก็ต้องรอ
ในขณะที่วัฒนธรรมของคนย่านเอเชียคนที่ทำงานบริการจะต้องไปพบตามความต้องการของลูกความ
การนบน้อมถ่อมตนต่อผู้มีอาวุโสกว่า และการมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนในสังคมยังเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจในย่านนี้
นอกจากนี้เอนกยัง เล่าให้ฟังอีกว่าปัญหาลึกๆมากกว่านั้น ระหว่างโรเบิร์ต
จิวค์ส กับสำนักงานใหญ่จะมีความขัดแย้งอะไรอีกหรือไม่เขาไม่ทราบ ทราบเพียงว่าตอนที่จิวค์สร่วมกับเดนตัน
ฮอล์ลเปิดสำนักงานขึ้นที่ฮ่องกงใหม่ๆเมื่อ 14 ปีก่อนนั้น จิวค์สต้องช่วยตัวเองมาตลอดในด้านลูกความและรายได้ของสำนักงานซึ่งไม่ค่อยดีนักและตลอดมาทางสำนักงานใหญ่ก็ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวด้านการบริหารของเขา
แต่ต่อมาในระยะหลังเดนตัน ฮอล์ล ได้ควบกิจการเข้ากับสำนักงานกฎหมายอื่นอีกสองแห่งคือเบอร์กิ้น
กับวาแรนท์ เป็นสำนักงานเดียวซึ่งเอนกตั้งข้อสังเกตว่าอาจทำให้นโยบายของสำนักงานใหญ่
ซึ่งประกอบขึ้นด้วยคนถึงสามฝ่ายอาจเปลี่ยนแปลงไปในรูปที่ต้องการเข้ามาควบคุมสำนักงานในต่างประเทศมากขึ้นก็ได้
"อีกอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าในระยะหลังนี้ทางสำนักงานในภูมิภาคนี้ซึ่งจิวค์สเขา
ดูแลอยู่ทำรายได้สูงมาก เท่าที่ทราบรายได้ถัวเฉลี่ยต่อจำนวนทนายความแล้ว
ในภูมิภาคนี้สูงกว่าทางย่านอื่นถึงสองสามเท่าตัว จึงทำให้คนจากสำนักงานใหญ่อยากเข้ามามีส่วนในการบริหารด้วย"
เอนกตั้งข้อสังเกต
ลักษณะการร่วมลงทุนของกลุ่มสำนักงานกฎหหมายเดนตัน ฮอล์ล เป็นแบบการลงทุนตามสัดส่วนเท่ากันระหว่าง
สำนักงานใหญ่กับทนายท้องถิ่น โดยทนายในท้องถิ่นจะได้รับจาก ค่าทำงานเป็นชั่วโมงทำงานในแต่ละเดือน
และสำหรับทนายความที่เป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วยก็จะได้รับเงินปันผลจากกำไรของแต่ละปีตามสัดส่วน
กำไรอีกส่วนหนึ่งก็จะส่งไปให้สำนักงานใหญ่ที่เข้ามาลงทุนด้วย ซึ่งก็จะนำไปจัดสรรระหว่างผู้ถือหุ้นในสำนักงานใหญ่อีกต่อหนึ่ง
ในลักษณะเช่นนี้การทำเป้าหมายด้านรายรับและการอนุมัติจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ
ถือเป็นอำนาจของผู้บริหาร สูงสุดในท้องถิ่น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อรายได้สูงรายจ่ายก็ต้องสูงตามไปด้วย
และคงจะเป็นรายจ่าย ที่ทางสำนักงานใหญ่ไม่เห็นสมควรจะต้องจ่ายอยู่หลายเรื่องจึงมีแนวความคิดที่ต้องการ
เข้ามาร่วมบริหารด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายที่เป็นค่ารับรองทางสังคมนั้น
วัฒนธรรมทางยุโรปแทบจะมองไม่เห็นความสำคัญในขณะที่วัฒนธรรมในย่านเอเชียกลายเป็นเรื่องสำคัญและเป็นต้นทุนที่สูงพอสมควรในการทำธุรกิจ
เอนกกล่าวว่านอกจากจิวค์สจะไม่ต้องการ ให้ทางสำนักงานใหญ่เข้ามาควบคุมการบริหารในภูมิภาคแล้ว
เขายังมีแนวความคิดที่ต้องการให้กลุ่มสำนักงานในภูมิภาคเอเชียมีความเป็นอิสระทั้งในด้านการบริหารและนโยบาย
โดยเขาต้องการทำให้เป็น "เอเชี่ยนเน็ทเวิร์ค" ซึ่งกำหนดนโยบายและ
บริหารรวมไปถึงรูปแบบและการตัดสินใจในการเสนอ และรับงานของคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนมาจากประเทศต่างๆ
