"ปูนขายไออีซีออกไป เป็นสิทธิของเขา เขาบอกผมว่านโยบายไม่ตรงกันเลยต้องขาย
มันเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่ยั่งยืนถาวร"
เป็นความรู้สึกของชายแก่คนหนึ่งที่พรั่งพรูออกมาเมื่อทราบข่าวปูนขายไออีซีให้คนอื่นไป
ชายแก่ผู้นี้มีอายุมากถึง 85 ปีแล้ว แต่ยังมีความแข็งแรงของร่างกายเหมือนคนที่มีอายุเป็นเพียงแค่ตัวเลข
เขาชื่อ "เทียม กาญจนจารี" ที่คนทั่วไปมักเรียก "คุณเทียม"
แทนชื่อเขา
ทุกเช้าถึงเที่ยงคุณเทียมจะมานั่งที่ไออีซีนี้ทุกวัน มันเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนทั่วไปที่ไม่รู้ถึงความหลังที่ชายแก่ผู้นี้มีต่อบริษัทแห่งนี้
แม้ในปัจจุบันมันจะตกเป็นสมบัติของผู้อื่นมานานปีแล้วก็ตาม
คุณเทียมทำงานกับไออีซี ( อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง) สาขาประเทศไทยมาตั้งแต่ปี
1927 "วันที่ 25 เมษายน ผมจำได้ถึงวันนี้" เขาระบุวันเวลาอย่างชัดเจน
ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เขาต้องการแสดงถึงความรักและผูกพันที่มีต่อบริษัทแห่งนี้เริ่มต้นงานด้วยการเป็นเสมียนชิปปิ้งกันเงินเดือน
80 บาทหลังจากจบซีเนียร์เคมบริจด์ที่สิงคโปร์
ไออีซีเป็นบริษัทอเมริกันจดทะเบียนที่ฟิลลาเดเฟีย สหรัฐฯ เมื่อปี 1923 หลังสงครามโลกครั้งที่
1 บริษัทนี้ได้เข้ามาประมูลงานสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-อรัญญประเทศในสมัยที่กรมพระกำแพงเพชร
อัครโยธินเป็นเจ้ากระทรวงคมนาคมและพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เซ็นสัญญากับนายเฮอร์แมน
เฮพเชอร์ผู้จัดการคนแรกของไออีซี (ไทย)
ไออีซีเข้ามาเปิดบริษัทในกรุงเทพด้วยทุนเริ่มแรก 200,000 บาทโดยผู้ถือหุ้นทั้งหมดเป็นบริษัท
อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง อิ้งยูเอสเอ (บริษัทแม่) เพื่อดำเนินการโครงการสร้างทางรถไฟที่ประมูลได้
แต่ผลการดำเนินงานขาดทุนเนื่องจากอุปกรณ์ที่นำเข้ามาเช่นพวกรถยนต์และแทรคเตอร์
กินน้ำมันมากทำให้มีค่าใช้จ่ายการสร้างทางสูง
ไออีซี (สหรัฐฯ) เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเป็นนายหน้าและตัวแทนการค้าสินค้าเครื่องจักรกลเช่นรถแทรคเตอร์ยี่ห้อเวสต์ซิกตี้
(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นแคตเตอร์พิลล่า) เป็นนายหน้าขายเครื่องบินให้ยูไนเต็ด
แอร์คราฟท์ อุปกรณ์ไฟฟ้าเวสต์ติ้งเฮ้าและสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย
การขาดทุนจากโครงการสร้างทางรถไฟ ทำให้ไออีซี (ไทย) จะปิดบริษัททิ้งงานที่ยังทำไม่เสร็จ
แต่ความที่เป็นบริษัทอเมริกันรายแรกที่เปิดกิจการในเมืองไทยทางรัฐบาลอเมริกัน
จึงรู้สึกเป็นการเสียหน้ามากถ้าหากปล่อยให้เป็นเช่นนั้น จึงให้ทางสถานทูตสหรัฐ
ฯ ประจำไทยเข้าช่วยเหลื อทางการเงินส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยการเข้าเจรจาขอร้องให้ทางธนาคารไทยพาณิชย์
ซึ่งขณะนั้นมีผู้จัดารใหญ่เป็นชาวอเมริกันปล่อยสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียนค่าใช้จ่าย
จนโครงการสร้างทางรถไฟสายดังกล่าวเสร็จสิ้นตามสัญญา
แม้ไออีซีจะไม่ได้กำไรคุ้มต่อการลงทุน แต่ก็สามารถหล่อเลี้ยงให้ไออีซีสามารถดำเนินธุรกิจค้าขายในเมืองไทยต่อไปได้
"เราขายของเกือบทุกอย่างตั้งแต่เครื่องบิน เครื่องทำน้ำแข็ง เครื่องทำไฟฟ้า
