แบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การ VS เอื้อวิทยาฯ ชาวนากับงูเห่า?!?

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ค่าเสียหายจำนวน 501,190 ล้านบาทที่เอื้อวิทยาฯเป็นโจทก์ฟ้องเรียกร้องจากธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การผู้เป็นจำเลย ทำให้คดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์คดีหนึ่งในประวัติการฟ้องร้องตามขั้นตอนศาลของไทย ทั้งนี้เมื่อคำนวนดูสินทรัพย์ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การซึ่งจำเลยส่วนมากต่างเป็นผู้บริหารในธนาคารแห่งนี้นั้น มีเพียงกระผีกของวงเงินค่าเสียหายกว่าห้าแสนล้านบาทที่โจทก์เรียกร้อง

สินทรัพย์รวมของแบงก์สตางค์แดงเมื่อสิ้นปี 2532 มีเพียง 48,390 ล้านบาทเท่านั้น

ผู้ได้ฟังเรื่องราวเพียงคร่าวๆต่างหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง ผู้ใกล้ชิดมารุธกล่าวว่าโจทก์มีความมั่นใจมากว่าจะสามารถชนะด้วยการประนีประนอมยอมความ แม้จะเตรียมฟ้องในศาลอาญาไว้ด้วยก็ตามส่วนฝ่ายธนาคารฯต่างงุนงงที่อยู่ๆบริษัทลูกหนี้ซึ่งธนาคารส่งคนเข้าไปบริหารและดูจะดำเนินการไปได้ด้วยดี กลับพลิกลำมาฟ้องร้องธนาคารฯและคนที่ธนาคารฯ ส่งเข้าไป อย่างไรเสียธนาคารฯก็ยืนยันที่จะสู้คดีและไม่มีการประนีประนอมยอมความแน่

เหตุการณ์ที่เป็นเรื่องสามัญในสังคมธุรกิจสมัยใหม่ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ผู้คนจะให้ความสนใจและติดตามไปอีกนาน ลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่ได้เปลี่ยนสภาพความสัมพันธ์มาเป็นโจทก์และจำเลยตามลำดับต่างเป็นกิจการเก่าแก่ในสังคมธุรกิจไทย

ประวัติการกู้หนี้ยืมสินมีมานานก่อนที่ผู้บริหารรุ่นหลังจะเติบโตขึ้นมาบริหารงาน ทั้งในส่วนของธนาคารและบริษัทเอื้อวิทยาฯ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าผู้บริหารรุ่นหลังต่างรับมรดกหนี้มาจำนวนหนึ่ง และมีส่วนที่พอกพูนเพิ่มเติมขึ้นในภายหลัง ว่ากันว่าการฟ้องร้องครั้งนี้สะท้อนเบื้องหลังความคิดเห็นที่แตกต่างกันในด้านการบริหาร ซึ่งนำมาสู่จุดแตกหักที่จะเกิดในชั้นศาลในเร็ววันนี้

เอื้อวิทยาฯเป็นกิจการค้าขายเก่าแก่ที่ก่อตั้งมานานกว่า 90 ปี แต่เฉพาะบริษัทเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ที่เป็นลูกหนี้และโจทก์ของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การนั้นเพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2510 เริ่มธุรกิจด้วยการเป็นตัวแทนค้าขายสินค้าต่างๆเกี่ยวกับเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ค้าขายเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ ระยะหลังได้ขยายมาทำโรงงานเพื่อผลิตเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาโทรคมนาคม รับจ้างชุบสังกะสี และผลิตน็อต ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ได้กลายเป็นรายได้หลักของบริษัทในเวลาต่อมา (ดูล้อมกรอบความเป็นมาของเอื้อวิทยาฯ)

แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดมารุธ เมืองแก้ว เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"ว่า "การฟ้องร้องครั้งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่มารุธคิดดำเนินการไว้ตั้งแต่เมื่อแบงก์เข้ามาซื้อหุ้นส่วนข้างมากเพื่อเข้ามาบริหารใน ปี 2530 แล้ว เพราะเอกสารต่างๆสมัยนั้นมารุธก็ยังเก็บเอาไว้อยู่ และอาจจะเอามาใช้ในคดีความครั้งนี้ด้วย"

นี่เท่ากับแสดงให้เห็นเจตน์จำนงของมารุธขณะที่ในอีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นความรอบคอบของเขาซึ่งไม่รู้ว่าในอนาคตจะได้บริษัทของตัวคืนมาหรือไม่

แม้ว่ามารุธจะเป็นหนึ่งในตระกูลเอื้อวิทยา แต่ปรากฏว่าเขาเป็นโจทก์แต่เพียงผู้เดียวในคดีนี้ โดยก่อนหน้าที่จะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นนั้น เขาได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ซึ่งเขาดูแลรับผิดชอบทางด้านจัดซื้อวัตถุดิบและประจำอยู่ที่โรงงานที่ลาดกระบังแล้ว

มารุธแต่งตั้งจักร์กริช เจษฎางกูร ณ อยุธยาและสุวัฒน์ ดุลยวิจารณ์เป็นทนายความฟ้องร้องคดีให้เขา ทนายทั้งสองมีสำนักงานกฎหมายอยู่ที่จังหวัดชลบุรี โดยจักร์กริชเชี่ยวชาญทางด้านโวหารการต่อสู้ความในศาล ส่วนสุวัฒน์เชี่ยวชาญในด้านการเขียนสำนวนฟ้องร้อง เพราะเป็นอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร และตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจากราชการคือเป็นผู้พิพากษาประจำศาลอาญา กรุงเทพฯ

แหล่งข่าวใกล้ชิดเปิดเผยว่ามารุธไม่ได้รู้จักมักจี่อะไรกับทนายความทั้งสองคนนี้มาก่อน แต่เหตุที่มาโคจรพบกันได้เพราะความเชื่อถือในโหราศาสตร์ที่ชักนำมารุธให้สนใจทนายความในแถบตะวันออกซึ่งจะเป็นผู้ต่อสู้ให้เขาสามารถชนะคดีได้

สุวัฒน์เปิดเผย"ผู้จัดการ"ว่า "ตอนที่ได้รับการติดต่อมานั้นก็ประมาณต้นเดือนกันยายนได้ ผมไปว่าความที่เพชรบุรี กลับมาถึงชลบุรีประมาณ 2 ทุ่มมีโทรศัพท์เข้ามาว่ามีงานใหญ่ให้จักร์กริชไปกรุงเทพฯวันรุ่งขึ้นเพื่อไปทำงานให้บริษัทเอื้อวิทยาฯ ผมก็บอกว่าให้จักร์กริชไปเอาข้อมูลต่างๆมาดูกัน ครั้นบ่ายสามโมงวันรุ่งขึ้นก็โทรฯเข้ามาเรียกผมไปกรุงเทพฯด้วยว่างานนี้รับจะทำแล้ว ขอให้มาปรึกษากันหน่อย"

นั่นเป็นเหตุของการว่าความที่มีมูลค่าการเรียกร้องชดใช้ค่าเสียหายกว่าห้าแสนล้านบาท สุวัฒน์เล่าด้วยว่าข้อมูลเอกสารมีมากมายและโจทก์ก็เกรงว่าทนายความทั้งสองจะไม่มีสมาธิในการศึกษาเรื่องราวของเขา จึงได้เช่าโรงแรมแถบบางแสนไว้พักเพื่อร่วมกันศึกษาข้อมูลและร่างสำนวนฟ้อง

กำหนดดีเดย์ของการส่งสำนวนนฟ้องศาลคือ 5 ตุลาคมซึ่งเป็นฤกษ์ยามที่มีการตรวจสอบมาเรียบร้อยแล้ว !

สำนวนฟ้องที่มีความยาวมากกว่า 40 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป ไม่รวมเอกสารท้ายฟ้อง ที่ได้ยื่นมาแล้วในวันฟ้องและจะยื่นต่อหน้าศาลในภายหลังอีกจำนวนมาก บรรยายข้อหาต่างๆมากมายโดยเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2529 ซึ่งบริษัทเอื้อวิทยาฯเริ่มเจรจาเรื่องหนี้สินกับธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ ปรากฎว่าสิ้นปี 2528 เอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 673.57 ล้านบาท และสิ้นปี 2529 มีหนี้สินเพิ่มขึ้นเป็น 851.14 ล้านบาท(ดูตารางตัวเลขสำคัญทางการเงินฯ)

หนี้สินเหล่านี้ไม่ใช่ของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การแต่เพียงแห่งเดียว แต่ธนาคารฯเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดประมาณ 700 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2529 รายอื่นๆเฉลี่ยไปรวมกันแล้วไม่ถึง 100 ล้านบาท เช่นธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย เป็นต้น

มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินเริ่มขึ้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2529 ธนาคารฯได้ทำหนังสือลงนามโดยนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ในฐานะกรรมการและผู้ควบคุมโครงการ ชี้แจงเรื่องการผ่อนผันหนี้และกำหนดวิธีการใช้หนี้โดยเริ่มด้วยการลดมูลค่าหุ้นจากราคาหุ้นละ 100 บาทเป็นหุ้นละ 25 บาท ธนาคารฯให้เหตุผลว่า เมื่อตรวจสอบฐานะทางการเงินของบริษัท ธนาคารฯ พบว่าบริษัทขาดทุนเป็นจำนวนเงินล้ำเงินทุนของบริษัทแล้ว

ทั้งนี้เอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์มีทุนจดทะเบียนเพียง 14 ล้านบาทเท่านั้น!!

