การต่อสู้ครั้งใหม่ของ "ผิน คิ้วไพศาล"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

นับจากวันที่ 9 ธันวาคมนี้ไปการต่อสู้ของคนที่ชื่อผิน คิ้วไพศาลกับโครงการสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์จะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากการประกาศปิดโครงการเพื่อทำการปรับปรุงสวนสัตว์ใหม่ไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2532 ซึ่งถ้านับจากวันนั้นจนถึงวันที่จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการกินเวลานานถึง 17 เดือนเศษ

ผินใช้เวลาในช่วงที่ปิดกิจการนี้เองเดินทางไปศึกษาและดูงานกิจการสวนสนุกและสวนสัตว์ในต่างประเทศหลายสิบแห่ง และนำกลับมาพัฒนารูปแบบของซาฟารีเวิลด์ให้แตกต่างและดีขึ้นจากเดิม

ถึงแม้ว่าคอนเซ็ปต์ของซาฟารีเวิลด์ใหม่หรือจะเรียกว่าซาฟารีเวิลด์ 2 นี้จะยังคงเป็นสวนสัตว์เปิดอยู่ก็ตาม แต่รูปแบบภายในได้ถูกปรับเปลี่ยนไปในเนื้อที่ที่น้อยลงกว่าเดิมถึงครึ่งหนึ่งคือมีพื้นที่โครงการโดยรวมทั้งหมด 630 ไร่ แบ่งออกเป็นส่วนของซาฟารี พาร์ค ที่ผู้ชมสามารถขับรถเข้าชมสวนสัตว์ โดยสัตว์ทุกตัวจะถูกปล่อยให้อยู่อย่างอิสระอย่างเช่น ม้าลาย ยีราฟ อูฐ แรดขาว รวมถึงสัตว์ดุร้ายประเภทเสือ สิงโต ซึ่งในส่วนนี้จะมีเนื้อที่ถึง 300 ไร่

อีกส่วนหนึ่งที่ปรับเพิ่มเข้ามาใหม่คือส่วนที่เรียกว่า มารีน พาร์ค จะเป็นส่วนที่จัดให้มีโชว์ต่าง ๆ ประมาณ 8 โชว์ มีโชว์ลิงอุรังอุตัง (ชิมแปนซี, ชะนี), โชว์ช้าง, โชว์ปาปัวนิกินี, โชว์ปลาวาฬและปลาโลมา, โชว์ STUNTMAN, โชว์นกและโชว์แมวน้ำ นอกจากนี้ยังมีการโชว์ให้อาหารสัตว์อย่างเช่นโชว์หมีขาว, โชว์ฉลาม เป็นต้น โดยมีพื้นที่ในส่วนนี้ 250 ไร่ และยังมีพื้นที่ในส่วนอื่น ที่เหลืออีก 80 ไร่

ในการปรับปรุงใหม่ครั้งนี้ผินต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีก 500 ล้านบาทจากเดิมที่ลงทุนไปแล้วในโครงการครั้งก่อน 700 ล้านบาท โดยลงทุนเพิ่มในส่วนของสัตว์ประมาณ 80 ล้านบาทและเป็นค่าตกแต่งสถานที่อีก 350 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 70 ล้านบาท เก็บไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

สำหรับการเปิดตัวซาฟารีเวิลด์ในครั้งนี้ผินค่อนข้างมั่นใจในความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้า เมื่อเปรียบเทียบกับความล้มเหลวที่เกิดขึ้นของสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงินซึ่งเป็นประเด็นหลักของความล้มเหลวในครั้งนั้น

ซาฟารีเวิลด์ เปิดตัวครั้งแรกในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยคาดหวังว่าจะมีคนแห่มาเที่ยวสวนสัตว์เปิดแห่งแรกในประเทศไทยอย่างมากมาย แต่ดูเหมือนการเปิดครั้งนั้นจะไม่เป็นไปตามความคาดหมาย เนื่องจากความไม่พร้อมในหลายด้านของโครงการ ทำให้ผู้ที่มาเที่ยวเกิดภาพลบกับซาฟารีเวิลด์ ทำให้ต่อมาปริมาณคนมาเที่ยวชะลอตัวลง ส่งผลกระทบทันทีในเรื่องของสภาพคล่องทางการเงินขณะนั้น

