ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้การประกาศข่าวของบริษัทเมอริล ลินซ์ แคปิตอล มาร์เกตโบรกเกอร์ค้าหลักทรัพย์ชั้นนำแห่งสหรัฐอเมริกาในฐานะเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุนของบริษัทเดอะแบรี่
แฟมิลี่ อินเวสเมนท์ คอร์ปอเรชั่นเกี่ยวกับการขายหุ้นในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย
(THE THAI SILK COMPANY) ให้กับบริษัทโตคิว ดีพาร์ทเมนท์สโตร์เปรียบเสมือนการแจ้งข่าวอย่างไม่เป็นทางการให้บรรดากรรมการและผู้ถือหุ้นจำนวน
101 คนของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยได้รับทราบ
เนื้อหาโฆษณาขนาดเศษหนึ่งส่วนสี่หน้าที่ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และ
เดอะเนชั่นนั้นได้บ่งบอกว่า เดอะแบรี่ แฟลิมี่ อินเวสเมนท์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น
24.2% ในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยนี้ได้ขายหุ้นจำนวนนี้แก่โตคิวดีพาร์ทเม้นท์สโตร์
โดยทางอ้อมผ่านบริษัทเนวาดา คอร์ปอเรชั่นซึ่งเป็นโฮลดิ้งคอมปานีในบริษัทเดอะแบรี่แฟมิลี่อีกทีหนึ่ง
"โตคิวเข้ามาซื้อหุ้น BLUE CHIP WITH GOLD RIB อย่างหุ้นบริษัทของจิมทอมป์สันไหมไทยได้ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่มั่นคงมากๆ"
ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเน้นถึงการลงทุนที่ไม่มีอัตราเสี่ยง
ในอดีตเมื่อครั้งปี 2516 พระยาไชยยศสมบัติ ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัทได้เคยแจ้งว่ามูลค่าหุ้นของจิมทอมป์สันไหมไทยถ้าคำนวณจากเงินปันผลจะมีราคาประมาณ
6,000-7,000 บาท แต่ถ้าคำนวณโดยรวมเอาทรัพย์ของบริษัททั้งหมดจะมีมูลค่าถึงหุ้นละ
40,000 บาท โดยขณะนั้น ราคาพาร์ของหุ้นตก 1,000 บาท
"เวลานี้ราคาหุ้นของบริษัทก็ประมาณ 200 เท่าของราคาพาร์ 100 บาท ทำให้ไม่มีใครอยากจะสละหุ้นเลย"
ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งคำนวณมูลค่าให้ฟัง
อัตราการเติบโตของผลการดำเนินงานและกำไรของบริษัทนี้งดงามมาก ปีที่แล้วยอดขายพุ่งถึง
930 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 196 ล้านบาท มีกำไรสุทธิต่อหุ้นถึงหุ้นละ 983.20
บาท (ดูตารางผลการดำเนินงานประกอบ)
นอกจากนี้บริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยยังมีกิจการในเครือเป็นอุตสาหกรรมครบวงจรอีก
4 กิจการคือ บริษัทซิลโก้การ์เมนท์ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2518 เพื่อตัดเย็บเสื้อผ้าไหมไทยสำเร็จรูปซึ่งเป็นการทำมูลค่าเพิ่มให้แก่ผ้าไหมโดยในระยะแรกศุภพงษ์
มังกรกาญจน์เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรก ปัจจุบันศุภพงษ์เป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและอรศรี
วังวิวัฒน์เป็นกรรมการผู้จัดการซิลโก้ฯแทน ปีที่แล้วซิลโก้ฯมีกำลังผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป
เน็คไทและสินค้าอื่นๆ มากกว่า 500,000 ชิ้น ต่อมาเมื่อตลาดของชำร่วยมีศักยภาพเติบโตได้ดีก็จึงมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชำร่วยผ้าไหมไทย
โดยแยกการผลิตและการจำหน่ายในนามของบริษัทนิ๊คแน๊คที่เพิ่งก่อตั้งในปีนี้
ต่อมาในปี 2521 บริษัทอุตสาหกรรมไหมและพิมพ์ผ้าก็เกิดขึ้นจากการซื้อกิจการของหจก.ชูพันธ์อุตสาหกรรมและร่วมลงทุนกับบริษัททาวนุส
เท็กทริลดรุกซ์ ซิมเมอร์ แอนด์ โคหรือเรียกสั้นๆว่า "ทาวนุส" ซึ่งช่วยด้านเทคนิคเครื่องจักรย้อมผ้า
พิมพ์ผ้าและอาบน้ำยา โดยปีที่แล้วพิมพ์ผ้าไหมได้ 689,000 หลาและพิมพ์ผ้าฝ้ายถึง