ธนาคารฯมีข้อเสนอต่อมาโดยการจัดสรรหนี้สินเดิมใหม่ดังนี้ บริษัทฯ มีการเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 61 ล้านบาท มีเงินกู้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 อยู่ 300 ล้านบาทและอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 อีก 200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีส่วนที่แปลงหนี้เป็นหุ้นอีก 138 ล้านบาท หนี้สินเกือบ 700 ล้านบาทเหล่านี้ธนาคารฯเสนอคิดอัตราดอกเบี้ยถัวเฉลี่ยร้อยละ 8.7 เท่านั้น!!

ในด้านของการบริหารธนาคารฯเสนอว่าจะเข้ามาร่วมบริหารโดยมีเงื่อนไขและนโยบายคือ ให้มีการจัดตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ โดยชั้นแรกให้มีคนของฝ่ายธนาคารเข้าเป็นกรรมการ 2 คนและคงฝ่ายผู้ถือหุ้นเดิมไว้ 3 คน

ตำแหน่งบริหารที่ธนาคารฯต้องการคือรองกรรมการผู้จัดการ และตำแหน่งผู้บริหารอาวุโสอีก 2 ตำแหน่ง ส่วนผู้ถือหุ้นเดิมยังให้เป็นกรรมการผู้จัดการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการรวม 3 ตำแหน่ง

ต่อมาให้มีการปรับปรุงโครงสร้างของบริษัทเสียใหม่ ทั้งนี้ธนาคารฯวิเคราะห์ว่าจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการบริหารดังนี้คือต้องลดต้นทุนในการบริหาร ลดต้นทุนในการจัดซื้อวัตถุดิบ ลดต้นทุนในกระบวนการผลิตที่โรงงาน ขยายงานด้านการตลาด บำรุงขวัญของผู้บริหารและพนักงานให้สูงขึ้น เพื่อให้บริษัทฯสามารถเอาชนะคู่แข่งในตลาดและสามารถทำกำไรสุทธิได้ตามเป้าหมาย

ส่วนงานที่ธนาคารฯจะเข้าไปดูแลรับผิดชอบคืองานด้านบัญชีการเงินและการตรวจสอบภายใน งานจัดซื้องานคลังวัตถุดิบและสินค้า งานผลิตเสาโครงเหล็กของโรงงานผลิตเสาโครงเหล็ก งานบางส่วนของการตลาดหากไม่สามารถดำเนินไปได้ตามเป้าหมายธนาคารฯจะเข้ามาดูแลด้วย และงานอื่นๆที่ธนาคารฯเห็นว่าเริ่มจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท

ข้อเสนอสุดท้ายของธนาคารฯคือเรื่องการขายหุ้นคืนแก่ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อกิจการของบริษัทฯมีกำไรดีขึ้น บริษัทฯสามารถใช้หนี้คืนให้ธนาคารฯ จนถึงระดับที่หลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ของบริษัทฯสมดุลกับยอดหนี้ ซึ่งธนาคารฯคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี

วิธีการขายคืนมีให้เลือก 2 วิธีซึ่งธนาคารฯเห็นว่าเป็นวิธีที่ยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายคือขายตามราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะนั้นหากบริษัทฯสามารถเข้าไปจดทะเบียนเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯได้หรือขายตามมูลค่าราคาหุ้นที่ตราไว้ บอกดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะคิดทบต้นเป็นปีๆไปตั้งแต่เริ่มการจัดสรรหนี้จนถึงวันที่ขายคืน

หากบริษัทเอื้อฯตกลงตามหลักการข้อเสนอทั้งหมดของธนาคารตามที่กล่าวมา รวมถึงได้แสดงงบการเงินให้ธนาคารฯตรวจสอบจนเป็นที่พอใจรวมทั้งกรรมการของบริษัทเอื้อฯชุดปัจจุบัน(ปี 2529) ได้รับรองและค้ำประกันว่าหนี้สินของบริษัทฯจนถึงปี 2529 มีไม่เกิน 700 ล้านบาทแล้ว ธนาคารฯก็จะเริ่มแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญ 138 ล้านบาท โดยทำตามระเบียบของทางราชการและกฎหมายทุกประการ

ข้อเสนอจัดการแก้ปัญหาหนี้สินเอื้อวิทยาฯของแบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การดูประหนึ่งการเข้ายึดกิจการลูกหนี้แล้วโดยสิ้นเชิง!!

บรรดาข้อเสนอข้างต้นเป็นแนวทางกว้างๆในการแก้ปัญหาจากฝ่ายแบงก์ ซึ่งปรากฎว่าในทางปฏิบัติแล้ว มีอะไรๆที่เป็นรายละเอียดต่างออกไปจากหลักการข้างต้นมาก !

การโอนหุ้นกระทำในเดือนมีนาคม 2530 ซึ่งในสำนวนฟ้องอ้างว่ามีการโอนหุ้นให้แบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การรวมทั้งสิ้น 75% หรือ 105,000 หุ้นในราคาหุ้นละ 25 บาท

มารุธอ้างว่าเขาได้รับเงินค่าหุ้นจำนวน 750 หุ้นที่ขายให้แบงก์ฯเพียง 750 บาทเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าหุ้นที่เขาขายมีราคาหุ้นละบาทเดียว ทั้งที่ในหนังสือของแบงก์ลงวันที่ 1 ธ.ค. ข้างต้นนั้น แบงก์เสนอว่าจะซื้อในราคาหุ้นละ 25 บาท

ทางด้านนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "แบงก์ฯซื้อมาในราคาหุ้นละ 1 บาทจริง ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นราคาที่สูงกว่าบรรดาบริษัทที่ล้มเหลวขาดทุนในโครงการทรัสต์ 4 เมษาฯเสียอีก หุ้นของบริษัทเหล่านั้นซื้อกัน 25 สตางค์เท่านั้น"

ขณะเดียวกันในหนังสือของแบงก์ลงวันที่ 1 ธ.ค. ได้กล่าวถึงเรื่องการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญมูลค่า 138 ล้านบาท ซึ่งแบงก์จะต้องทำตามขั้นตอนระเบียบกฎหมาย แต่ดูเหมือนแบงก์จะไม่ได้มีการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญตามที่เสนอไว้ เพราะเมื่อดูตามคำกล่าวของนิธิพัฒน์ มูลค่าหุ้นที่แบงก์ฯซื้อมาต้องมีราคาเท่ากับ 105,000 บาท หรือหากจะดูตามคำกล่าวของมารุธหุ้นที่แบงก์ซื้อก็ต้อง มีราคารวม 2,625,000 บาท

นอกจากนี้ตามพรบ.ธนาคารพาณิชย์ แบงก์ไม่สามารถถือหุ้นในกิจการอื่นๆได้เกินกว่า 10% ของทุนจดทะเบียนของกิจการนั้นธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การจึงถือหุ้นไว้เพียง 12,000 หุ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2530 โดยมีบริษัทในเครือเข้ามาถือด้วย (ดูตารางผู้ถือหุ้นบริษัทเอื้อวิทยาฯ)

ทั้งนี้บริษัทพรหมอำนวย, สยามพินิจและวันทนาการที่เข้ามาร่วมถือหุ้นในส่วนของแบงก์ฯนั้นลงทะเบียนถือหุ้นเมื่อธันวาคม 2530

การโอนหุ้นให้บริษัทในเครือในภายหลังได้เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องร้องแบงก์ ทั้งในประเด็นที่มีการโอนหุ้นโดยไม่บอกกล่าวให้ผู้ถือหุ้นเดิมทราบ และในเรื่องที่แบงก์โอนไปตามราคามูลค่าหุ้นคือหุ้นละ 100 บาท ขณะที่แบงก์ซื้อมาในราคาหุ้นละบาทเดียว!