การบริหารงานในช่วงนั้น จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก ถึงแม้ว่าส่วนของการตลาดจะได้มีการวางแผนงานอย่างดีด้วยการนำสิ่งแปลกใหม่มาเสนออยู่เรื่อย ๆ ก็ตาม แต่ข่าวคราวที่ออกมากลับมีแต่ภาพลบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาด้วยการปลดพนักงานออกถึง 20% (ประมาณ 400 คน หรือการลดเงินเดือนพนักงานระดับผู้จัดการลงอีก 15% )

หากพิจารณาจากงบกำไรขาดทุนของบริษัท ซาฟารี เวิลด์ จำกัด ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2531 ปรากฎว่าขาดทุนสุทธิเป็นเงิน 4 ล้านบาทเศษ จากรายได้รวมเกือบ 60 ล้านบาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมบวกกับต้นทุนขายเป็นเงิน 64 ล้านบาท และในส่วนของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารตกเป็นค่าเงินเดือนและค่าจ้างกว่า 22 ล้านบาท หรือประมาณ 35%

ที่ดินแถบรามอินทราที่ผินกว้านซื้อทั้งหมดมีประมาณ 4000 ไร่ โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งในขั้นแรกผินมีโครงการที่จะพัฒนาที่ดินแปลงนี้ใน 2 รูปแบบ คือพื้นที่จำนวน 1,300 ไร่ เศษ จะพัฒนาเป็นซาฟารีเวิลด์ ส่วนพื้นที่อีก 2,000 กว่าไร่จะทำเป็นหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งแนวคิดนี้เมื่อบงล. ร่วมเสริมกิจได้เข้ามารับรู้ก็ยอมปล่อยเงินกู้ให้แก่โครงการดังกล่าวไป จนกระทั่งต้นปี 2530 ทางซาฟารี เวิลด์ ประสบปัญหาด้านเงินทุนหมุนเวียนจึงยื่นโครงการขอ กู้เงินเพิ่มเติมกับ บงล. ร่วมเสริมกิจ

และครั้งนั้นเองที่ชาตรี โสภณพนิช ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของ ผิน ซึ่งเริ่มพอกพูนเป็นจำนวนเงินมหาศาล ถึงขนาดที่จะทำให้ร่วมเสริมกิจล้มไปได้ในทันที

"ในขณะนั้นผมเป็นหนี้กับทางร่วมเสริมกิจอยู่ประมาณ 1,000 กว่าล้าน" ผินกล่าวถึงก้อนเงินจำนวนมหึมาที่ทำให้ชาตรีต้องโดดเข้ามาดูด้วยตนเอง

วิธีการที่ชาตรีเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ บงล. ร่วมเสริมกิจตั้งบริษัทเรียลเอสเตท เซ็นเตอร์ จำกัด ขึ้นมารับซื้อที่ดินจำนวน 2,300 ไร่จากผินซึ่งเป็นส่วนที่จะดำเนินการหมู่บ้านจัดสรรอยู่แล้ว เพื่อลดหนี้สินของซาฟารีเวิลด์และเสนอให้ตัดถนนเข้าสู่ที่ดินดังกล่าวเป็นระยะทางยาว 7 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณทั้งหมด 60 ล้านบาท โดยที่ซาฟารีเวิลด์ออก 20 ล้านบาท เป็นการเปิดที่ดินไปสู่ซาฟารีเวิลด์โดยตรง และการตัดถนนจะทำให้ราคาที่ดินในแถบนั้นมีราคาสูงขึ้นด้วย

ผินขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับร่วมเสริมกิจไปในราคาไร่ละ 3 แสนบาทในขณะที่ราคาปัจจุบันขึ้นไป 5-8 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งที่แปลงดังกล่าวปัจจุบันได้ถูกจัดสร้างเป็นสนามกอล์ฟปัญญาของปัญญา ควรตระกูล

และในช่วงที่ผินเผชิญกับมรสุมด้านการเงินกระหน่ำอยู่หลังจากการเปิดซาฟารีเวิลด์ ได้ไม่นานก็เป็นช่วงเดียวกับที่อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภาและสันติ ภิรมย์ภักดี มีโครงการที่จะทำบ้านจัดสรรขนาดใหญ่พร้อมสนามกอล์ฟชั้นดีในย่านรามอินทรา (โดยใช้ชื่อโครงการ "วินสัน" หลังจากที่เจรจาซื้อที่ดินจากผินสำเร็จ) การติดต่อซื้อที่ดินแปลงใหญ่จากผินจึงเริ่มขึ้นในช่วยกลางปี 2531 นั่นเอง