908,000 หลาโดยงานพิมพ์ผ้าฝ้ายนี้มีลูกค้าประจำที่จ้างพิมพ์เช่นบริษัทไอซีซีผู้ผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อแอร์โรว์
ว่ากันว่าค่าจ้างพิมพ์ผ้าที่โรงพิมพ์แห่งนี้แพงที่สุด
และในปีเดียวกันนี้โรงทอผ้าไหมของบริษัทก็เกิดขึ้นในปี 2521 ภายใต้ชื่อบริษัทหัตถกรรมทอผ้าไหมไทย
เพื่อขอการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแต่นโยบายรัฐขณะนั้นหันไปสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่าโรงงานหัตถกรรม
ทำให้บริษัทนี้ต้องยุบตัวลงในปี 2527 แต่โรงทอผ้าไหมที่ปักธงชัยเนื้อที่
200ไร่ก็ยังคงดำเนินการอยู่ โดยปีที่แล้วมีการทอผ้าไหมได้ถึง 932,000 หลาซึ่งมีมูลค่า
180 ล้านบาทโดยมีกี่ทอผ้าอยู่ 540 กี่ในโรงงาน
ปีที่แล้วโครงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมก็เกิดขึ้นในนามของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรไหมไทย
มีเนื้อที่ทำฟาร์มกว้างขวางถึง 2,000 ไร่ที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
โดยมีบริษัทไหมจีนเข้าร่วมถือหุ้น 20% ของทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทและได้รับการส่งเสริมการลงทุนยกเว้นภาษีการค้าและภาษีนำเข้าเครื่องจักร
7 ปี
นอกจากนี้ยังมีกิจการโรงงานสาวเส้นไหมที่ปักธงชัย ซึ่งได้ทดลองเดินเครื่องจักรเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ก็จะทำให้เป้าหมายการผลิตไหมยืนและไหมพุ่งได้ประมาณ
120 ตันต่อปีและศูนย์ผลิตไข่ไหมและการปลูกหม่อนไหมฟาร์ม 1 และ 2 ที่ปักธงชัยซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของจริยา
หงษ์สมบัติผู้จัดการที่จบปริญญาโททางเกษตรโดยตรงและดูแลนักวิชาการ 20 กว่าคนที่ผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันวิจัยหม่อนไหมที่ประเทศจีนแล้ว
กลับมาปลูกต้นหม่อนรวม 3.6 ล้านต้นบนเนื้อที่ 1,250 ไร่และอีก 1,000 ไร่ได้ทะยอยปลูกในปีนี้
และแผนการผลิตไข่ไหมให้ได้ 30,000 แผ่นๆละ 20,000 ฟอง เพื่อสามารถผลิตรังไหมได้
800 ตันเป็นวัตถุดิบของโรงงานสาวเส้นไหม
ถึงกระนั้นก็ตามศูนย์รับซื้อไหมดิบของบริษัทที่อำเภอเมือง จ.ขอนแก่นของจิมทอมป์สันไหมไทยก็ได้ซื้อไหมดิบปีที่แล้วถึง
231, 000 กิโลกรัมหรือคิดเป็นมูลค่าถึง 203 ล้านบาท
ถึงจุดนี้ผลประโยชน์ด้านเงินทองอันมีค่ามหาศาลนี้สำหรับผู้ถือหุ้นจึงเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นทุกทีในทุกครั้งที่มีการประชุมผู้ถือหุ้น
ซึ่งจะต้องมีผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งที่แสดงความเซนซิทีฟต่อการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่คนอื่น
แม้ว่าคนๆนั้นจะคือผู้ที่ทำงานเพื่อความก้าวหน้าขององค์กรก็ตาม
ดังเช่นการคัดค้านการกระจายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยจำนวน
220,000 หุ้นซึ่งได้มีการพิจารณาจัดสรรหุ้นจำนวน 10% หรือ 22,000 หุ้นแก่พนักงาน
ได้มีผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งค้านว่าจะทำให้ผู้ถือหุ้นทุกคนรวมทั้งของกลุ่มตัวเองต้องสูญเสียผลประโยชน์ส่วนตนเองให้กับพนักงานเป็นจำนวน
5% ของสัดส่วนผู้ถือหุ้น และได้อ้างว่าการกระทำ ดังกล่าวยังเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย
ขณะที่ผู้ถือหุ้นฝ่ายหนึ่งปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไป โดยขัดต่อการบริหารงานและวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการกระจายหุ้นและประโยชน์สู่พนักงานโดยส่วนรวม
ซึ่งเป็นปณิธานดั้งเดิมของนายห้างจิม ทอมป์สันผู้ได้รับสมญานามว่า THE KING
OF THAI SILK นี้ ผู้ซึ่งพนักงานเก่าแก่คนหนึ่งกล่าวว่านายห้างจิมนี้มีแต่
"ให้" ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมีแต่ "รับ" ลูกเดียว
