แบริ่งฯ กระบี่มือหนึ่งค้าหุ้นและวิจัย


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

มีเหตุผลเชิงธุรกิจที่สำคัญที่อยู่เบื้องหลังการทำมาหากินอย่างเป็นล่ำเป็นสันของบริษัทค้าหุ้นชาติยุโรปในเอเชีย นั่นคือค่าธรรมเนียมค้าหุ้น ที่ตลาดเอเชียไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ จาการ์ตา มะนิลา ไต้หวัน กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ ฮ่องกง และโตเกียวมีอัตราค่าธรรมเนียมที่คิดเอา จากลูกค้านักลงทุนสูงกว่าตลาดหุ้นในยุโรปมาก และอีกประการหนึ่งการแข่งขันในการประกอบธุรกิจค้าหลักทรัพย์และการให้บริการก็ยังไม่รุนแรงเท่าตลาดในยุโรปและอเมริกา

"ยกตัวอย่างตลาดหุ้นกรุงเทพ คิดค่าธรรมเนียมให้บริการค้าหลักทรัพย์สูงถึง 1% ขณะที่ในลอนดอนแข่งขันกันสูงมากไม่ถึง 0.5% ด้วยซ้ำ" แหล่งข่าวในบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำของยุโรปรายหนึ่งเล่าให้ฟังถึงความแพงของค่าธรรมเนียมของตลาดหุ้นกรุงเทพฯ ที่โบรกเกอร์คิดเอาจากนักลงทุน

ปัจจุบันมีบริษัทค้าหลักทรพัย์ยุโรปหลายแห่งเข้ามาลงทุนในลักษณะร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นคนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การลงทุนของเจมส์ คาเพิล ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกชาติ การลงทุนของจาร์ดีนเฟรมมิ่งในบริษัทหลักทรัพย์เอกธนาคมก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น เจ เอฟ ธนาคม การลงทุนของดับบิว ไอคาร์ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ การลงทุนของชินตง (บริษัทค้าหลักทรัพย์ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์แห่งอังกฤษ) ในบริษัทหลักทรัพย์ชินตงรัตตะ และล่าสุดมีความเป็นไปได้สูงที่ความร่วมมือกันทางธุรกิจ 2 ปี ระหว่างบริษัทค้าหลักทรัพย์แบริ่งกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร อาจนำไปสู่การร่วมลงทุนในอนาคตปี 2535 ในที่สุด

นอกจากนี้แล้วยังมีบริษัท ค้าหลักทรัพย์ยุโรปและสหรัฐฯ หลายรายที่เวลานี้เปิดในรูปสำนักงานวิจัยเพื่อป้อนข้อมูลภาวะตลาดหุ้นไทยให้กับดีลเลอร์และผู้จัดการลงทุนของตนที่อยู่ในต่างประเทศเช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ โตเกียว ลอนดอน ชูริค เช่น บาร์เคย์ โซเอ็ดเว็ดหรือที่รูจักกันในนามบีแส็ทดับบิว บริษัทวิจัยโอโกเว็ด บริษัทวิจัยครอสบี้ บริษัทวิจัยเอส.จีวาร์บวร์ก และสมิท นิวคอร์ท

ความจริงแล้วการที่ตลาดหุ้นไทยมีศักยภาพการเติบโตที่สูงทั้งที่มีจุดอ่อนหลายด้าน โดยเฉพาะความสุกงอมในเหตุผลการลงทุนและให้บริการของเหล่าโบรกเกอร์ท้องถิ่นและความยุติธรรมต่อการปกป้องผู้ลงทุนก็ตาม แต่อัตราค่าบริการการลงทุนที่สูงทำให้จุดอ่อนในประเด็นดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่สำคัญน้อยลงไป

เหตุนี้คือแรงจูงใจสำคัญที่บรรดาสำนักงานตัวแทนวิจัย อยากเข้ามาลงทุนทำธุรกิจค้าหลักทรัพย์ และให้บริการค้าหลักทรัพย์โดยวิธีเข้าร่วมลงทุนกับบริษัทโบรกเกอร์ท้องถิ่นเนื่องจากไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจค้าหลักทรัพย์โดยตรง

"ทางบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซี กำลังเจรจาอยู่กับสมิทนิวคอร์ท เพื่อแสวงหาลู่ทางความเป็นไปได้ เพื่อผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายในการร่วมมือธุรกิจกัน ในช่วงแรกความร่วมมือจะออกมาในรูปของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันก่อนเช่นสมิทนิวคอร์ท ป้อนลูกค้าจากต่างประเทศผ่านเอ็มซีซี และให้ความช่วยเหลือด้านการสร้างทีมนักวิจัยที่ได้มาตรฐานสากล ขณะเดียวกันทางเอ็มซีซีก็ให้ส่วนลดด้านค่าธรรมเนียมในจการบริการค้าหลักทรัพย์ในสมิทนิวคอร์ท ซึ่งลักษณะนี้จะเหมือนความร่วมมือระหว่างแบริ่งกับศรีมิตร ต่อจากนั้นอนาคตก็มีความเป็นไปได้สูงที่เอ็มซีซีกับสมิทนิวคอร์ท จะร่วมลงทุนกันทำธุรกิจค้าหลักทรัพย์ในลักษณะหุ้นส่วนกัน อุปมาอุปไมยเหมือนกับก่อนจะแต่งงานกันก็หมั้นหมายดูใจและความประพฤติ ว่าเข้ากันได้หรือเปล่ากันก่อน" แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์ เล่าให้ฟังถึงตัวอย่างความเคลื่อนไหวของบริษัทค้าหลักทรัพย์ต่างชาติล่าสุดที่อยากเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย

สมิท นิวคอร์ทเป็นบริษัทตลาดหุ้นแถบเอเชียเหมือนแบริ่ง ปีที่แล้วได้รับการโหวตจากนักลงทุน และผู้จัดการลงทุนทั่วโลกซึ่งจัดการสำรวจโดยนิตยสาร "เอเชียมันนี่" ว่ามีการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สนองความต้องการของผู้ลงทุนได้อย่างประทับใจเป็นอันดับสอง รองจากบีแส็ทดับบิว และให้บริการงานวิจัยที่ยอดเยี่ยมเป็นอันดับ 9 ในตลาดหุ้นฮ่องกง

กล่าวถึงการวิจัยแล้วต้องยอมรับว่าโบรกเกอร์ท้องถิ่นชาวไทยยังค่อนข้างล้าหลังอยู่มาก ส่วนหนึ่งอาจมาจากไม่ค่อยสนใจคุณค่าของความสำคัญในการวิเคราะห์วิจัยพื้นฐานของหุ้นในกระบวนการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนชาวไทย ซึ่งส่วนใหญ่รวมทั้งโบรกเกอร์ด้วยที่มักเคยชินและยอมรับกระบวนการตัดสินใจลงทุนที่อาศัยข่าวที่ถูกสร้างโดยกลุ่มนักปั่นหุ้นที่อยู่ในตลาดมากกว่า

บริษัทค้าหลักทรัพย์ชั้นนำของโลกทุกแห่ง ล้วนมีทีมงานวิจัยที่มีคุณภาพมากมาย เช่นโนมูระของญี่ปุ่นและแบริ่งของอังกฤษที่ว่ากันว่าทั้งสองบริษัทต่างลงทุนในงานวิจัยกันมากที่สุดเมื่อเทียบ กับบริษัทค้าหลักทรัพย์อื่น ๆ ของโลก

นิตยสารโกเบิล อินเวสเตอร์และเอเซียมันนี่ที่มีอิทธิพลต่อนักลงทุนในตลาดหุ้นของโลก ได้ทำการสำรวจเมื่อช่วงกลางปีนี้ถึงความเห็นผู้จัดการลงทุนทั่วโลกที่มีความเชี่ยวชาญ ตลาดหุ้นอาเซียนนับร้อยราย เกี่ยวกับผลงานวิจัยและให้บริการค้าหลักทรัพย์ของบริษัทค้าหลักทรัพย์ทั่วโลก พบว่าบริษัทหลักทรัพย์แบริ่งได้รับการยอมรับจากมาตรฐานงานวิจัย การให้บริการสั่งซื้อขายหุ้น การชำระราคาและส่งมอบหรือรักษาเอกสารหุ้นที่ดีที่สุดถึง 5 ตลาดใน 8 ตลาดของเอเชียคือตลาดกรุงเทพฯ เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สำหรับตลาดโตเกียว ซึ่งเป็นตลาดที่มีปริมาณการซื้อขายมากที่สุดของเอเชีย แบริ่งได้รับการยอมรับมากเป็นอันดับแรกจากบรรดาบริษัทค้าหลักทรัพย์ต่างชาติด้วยกัน จะเป็นรองก็แต่โนมูระเท่านั้น จากบรรดาทุกบริษัทที่ค้าหุ้นในตลาดโตเกียว

พูดง่าย ๆ ว่าถ้าจะยกให้บริษัทหลักทรัพย์แบริ่งของอังกฤษเป็นกระบี่มือ 1 ในตลาดหุ้นเอเชียก็ไม่เป็นการกล่าวเกินเลยความจริง

แบริ่งฯ กรุงเทพฯ เปิดสำนักงานวิจัยมาประมาณ 2 ปี แล้วเริ่มต้นทีมนักวิจัยที่มีอยู่เพียง 3-4 คนเท่านั้น แต่เวลานี้มีทีมนักวิจัยมากถึง 14 คน นับว่าใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทค้าหลักทรัพย์ทุกบริษัท (แม้แต่บริษัทไทย) ในตลาดหุ้นกรุงเทพฯ

ผลงานวิจัยของแบริ่งมีจุดเด่นอย่างน้อย 3 ประการคือ ประการแรก มีเนื้อหาที่กว้างขวางเชิง มหภาคที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญของภาพรวมทางเศรษฐกิจการเงินระดับประเทศและสาขาธุรกิจที่หุ้นนั้นสังกัดอยู่ในทุกตลาดของเอเชีย ประการสองมีการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งทั้งด้านเศรษฐกิจการเงินของประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกและสาขาธุรกิจเฉพาะด้าน ประการที่สาม มีการนำเสนอที่ดี เข้าใจง่าย

"การลงทุนในตลาดหุ้นเอเซีย ผู้ลงทุนยังขาดข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งในระดับมหภาค ซึ่งตรงนี้แบริ่งฯ ทำได้อย่างวิเศษ" บิลเอ็บเวอร์ตแห่งบริษัทฟิเดลริตี้ กล่าวถึงจุดแข็งงานวิจัยของแบริ่งในตลาดเอเชีย

มองผลงานวิจัยผ่านบริษัทต่างชาติแล้ว มาย้อนดูผลงานวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์ไทยแล้ว คงอีกนานที่จะก้าวพ้นจากความล้าหลังถ้าไม่ริเริ่มลงทุนสร้างระบบและทีมงานวิจัยที่ได้มาตรฐานโลกตั้งแต่วันนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.