หลังจากที่บริษัทเอื้อวิทยาฯโอนหุ้นให้แบงก์เรียบร้อยในเดือนมีนาคม 2530 เดือนถัดมาได้มีการประชุมสามัญครั้งที่ 21 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2530 ซึ่งปรากฎมีสาระสำคัญหลายอย่างในรายงานการประชุมเป็นที่น่าสนใจ

การแถลงของนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ ผู้แทนธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การในการประชุมครั้งนี้สะท้อนให้เห็นการอุ้มชูช่วยเหลือที่ธนาคารฯมีให้กับบริษัทเอื้อวิทยาฯอย่างมากๆ รวมทั้งการแก้ไขหนี้สินในครั้งนี้ นิธิพัฒน์กล่าวว่า "ถ้าธนาคารไม่ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัท บริษัทก็จะต้องล้มละลายขออย่าได้คิดว่า ธนาคารอยากจะเข้ามาร่วมในกิจการของบริษัท แต่เป็นความจำเป็นจริงๆที่ธนาคารจะต้องเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นและควบคุมกิจการของบริษัทเพราะธนาคารจะต้องให้ความช่วยเหลือบริษัท"

ถ้าเช่นนั้นธนาคารฯควรจะมีการเรียกหลักทรัพย์เพิ่มเพราะมีหนี้เกินมูลค่าหลักทรัพย์ที่นำไปจำนอง นิธิพัฒน์เปิดเผยว่า "ธนาคารฯไม่ได้มีการเรียกหลักทรัพย์อะไรมาเพิ่ม เพียงแต่ว่าธนาคารฯไปไถ่เครื่องจักรหรือหลักทรัพย์อื่นๆที่เขานำไปจำนองกับสถาบันการเงินอื่นมาจำนองกับธนาคารฯแทน ก็ไม่มีอะไรเพิ่ม เป็นเพียงการเปลี่ยนย้ายการจำนอง แล้วธนาคารฯก็ตีราคาให้เพิ่มขึ้นตามมูลค่าของหลักทรัพย์นั้นๆ

ในส่วนของเจ้าหนี้อื่นๆนั้น นิธิพัฒน์กล่าวว่า "เวลานี้ก็ยังคุยกับเจ้าหนี้รายอื่น เช่นธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยขอให้ธนาคารเหล่านี้ลดดอกเบี้ยให้ แล้วบริษัทฯก็ผ่อนส่งหนี้ไป ไม่เช่นนั้นจะถูกฟ้องแต่หนี้เหล่านี้ไม่ถึง 100 ล้านบาทและเราก็พยายามไถ่หนี้มาด้วย"

นิธิพัฒน์อ้างว่าการที่ธนาคารฯไปไถ่หนี้มาให้บริษัทเอื้อวิทยาฯนั้น ออกจะเป็นบุญคุณแก่ผู้บริหารชุดเก่าหรือผู้ถือหุ้นเดิมคือตระกูลเอื้อวิทยาเพราะหนี้เหล่านี้เป็นการค้ำประกันส่วนตัวเป็นส่วนมาก

นิธิพัฒน์ถึงกับกล่าวปนหัวเราะว่า "ผมเองก็ไม่ทราบว่าหลังจากที่เราทำบุญคุณให้ถึงขนาดนี้แล้วเขายังมาฟ้องเรานี่ ผมมองไม่เห็นเหตุจริงๆ"!?!

นิธิพัฒน์เปิดเผยความเป็นมาของการเข้าไปจัดการแก้ปัญหาลูกหนี้เอื้อวิทยาฯกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ทางฝ่ายจัดการของบริษัทฯได้มีหนังสือมาขอความกรุณา คือที่แบงก์นี่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่และบริษัทฯได้เอาหลักทรัพย์สำคัญๆมาจำนองไว้ที่นี่ มูลค่าประมาณ 100 กว่าล้านบาท และผู้ถือหุ้นต่างๆก็เอาทรัพย์สินส่วนตัวมาจำนอง และก็มาค้ำประกันส่วนตัวอีก ตอนนั้นแบงก์ก็อยากจะประคองไม่ให้ล้มพยายามช่วย ทีแรกเขาขอให้เราหยุดดอกเบี้ยชั่วคราวและเพิ่มวงเงินสินเชื่อแบงก์ก็ขอให้สนง.เอสจีวีเข้าไปตรวจสอบบัญชี แต่ทางบริษัทฯไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร แบงก์ก็ไม่สามารถทราบสถานการณ์ที่แท้จริงได้ ดังนั้นการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาจึงทำไม่ได้ ลักษณะการขาดทุนที่ผิดปกติอย่างนี้มันต้องมีเหตุอย่างอื่น อันหนึ่งที่เราทราบคือเงินสินเชื่อที่ให้ไปนี่ใช้ไม่ตรงจุดประสงค์ที่ขอกู้และมีการกู้สับสนคือเอาเงินในโครงการนี้ไปใช้โครงการอื่น และยังพบว่ามีการรั่วไหลไปทางอื่นๆด้วย"

นิธิพัฒน์ให้ความเห็นว่า "ความผิดพลาดของบริษัทฯส่วนหนึ่งมาจากการบริหารแบบครอบครัวซึ่งทำให้มีการใช้เงินสับสนปะปนระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องธุรกิจ"

นิธิพัฒน์อ้างว่าบริษัทเอื้อวิทยาฯมีข้อเสนอให้ธนาคารฯเข้าไปร่วมทุน ซึ่งธนาคารฯไม่สามารถทำได้เพราะทุนของบริษัทฯไม่มีค่าแล้ว ซ้ำยังติดลบอีกราว 300 บาทด้วยซ้ำ ธนาคารฯจึงเสนอให้ลดมูลค่าหุ้นลงแต่ทางบริษัทฯขอไม่ลดเพราะจะทำให้เจ้าหนี้รายอื่นๆและลูกค้าแตกตื่น ธนาคารฯจึงเสนอให้ขายหุ้นให้ธนาคารฯเพื่อจะได้สิทธิเข้าไปบริหารด้วย

ในที่สุดบริษัทฯก็ขายหุ้นให้ธนาคารฯ 75% นิธิพัฒน์กล่าวว่า "ธนาคารฯไม่ได้บังคับข่มขู่แต่อย่างใดเลย"

นิธิพัฒน์เปิดเผยในรายงานการประชุมเมื่อ 29 เมษายน 2530 ซึ่งชี้ให้เห็นความล้มเหลวในการบริหารด้านการเงินของเอื้อวิทยาฯว่า ในบางเดือนนั้นบริษัทฯมีการเบิกจ่ายเป็นจำนวนเงินสูงถึง 15-40 ล้านบาท บางโครงการบริษัทเอื้อวิทยาฯได้ไปขอกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ เช่นโครงการทางฟิลิปปินส์ และ มาเลเซีย โดยที่งานตามโครงการยังไม่เสร็จเรียบร้อยแต่บริษัทฯก็ได้ไปรับเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์มาหมดแล้ว นิธิพัฒน์อ้างว่าธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การได้หาทางช่วยเหลือแก้ไข เช่นงานโครงการเสาโทรคมนาคมกองทัพอากาศ บริษัทเอื้อวิทยาฯได้ไปรับเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์จนหมด แต่งานยังไม่เสร็จ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การต้องจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 125 ล้านบาท โดยคาดหมายว่าจะได้รับเงินคืนประมาณ 100 ล้านบาท

การบริหารการเงินเช่นนี้ทำให้บริษัทเอื้อวิทยาฯต้องประสบปัญหางูกินหางตลอดมา ทั้งนี้แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดบริษัทเอื้อวิทยาฯให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าบรรดาผู้บริหารที่เป็นคนในตระกูลเอื้อวิทยานั้นมักใช้วิธีประมูลงานมาในราคาต่ำ ถึงจะขาดทุนก็ยอมเพราะหวังผลความสัมพันธ์อันดีที่จะมีต่อๆไปในอนาคต และหวังว่าจะนำรายได้จากโครงการอื่นๆมาโปะไว้ในโครงการที่ขาดทุนได้ แต่โครงการที่ขาดทุนหรือย่างมากก็เสมอตัวนั้นมีมากกว่าโครงการที่กำไรมากมายนัก ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงประสบกับการขาดทุนสะสมต่อเนื่องหลายปี

นิธิพัฒน์เปิดเผย "ผู้จัดการ" อีกว่า "เมื่อผมเข้าไปดูนั้นพบว่าการทำสัญญาในโครงการต่างๆมีการเซ็นสัญญากันหลวมมาก ซึ่งทำให้บริษัทฯมีปัญหาเรื่องการเก็บเงิน โครงการใหญ่ ที่ผมมาสานต่อคือโครงการทำเสาโทรคมนาคมและเสาไฟฟ้าที่มาเลเซีย เสาไฟฟ้าที่ฟิลิปปินส์ ส่วนลูกค้ารายใหญ่ในไทยคือกฟผ. โครงการพวกนี้ก็สำเร็จ แต่บริษัทต้องขาดทุน"