"ทุกปีมร.เฮนรี่ ทอมป์สันซึ่งเป็นหลานของนายห้างจิม ท่านสละหุ้นประมาณ
1% ของส่วนที่ถือไว้ให้แก่พนักงานที่อุตสาหะวิริยะ มร.ทอมป์สัน พูดไว้เลยว่าถ้าตายไปแล้ว
แก จะเหลือเพียงหุ้นเดียวให้ลูกหลาน ส่วนที่เหลือให้ผู้ทอและพนักงาน"
ชอบ ปั้นดี ผู้จัดการหน้าร้านจิมทอมป์สันไหมไทยที่ทำงานเก่าแก่นานนับ 30
กว่าปีเล่าให้ฟัง
คุณสมบัติของกรรมการบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยที่มีอยู่ 9 คนนี้กล่าวกันว่าวัยวุฒิและคุณวุฒิต้องทำประโยชน์ให้กับบริษัทได้
นับตั้งแต่ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ที่เรียกันว่า "คุณนายพื้น อาสาสงคราม"
และเหล่ากรรมการ 9 คนคือจิตร โชติกเสถียรซึ่งมีธุรกิจท่องที่ยวบริษัทคอสโมทัวร์
วิลเลียม แมคออร์ บูทซ์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เกื้อ สวามีภักดิ์อดีตผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงไทย
เฮนรี่ เบอร์ลิ่ง ทอมป์สันผู้เป็นหลานของนายห้างจิม พงษ์ศักดิ์ อัสสกุลนายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอ
อรศรี วังวิวัฒน์ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทซิลโก้การ์เมนท์ นาท ชัยเจริญ
คนเก่าแก่ที่สุดที่ระหกระเหินตามนายห้างจิมในยุคแรกเป็นผู้รู้ในวงการค้าผ้าไหมคนหนึ่ง
สุรินทร์ ศุภ-สวัสดิพันธุ์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตและพิเชฐ บูรณสถิตย์พร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการแทนคุณนายพื้น
เป็นที่น่าสังเกตุว่าจุดแข็งของกรรมการ 9 คน ดังกล่าวนี้นอกจากจะสูงด้วยประสบการณ์แล้วยังมีความต่อเนื่องอันยาวนานด้านสายสัมพันธุ์ส่วนตัวและทางธุรกิจ
ที่หล่อหลอมความเป็นปึกแผ่นของแนวความคิดการบริหารที่กุมสภาพการณ์ได้ดีมากในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
เรื่องราวของความแตกแยก ระหว่างผู้ถือหุ้นอย่างแคโรไลน่า วินสตัน แบรี่
ภริยาหม้าย และทายาทของยอร์จ แบรี่ได้ประทุขึ้นในวาระประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่
19 เมษายน 2528 ซึ่ง ยืนยันมติการเพิ่มทุนบริษัทจาก 10 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท
ในการประชุมครั้งนี้ศรีลำพูน ธรรมเกษมผู้ถือหุ้นคนหนึ่งได้เสนอถอดถอนแคโรไลนา
แบรี่ออกจากตำแหน่งกรรมการ แล้วเสนอนาท ชัยเจริญเข้ามาแทน โดยศรีลำพูนได้กล่าวในที่ประชุมว่ากรรมการท่านหนึ่งซึ่งอยู่ต่างประเทศ
ไม่สามารถอุทิศเวลาและปฏิบัติงานได้เต็มที่ และที่ผ่านมาหลายปีก็มิได้ช่วยกิจการบริษัทเท่าที่ควร
ในที่สุดมติที่ประชุม ก็ถอดถอนแคโรไลนา แบรี่ ออกจากกรรมการเมื่อปี พ.ศ.
2528 และกลายเป็นเหตุให้ต้องฟ้องร้องทางแพ่งเรียกค่าเสียหายมูลค่า 35 ล้านบาทกัน
โดยมีมิสวิสแคโรไลน่า วินสตัน แบรี่เป็นโจทก์ฟ้องจำเลย 12 คน คือบริษัท ผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัททั้ง
9 คนรวมถึงเจ้าหน้าที่กรมทะเบียนการค้าด้วยในฐานะผู้จดทะเบียนกรรมการ
ค่าสินไหมทดแทนที่แคโรไลน่า แบรี่เรียกนั้น ได้แก่ค่าบำเหน็จกรรมการปีละ
100,000 บาท เป็นเวลา 26 ปี หรือจนถึงอายุ 85 ปี ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับและค่าที่พักโรงแรมโอเรียนเต็ล
ปีละ 2 ครั้ง ๆ ละ 2 สัปดาห์เป็นเงิน 8,445,920 บาท และค่าเสียหายจากการเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติคุณอีก
20 ล้านบาท รวมค่าทนายและค่าดอกเบี้ยอีกแล้วเป็นค่าสินไหมทดแทนถึง 35,016,001.98
บาท
ในที่สุดคดีนี้ใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าคำพิพากษาให้ยกฟ้อง มิสซิส แบรี่ต้องพ่ายแพ้ยับเยิน!!
"ถ้าเขาไม่ใช้ทิฐิและไม่ใช่คนรวย เขาอาจจะเข้าใจอะไรง่ายขึ้น และยอมรับว่าในคราวหน้าการเลือกกรรมการก็อาจจะเลือกเขาเข้ามาใหม่
แต่เมื่อเขามีทิฐิมีเงินและอยากมีตำแหน่ง และคิดว่าถ้าฟ้องแล้วชนะก็จะมีเงินเพิ่มสมบัติ
มันก็เป็นเรื่องของคน ๆ หนึ่งที่แล้วแต่จะคิดเอาเอง" แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง
เรื่องราวการฟ้องร้องกรณีการถอดถอนกรรมการของบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยได้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี
2497 ยุคแรกเริ่มของกิจการ ซึ่งมีท้าวแพง ชนะนิกรเป็นกรรมการผู้จัดการได้ถูกกล่าวหาว่าสั่งจ่ายเงินแก่ตนเองโดยผิดกฎหมายและตั้งกิจการค้าส่วนตัวแข่งกับบริษัทไหมไทย
จนต้องถูกถอดถอนออกจากกรรมการ แต่ท้าวแพง ชนะนิกร ได้ทำหนังสือคัดค้านการจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่และเกิดเป็นปัญหาจนเป็นคดีถึงศาลแพ่ง
ในที่สุดได้มีการประนีประนอมยอมความกันได้ เวลาต่อมาท้าวแพง ชนะนิกรและภริยาก็ได้ขายหุ้นส่วนหนึ่งให้แก่ยอร์จ
แบรี่
ย้อนหลังไปเมื่อครั้งแรกที่ยอร์จ แบรี่นักธุรกิจการเงินและนักค้าที่ดินชาวแคลิฟอร์เนียได้พบกับเพื่อนเก่าอย่างนายห้างจิม
ทอมป์สันที่ฮ่องกง แล้วได้รับการชักชวนจากนายห้างจิมให้ เข้ามาถือหุ้นในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย
ซึ่งเพิ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤสจิกายน 2493 ด้วยทุนจดทะเบียน
5 แสนบาท แบ่งออกเป็น 500 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท
"ยอร์จ แบรี่โดยตัวของแกเองเป็นคนค่อนข้างประนีประนอมและครอบครัวค่อนข้าง
มีเงิน เมื่อมีคนชวนก็เอาเงินมาลงทุนด้วย โดยลงเงินประมาณ 1,000 เหรียญ ซึ่งก็ตกประมาณสองหมื่นกว่าบาทถ้าเทียบเป็นค่าเงินสมัยนี้ก็หลายแสนบาทอยู่"
คนเก่าแก่ในบริษัทเล่าถึงอดีตเมื่อ 30 กว่าปีก่อนให้ฟัง
ยอร์จ แบรี่ได้เข้าถือหุ้นใหญ่ 90 หุ้น เป็นอันดับสองรองจากนายห้างจิม ทอมป์สัน
ซึ่งถือหุ้นอยู่ 100 หุ้น และต่อมาครอบครัวตระกูลแบรี่ก็ได้ทะยอยรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเก่าเช่นท้าวแพง
ชนะนิกร อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทซึ่งเคยถูกกรรมการบริษัทลงมติไม่ไว้วางใจ
จนถึงขั้นถอดถอนออกจากกรรมการ ซึ่งต่อมากรณีการฟ้องร้องเรื่องการถอนชื่อจากกรรมการของมิสซิสแคโรไลน่าก็เกิดขึ้นเช่นกัน
ครอบครัวตระกูลแบรี่ได้เข้ามาหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันถือหุ้นในบริษัทจนกระทั่งครอบครัวของแบรี่ได้ครองหุ้น
24.4% ของทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทในปัจจุบัน โดยแยกเป็นการถือครอง 24.2%
ในรูปของบริษัทเดอะแบรี่ แฟมิลี่ อินเวสเมนท์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนวันอิสเฟิส
เมืองเรโน มลรัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา และอีก 0.2% แบ่งเป็นถือในนามส่วนตัวสำหรับคนละครึ่งระหว่างสองแม่ลูกคือมิสซิสแคโรไลน่า
วินสตัน แบรี่ประธานกรรมการบริษัทเดอะแบรี่ฯ กับวินสตัน เอ.แบรี่ซึ่งขณะนี้อาศัยอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย
ในระยะเริ่มต้นกิจการบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยนั้นมีกรรมการอยู่ 14 คน แต่ไม่ยอร์จ
แบรี่เป็นกรรมการอยู่ด้วย จนกระทั่งเวลาล่วงไปถึงปี 2516 ยอร์จ แบรี่จึงได้รับการจดทะเบียนเป็นกรรมการบริษัททั้ง
ๆ ที่เขาได้รับเลือกเป็นกรรมการร่วมกับเกื้อ สวามิภักดิ์ อดีต ผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงไทย
ตั้งแต่ปี 2510 แล้ว ยอร์จ แบรี่ได้ขอลาออกจากการเป็นกรรมการในปี 2527 เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพและมีการเลือกแคโรไลน่า
วินสตัน แบรี่ ภรรยายอร์จขึ้นมาเป็นกรรมการแทน
ระหว่างที่ยอร์จ แบรี่เป็นกรรมการอยู่นั้นได้บินมาประชุมปีละ 1-2 ครั้ง
ครั้งหนึ่งในการประชุมเมื่อปี 2511 ภายหลังจากการหายสาบสูญที่ประเทศมาเลเซียของนายห้างจิม
ทอมป์สันแล้ว ได้มีการเสนอตั้งมูลนิธิจิม ทอมป์สันขึ้นมาเพื่อทำประโยชน์ต่อส่วนรวมและเป็นที่ระลึกถึงนายห้างจิม
รวมทั้งการเสนอให้จ่ายเงินเดือนเต็มแก่นายห้างจิมจนกว่าศาลจะสั่งให้เป็นบุคคลสาบสูญซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า
7 ปี โดยเงินจำนวนนี้ให้อยู่ภายใต้ความดูแลของชาร์ล ยู เซฟฟิลด์กรรมการผู้จัดการที่รับช่วงภาระกิจนี้ในห้วงเวลาแห่งความสับสนยุ่งเหยิง
จากการหายสาบสูญของนายห้าง จิมเมื่อปี 2510 นั้น
แต่ข้อเสนอนี้ยอร์จ แบรี่คัดค้าน !!