ปืนยาววินเชสเตอร์ เครื่องทรานฟอร์มเมอร์ขนาด 3 กิโลวัตต์ให้หน่วยราชการเกือบทุกแห่งและแม้แต่ประกันชีวิตเราก็เป็นตัวแทนให้บริษัทประกันซิกน่าไลฟ์ของอเมริกา"
คุณเทียมเล่าให้ฟังถึงบทบาทด้านการค้าของไออีซียุคก่อนสงครามโลกครั้งที่
2 จะเกิดขึ้น
การเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ของไทยทำให้ทรัพย์สินของบริษัทอเมริกันในเมืองไทยถูกรัฐบาลยึดไออีซีก็เลี่ยงไม่พ้น
เหตุการณ์นี้เป็นวิกฤติการณ์ครั้งที่ 2 ที่ไออีซีประสบในเมืองไทยหลังจากเคยประสบมาแล้วครั้งแรกเมื่อตอนสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-อรัญฯ
แต่พอหลังสงครามโลกสงบ ไออีซีก็ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ขณะที่คุณเทียมก็เริ่มสร้างธุรกิจส่วนตัวขึ้นมาโดยอาศัยเงินทุนส่วนหนึ่งประมาณ
400,000 บาทจากการยืมเพื่อนชาวจีน ชื่อลิ้มก่ำต่งที่อยู่แถวทรงวาดและอีกส่วนชวนประหยัด
อังศุสิงห์ เข้าลงทุนถือหุ้นร่วมกันตั้งบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง
โดยไม่ได้จดทะเบียนกับกระทรวงเศรษฐการ
ธุรกิจที่คุณเทียมทำเวลานั้นเป็นเอเยนต์เรือให้อีสเวสต์ไลน์ ได้ค่าคอมมิชชั่นตันละ
10 เซ็นต์ เวลานั้นหน่วยงานสหประชาชาติเพื่อการฟื้นฟูและบูรณะ (UNRRA) ต้องการขนข้าว
10,000 ตันจากเมืองไทยไปจีนก็ส่งนายวินเตอร์ไมน์มาติดต่อคุณเทียมจัดหาเรือขนข้าวให้
และนี่คือที่มารายได้ก้อนแรก 1,000 เหรียญ ที่คุณเทียมหาได้และนำฝากเข้าบัญชีเหรียญสหรัฐ
ฯ ของนายชูลท์เจ้านายเก่าสมัยเป็นลูกจ้างไออีซียุคก่อนสงครามฯ ที่เปิดบัญชีไว้ที่สิงคโปร์
เหตุผลที่คุณเทียมทำเช่นนี้เนื่องจากเวลานั้นค่าเงินบาทเทียบกับเหรียญสหรัฐ
ฯ อัตราทางการตกเหรียญละ 9.80 บาทขณะที่ตลาดมืด 27 บาท ถ้านำเงินเหรียญเข้าในประเทศจะขาดทุนกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันทันทีเหรียญละ
18 บาท
เทคนิคตรงนี้เป็นผลกำไรมหาศาลที่คุณเทียมได้รับจากธุรกิจเอเยนต์เรือ และนำไปสู่การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล
เอ็นจิเนียริ่ง (ไออีซี) ด้วยทุน 10 ล้านบาทร่วมกับ ประหยัด อังศุสิงห์และจอห์น
เวสเตอร์ตัวแทนของไออีซีสหรัฐ ฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นทางการในปี 1956
โดยคุณเทียมเอากำไรจากธุรกิจนายหน้าเอเยนต์เรือและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นทุนเข้าถือหุ้น
15% มีนายเวสเตอร์เป็นกรรมการผู้จัดการ
ธุรกิจของไออีซีเดินหน้าอย่างรวดเร็ว มีซัพพลายเออร์ต่างประเทศหลายรายต้องการให้บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายเช่น
โทรศัพท์ไอทีทีของบริษัทไอทีที เครื่องทำน้ำแข็ง ชูการ์ฮัทของบริษัทไดนามอสต์
เครื่องทรานฟอร์มเมอร์ของบริษัทเวสติ้งเฮ้า เอเยนต์ขายเครื่องบินให้บริษัทยูไนเต็ดแอร์คราฟ
และที่สำคัญเป็นเอเยนต์รถขุดและแทรกเตอร์แคตเตอร์พิลล่าของบริษัทแคตเตอร์พิลล่า
"เราเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของหน่วยราชการและบริษัทเอกชนใหญ่ๆในสินค้าอุปกรณ์และเครื่องกล"
คุณเทียมเล่าให้ฟังถึงความยิ่งใหญ่ของไออีซีในสมัยก่อน
การเป็นเอเยนต์ให้แคตเตอร์พิลล่าเป็นเสมือนตัวทำเงินทำทองให้บริษัทด้วยเหตุผลอย่างน้อย
2 ประการคือ หนึ่ง เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลเริ่มลงทุนสร้างสิ่งสาธาณูปโภคตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