นิธิพัฒน์เปิดเผยต่อไปว่าเมื่อธนาคารฯส่งคนเข้าไปตรวจสอบบัญชีของเอื้อวิทยาฯนั้น ปรากฎว่ามีการลงรายการบัญชีไม่ถูกต้อง บริษัทฯไม่มีระบบบัญชีต้นทุนที่ถูกต้อง จึงทำให้บรรดาผู้บริหารเข้าใจผิดในเรื่องต้นทุน การเสนอราคาเพื่อประมูลในงานต่างๆจึงกลายเป็นเสนอราคาอย่างที่ทำให้บริษัทฯต้องขาดทุน

"อย่างเรื่องต้นทุนการผลิตเสา เราพบว่าตกประมาณ 20 กว่าบาท เขาประมูลมาแค่ 17 บาทเมื่อคิดเฉลี่ยออกมาแล้ว นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ขาดทุนเขาก็ยอมรับว่าต้องเสนอราคาต่ำเพื่อสร้างผลงานแต่การจะไปสู้กับประเทศอื่นอย่างเกาหลีที่ยอมขาดทุนนั้น เราทำไม่ได้ ต่างประเทศมีทุนหนากว่าเราเยอะผมจึงเปลี่ยนนโบบายของบริษัทฯใหม่ว่า งานขาดทุนเราไม่รับ งานทางด้านเสาไฟฟ้าจะรับเฉพาะที่บริษัทมีกำไร หรืออย่างเลวที่สุดก็ต้องเสมอตัว เราไปเอากำไรทางด้านการขายสินค้าอุตสาหกรรม หรือรับจ้างชุบสังกะสีดีกว่า" นิธิพัฒน์กล่าวในที่สุด

นอกจากนี้นิธิพัฒน์อ้างด้วยว่าในการตรวจสอบบัญชีของเอื้อวิทยาฯ "ผมพบว่ามีการลงบัญชีไม่ถูกต้องเช่น รายการยอดที่เรียกว่าเงินทดรองจ่ายก่อสร้างประมาณ 81 ล้านบาทกับลูกหนี้การค้าที่ไม่มีตัวตนอีก 10 กว่าล้านบาท นี่เป็นยอดค่าใช้จ่าย แต่เขากับเอามาไว้ในรายการสินทรัพย์ ซึ่งทำให้กลายเป็นยอดขาดทุนน้อยลง"

การลงบัญชีและการตรวจสอบบัญชีที่ดูเหมือนจะใช้แนวคิดต่างกันเช่นนี้อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลออกมาเป็นว่า เมื่อแบงก์เข้าไปบริหารงานนั้นหนี้สินพอกพูนเพิ่มขึ้นไม่เว้นแต่ละปี จนล่าสุดปี 2532 ยอดหนี้สินรวมเพิ่มเป็น 1,328 ล้านบาทและยอดขาดทุนสะสมมีถึง 999.46 ล้านบาท(ดูตารางตัวเลขสำคัญทางการเงิน)

สร้อยทิพย์ เอื้อวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่เมื่อเดือนเมษายน 2530 ก็ดูเหมือนจะยอมรับว่ามีความบกพร่องในการทำบัญชีของบริษัท ซึ่งเท่ากับสะท้อนว่าบริษัทฯมีปัญหาเกี่ยวกับระบบ บัญชีทั้งนี้เธอได้แถลงถึงกิจการของบริษัทในรอบปี 2529 ว่า "งบดุลฉบับที่บริษัทฯทำเสนอต่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญครั้งที่ 3/2530 เมื่อ 20 มีนาคม 2530 ได้แสดงผลขาดทุนสุทธิจำนวน 397.56 ล้านบาทคลาดเคลื่อนไปจากตัวเลขขาดทุนสะสมในงบดุลที่ผู้ตรวจสอบบัญชีลงนามรับรอง ซึ่งแสดงยอดขาดทุนสะสมจำนวน 409.47 ล้านบาท"

นั่นหมายความว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในทางบัญชีจริง!!

ทั้งนี้ผู้ตรวจสอบบัญชีในช่วงแรกคือสินี ไวคกุลเป็นน้องสาวของกำหนด ไวคกุล ซึ่งเป็นสามีของอุษา ไวคกุล หนึ่งในเอื้อวิทยาซึ่งเป็นพี่สาวใหญ่และเป็นประธานบริษัทฯ

นิธิพัฒน์ให้ความเห็นว่า "จริงๆแล้วเอื้อวิทยาฯมีกำไรดีในช่วงแรก ทุนแค่ 6 ล้านบาทสามารถทำกำไรได้ 12 ล้านบาทในปี 2525 แต่เมื่อเริ่มมาทำโรงงานก็พังไปเรื่อย ชั่วเวลาเพียง 4 ปีให้หลังกลับขาดทุนถึง 409 ล้านบาทในปี 2529"

นิธิพัฒน์เน้นย้ำว่า "ลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าได้มีการใช้จ่ายเงินกันมาก และเป็นไปอย่างไม่มีหลักการ"!!!

เอื้อวิทยาพาณิชย์เป็นลูกค้าเก่าแก่ของธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ มีการขอสินเชื่อกันมาเป็นเวลานาน ผู้ก่อตั้งคือใช้ เอื้อวิทยา ในส่วนของเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์นั้นเพิ่งตั้งเมื่อปี 2510 โดยบรรดาลูกหลานของใช้เริ่มแรกมีทุนจดทะเบียนเพียง 2 ล้านบาทและเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมี 14 ล้านบาท

เอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์เป็นลูกค้าสินเชื่อของธนาคารฯด้วยเช่นกันจนเ มื่อ ปี 2527 ก็มีปัญหาเรื่องการชำระหนี้และดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนมากขึ้นกระทั่งหนี้สินที่มีอยู่ได้พอกพูนเกินกว่าหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน ฝ่ายสินเชื่อและฝ่ายต่างประเทศของธนาคารฯเริ่มเพ่งเล็งลูกหนี้รายนี้ มีการเข้มงวดเรื่องวงเงินสินเชื่อซื้อของต่างประเทศ (L/C) ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อการซื้อวัตถุดิบคือเหล็กที่ได้เริ่มดำเนินงานมาแต่ปี 2525

ทั้งนี้เอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ได้มีการขยายงานโดยตั้งโรงงานผลิตเสาไฟฟ้าแรงสูงเมื่อปี 2525 แต่การขยายงานครั้งนี้ใช้วิธีกู้เงินมาแทบจะ 100% ทั้งการซื้อที่ดินที่ถนนร่มเกล้า ซึ่งปัจจุบันขยายเพิ่มถึง 30 กว่าไร่การสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักรเหล่านี้ล้วนกู้เงินจากธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การมาทำทั้งสิ้น

บริษัทเอื้อวิทยาฯได้ทำการเพิ่มทุนบ้าง แต่แหล่งข่าวในบริษัทฯเปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า "มีการเพิ่มทุนอยู่ แต่เราพบในภายหลังว่าผู้ถือหุ้นบางคนใช้วิธีเอาเงินมาให้บริษัทฯกู้บริษัทฯก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แล้วผู้ถือหุ้นนั้นก็เอาดอกเบี้ยนั่นแหละมาลงเป็นทุนต่อไป ซึ่งมันก็เป็นเนื้อของบริษัทฯนั่นเอง นี่เป็นหลักฐานที่เราพบในภายหลังว่ามันเป็นทุนจำแลงและเป็นเหตุที่ทำให้ดอกเบี้ยของบริษัทฯเพิ่มขึ้น"

ประวัติการเพิ่มทุนของเอื้อวิทยาฯเท่าที่ "ผู้จัดการ"ตรวจพบหลักฐานคือปี 2510 เอื้อวิทยาฯจดทะเบียนก่อตั้งด้วยทุน 2 บ้านบาทแบ่งเป็น 20,000 หุ้นๆละ 100 บาทและมีการเพิ่มทุนเป็นระยะๆคือปี 2514 เพิ่มทุน 2 ล้านบาท ปี 2516 เพิ่มทุนอีก 2 ล้านบาท จนครั้งสุดท้ายเพิ่มในปริมาณที่สูงมากกว่าทุกครั้งคือ 8 ล้านบาทเมื่อปี 2525 โดยมีจุดประสงค์เพื่อการขยายงานด้านการส่งออกและหวังประโยชน์ที่จะได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เท่ากับในปี 2525 บริษัทมีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 14 ล้านบาทแบ่งเป็น 140,000 หุ้นๆละ 100 บาท

อย่างไรก็ดี "ผู้จัดการ" พบหลักฐานการเพิ่มทุนครั้งล่าสุดกว่าเมื่อปี 2525 คือในเดือนมกราคม 2530 ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่บริษัทฯกำลังเจรจาเรื่องหนี้สินกับธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ กรรมการบริษัทฯได้เรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นวิสามัญครั้งที่ 1/2530 เพื่อพิจารณาเพิ่มทุนของบริษัทอีก 250 ล้านบาทโดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 2.5 ล้านหุ้นมูลค่าหุ้นละ 100 บาท ซึ่งจะทำให้ทุนจดทะเบียนของบริษัทเพิ่มเป็น 264 ล้านบาท

มติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นวิสามัญ ครั้งที่ 1/2530 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2530 ซึ่งให้เพิ่มทุนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท ได้รับการพิจารณายืนยันด้วยการลงมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นวิสามัญครั้งที่ 2/2530 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2530 แล้ว จึงเท่ากับว่ามติดังกล่าวสมบูรณ์เป็นมติพิเศษตามกฎหมาย

แต่ปรากฎว่าในงบดุลล่าสุดเมื่อสิ้นธันวาคม 2532 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานสอบบัญชี ดี ไอ เอ มีนางสุวิมล กฤตยาเกียรณ์เป็นผู้สอบบัญชีและนำส่งให้กรมทะเบียนการค้านั้น บริษัทเอื้อวิทยาฯยังคงมีทุนจดทะเบียนเพียง 14 ล้านบาทเท่านั้น !!!

หมายความว่าบริษัทเอื้อวิทยาฯไม่ได้ดำเนินการเพิ่มทุนตามมติพิเศษเมื่อต้นปี 2530 ที่ได้ส่งรายงานการประชุมไปให้กรมทะเบียนการค้าจริง

เป็นไปได้ว่าการขอเพิ่มทุนครั้งนี้ได้มีการทาบทามชักชวนแบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วยตามที่นิธิพัฒน์อ้างกับ "ผู้จัดการ" แต่ทางแบงก์ปฏิเสธที่จะเอาเงินมาซื้อหุ้นซึ่งมีมูลค่าติดลบกว่า 300 บาท ในที่สุดการเพิ่มทุนจึงไม่สามารถทำได้สำเร็จ!!!

เมื่อธนาคารฯได้หุ้นและมีสิทธิในการบริหารแล้วนั้น คณะผู้บริหารชุดแรกที่ธนาคารฯส่งเข้าไปเป็นกรรมการมีนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์, เอกชัย อธิคมนันทะ , สุทธิชัย ไกรคุณาศัย, สมบูรณ์เกียรติ เกษมสุวรรณ์, สมคิด ณ นคร และอ้อยทิพย์ สถิรกุล เข้าแทนที่กรรมการที่ออกตามวาระและกรรมการที่ลาออกรวม 6 คน โดยมีกรรมการของผู้ถือหุ้นเดิมได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ 1 คน คือมารุธ เมืองแก้ว

อย่างไรก็ดี นิธิพัฒน์อ้างว่าเขาได้ให้สร้อยทิพย์ เอื้อวิทยาเข้ามาบริหารงานเหมือนเดิม โดยนิธิพัฒน์ขึ้นเป็นประธานกรรมการฯเท่านั้น ส่วนสมบูรณ์เกียรติเข้าร่วมในฐานะกรรมการคนหนึ่ง ยังไม่ได้ยุ่งเกี่ยวในการบริหารเพราะยังทำงานอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

นิธิพัฒน์กล่าวว่า "ที่สมบูรณ์เกียรติเข้าเป็นกรรมการเพราะทางกฟผ.เป็นลูกค้าของบริษัทเอื้อฯ อยู่มาก มีประสบการณ์และอาจจะรู้เรื่องดี จึงขอให้มาเป็นกรรมการโดยช่วงนั้นสมบูรณ์เกียรติเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารฯแล้ว แต่ยังไม่ได้ขึ้นเป็นกรรมการธนาคารฯทั้งในบอร์ดใหญ่และบอร์ดบริหาร"

ต่อมาสมบูรณ์เกียรติได้เข้ามาเป็นกรรมการธนาคารฯ (บอร์ดธนาคารฯ) และเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารฯ (บอร์ดบริหาร) จนเมื่อต้นปี 2533 จึงลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้ จัดการธนาคารฯ คงไว้แต่ตำแหน่งกรรมการธนาคารฯ อย่างเดียวรวมทั้งลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริษัทเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเมื่อต้นปี 2530 ในโอกาสเดียวกันด้วย

ทั้งนี้ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในบริษัทเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์เมื่อธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การเข้าบริหารจริงๆแล้วคือสมบูรณ์เกียรตินี่เอง!!

"ผู้จัดการ" พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์สมบูรณ์เกียรติ แต่ได้รับการปฏิเสธจากเลขาฯหน้าห้องอย่างไรก็ดี สมบูรณ์เกียรติเคยให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี 2532 หลังจากเข้าไปเป็นประธานกรรมการบริหารพร้อมกับผู้บริหารระดับสูงจากกฟผ. 2 คนคือประณัย สัตยวณิชเป็นกกรรมการผู้จัดการ และไพรัช ศุภวิวรรธน์เป็นรองกรรมการผู้จัดการได้ระยะหนึ่งแล้ว

สมบูรณ์เกียรติอ้างว่าเมื่อทีมงานบริหารของธนาคารฯเข้าไปร่วมงานในเอื้อวิทยาฯ ได้ช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นเป็นลำดับ โดยรับงานเข้ามาเรื่อยๆ และมีโครงการบางอันที่ไปสิ้นสุดในปี 2534 งานที่ดำเนินการอยู่ในช่วงปี 2532 คืองานซัพพลายเสาไฟฟ้าแรงสูง 500 เควีให้กฟผ.มูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท และงานติดตั้งเสาโทรคมนาคมให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยมูลค่า 70 ล้านบาท

ปรากฎว่างานทั้งสองโครงการนี้ยังคงดำเนินการอยู่จนเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2533 ที่ "ผู้จัดการ" มีโอกาสไปเยือนโรงงานที่ถนนร่มเกล้า พบว่าก็ยังมีการผลิตเสา 500 เควีและเสาโทรคมนาคมอยู่

ในการสัมภาษณ์เมื่อปี 2532 สมบูรณ์เกียรติอ้างว่าในปีนั้นบริษัทเอื้อวิทยาจะรับงานผลิตโครงเหล็กอาคารสำหรับโรงแรมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนเจริญนครขนาด 50 ชั้น 2 แห่งของบริษัทสยามอรุณดีเวลล้อปเม้นท์ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างสว่าง เลาหะทัย แห่งเครือศรีกรุงวัฒนา กลุ่มอาซาฮีจุ่งเก้นแห่งญี่ปุ่นและธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การถือหุ้นด้วย 10% ซึ่งงานนี้นอกจากเอื้อวิทยาฯจะซัพพลายทางด้านวัสดุแล้ว ยังได้รับงานออกแบบโครงสร้าง โดยคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 5% ของมูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท

ปรากฎว่าจนถึงวันปิดต้นฉบับ "ผู้จัดการ" สอบถามไปยังบริษัทสยามอรุณฯทราบว่าโครงการโรงแรมที่ถนนเจริญนครแห่งนี้ยังไม่คืบหน้าแต่อย่างใด

สมบูรณ์เกียรติเล่าให้"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฟังถึงแนวความคิดและผลงานที่ได้ทำไปในเอื้อวิทยาฯว่า "ผมพยายามขายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ออกไป และพยายามเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซึ่งมีสินค้าหลักคือเสาไฟฟ้า รวมทั้งขยายไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆเกี่ยวกับเหล็ก รายได้อีกทางหนึ่งที่บริษัทสามารถเพิ่มพูนขึ้นได้คือการรับจ้างชุบสังกะสีทั้งนี้บริษัทมีบ่อชุบสังกะสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย"

นอกจากนี่สมบูรณ์เกียรติกล่าวถึงโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณซอยเอกมัย ตรงข้ามไทปิงทาวเวอร์ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1ไร่เศษ เดิมเป็นสำนักงานเก่าของเอื้อวิทยาฯ แต่ปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่โรงงานที่ลาดกระบังคงเหลือแต่ฝ่ายการตลาดเท่านั้น โดยมีโครงการสร้างออฟฟิศ ทาวเวอร์ขนาด 24 ชั้น ซึ่งมีการออกแบบเรียบร้อยแล้ว

"ผู้จัดการ" สอบถามไปยังบริษัทสยามอรุณ ดีเวลล้อปเม้นท์ ซึ่งในสำนวนฟ้องอ้างว่าเป็นเจ้าของโครงการสร้างอาคารสำนักงานดังกล่าว ปรากฎว่าบริษัทฯมีโครงการจริงในซอยเอกมัยและยังไม่แน่ว่าจะพัฒนาเป็นอาคารสำนักงานหรือคอนโดมิเนียม