ความกินแหนงแคลงใจต่อครอบครัวแบรี่ได้พอกพูนขึ้นตามกาลเวลา ยอร์จ แบรี่สิ้นชีวิตลงเมื่อปี
2527 ทิ้งมรดกจำนวนมหาศาลไว้เบื้องหลังให้กับภริยาหม้ายและบุตรของเขา ซึ่งภายหลังได้ก่อเรื่องราวถึงขั้นฟ้องร้องในคดีดังกล่าวข้างต้น
และเมื่อแพ้คดีก็ได้ขายหุ้นส่วนใหญ่ 14.2% ที่ถือครองไว้นานนับ 30 กว่าปี
แก่บริษัทโตคิว ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ยักษ์ใหญ่ห้างสรรพสินค้าแห่งญี่ปุ่นในปีนี้เอง
(ดูตารางผู้ถือหุ้น)
บริษัทโตคิว เป็นห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2462
มีทุนจดทะเบียน 27,507.5 ล้านเยน กลุ่มบริษัทโตคิว มีบริษัทในเครือถึง 351
แห่ง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจหลัก 4 กลุ่มคือกลุ่มดีเวลลอปเมนท์ (72 บริษัท)
ที่รวมการพัฒนาที่ดินด้วย กลุ่มการขนส่ง (55 บริษัท) กลุ่มค้าปลีกและจัดจำหน่าย
(85 บริษัท) และกลุ่มธุรกิจด้านที่พักตากอากาศ (RECREATION & LEISURE)
จำนวน 131 บริษัท
รายได้ของโตคิวจากกลุ่มการค้าปลีกซึ่งมีห้างสรรพสินค้าโตคิวซึ่งรวมถึงธุรกิจนำเข้าและส่งออกเป็นแกนหลัก
ในแต่ละปีทำรายได้ถึง 42.2% ของยอดรายได้รวมทั้งหมดซึ่งในปี 2531 ทำได้ 3,108,500
ล้านเยน
กิจการโตคิวในต่างประเทสมีสาขาทั่วโลกตามเมืองสำคัญๆ เช่นทีกรุงปารีส ฮอนโน
ลูลู ที่ฮาวาย ลอสแองเจลีส นิวยอร์ค ฮ่องกง ซึ่งมีห้างฮ่องกง โตคิว ดีพาร์ทเมนท์สโตร์
ที่สิงค-โปร์และที่กรุงเทพเป็นต้น
"การขายหุ้นให้โตคิวเป็นเรื่องที่ผมไม่แน่ใจเท่าไหร่นัก เพราะเมอริล
ลินซ์ประกาศออกไปก็เป็นการสร้างโฆษณาสำหรับกิจการของเขาเอง จริง ๆ เขาจะซื้อขายอย่างไร
เขาก็ไม่จำเป็นต้องบอกเรา เพราะชื่อบริษัทที่ถือหุ้นอยู่ก็ยังเป็นชื่อบริษัทนั้น"
สุรินทร์ ศุภสวัสดิพันธุ์ ผู้จัดการฝ่ายการผลิตซึ่งเป็นลูกหม้อเก่าแก่ผู้มีอายุการทำงานไม่ต่ำกว่า
30 ปี ของบริษัทไม่ออกความเห็นประการใดเกี่ยวกับการที่โตคิวซื้อหุ้น
ขณะที่พิเชฐ บุรณสถิตย์พร ผู้ช่วยของวิลเลียม แมคออร์ บูทซ์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทได้ตอบปฏิเสธถึงผลกระทบใด
ๆ จากการเปลี่ยนแปลงนี้
"โตคิวเป็นดีสทริบิวเตอร์จัดจำหน่าย จิม ทอมป์สัน ไหมไทยมาประมาณ 5
ปีแล้ว เขาชำนาญทางด้านการขายสินค้าสำเร็จรูป โดยเขาเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น
สิงคโปร์และฮ่องกง และมีเป้าหมายการขายแต่ละปีตามสัญญา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการจิมทอมป์สันไหมไทยเล่าให้ฟังถึงบทบาทของโตคิว
โดยประวัติส่วนตัวของทั้งผู้บริหารระดับสูงคนไทยทั้งสองนี้ สุรินทร์ ศุภสวัสดิ์พันธุ์
ผู้บริหารวัย 53 ปี จัดได้ว่าเป็นคนที่สำคัญมาก ๆ ในการวางรากฐานการผลิตให้กับบริษัทสุรินทร์เป็นคนเก่าแก่ที่ทำงานให้กับนายห้างจิมมานานกว่า
30 ปี ตั้งแต่สุรินทร์จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ เขาได้ไต่เต้าจากงานเสมียนแล้วก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายส่งออกและ
ผู้จัดการฝ่ายผลิตตามการเติบโตขององค์กรที่ขยายไปสู่อุตสาหกรรมครบวงจร สุรินทร์มีความสามารถพูดและอ่านภาษาจีนได้อย่างดี
ซึ่งส่งเสริมให้เขาสามารถติดต่อประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญ และโนว์ฮาวด้านไหมจากจีน
ซึ่งเป็นแหล่งซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของโลกได้อย่างดี และเขายังได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมไหมไทยอีกด้วย
"เขาทำงานหนักมากในยุคแรกที่เริ่มบุกเบิกโครงการสาวไหมและฟาร์มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่ปักธงไชย
จังหวัดนครราชสีมา บางครั้งลุยงานมากจนป่วยหนักก็มี" แหล่งข่าวเปิดเผย
ปัจจุบันโครงการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมูลค่าสองร้อยล้านบาท ภายใต้ชื่อบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรไหมไทย
อยู่ในมือบริหารของนักสู้งานคนนี้ที่จะต้องทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าภายใน
3 ปี จะผลิตเส้นไหมได้ 120 ตันต่อปีเพื่อทดแทนการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งแนวโน้มในอนาคตแปรปรวนตามภาวะเศรษฐกิจการเมืองโลก
ขณะที่พิเชฐนักบริหารหนุ่มอนาคตสดใสวัย 40 ปี อีกคนนั้นมีอาวุโสด้านอายุงานน้อยกว่าสุรินทร์
17 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการบัญชี และไต่เต้าจารกงานตำแหน่งสมุห์บัญชีบริษัทและล่าสุดได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการดูแลงานบริหารทั่วไปด้านบุคคล
การเงินและการตลาด นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการบริษัทแทนคุณนายพื้น อาสาสงคราม
ประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัท
พิเชฐมีฐานะเป็นลูกเขยของอรศรี วังวิวัฒน กรรมการผู้จัดการบริษัทซิลโก้การ์เมนท์
พิเชฐสมรสกับปิ่นทิพย์ และมีลูกสาวสองคนชื่อ ศัษยาและจารุภัทร
แต่ผู้บริหารระดับสูงซึ่ง LOW PROFILE มาก ๆ และเป็นคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
ทำหน้าที่กุมนโยบายบริษัทให้เติบโตไปในทิศทางที่วางแผนไว้คือวิลเลี่ยม แมคออร์
บูทซ์!!
วิลเลียม บูทซ์เป็นอดีตทหารผ่านศึกสงครามเกาหลี ผู้เดินทางเข้ามาเมืองไทยมาตั้งแต่ปี
2506 ขณะนั้นเขาอายุเพิ่งจะพ้นเบญจเพส 25 ปี วิลเลียม บูทซ์ ซึ่งมีกิจการส่วนตัวส่งออกผ้าไหมได้บังเอิญพานพบกับนายห้างจิม
ทอมป์สันซึ่งได้ชักชวนให้เขาเข้ามาร่วมงานด้วย
นับว่าการตัดสินใจเลือกบูทซ์เข้ามาครั้งนั้น เป็นเสมือนการเลือกทายาททางธุรกิจในอนาคตที่ถูกต้อง
เพราะในเวลาต่อมาเมื่อเซฟฟิลด์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2516 บูทซ์ขณะนั้นอายุ
35 ปี ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการคนที่ห้าที่ครองตำแหน่งนานที่สุดถึงปัจจุบัน
ตลอดเวลาอายุบริษัท 40 ปี จิม ทอมป์สันไหมไทยมีกรรมการผู้จัดการที่วางรากฐาน
ในแต่ละทศวรรษทั้งสิ้น 5 คน โดยคนแรกคือ มจ. สนิธรังสิต, ท้าวแพง ชนะนิกร,
เจมส์ เฮนรี่ วิลสัน ทอมป์สัน, ชาร์ล ยู เชฟฟิลด์และบูทซ์
ช่วงเวลาที่บูทซ์เป็นกรรมการผู้จัดการตั้งแต่ปี 2516 เขาได้เดินทางไปทำงานอย่างหนักด้านการเปิดตลาดการค้าระดับโลกหาทางเพิ่มปริมาณการขายในตลาดต่างประเทศ
เช่นญี่ปุ่น สหรัฐ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมันและอิตาลี
"การเดินทางครั้งนี้ทำให้ทราบถึงภาวะการค้าของตลาดที่แตกต่างกันในยุโรปและอเมริกา
ผ้าไหม 6 เส้น จำหน่ายได้ดีที่สุด ส่วนผ้าไหมบางจำหน่ายได้น้อยเพราะราคาสูงกว่าผ้าไหมของจีน
ทำให้เราทราบแน่นอนว่าเป้าหมายการผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดยุโรปและอเมริกาในปีหน้า"
นี่คือการแถลงผลดำเนินงานเมื่อคราวเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในปีแรก
2516
บูทซ์จบการศึกษาด้านปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์บริการธุรกิจจากสหรัฐอเมิรกา
โดยกำเนิดบูทซ์เกิดที่วอชิงตันเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2481 มีบิดาชื่อ "แคเรน"
และมารดาชื่อ "คาร์เปน"
"แกเป็นคนมีศีลอยู่ในใจและเป็นคนขยันมาก ทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงสองสามทุ่มทุกวัน
วันเสาร์ก็ยังแวะไปเยี่ยมและกินข้าวกับพนักงานที่โรงพิมพ์ผ้าเป็นประจำ อุปนิสัยใจคอและความเป็นอยู่เป็นไทยมาก
ๆ ไหว้พระได้เรียบร้อยน่านับถือ" คนเก่าแก่ของร้านจิมทอมป์สันไหมไทย
เล่าความประทับใจให้ฟัง
กล่าวกันความบังเอิญโชคดีของบูทซ์เกี่ยวข้องกับเลข 9 นั้นมีอยู่มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเลขที่ตั้งบริษัทคือ
9 ถนนสุริวงศ์หรือวันเวลาปิด-เปิดคือ 9A.M-9P.M. กรรมการบริษัทก็มีอยู่ 9
คน และบ้านเลขที่ของบูทซ์ 91
การถือหุ้นของบูทซ์ในจิมทอมป์สันไหมไทยนี้ ส่วนหนึ่งถือในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดอีริค
ซึ่งตั้งในปี 2520 อีริคหรือ "ภาวพันธ์ บุนนาค บูทซ์" เป็นชื่อของบุตรชายของบูทซ์ที่เกิดจาก
"พัฒศรี บุนนาค" ภรรยาคนแรกซึ่งเป็นผู้ริ่เริมทำร้านบูติคที่เพลินจิต
เป็นแห่งแรกชื่อ "ซัมธิง ดิฟเฟอร์เรนซ์"
ห้างหุ้นส่วนอีริคนี้ในยุคแรกเริ่มมีหุ้นส่วนอยู่ 3 คนคือ วิลเลี่ยม บูทซ์
พัฒศรี บุนนาค และมรว. วิภานันท์ รังสิต ผู้เป็นธิดาของ มจ. ปิยะรังสิต และมจ.
