เขาคนนี้ไม่ใช่เกิดบนกองเงินกองทองอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และก็ไม่ใช่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจนข้นแค้นถึงขนาดไม่มีอะไรจะรับประทาน
พอลืมตาขึ้นมาดูโลกก็มองเห็นพ่อเป็นเถ้าแก่และพี่ ๆ ช่วยกันทำโรงงานปั่นด้ายและโรงสีขนาดย่อม
ๆ แล้ว ในขณะที่เขาเองเป็นน้อยชายสุดท้องยังวิ่งคลุกฝุ่นอยู่แถวหน้าโรงงาน
แต่วันนี้เขาได้รับมอบหมายให้เป็น "หลงจู้" ของกลุ่มบริหารทรัพย์สินกว่าพันล้านบาทจากพี่น้องร่วมท้องเดียวกันถึง
8 คน ในขณะที่เขาเป็นน้องชายคนสุดท้องและมีอายุเพียง 37 ปีเท่านั้น
วิสุทธิ วิยฐานกรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด เจ้าของโรงงานน้ำมันพืชตรา
"องุ่น" ซึ่งเป็นน้ำมันพืชที่มีส่วนแบ่งตลาด 3,000 ล้านบาท นี้ถึง
25% ถ้าเทียบเคียงกับน้ำมันพืชทุกชนิด และสูงถึง 80% ถ้าเทียบกันเฉพาะน้ำมันพืชที่ผลิตจากถั่วเหลือง
ซึ่งตัวเลขนี้มันเพิ่งจะพุ่งขึ้นมาหลังจากที่เขาตัดสินใจเข้าทำงานให้แก่ครอบครัวเมื่อ
5 ปีก่อนนี่เอง
วิสุทธิบอกกับคนทั่วไปเสมอว่าตัวเขาเองนั้นเป็นคนที่เรียนสูงที่สุดในครอบครัว
แต่ก็เพียงปีหนึ่งรามคำแหงเท่านั้น ไม่ได้มีปริญญาอะไรมากมายทั้งในและต่างประเทศ
"ผมทำอยู่ทุกวันนี้คืองานจัดการ ซึ่งผมได้รับมาจากประสบการณ์ของตัวเองที่มีทั้งล้มเหลวและประสบความสำเร็จความรู้ผมมีเพียงรามปีหนึ่งเท่านั้นเอง"
วิสุทธิ์พูดด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัว
ด้วยความที่เป็นน้องชายคนสุดท้องของครอบครัว จึงได้รับการฟูมฟักจากพี่ ๆ
ค่อนข้างดี เมื่อถึงเกณฑ์ต้องเข้าเรียนทางบ้านก็ส่งเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนจีนใกล้บ้านย่านตลาดพลูชื่อ
"กงลี้จงชัง" พอขึ้นมัธยมต้นก็ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนซันตาคลูส
เชิงสะพานพุทธ ซึ่งก็ไม่ได้อยู่ไกลบ้านเกินไปนัก
เมื่อแตกเนื้อหนุ่มจนขึ้นเรียนมัธยมปลายจึงได้ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
แล้วก็ตรงดิ่งเข้าไปเรียนที่โรงเรียนช่างอุตสาหกรรมหัวหมาก สาขาช่างยนต์
ซึ่งเป็นนักเรียน รุ่นแรกของโรงเรียนแห่งนี้ที่เปิดในปี 2515
การจับกลุ่มร่วมก๊วนระหว่างเพื่อน ๆ ทั้งเก่าและใหม่ก็เริ่มมีขึ้นประปรายตามประสาวัยรุ่น
ก่อนที่จะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ
เพื่อนร่วมกลุ่มของเขาคนหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่าวิสุทธิเป็นเพื่อนที่น่ารักของกลุ่ม
ไม่ค่อยขัดใจเพื่อน ๆ ไปไหนไปด้วยกัน แต่ก็ไม่ใช่กลุ่มนักเรียนเกเร แต่ชอบสนุกกับการกินและเที่ยวมากกว่าตามประสาลูกเถ้าแก่สมัยนั้น
จบจากช่างอุตสาหกรรมสาขาช่างยนต์ยังไม่คิดจะทำอะไรก็เลยสมัครลงทะเบียนเรียนคณะพาณิชยศาสตร์สาขาการตลาดที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
แต่เรียนได้เพียงปีแรกได้ 20 กว่าหน่วยกิตก็หยุดเรียน เพราะผู้เป็นพ่อเรียกให้ไปเป็นหลงจู้โรงสี
ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวที่ตั้งอยู่ที่นครปฐม
ทั้งนี้เพราะว่าสภาพการขาดคนของครอบครัวเริ่มเกิดขึ้นเมื่อโรงงานน้ำมันพืชนครไชยศรี
ซึ่งครอบครัวของเขามีส่วนถือหุ้นอยู่ประสบปัญหาการขาดทุนติดต่อกันมายาวนาน
จนผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ บริหารทนไม่ไหวถอนตัวออกไปจนหมดครอบครัวของเขาจึงได้เข้าไปซื้อไว้ทั้งหมดและได้ส่งลูก
ๆ เข้าไปบริหารเอง
พี่ ๆ ของเขาหลายคนต้องวางมือจากโรงงานทำด้ายและโรงสีเพื่อช่วยกันเข้าไปแก้ไขฟื้นฟูโรงงานน้ำมันพืชที่ซื้อมาให้เต็มกำลัง
วิสุทธิจึงถูกดึงไปเป็นหลงจู้โรงสีแทนพี่ชายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
เขากล่าวว่าการที่เขาได้ไปเป็นหลงจู้โรงสีนั้นทำให้เขาได้ประสบการณ์ทาง
"การจัดการ" ที่เขาไม่เคยได้เรียนมาเป็นครั้งแรก และก็มีประโยชน์อย่างยิ่งในอีกช่วงหนึ่งที่เขาขึ้นมาเป็นผู้จัดการโรงงานน้ำมันพืชนครไชยศรีซึ่งลักษณะของธุรกิจที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
"ผมเป็นหลงจู้โรงสีอยู่สองปี ทำงานกับผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก ๆ ซึ่งก็รู้อยู่ว่าต้องทำใจอย่างมากในการบริหารคนกลุ่มนี้
การจัดการที่สำคัญของธุรกิจนี้อย่างหนึ่งซึ่งแทบจะเรียกว่าเป็นหัวใจของมันเลยก็ได้คือการจัดซื้อ
วันหนึ่ง ๆ เราต้องซื้อข้าวเปลือกเป็นหมื่น ๆ กิโลกรัม และข้าวนี่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่ามันเป็นสินค้าเกษตรซึ่งผลผลิตจะออกเป็นฤดูกาล
ทั้งปริมาณและราคาก็มีความไม่แน่นอนสูง คนที่จะทำได้จะต้อง "เชี่ยว"
พอสมควร ตอนผมเข้าไปใหม่ ๆ ก็ยังโชคดีทีมีพี่สาวซึ่งปัจจุบันเป็นคนรับผิดชอบการจัดซื้อของกลุ่มที่เชี่ยวชาญด้านนี้มากคอยให้การช่วยเหลือแนะนำ
อีกด้านหนึ่งก็คือการขาย พอสีเป็นข้าวสารแล้วก็จะต้องเข้ามาวิ่งขายในกรุงเทพฯ
รวมทั้งการขนส่ง ซึ่งเหล่านี้ไม่แตกต่างกับการทำโรงงานน้ำมันพืช พี่ ๆ ที่เคยทำโรงสีพอมาทำโรงงานน้ำมันพืช
พี่ ๆ ที่เคยทำโรงสีมาทำโรงงานน้ำมันพืช จึงไปได้ดีไม่มีปัญหา" วิสุทธิพูดถึงการเรียนรู้การบริหารการจัดการครั้งแรกในชีวิตของเขา
วิสุทธิเป็นหลงจู้โรงสีให้พ่ออยู่ 2 ปี ซึ่งเรียกว่ากรำงานหนักพอสมควร ทำให้ชีวิตที่เคยสนุกสนานกับเพื่อนฝูงห่าง
ๆ ออกไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อผู้เป็นพ่อของเขาต้องขายโรงสีออกไป เพราะต้องการทรัพยากรทั้งหมดลงไปกับโรงงานน้ำมันพืช
ซึ่งรวมถึงตัววิสุทธิเองด้วย
แต่เลือดคนหนุ่มอย่างเขายังร้อนแรง ต้องการออกมาจากครอบครัวทำธุรกิจของตัวเองด้วยความร้อนรุ่ม
จึงออกมารวมกับเพื่อน ๆ สองสามคนเปิดร้านอาหารสำหรับคนมีระดับขึ้นที่บางกอกบาซาร์
ราชดำริ พร้อมกันนั้นก็เปิดบริษัทกับเพื่อนที่เป็นสถาปนิกรับออกแบบก่อสร้าง
ซึ่งได้รับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง งานนี้วิสุทธิบอกว่าเขาขาดทุนไปหลายหล้านบาท
แต่ก็ได้รับบทเรียนทีคุ้มค่าและก็ได้ใช้ประโยชน์อย่างยิ่งในเวลาต่อมา
เขายอมรับว่าเมื่อก่อนนั้น ความคิดกับความจริง แตกต่างกัน ธุรกิจร้านอาหารเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น
ๆ ทั้งในเรื่องบุคคลากร สินค้า บริการ วัตถุดิบ การตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์ทุกอย่างจะต้องมีพร้อมและทำให้สอดคล้องกัน
วิสุทธิเลือกทำร้านอาหาร และบริษัทรับออกแบบก่อสร้างเพียงเพราะว่าเขาต้องการเป็นตัวของตัวเอง
อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง พอดีมีเพื่อนมาชวนทำสองอย่างก็ตัดสินใจทำเลย ไม่ได้คิดว่าเป็นธุรกิจที่ตัวเองถนัดหรือไม่
และธุรกิจที่จะทำนั้นมีรายละเอียดอย่างไร จึงทำให้พลาดและเจ็บปวดมากในครั้งนั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อเจ็บปวดกลับไปหา "กงสี" พี่น้องทางบ้านทุกคนก็ยังอ้าแขนต้อนรับและช่วยสะสางหนี้ให้
บทเรียนนี้ทำให้ลดความเร่าร้อนส่วนตัวลงและหันมาช่วยครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง
วิสุทธิเข้าเป็นรองผู้จัดการฝ่ายการผลิตโรงงานน้ำมันพืชนครไชยศรี เมื่อปี
2527 ซึ่งเป็นปีที่โรงงานกำลังเตรียมการขยายกำลังผลิตครั้งสำคัญจากกำลังผลิตปีละ
200 ตัน เป็น 600 ตันต่อวัน โดยมีการนำเทคนิคด้านการผลิตสมัยใหม่เข้ามาเปลี่ยนและเสริมกับอันเก่าที่มีอยู่เดิม
การขยายโรงงานประสบความสำเร็จด้วยดี จากกำลังผลิต 600 ตันก็เพิ่มขึ้นเป็น
800 ตันในปี 2529 และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,200 ตัน ต่อวันในเร็ว
ๆ นี้ จะว่าไปแล้ว วิสุทธิ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการควบคุมงานนี้ ภายใต้การสนับสนุนของพี่
ๆ ของเขาทุกคน
วิสุทธิบอกว่า การทำโรงงานน้ำมันพืชโดยเฉพาะน้ำมันถั่วเหลืองนั้นอย่างน้อยจะต้อง
"เชี่ยว" สามอย่างคือ การจัดซื้อวัตถุดิบเพราะปริมาณและราคาผันผวนตลอดเวลา
สองเทคนิคการผลิต จะต้องจัดหาเทคนิคที่ทันสมัยที่สุดและมีเงื่อนไขในการซื้อขายดี
เพราะเป็นต้นทุน ที่สูงมาก และสามการจัดจำหน่ายซึ่งมีการแข่งขันกันสูงมากทั้งน้ำมันพืชเพื่อการบริโภค
และกากถั่วเหลือง
โดยเฉพาะการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สองอันหลังนี้มีทั้งคู่แข่งที่แข็งแกร่ง มีสายป่านยาว
เจ้าตลาดล้วนแต่มียักษ์ใหญ่คอยหนุนหลังอยู่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืชกุ๊ก ซึ่งมีกสิกรไทยเป็นผู้ให้การสนับสนุน
หรืออย่างน้ำมันพืชมรกตของกลุ่มปาล์มโก้ ยักษ์ใหญ่น้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย
และมีธนาคารทหารไทยเป็นผุ้ให้การสนับสนุน
ส่วนตลาดกากถั่วเหลืองนั้นต้องคอยระมัดระวังการเปลี่ยนแปลงของนโยบายรัฐบาล
ในการอนุญาตให้นำกากถั่วเหลืองเข้ามาอย่างใกล้ชิดที่สุด และจะต้องแก้ไขสถานการณ์ให้ทันท่วงทีเมื่อมีรัฐมนตรีเข้ามารับผิดชอบงานใหม่ที่อ้าปากที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมา
ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีทั้งรุกทั้งรับกันอย่างดุเดือดมาโดยตลอด และก็เป็นที่ทราบกันดีในวงการว่า
วิสุทธิ วิทยฐานกรณ์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่มีบทบาทสูงในวงการมาโดยตลอด
เมื่อวิสุทธิเข้ามานอกจากได้เปลี่ยนใช้เทคนิคการผลิตแบบใหม่ให้ทันสมัยขึ้นแล้ว
ตัวสินค้าผลิตภัณฑ์น้ำมันพืชเพื่อการบริโภคคือน้ำมันพืชองุ่น บรรจุขวดนั้นก็ได้มีการปรับรูปโฉมใหม่
ทั้งฉลากและแพ็คกิ้ง มีการนำเอาความคิดทางการตลาดสมัยใหม่เข้ามาใช้แบบครบวงจร
เริ่มตั้งแต่การวิจัย พัฒนา และวางแผนก่อนที่จะนำสินค้าออกสู่ตลาด ทั้งติดตามภาวะตลาดและคู่แข่งอย่างใกล้ชิด
โดยเชิญมานิต รัตนสุวรรณ และอีกหลายๆคนเข้ามาให้คำปรึกษา
เมื่อน้ำมันพืชองุ่นโฉมใหม่ออกสู่ตลาดเมื่อปี 2529 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่วิสุทธิเองได้รับการยกฐานะให้ขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการบิรษัทน้ำมันพืชนครไชยศรีอย่างเต็มตัว
"องุ่น" โดยวิสุทธิชูจุดเด่นที่เป็นน้ำมันพืชที่ผลิตจากถั่วเหลืองล้วน
ๆ ในขณะที่น้ำมันพืชอื่น ๆ ยังมีส่วนผสมของน้ำมันอื่นอยู่เช่นน้ำมันปาล์ม
รำข้าว หรือเม็ดฝ้าย วิสุทธิยังได้หยิบฉวยเอาเรื่องโคเลสเตอรอล ซึ่งคนพากันหวาดกลัวมากในขณะนั้นมาเป็นจุดขาย
โดยเน้นให้องุ่นเป็นน้ำมันพืชที่ไม่มีโคเลสเตอรอล ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับจากตลาดอย่างคาดไม่ถึง
แต่ก็ปรากฏว่า มีการกระโดดเข้ามาสกัดน้ำมันพืชองุ่นในตลาดกันทุกวิถีทางแบบที่เรียกว่ารวมกันตี
แต่วิสุทธิก็สามารถแก้ไขสถานการณ์นี้ไปได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์
การที่ถูกโจมตีมาก ๆ แทนที่จะเป็จุดดับขององุ่น แต่กลายเป็นจุดเกิดและจุดแข็งขององุ่นจนถึงวันนี้
ในฐานะผู้ชนะอยู่ในเกมส์ธุรกิจน้ำมันพืช
เพียงสามปีต่อมาน้ำมันพืชองุ่นก็ผงาดขึ้นเป็นผู้นำด้านการตลาดน้ำมันพืช
เพื่อการบริโภคในตลาดอย่างองอาจและรักษาฐานอันแข็งแกร่งนี้ไว้ได้จนถึงปัจจุบัน
เมื่อมีการตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ชื่อบริษัทน้ำมันพืชไทยเพื่อเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยบริษัทนี้เข้าไปซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทโรงงานน้ำมันพืชนครไชยศรี
วิสุทธิก็ได้รับความไว้วางในจากญาติพี่น้องให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ตั้งขึ้นมาใหม่นี้
บริษัทน้ำมันพืชไทยเป็นกิจการหลักและใหญ่ที่สุดของกลุ่ม "วิทยฐานกรณ์"
แบ่งหุ้นออกเป็น 10 ส่วน แย่งกันถือระหว่างพี่น้องคนละส่วนเท่ากัน สองส่วนที่เหลือให้เป็นของผู้เป็นพ่อ
นอกจากนี้ยังมีบริษัทเพื่อลงทุนและร่วมลงทุนกับนักธุรกิจกลุ่มอื่นๆ อีกประมาณ
5 แห่งประมาณมูลค่าทั้งหมดในปัจจุบันเกือบ 2,000 ล้านบาทในการไปลงทุนร่วมกับกลุ่มอื่นจะมีการหารือกันระหว่างพี่น้องโดยมี
วิสุทธิ วิทยฐานกรณ์เป็น "หลงจู้" ดำเนินการทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่พี่น้องทุกคนก็จะเอาด้วยตามที่เขาเสนอ
ลูกคนสุดท้องในตระกูลเศรษฐีเมืองไทยอย่างเขา มีน้อยคนนักจะได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องมากขนาดนั้น