อย่างไรก็ดี เมื่อ "ผู้จัดการ" ไปเยือนสถานที่ดังกล่าวซึ่งยังคงมีสำนักงานของเอื้อวิทยาฯตั้งอยู่ มีฝ่ายการตลาดดำเนินงานอยู่ชั้นล่าง พิจิตร เอื้อวิทยาหนึ่งในกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งปัจจุบันรับผิดชอบด้านการติดต่อต่างประเทศกล่าวกับ "ผู้จดัการ"ว่าพื้นที่ด้านหลังก็ยังเป็นหน่วยบริการ

แต่ "ผู้จัดการ" สังเกตพบว่าสำนักงานแห่งนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร หน่วยบริการด้านหลังก็ดูเหมือนจะไม่มีพนักงานสักเท่าใดนัก

สมบูรณ์เกียรติกล่าวด้วยว่าธนาคารฯได้ให้ความช่วยเหลือหลังจากเข้าไปบริหารด้วยการอัดฉีดเงินเข้าไป 20 ล้านบาทสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และได้ให้การสนับสนุนทุกโครงการที่บริษัทฯรับมาดำเนินงานซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 200 ล้านบาท รวมถึงการทำแบงก์การันตีเวลายื่นซองประกวดราคา

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้นิธิพัฒน์เปิดเผย "ผู้จัดการ" ในภายหลังว่า "ตอนนั้นธนาคารฯได้อัดฉีดเงินเข้าไปเพื่อจุนเจือโครงการต่างๆในรูปของวงเงินเบิกเกินบัญชี รวมเบ็ดเสร็จประมาณ 150 ล้านบาท เรารู้ว่าจะขาดทุนประมาณ 30 ล้านบาทแต่เราก็ต้องช่วยเขา"

สมบูรณ์เกียรติมั่นใจในอนาคตของเอื้อวิทยาฯมาก เขาได้วาดโครงการอันสวยหรูว่าเมื่อฟื้นตัวแล้วจะมีการแยกงานของบริษัทฯออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งทำทางด้านโครงเหล็กซึ่งสมบูรณ์เกียรติเปิดเผยว่ามีบริษัทต่างประเทศหลายรายสนใจขอร่วมทุนทำการผลิตด้วย อีกส่วนหนึ่งทำด้านส่งออก ซึ่งประมาณ 20% ของผลผลิตได้ส่งไปขายในประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน

สำหรับการชำระหนี้คืนธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การนั้น สมบูณ์เกียรติเล่าว่าได้กำหนดเป็นงวด งวดละ 25 ล้านบาท งวดหนึ่งนาน 6 เดือน และธนาคารได้หยุดคิดดอกเบี้ย คาดว่าในระยะ 10 ปีจะทยอยตัดหนี้เดิมที่มีอยู่ได้หมด

สมบูรณ์เกียรติกล่าวทิ้งท้ายในการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้นด้วยว่า "ผมคาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าบริษัทฯจะมีรายได้เฉลี่ยปีละ 400 ล้านบาท มีกำไรไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้ทั้งหมด

ถ้อยแถลงในการให้สัมภาษณ์ของสมบูรณ์เกียรติ ณ ปลายปี 2532 เป็นวิมานอากาศไปในทันทีด้วยฝีมือของเขาเองในเดือนมีนาคม 2533 สมบูรณ์เกียรติและอดีตคนกฟผ.อีก 2 คนประกาศลาออกถอนตัวจากตำแหน่งทั้งหมดในเอื้อวิทยาฯ

แหล่งข่าวในเอื้อวิทยาฯบอก "ผู้จัดการ" ว่า "เหตุที่สมบูรณ์เกียรติลาออกก็เพราะเกิดน้อยใจกับนิธิพัฒน์ในเรื่องการซื้อเหล็กจากอาจิกาว่า" ทั้งนี้หลังจากที่สมบูรณ์เกียรติลาออกแล้ว นิธิพัฒน์ได้เข้าเป็นกรรมการผู้จัดการและแต่งตั้งฉัตรดนัย ป็นรองกรรมการผู้จัดการทำหน้าที่ควบคุมดูแลโรงงานที่ลาดกระบัง

แต่เมื่อ "ผู้จัดการ" สอบถามกับนิธิพัฒน์ถึงเหตุการลาออกของสมบูรณ์เกียรติ นิธิพัฒน์ตอบราวกับไม่เคยมีสมบูรณ์เกียรติเข้ามาเป็นกรรมการของเอื้อวิทยาฯว่า "มีเรื่องอะไรผมไม่ทราบ"

นิธิพัฒน์ได้ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" ในคำอธิบายอีกชุดหนึ่งที่ต่างกันไปจากการกล่าวของสมบูรณ์เกียรติเมื่อปลายปี 2532 ว่า "เราตั้งเป้าว่าจะพยายามลดดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยเป็นรายจ่ายใหญ่อันหนึ่งเราจะประหยัดการดำเนินงาน ทำกำไรให้ แล้วค่อยมาล้างหนี้ในภายหลัง ตั้งใจว่าประมาณ 10 ปีจะล้างหนี้หมด แต่ในปีแรกเราก็ทำอะไรมากไม่ได้เพราะงานใหญ่อย่างของกฟผ.นี่ไม่มีโครงการอะไรออกมาเราจึงเพียงแต่มาชำระสะสางโครงการที่ค้างๆอยู่ให้ขาดทุนน้อยลง "

ปีแรกที่เข้าไปคือ 2530 นิธิพัฒน์ยืนยันว่า "ผมทำกำไรให้ประมาณ 20 ล้านบาท หากไม่คิดเรื่องค่าเสื่อมของเครื่องจักร ไม่คิดดอกเบี้ยของหนี้เก่า ซึ่งล้วนเป็นรายจ่ายในทางบัญชี ไม่ใช่ตัวเม็ดเงิน"

การณ์เป็นดังนี้ นิธิพัฒน์ถึงกับสารภาพเกี่ยวกับจุดแตกหักที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องว่า "ผมก็ยังคิดไม่ออก เพราะผมก็พยายามคิดแก้ปัญหาให้บริษัทที่ผมเข้าไปทำนี่ก็ไม่ได้เอาเงินเดือนสักแดงเลยเพราะผมพยายามประหยัดทุกอย่าง เช่นเรื่องค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเมื่อปี 2529 มี 125.77 ล้านบาท เมื่อเราเข้าไปก็ลดลงมาเหลือ 39.62 ล้านบาทในปี 2530"

"หลังจากที่ทุ่มเททำให้เขาแล้ว ผมมาโดนอย่างนี้ผมก็รู้สึกท้อใจมาก ผมไม่ทราบว่าพวกเขาหวังอะไรกัน" นิธิพัฒน์กล่าว

ส่วนทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การกล่าวว่า "เท่าที่เราดูมาก็ไม่มีสาเหตุอะไร มารุธก็เพิ่งมาลาออกแค่ 2-3 วันก่อนจะมีการฟ้องร้อง และเราไม่ทราบเรื่องเลยจนเมื่อมีการลงในหนังสือพิมพ์ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเราก็ร่วมงานกันมาด้วยดี"

อย่างไรก็ดี นิธิพัฒน์และทวีศักดิ์ต่างให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า "หากให้เดาคงเป็นเรื่องในเครือญาติของเขา เพราะมีความขัดแย้งภายในกันอยู่แต่สำนวนที่ฟ้องมานี่ ผมดูว่าเป็นของพิจิตรกับมารุธนี่แหละ"

ในส่วนของกลุ่มเอื้อวิทยานั้น ปรากฎว่ามีกลุ่มย่อย 2 กลุ่มคือกลุ่มหม่อมเจ้าปรีชา กัลยาณะวงศ์กลุ่มหนึ่งและกลุ่มสร้อยทิพย์ เอื้อวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งโดยกลุ่มหลังมีมารุธร่วมอยู่ด้วยและมีความเห็นว่ากลุ่มหม่อมเจ้าปรีชาทำการบริหารผิดพลาด จึงต้องการให้กลุ่มหม่อมเจ้าปรีชาออกไป

หม่อมเจ้าปรีชาก็ไม่ได้บริหารแล้ว แต่ให้หม่อมราชวงศ์จุลปรีชา โอรสเป็นผู้บริหารแทน ทั้งนี้ตระกูลเอื้อวิทยามีอุษา ไวคกุลเป็นพี่สาวใหญ่ รองลงมาคือสร้อยทิพย์ เอื้อวิทยา ถัดมาเป็นหม่อมเกษร กัลยาณะวงศ์ บังอร เอื้อวิทยาและพิจิตร เอื้อวิทยาตามลำดับ บรรดาผู้ถือหุ้นเดิมทั้ง 24 คนก็คือเหล่าเครือญาติซึ่งล้วนเป็นลูกหลานทั้งสิ้น