วิภาวดี รังสิต ซึ่งปัจจุบันเป็นคู่ชีวิตของบูทซ์ และมีธิดาคนหนึ่งชื่อปริศนา
ดอรา รังสิตบูทซ์
เมื่อห้างโตคิวซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นก้าวเข้ามาในทศวรรษที่
4 ของจิมทอมป์สันไหมไทย หลายฝ่ายได้วาดหวังว่าธุรกิจจะดำเนินไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าเดิม
โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนมีประเทศหลัก ๆ 3 ประเทศคือตลาดญี่ปุ่นซึ่งปีที่แล้วได้นำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากทั่วโลกเป็นเงิน
2 แสนล้านบาท โดยส่วนแบ่งตลาดครึ่งหนึ่งเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นระดับสูงซึ่งมาจากฝรั่งเศส
อิตาลี อังกฤษ และสหรัฐ นี่คือคู่แข่งของจิมทอมป์สันไหมไทย
ส่วนตลาดสินค้าผ้าไหมที่สิงคโปร์และฮ่องกง ทางห้างโตคิวจัดจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูปของจิม
ทอมป์สันไหมไทยด้วย "ระบบการค้าแบบญี่ปุ่น จะต่างกับประเทศอื่น ๆ ตรงที่ไม่ว่าสินค้านั้นจะระดับสูงหรือจะแพงจะถูกอย่างไรก็ตามที
ส่วนใหญ่จะอยู่ในดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ผิดกับประเทศอื่น ๆ ที่สินค้าชั้นดีจะไม่เข้าดีพาร์ทเม้นท์
แต่จะอยู่ในร้านบูติค ดังนั้นระบบการค้าของญี่ปุ่นจึงเหมาะสมที่จะให้โตคิวขาย
เขามีเอาท์เลทและมาร์เกตติ้งเนทเวิร์คอยู่แล้ว" สุรินทร์ ศุภสวัส-ดิพันธุ์
ซึ่งอดีตเป็นผู้จัดการฝ่ายส่งออกให้ความเห็นกว้าง ๆ
ปัจจุบันจิมทอมป์สันไหมไทยกระจายไปขายทั่วโลกได้โดยผ่านระบบดีสทรีบิวเตอร์
ที่กระจายไปทั่ว 27 ประเทศ
"ดีสทรีบิวเตอร์แต่ละประเทศที่เรามีอยู่ส่วนใหญ่ทำสัญญาให้เขาเพียงผู้เดียว
ทุก ๆ ปี มีคนเสนอตัวเข้ามาแต่เราก็ให้ไม่ได้ เพราะคนเก่าเขาทำได้ตามเป้าหมายและไม่ผิดสัญญา
แต่ประเทศหนึ่งสามารถมีเอเยนต์มากกว่าหนึ่งได้ เช่นในฮ่องกงโตคิวขายของสำเร็จรูป
แต่เอเยนต์อีกรายเขาเป็นอินทีเรียดีไซน์ เขาก็ขายผ้า" พิเชฐ บูรณสถิตย์พร
ผู้บริหารตลาดเล่าให้ฟัง
ทุกวันนี้ยอดขายต่อปีของจิมทอมป์สันไหมไทยที่พุ่งสูงเกือบพันล้านบาทนั้น
65% เป็นยอดขายจากหน้าร้าน ส่วนอีก 35% เป็นยอดส่งออก
"ยอดขายหน้าร้านในประเทศปีที่แล้ว 600 กว่าล้านบาท (ดูตารางยอดขาย
10 ปี ก้าวกระโดดประกอบ) แต่มันเป็นเอกซ์ปอร์ตจำบังเพราะคนไทยซื้อแค่ 10
กว่า % แต่ลูกค้าชาวต่างประเทศถึง 80 กว่า % เวลาผมขายของได้ชิ้นหนึ่งเรานึกถึงว่า
คนชนบทเขาก็ได้รับส่วนแบ่งนี้ด้วย" ชอบ ปั้นดี ผู้จัดการหน้าร้านเอ่ยด้วยความภูมิใจ
"40-50% จะเป็นลูกค้าญี่ปุ่นซึ่งเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะอำนาจการซื้อสูง
จากตัวเลขเราพบว่าญี่ปุ่นจะตั้งใจมาซื้อ 10 คน จะซื้อถึง 9 คน แต่สำหรับลูกค้าฝรั่งมา
10 คน จะซื้อ 3 คน ลูกค้าญี่ปุ่นเขา CRAZY แบรนด์ของเรามาก ๆ ตอนนี้ ข้อมูลเราพบว่าผู้ชายญี่ปุ่นซื้อมากกว่าผู้หญิง"
ผู้จัดการหน้าร้านเล่าให้ฟังถึงการประมวลผลจากระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งเพิ่งนำมาใช้ในงานบริหารการขายได้
2 ปีกว่าว่าสามารถเก็บข้อมูลทั่วไปของลูกค้าได้ละเอียด
แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่ายอดขายในปีนี้จะเฉื่อยลงเพราะผลกระทบจากสงครามอิรักในตะวันออกกลาง