เพื่อให้สอดคล้องและเกิดความคล่องตัว ในการขยายงานตามแนวความคิดที่จะขยายงานในภูมิภาคนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในอนาคต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ตลาดอินโดจีน ซึ่งทางสำนักงานใหญ่ยังไม่ค่อยจะมั่นใจมากนักว่าจะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่
"แนวความคิดของเขาบางอย่างจึงใช้ไม่ค่อยได้ในเอเชีย เพราะฉะนั้นถ้านโยบายและการบริหารถูกควบคุมจากสำนักงานใหญ่มาก
งานคงขยายลำบากเพราะแนวความคิดไม่สอดคล้องกันแล้ว " เอนกกล่าว
แต่เรื่องอย่างนี้ไม่น่าที่เอนกจะไม่รู้มาก่อนล่วงหน้า ซึ่งเขาบอกว่าทราบมาก่อนล่วงหน้าเป็นอย่างดีเพียงแต่ว่าเดิมนั้นจิวค์ส
ซึ่งแม้จะมีสัญชาติเป็นคนอังกฤษแต่ก็เข้าใจในวัฒนธรรมของคนในย่านนี้ดีมากเป็นผู้บริหารสูงสุดในภูมิภาคนี้
และก็ไม่คิดว่าสำนักงานใหญ่จะบีบจิวค์สเช่นนี้ในเวลาต่อมา
ปัจจุบันกลุ่มโรเบิร์ต จิวค์ส กับเอนก ศรีสนิทได้ตัดสินใจที่จะแต่งงานใหม่อีกครั้งกับสำนักงานกฎหมายรายใหม่ชื่อมอลลีสัน
สตีเฟน เจคส์แห่งออสเตรเลีย ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามร่วมมือกันในเร็ว ๆ นี้
มอลลีสัน สตีเฟน เจคส์ เป็นสำนักงานทนายความระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ
ออสเตรเลียซึ่งก่อตั้งมานานถึง 158 ปี และใหญ่ติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก
มีสำนักงานกระจายอยู่ในเมืองสำคัญๆ ทางธุรกิจทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก
ลอนดอน เฉพาะที่ออสเตรเลียเองนั้น มีสำนักงานอยู่ถึง 4 แห่งคือที่เมืองแคนเบอร์รา
ซิดนีย์ เมลเบิร์น และเพิร์ทฮ์ มีทนายความรวมทั้งหมดถึง 400 คน
นอกจากนี้ มอลลีสัน ยังมีสำนักงานในย่านเอเชียอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ และจาการ์ตา
ส่วนที่กรุงเทพฯกลุ่มนี้ก็เคยทาบทามเอนกมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่บรรลุผล เพราะเอนกไปรับปากกับจิวค์สไว้ก่อนแล้วนั่นเอง
เอนกกล่าวว่าสำนักงานมอลลีสันในส่วนที่เขาเข้าร่วมครั้งใหม่นี้ นั้นมีความแตกต่างกันกับเดนตัน
ฮอล์ล ทั้งในด้านการลงทุน การจัดองค์กรบริหาร การกำหนดนโยบายแและการจัดการ
เขากล่าวว่าสำนักงานใหญ่มอลลีสันเป็นผู้จัดการเรื่องทุนในการดำเนินการเองทั้งหมดตามงบประมาณที่ทางระดับประเทศและภูมิภาคเสนอขึ้นไป
ฉะนั้นการเข้าเป็นหุ้นส่วนจะวัดจากคะแนนความเชี่ยวชาญไม่ใช่วัดจากส่วนเงินลงทุนเช่นการร่วมลงทุนทั่วไป
การจัดองค์กรการบริหารจะมีคณะกรรมการ 3 ระดับนับตั้งแต่ระดับประเทศประกอบด้วยคณะกรรมการประมาณ
3-8 คนซึ่งมาจากผู้ที่มีคะแนนความเชี่ยวชาญสูงสุดลงไปถึงผู้ที่มีคะแนนความเชี่ยวชาญในอันดับที่แปดของสำนักงานในประเทศนั้นๆ
คณะกรรมการระดับภูมิภาคซึ่งมาจากตัวแทน มาจากสำนักงานในประเทศต่างๆ ประมาณ
8 คนซึ่งแนวความคิดเกี่ยวกับ "เอเซียเน็ทเวิร์ค" จะได้นำมาใช้อย่างเต็มที่ในการร่วมกับกลุ่มนี้
และ
ระดับสูงสุดคือคณะกรรมการกำหนดนโยบายระดับโลก (NATIONAL POLICY COMMITTEE