ผินตัดสินใจแบ่งขายที่ดินที่เหลืออยู่จำนวน 1,700 ไร่ ซึ่งส่วนหนึ่งได้พัฒนาเป็นซาฟารีเวิลด์แล้วจำนวน 1,310 ไร่ ขายให้กับกลุ่มของอุกฤษและสันติไป 800 ไร่ในราคาไร่ละ 1 ล้านกว่าบาท ซึ่งมีการโอนกันในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น และเงินที่ได้จำนวนนั้นผินได้นำมาชำระหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่กับ บงล.ร่วมเสริมกิจประมาณ 500 ล้านบาท

"กลุ่มซาฟารีเวิลด์สามารถใช้หนี้ของร่วมเสริมกิจได้จนหมดสิ้นแล้ว และยังเหลือเงินสดในมือไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท แต่เพื่อการดำเนินธุรกิจของเงินทุนหลักทรัพย์ที่จะต้องมีการปล่อยสินเชื่อ เราจึงเจรจาขอให้กลุ่มนี้คงเหลือวงเงินกู้กับเราประมาณ 100 ล้านบาท สรุปแล้วเวลานี้เขามีเงินลงทุนอยู่ประมาณ 400 กว่าล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาโครงการซาฟารีเวิลด์ต่อได้" ดร. ชัยยุทธ ปิลันธน์โอวาท กรรมการผู้จัดการของบงล.ร่วมเสริมกิจเล่าถึงสถานะการเงินของผินให้ฟัง

สำหรับผินแล้วเขากล่าวว่า "ที่ผมต้องตัดที่แบ่งขายนั้น เพราะแบกรับภาระดอกเบี้ยเดือนละ 10 ล้านบาทไม่ไหว อีกทั้งกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่เจ้าหนี้นำมาใช้เร่งรัดให้ชำระ ทุกวันนี้ผมเหลือหนี้อยู่น้อยมาแล้ว ซึ่งต่อไปคงไม่เป็นปัญหาอีก"

หลังจากการชำระหนี้แล้ว บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาท เป็น 251 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2531 และในปีถัดมาผินก็ได้เฉือนที่ดินจำนวน 240 ไร่ในซาฟารีเวิลด์ขายให้กับกลุ่มของสันติอีก ทำให้ผินเหลือเนื้อที่ในโครงการซาฟารีเวิลด์ ปัจจุบันเพียง 630 ไร่เท่านั้น

การปลอดจากภาระหนี้สินและลงทุนโดยอาศัยเงินทุนตนเองเป็นหลักดังกล่าวนี้เองที่ทำให้ผินมั่นใจว่าการบริหารงานของเขาในซาฟารีเวิลด์ 2 นี้จะต้องประสบกับความสำเร็จอย่างแน่นอน ประกอบกับการที่ขนาดของโครงการย่อส่วนเล็กลง (ทำให้เห็นสัตว์ต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น) และการนำรูปแบบใหม่ในส่วนของมารีน พาร์คเข้ามาจะเป็นที่ถูกใจของบรรดาผู้เข้าชมมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ในส่วนของค่าบริการก็ลดลงจากเดิมอีก 10 บาท คือในส่วนของซาฟารี พาร์ค ผู้ใหญ่บัตรราคา 60 บาท เด็กบัตรราคา 40 บาท ส่วนมารีน พาร์ค ผู้ใหญ่บัตรราคา 100 บาท เด็กบัตรราคา 70 บาท นอกจากนี้ยังมีบริการทำบัตรสมาชิกเที่ยวฟรีตลอดปีในราคา 260 บาท และเที่ยวฟรีตลอด 2 ปีในราคา 320 บาท

"การลงทุนพัฒนาโครงการของเราเป็น 1,000 กว่าล้าน เราสร้างเสร็จจะรื้อทิ้งไปทำไม รื้อทิ้งเราต้องเสียหายมาก อีกอย่างตอนนี้เราไม่มีหนี้สิน เราไม่จำเป็นต้องขาย เพราะถ้าเราคิดจะขายเราก็ไม่สร้างแล้ว คงไม่ต้องห่วง อย่าว่าแต่ 2 ปีเลยต่อให้ 20 ปีก็ไม่ต้องห่วง" ผินกล่าวยืนยันเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนที่คิดจะสมัครเป็นสมชิกเที่ยวฟรีตลอดปีหรือตลอดไปได้รับทราบ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.