ทำให้ปัญหาภาวะราคาน้ำมันถีบตัวสูงขึ้น กระทบต่อการท่องเที่ยวโดยตรง นักท่องเที่ยวน้อยลงและการขายก็ตกลง
"ในระยะหลังมีการแย่งทัวร์ซื้อทัวร์ทั้ง ๆ ที่ลูกค้าตั้งใจจะมาที่นี่
แต่ที่นี่นโยบายไม่มีการจ่ายค่าน้ำ เพราะถ้าเราจ่ายก็เท่ากับเอาเงินลูกค้ามาจ่าย
สู้เอาเงินนี้ไปเพิ่มคุณภาพไม่ดีกว่าหรือ" ผู้จัดการหน้าร้านคนเก่าแก่เน้นหนักถึงการรักษาชื่อเสียงและคุณภาพที่ตีราคาเป็นเงิน
ไม่ได้
ถึงวันนี้การขายหุ้นของตระกูลแบรี่ให้กับทางห้างโตคิวยักษ์ใหญ่ด้านการตลาดของญี่ปุ่น
เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่น่าจับตามอง ขณะเดียวกันจุดนี้เองที่ทำให้ทั้งสามฝ่ายแฮปปี้
ตระกูลแบรี่ก็ได้เงินก้อนใหญ่มหาศาลเป็นผลตอบแทนการลงทุนที่ยาวนาน ตลอด
30 กว่าปีที่ถือหุ้นบริษัทนี้มา
ฝ่ายผู้บริหารและผู้ถือหุ้นบริษัทจิมทอมป์สันไหมไทยก็แฮปปี้ ไม่ต้องลำบากใจกับคนในตระกูลแบรี่
และที่สำคัญยังได้พันธมิตรทางธุรกิจอย่างโตคิวเข้ามาเป็น INTERNATIONAL WORLDWIDE
DISTRIBUTOR ในการจัดจำหน่ายผ้าไหมไทยอีกด้วย
ส่วนโตคิวก็สมประสงค์ในธุรกิจที่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทนที่จะเป็นแค่ตัวแทนจำหน่ายที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรในการบริหารหรือกำหนดนโยบาย
ดังนั้น ก้าวต่อไปของจิมทอมป์สันจึงราบรื่นเหมือนแพรไหม เมื่อพ้นเรื่องยุ่งยากใจภายในผู้ถือหุ้นนี้แล้ว
และโครงการขยายตลาดทั้งในและนอกประเทศได้ถูกวางแผนไว้แล้ว
โดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้ได้ไปเปิดเอาท์เลท "JIM THOMPSON SHOP" ที่โรงแรงโอเรียนเต็ล
นับว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มเอาท์เลท เพื่อบริการลูกค้าระดับสูงหลังจากที่มีลักษณะการบริหารตลาดแบบคอนเซนเวลทีฟ
มานานกว่า 30 ปี
"ในประเทศไทยเราจะไม่มีเอเยนต์ เพราะเรามีร้านของเราเอง และถ้าหากจิมทอมป์สันชอพที่โอเรียนเต็ลประสบความสำเร็จ
เราอาจจะพิจารณาเปิดหลายแห่ง แต่คงจะต้องเลือกทำเลที่ดีมาก ๆ ไม่ใช่เที่ยวเปิดตามศูนย์การค้า
เราไปอย่างช้า ๆ แต่มั่นคง อันนี้คือความเป็นจิมทอมป์สันไหมไทย" พิเชฐ
บูรณสถิตย์พรเล่าให้ฟัง
นอกจากนี้โครงการขยับขยายพื้นที่ขายที่ชั้น 2-3 ของตึกสำนักงานใหญ่สุริวงศ์
เป็นแผนกขายผ้าตกแต่งบ้าน (HOME FURNISHING) ซึ่งเป็นแผนกใหม่ที่เติมโตตามภาวะความต้องการทางเศรษฐกิจทีมีการก่อสร้างโรงแรมและคอนโดมิเนียมก็จะเสร็จสมบูรณ์ในปีหน้าพร้อม
ๆ กับสำนักงาน 5 ชั้น แห่งใหม่ที่ปลูกสร้างบนเนื้อที่ 1 ไร่ที่สุขุมวิทซอย
93
สิ่งสำคัญที่จะทำให้จิมทอมป์สันไหมไทยยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองก็คือการลงทุนผลิตวัตถุดิบปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเองที่ปักธงชัย
จังหวัดนครราชสีมา ถ้าหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้จิมทอมป์สันเป็นยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมไหมไทย
ที่มีการทำแบบครบวงจรตั้งแต่ผลิตวัตถุดิบเส้นไหมเองจนกระทั่งถึงอุตสาหกรรมการทอ
การพิมพ์และการตลาดการขายทั่วโลก ด้วยการอาศัยชื่อเสียงและคุณภาพที่สั่งสมมานานนับ
4 ทศวรรษ
ฉะนั้นเป้าหมายสู่ความเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยระดับโลกจึงเป็นการทอฝันที่ใกล้เป็นจริงขึ้นในไม่ช้านี้!!