หรือ NPC) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนที่มาจากภูมิภาคต่างๆ แห่งละคนรวมกันประมาณ
8 คน
การกำหนดนโยบายจะถูกเสนอขึ้นไปจากระดับประเทศ พร้อม ๆ กับการทำงบประมาณใช้จ่ายประจำปี
ซึ่งจะมีทั้งค่าใช้จ่ายประจำ และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากแผนการขยายงานในปีนั้น
ๆ เพราะฉะนั้นในด้านกำหนดนโยบายของแต่ละประเทศค่อนข้างจะเป็นอิสระพอสมควร
รวมทั้งการบริหารในระดับสำนักงานที่อยู่ในแต่ละประเทศจะมีทนายความที่มีอาวุโสที่สุดเป็นหัวหน้าสำนักงาน
และผู้จัดการสำนักงานซึ่งอาจไม่ใช่ทนายความที่ดูแลทางด้านธุรการอีกคนหนึ่ง
ทนายความทั่วไปจะมีรายได้จากค่าชั่วโมงทำงานคูณด้วยเวลาที่ทำในแต่ละเดือน
ซึ่งค่าชั่วโมงทำงานจะมีเกณฑ์ค่อนข้างมาตรฐานเท่าเทียมกันทุกสำนักงานในกลุ่ม
ในการวัดมูลค่าชั่วโมงจะทำโดยให้คะแนนสะสมจากผลงานที่ออกมาในปีที่ผ่านมา
ค่าความเชี่ยวชาญจะแปรรูปออกมาเป็นระดับความอาวุโสของทนายความแต่ละคน เมื่ออาวุโสถึงระดับหนึ่งก็จะได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการให้เป็นทนายความหุ้นส่วน
ทั้งนี้ในการเข้าเป็นหุ้นส่วนในระยะเริ่มต้นจะมีการให้คะแนน 40 คะแนนในทันที
ซึ่งจะมีรายได้จากเงินปันผลอีกครั้งหนึ่งในตอนปลายปี โดยจะจัดสรรกำไรตามคะแนนสะสมที่แต่ละคนมีตั้งแต่ระดับหุ้นส่วนธรรมดาเริ่มด้วย
40 คะแนนจนถึงอาวุโสสูงสุด 100 คะแนน ทนายความระดับหุ้นได้รับหลักเกณฑ์ค่อนข้างแน่นอนว่าคะแนนของตนเองจะเพิ่มขึ้นปีละ
10 คะแนน ฉะนั้นนับแต่วันเข้าเป็นหุ้นส่วนวันแรกจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 ปี
ถึงจะขึ้นสู่ระดับทนายความหุ้นส่วนสูงสุด
อันเป็นหุ้นส่วนนี้ไม่จำกัดจำนวนว่าจะต้องมีกี่คน เมื่อใครมีอาวุโสถึงก็จะถูกจัดเข้าเป็นหุ้นส่วนในทันที
วิธีการจัดสรรปันผลทำโดยนำคะแนนของทนายหุ้นส่วนทุกคนรวมกัน แล้วนำไปหารกับจำนวนเงินที่เป็นกำไรจะต้องจัดสรรจะออกมาเป็นจำนวนเงินปันผลต่อหนึ่งคะแนน
แล้วจึงนำจำนวนคะแนนของแต่ละคนมีอยู่คูณจะออกมาเป็นจำนวนเงินปันผลที่ทนายหุ้นส่วนคนนั้น
ๆ จะได้รับในตอนปลายปี
ยกตัวอย่างทนายความเอ เป็นทนายความระดับหุ้นส่วนด้วยคะแนน 60 คะแนน สำนักงานของกลุ่มทั่วโลกทำกำไรหลังจากหักสำรองใช้จ่ายในปีต่อไป
30% แล้วเป็นเงิน 2,000 ล้านบาท มีทนายความที่อยู่ในระดับหุ้นส่วนรวมกันทั่วโลก
200 คนมีคะแนนรวมกันทั้งสิ้น 100,000 คะแนน เงินปันผลจะเท่ากับ 20,000 บาทต่อคะแนน
เพราะฉะนั้นทนายความเอจะได้รับเงินปันผลในปีนั้นเท่ากับ 60 คูณด้วย 20,000
หรือ 1,200,000 บาท
เอนกกล่าวอีกว่าระบบการให้คะแนนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกนี้เป็นช่องทางให้ทนายความคนไทยที่จะตามมาในรุ่นต่อ
ๆ ไปได้มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดด้วยความสามารถของเขาเอง
"อันหลังนี้เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญในการตัดสินใจในการร่วมกับสำนักงานต่างประเทศในครั้งใหม่นี้
คิดว่าอีกไม่นานคงจะมีการลงนามในสัญญาร่วมกัน" เอนกกล่าวถึงเหตุผลการแต่งงานทางธุรกิจของเขาอีกเป็นครั้งที่สองหลังจากหย่าขาดจากเดนตัน
ฮอลล์มาได้เพียงหม้อข้าวไม่ทันดำ