"ผู้จัดการ" ค้นพบหลักฐานดั้งเดิมเริ่มแรกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเครือญาติตระกูลนี้มีความแตกต่างทางความคิดกันสูง และมีอยู่เป็นเวลานานแล้ว

26 พฤษภาคม 2510 บรรดาผู้ก่อตั้งบริษัทเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ได้มีหนังสือไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง กระทรวงเศรษฐการเพื่อขอยกเลิกคำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทฯทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า

"เนื่องด้วยมีการขัดแย้งกันอย่างมากในระหว่างผู้เริ่มก่อการที่จะเริ่มการประชุมตั้งบริษัท ข้าพเจ้าทุกคนจึงให้งดการประชุมตั้งบริษัทตามที่กำหนดไว้และเจรจาทำความเข้าใจกันในเรื่องขัดแย้งต่างๆ แต่ที่สุดก็ไม่อาจตกลงกันได้…จึงขอเรียนมาเพื่อจำหน่ายคำขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิบริษัทเอื้อวิทยาเครื่องอุปกรณ์ จำกัด ออกจากบัญชีด้วย"

ผู้เริ่มก่อตั้งทั้งเจ็ดคือ กมล, พอจิตร, บังอร, สร้อยทิพย์ เอื้อวิทยา, อุษา ไวคกุล, หม่อมเจ้าปรีชา กัลยาณะวงศ์และรวีวรรณ บุณยรักษ์

เมื่อ "ผู้จัดการ" มีโอกาสพูดคุยกับพิจิตร เอื้อวิทยา หนึ่งในผู้ก่อตั้งและดำเนินงานบริษัทฯ มาจนปัจจุบัน หลังจากที่เฝ้ารอนับชั่วโมงที่สำนักงานถนนเอกมัย ซึ่งพิจิตรยังมานั่งทำงานอย่างสม่ำเสมอในตำแหน่งดูแลกิจกรรมพิเศษและติดต่อกับต่างประเทศเพื่อหางานเข้ามาให้บริษัทฯ ในที่สุดก็ได้พบและพิจิตรยอมรับว่า "เมื่อก่อนเรามีบริษัทหลายแห่ง แต่เนื่องด้วยผู้บริหารมีจำนวนมาก การตัดสินใจอะไรก็ลำบาก และต่างคนต่างก็มีความคิดของตน ก็เลยมาแยก ส่วนเรื่องการฟ้องร้องครั้งนี้นี่ ผมว่าต่างคนต่างจิตต่างใจเรื่องนี้ความจริงตามไปถามที่แบก์และโรงงานซึ่งแบงก์ส่งคนไปคุมอยู่ และมารุธก็นั่งอยู่ที่โรงงานด้วยน่าจะดีกว่า ผมว่าเขาคงมีความคิดอะไรของเขา และผมก็มีความคิดของผม"

อย่างไรก็ตาม พิจิตรปฏิเสธว่า "ผมยังตามมารุธไม่เจอ จะปรึกษาเรื่องงานที่ลาวนี่ยังตามหาตัวไม่เจอ เรื่องการฟ้องนี่ผมไม่รู้ เขาไม่ได้มาปรึกษาเลย ผมก็รู้จากหนังสือพิมพ์เหมือนกัน วันนั้นผมเล่นกอล์ฟอยู่ที่ปัญญาฯ มีคนมาถามมาก ๆ ผมเลยต้องหนี เพราะเล่นกอล์ฟนี่ต้องมีสมาธิ ชื่อทนายผมยังไม่รู้ว่าเป็นใคร อะไรที่ไหน

"ผู้จัดการ" ก็พยายามตามหาตัวมารุธผู้เป็นโจทก์เพียงผู้เดียวในคดีนี้ด้วยเหมือนกัน แต่ตลอดเวลาที่ไต่ถามไปที่บ้านหรือสำนักงาน ก็จะได้รับคำตอบว่าไปต่างประเทศ กลับมาแล้วแต่ไม่อยู่บ้าน กระทั่งทนายความสุวัฒน์ผู้ว่าความให้ก็ยอมรับว่า ผมไม่สามารถติดต่อมารุธได้ ทราบแต่ว่าย้ายที่พักบ่อย"

มันก็น่าแปลกใจไม่น้อยที่บุคคลซึ่งฟ้องร้องกล่าวหาผู้อื่นในวงเงินที่มากมายมหาศาลเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ ควรจะได้ปรากฎตัวต่อสาธารณะเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการเรียกร้องความเป็นธรรมของตน แต่ไม่มีใครได้พบเขา!

สำนวนฟ้องที่ "ผู้จัดการ" ได้รับมาจาก ทนายโจทก์เมื่อเดินทางไปสัมภาษณ์ ที่ชลบุลีนั้น บรรยายข้อกล่าวหาต่าง ๆ ไว้อย่างพิสดารถึง 14 ข้อหา

เรื่องการซื้อหุ้นจำนวน 105,000 หุ้น หรือ 75% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งผู้แทนธนาคารฯ คือนิธิพัฒน์ได้ตกลงว่าจะซื้อในราคาหุ้นละ 25 บาท แต่เมื่อถึงเวลาจ่ายเงินกลับจ่ายให้ในราคาหุ้นละบาทเดียว

มารุธยอมรับเงินและอ้างว่า "จำเลยที่ 1 (หมายถึงธนาคารฯ) ข่มขืนใจ โดยอ้างว่าถ้าโจทก์และผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัททุกคนไม่ยอมรับ…ก็ไม่สนับสนุนช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัท และจะฟ้องร้องให้บริษัทฯ ล้มละลายด้วย"

เรื่องการที่แบงก์โอนหุ้นให้บุคคลภายนอก 3 บริษัท จำนวน 93,000 หุ้น โดยโอนให้ในราคาหุ้นละ 100 บาท ขณะที่แบงก์รับโอนมาจากผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ในราคาหุ้นละ 25 บาท (จ่ายจริงหุ้นละบาทเดียว) ซึ่งมารุธเห็นว่าแบงก์ฯ จงใจทำผิดสัญญาที่ตกลงไว้กับบริษัทเอื้อวิทยาฯ มีเจตนาทำลายหุ้นของบริษัทเอื้อวิทยาฯ มีเจตนาเข้ายึดครองบริษัทเอื้อวิทยาฯ

ข้อหานี้โจทก์คิดค่าเสียหาย 10,000 ล้านบาท

แบงก์ได้ปล่อยปละละเลยให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ประกอบการค้าขายซ้อนกับบริษัทฯ คือผลิตภัณฑ์เครื่องส่งกำลังโซ่ของบริษัทเรโนลด์ จำกัด และนำผลกำไรเป็นของตนเอง ข้อหานี้คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 90 ล้านบาท

ธนาคารฯ โดยตัวแทนในฐานะกรรมการจัดการธุรกิจของบริษัทฯไม่ได้จัดทำสมุดบัญชีต่าง ๆ ของบริษัทฯ และไม่ได้เก็บรักษาไว้ที่สำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทฯ กลับนำไปซุกซ่อนไว้ในที่เร้นลับไม่เปิดเผยให้กรรมการคนอื่น ๆ ดู ข้อหานี้คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

เรื่องการที่นิธิพัฒน์จำเลยที่ 12 ในฐานะประธานกรรมการบริษัทเอื้อวิทยาฯ จงใจทำผิดกฎหมาย ทำให้บริษัทเสียหายทางทรัพย์สินและชื่อเสียงเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินค่าชดเชยให้ปราณีต ปาลัครกุล

ข้อหานี้เรียกค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ข้อกล่าวหาข้อ 8 เกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งพนักงาน การกำหนดเงินเดือนพนักงานและการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ คิดเป็นค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท

เรื่องการประมูลผลิตเสาไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 เควีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ซึ่งโจทก์ (มารุธ)เห็นว่าควรจะเสนอประมูลโดยลดราคาให้ต่ำลงมาเมื่อเทียบกับบริษัทจากเกาหลีใต้ แต่ ผู้บริหารจากทางแบงก์ไม่ยอม เพราะถ้าลดราคาลงมาจะทำให้ไม่มีกำไร แต่โจทก์มองว่าถึงจะไม่มีกำไร แต่บริษัทฯ ก็จะมีงานป้อนให้พนักงานในโรงงานได้ทำและทำให้บริษัทฯ มีโอกาสรับงานต่อไปของ กฟผ.

การพลาดโอกาสครั้งนี้คิดค่าเสียหายเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

เรื่องการผลิตบานประตูน้ำในโครงการเขื่อนกั้นน้ำโขง-ชี-มูล ซึ่งทำให้บริษัทสูญเสียโอกาสรับงานคิดค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท

ข้อกล่าวหาวที่ 11-13 เป็นเรื่องของการสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจ เสียเครดิตชื่อเสียง ทรัพย์สินในการติดต่อธุรกิจกับต่างประเทศ ในกรณีของบริษัทไฟรด์โก อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งอิสราเอล กรณีการซื้อเหล็กจากประเทศจีนและรัสเซีย ความเสียหายเหล่านี้คิดรวมเป็นมูลค่า 250,000 ล้านบาท

เรื่องการลงโฆษณาสินค้าที่ไม่ใช่ของบริษัทฯ ในสมุดหน้าเหลือง AT&T คิดค่าเสียหาย 500 ล้านบาท

สองข้อหาสุดท้ายคิดข้อหาละ 50,000 ล้านบาท เป็นเรื่องการติดต่อซื้อขายที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างที่ถนนเอกมัยซึ่งเป็นสำนักงานของบริษัทฯ และเรื่องการแก้ไขดวงตราสำคัญของบริษัทฯ

รวมค่าเสียหายจากข้อกล่าวหาวทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า 501,190 ล้านบาท !!!

คดีธุรกิจที่เป็นประวัติศาสตร์คดีนี้เป็นที่สนใจจับตามองของหลายฝ่าย แน่นอนว่าธนาคารแห่งประเทศไทยก็ให้ความสนใจด้วย นิธิพัฒน์อ้างว่า "ธนาคารชาติมีคำสั่งให้แบงก์ฯ เสนอแผนการจัดการหนี้ทั้งหมด ซึ่งแบงก์ก็เสนอไปโดย มีสาระสำคัญว่าแบงก์คิดว่าสามารถทำกำไรได้ แต่กำไรตัวนี้คงจะไม่คุ้มกับรายจ่ายประจำคือตัวที่เป็นดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา อย่างไรก็ดีแบงก์จะลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 5% หรืออาจจะให้หยุดบางส่วน คือให้ลดภาระดอกเบี้ยลงเหลือปีละ 20-30 ล้านบาท และเราก็ทำกำไรล้างหนี้ได้ทีละน้อย หลักการเป็นอย่างนี้"

แบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การไม่ยอมตัดหนี้เอื้อวิทยาฯ เป็นหนี้สูญ โดยจัดชั้นไว้เป็นหนี้สงสัยจะสูญ ในหมายเหตุประกอบงบการเงินงวดธันวาคม 2532 และ 2531 ของธนาคารฯ ได้มีการรายงานว่า "ธนาคารมีลูกหนี้ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดสภาพหนี้ใหม่ และธนาคารได้เข้าควบคุมการบริหารงาน ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2532 และ 2531 มีจำนวนรวมประมาณ 4,424 ล้านบาท และ 3,986 ล้านบาทตามลำดับ ลูกหนี้เหล่านี้มีหลักประกันประมาณ 1,781 ล้านบาท ฝ่ายบริหารของธนาคารเชื่อว่าจะเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้เหล่านี้ได้ครบ"

นอกจากเอื้อวิทยาฯ ซึ่งมีหนี้พอกพูนขึ้นเป็นระดับพันกว่าล้านบาทแล้วนั้น แบงก์ยังมีรายของกลุ่มเสถียรภาพอีกหลายร้อยล้านบาท และกลุ่มอื่น ๆ อีกเป็นระดับหลายร้อยล้านบาท

ปรากฎว่าโดยส่วนมากนั้น แบงก์มักประสบปัญหาต่าง ๆ นานาในการติดตามทวงเก็บหนี้ ซึ่งเรื่องนี้ทวีศักดิ์ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า "เป็นกรรมของแบงก์นี้จริง ๆ"

เป็นที่รู้กันดีในวงการธนาคารพาณิชย์ว่าแบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การนั้นมีปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อ แล้วตามเก็บไม่ได้จำนวนมากมาย จนธนาคารชาติต้องเข้ามาสอดส่งดูแลในช่วงปี 2529 นอกจากนี้ยังมีเรื่องของวิธีคิดวิธีบริหารกิจการธนาคารสมัยใหม่ ซึ่งแบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การได้ชื่อว่าเป็นแบงก์ที่มีแนวทางการบริหารแบบอนุรักษ์ที่สุด

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานกรรมการธนาคารฯ ก็ยอมรับว่า "ไม่ต้องการให้เป็นแบงก์อิเล็กทรอนิกส์ ยังมีนโยบายอนุรักษ์ของเดิมเอาไว้ ถ้าเปลี่ยนแปลงให้ได้ชื่อว่าทันสมัย แล้วให้พนักงานเก่าแก่ออกไป ไม่จำเป็นที่จะต้องทำ"

ผู้เชี่ยวชาญในวงการธนาคารพาณิชย์ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า "แม้จะมีคนหนุ่มรุ่นใหม่ ๆ ที่ธนาคารชาติส่งเข้าไป ก็ยังเป็นอีหรอบเดิม เพราะพวกเขาไม่สามารถทำการเปลี่ยนแปลงอะไรได้มา กและแนวคิดแบบอนุรักษ์ที่เป็นมาอย่างไรก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น"

กรณีที่สะท้อนอันหนึ่งคือสมัยที่เกริกเกียรติเข้ามาบริหารแบงก์ใหม่ ๆ เมื่อปี 2530 เขามีแนวคิดที่จะทำตราสารเงินฝากดอกเบี้ยลอยตัว (FLOATING RATE NOTES) เพื่อหาแหล่งเงินทุนให้เอื้อวิทยาฯ แต่ปรากฎว่าแนวคิดนี้ก็ไม่สามารถทำได้ โดยไม่ได้มีการแถลงว่าติดขัดปัญหาการขออนุญาตแบงก์ชาติ หรือเป็นปัญหาของแบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การเอง

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงคือวิธีคิดวิธีการบริหารแบงก์ปล่อยวงเงินโอดีให้ผู้บริหารเอื้อวิทยาฯ มาเป็นเวลานานด้วยความรู้จักมักคุ้นระหว่างผู้บริหารชุดเก่า เมื่อผู้บริหารแบงก์ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ของเอื้อวิทยาฯ ก็ได้นำคนจากกฟผ. เข้าไปร่วมบริหารด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะความรู้จักมักคุ้นที่คนของกฟผ. มีกับผู้บริหารเอื้อฯ

ด้วยเหตุนี้เองที่สมบูรณ์เกียรติ อดีตคนการไฟฟ้าฯ ค่อนข้างมั่นใจในอนาคตของเอื้อวิทยาฯ ที่อยู่ในมือของเขาอย่างมากๆ

วิธีคิดวิธีบริหารแบบนี้คือแนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ที่เป็นรากฐานความคิดทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของสังคมไทยมาแต่โบราณ !!!

กล่าวในส่วนของลูกหนี้ก็คงจะหนีคำอธิบายเช่นว่าได้ยาก ขณะที่กล่าวหาแบงก์เรื่องวิธีบริหารหนี้กลุ่มลูกหนี้เองก็มีลักษณะการบริหารเงินที่ไม่รัดกุมดังคำพูดของนิธิพัฒน์ ความคุ้มเคยในการเบิกเงินเกินบัญชีที่เคยทำมาแต่ไหนแต่ไรเป็นนิสัยติดตัวมาตลอด แม้ว่าลักษณะบัญชีแบบนี้จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงมากก็ตาม

ขณะที่แบงก์มีแนวคิดอนุรักษ์ และใช้วิธีบริหารแบบมีลำดับชั้น โดยการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ต้องเสนอตามขั้นตอนและให้กรรมการบริษัทอนุมัติ ซึ่งวิธีคิดวิธีปฏิบัติแบบนี้ขัดแย้งกับบุคลิกค้าขายของกลุ่มผู้บริหารเดิมอย่างมาก

แหล่งข่าวใกล้ชิดมารุธเปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า "ตามสำนวนฟ้องจะเห็นได้ถึงวิธีคิดวิธีบริหารงานของมารุธและกลุ่มจำเลยคือคนของแบงก์ คือพวกที่เป็นพ่อค้านี่จะตัดสินใจรวดเร็วฉับไว เพราะวินาทีที่ผ่านไปมีค่าเป็นเงินทองทั้งสิ้น จะซื้อเหล็ก จะต่อรองราคา ยังจะต้องมาผ่านการอนุมัติจากประธานกรรมการฯ มันก็ไม่ทันกินแล้ว"

โอกาสทางธุรกิจที่สูญเสียไปจะมีค่ามากมายมหาศาลตามที่ฟ้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ในชั้นศาล

กรณีศึกษานี้ดูจะเข้าตำรา "ชาวนากับงูเห่า" ในสังคมไทยโดยแท้ !!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.