จึงเป็นตลาดใหญ่ของไออีซีที่จะป้อนสินค้าให้และ สอง แคตเตอร์พิลล่าเป็นสินค้าที่มีรูปทรงขนาดใหญ่ต้องใช้เนื้อที่ในการเก็บรักษามาก
การแสวงหาที่ดินตามแหล่งชานเมืองและจังหวัดหัวเมืองของกรุงเทพ ฯ ในขณะที่ยังมีราคาถูกจึงเป็นผลงานของการสร้างสินทรัพย์ในรูปของที่ดินที่มีมูลค่ามหาศาลในภายหลัง
และเหตุนี้คือผลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการมีสินทรัพย์ที่ดินมากมายของบริษัทไออีซีในระยะต่อมา
"คุณเทียมถือหุ้นใหญ่กว่า 50% โดยซื้อเพิ่มจากเวสเตอร์ที่ต้องการขายเพื่อกลับสหรัฐ
ฯ แล้วแกก็ให้ลูกชายคือพลศักดิ์เข้ามากุมบังเหียนบริหาร" แหล่งข่าวในไออีซีกล่าวถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของไออีซี
คุณเทียมมีลูก 4 คน เป็นลูกชาย 2 ลูกสาว 2 พลศักดิ์เป็นลูกชายคนโต เป็นคนมีความสามารถพอตัว
แต่เสียที่ชอบดื่มเหล้าแล้วเมาจนเป็นเหตุหนึ่งที่แคต ฯ เลิกให้ไออีซีเป็นเอเยนต์เมื่อปี
1976
แคตเตอร์พิลล่าเลิกให้ไออีซีเป็นเอเยนต์ก็มาจากความไม่พอใจพลศักดิ์ที่ทะเลาะมีปากเสียงกับคนของแคต
ฯ แล้วเวลาเมาก็คุมสติตัวเองไม่อยู่
เมื่อหลุดจากแคต ฯ พลศักดิ์ก็จับอินเตอร์เนชั่นแนล ฮาร์เวสเตอร์มาแทน แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงเปลี่ยนมาเป็นเฟียต-เอลิส
หวังมาสู้กับแคต ฯ ที่ไปให้เมโทร แมชชินเนอรี่ของ ทองไทย บูรพาศรี เป็นเอเยนต์แทน
"พลศักดิ์ใช้มาตรการปล่อยเครดิตและหั่นราคา ปรากฏว่าหนี้สูญบานร่วมสามร้อยล้าน
ยิ่งเจอมรสุมน้ำมันแพง ดอกเบี้ยแพงและลดค่าเงินบาทเข้าไปด้วย ก็ขาดทุน"
แหล่งข่าวเล่าให้ฟังถึงที่มาการเริ่มตกต่ำของไออีซี
ภายใต้สถานการณ์วิกฤตินี้ ทางออกของบริษัทมีทางเดียวที่ทำได้คือการลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด
โดยการปลดคนงานออก แต่คุณเทียมไม่กล้าทำ เขาเลือกที่จะขายกิจการให้คนอื่น
คนที่รับซื้อคือปูนซิเมนต์ไทย โดยพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ประธานกรรมการของปูนทราบจาก
กิตติรัต ศรีวิสารวาจา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ไออีซีขณะนั้น
"ผมขายสินทรัพย์ของไออีซีออกไปไม่ถึง 20% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ไออีซีมีอยู่
โดยผมมีเงื่อนไขว่าทางปูนต้องรับหนี้สินส่วนตัวของผม 38 ล้านบาทที่ค้ำให้ไออีซีด้วย"
คุณเทียมเล่าถึงเงื่อนไขการขายไออีซีของเขา
หนี้สินไออีซีมีอยู่ 100 ล้านขณะที่มีมูลค่าสินทรัพย์รายการลูกหนี้การค้าที่มีปัญหาการชำระอยู่
300 ล้าน
สินทรัพย์ที่ดีที่สุดของไออีซีในการขายครั้งนี้คือที่ดิน 13 แปลง และที่สำคัญที่สุดคือแปลง
6 ไร่ข้างกรมอุตุนิยมวิทยา ถนนสุขุมวิทและแปลง 2 ไร่ครึ่งบริเวณโอเรียนเต็ลพลาซ่า
ที่มีมูลค่ามหาศาล
"ผมขายให้ปูนถูกมากหุ้นละ 1,200 บาทเท่านั้น" คุณเทียมบอกถึงราคาที่เขาขายไออีซีให้ปูนเมื่อ
7 ปีก่อน
แม้จะขายให้ปูนไปแล้ว แต่ความที่มีความรู้สึกผูกพันกับไออีซีมาตลอดชีวิต
เขาก็ยังมานั่งที่ไออีซีทุกวันโดยไม่รับเงินเดือน
"ผมมาขออาศัยที่นี่เป็นสำนักงานทำอะไรส่วนตัวของผมเช่นติดต่อพบปะเพื่อนฝูง
และเพื่อนร่วมงานของผมที่ยังหลงเหลืออยู่ที่ไออีซี" เขากล่าวถึงเหตุที่มาไออีซีทุกวัน
ดูประหนึ่งไออีซีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา