5 ปีกับการฟันฝ่าอุปสรรคและเกมการต่อสุ้ในตลาดน้ำมันพืช จนกระทั่งชื่อของ
"มรกต" ในปัจจุบันก้าวขึ้นมามีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 4 ในตลาดน้ำมันพืชทั้งหมด
และเป็นอันดับหนึ่ง ในตลาดน้ำมันพืชที่ทำจากผลปาล์ม...เกมการต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไปและยิ่งนับวันยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้น
แนวรุกต่อไปของ "มรกตฯ ไม่เพียงแต่การซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างปาล์มโก้ในมาเล-เซียเท่านั้น
การแต่งตัวเพื่อเตรียมเข้าเป็นบริษัทมหาชนในปลายปีนี้ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งของการขยายธุรกิจ
เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาบริษัท ปาล์มโก้ โฮลดิ้ง ในมาเลเซียได้ประกาศขายหุ้นของ
บริษัท ปาล์มโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ฮ่องกง) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ
และถือหุ้นกิจการในประเทศไทย 2 บริษัท คือ บริษัทไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์
จำกัด กับบริษัท ปาล์มโก้ ทักษิณ จำกัด โดยขายให้กับบริษัท ซินรู อินเตอร์เนชั่นแนล
จำกัด ในราคา 76,820,450 บาท หรือ ประมาณ 7.9 ล้านริงกิต และจากการขายหุ้นในบริษัททั้ง
2 นี้ทางปาล์มโก้ได้กำไรถึง 49 ล้านบาท หรือประมาณ 5 ล้านริงกิต
จำนวนหุ้นที่ปาล์มโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ฮ่องกง) ถืออยู่ในบริษัท ไทยเม็กซ์ฯ
มีทั้งหมด 188,650 หุ้น หรือ 39.3% และถืออยู่ในบริษัทปาล์มโก้ ทักษิณ อีก
210,000 หุ้น หรือ 35% โดยการขายหุ้นครั้งนี้จะช่วยเพิ่มกำไรและทรัพย์สินของกลุ่มปาล์มโก้ขึ้นอีก
3.3 เซนต์ต่อหุ้น สำหรับปี งบการเงินที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2534 นี้
จากคำบอกเล่าของศุภลักษณ์ อัศวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการของบริษัท ไทยเม็กซ์
อินดัสตรี้ส์ ถึงกลุ่มที่เข้าซื้อหุ้นของปาล์มโก้อินเตอร์ฯ ในครั้งนี้คือ
กลุ่มของคนไทยซึ่งมีอนุตร์ อัศวานนท์เป็นแกนนำ และจากการเข้าซื้อหุ้นจำนวนมากของปาล์มโก้มานี่เอง
ทำให้สัดส่วนหุ้น ของกลุ่มอัศวานนท์ ซึ่งเดิมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองรองจากปาล์มโก้
คือ 19.55% กลายมาเป็น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ฯ นี้แทน ประกอบกับการที่อนุตร์
อัศวานนท์ จะเกษียรณอายุจากการเป็นกรรมการผู้จัดการของธนาคารทหารไทยในสิ้นปีนี้
ทำให้หลายคนคาดเดาว่าอนุตร์จะเข้ามาบริหารงานอย่างจริงจังให้กับน้ำมันพืชมรกตในฐานะนักอุตสาหกรรม
บริษัท ไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก
16 ล้านบาท จากการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจไทยกับมาเลเซีย
ผู้ที่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ นี้ขึ้นมาคือยุทธ ชินสุภัคกุล ซึ่งเดิมทำธุรกิจน้ำมันปาล์มด้วยการสั่งน้ำมันปาล์มสำเร็จรูปจากผู้ผลิตหลายรายในมาเลเซียเข้ามาแยกเป็นน้ำมันสำหรับปรุงอาหารกับส่วนที่เป็นไขมัน
ในนามของบริษัท เคซี อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2523
และจากแนวความคิดที่ว่าน่าจะตั้งโรงงานกลั่นขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรอย่างเช่นที่บริษัทใหญ่หลายบริษัททำกัน
จึงได้มีการชักชวนนักธุรกิจอีกหลายรายเข้าร่วมด้วย
อนุตร์ อัศวานนท์ เป็นผู้หนึ่งที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมในฐานะนายธนาคาร ซึ่งยุทธสนิทสนมเป็นอย่างดีในฐานะลูกค้าที่ใช้บริการผ่านธนาคารทหารไทย
อนุตร์เข้าถือหุ้นในไทยเม็กซ์ ช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัทมากเป็นอันดับสามรองจาก
บริษัท เคซีอุตสาหกรรม และดาโต๊ะ โรเบิร์ต ดับบลิว. เค. ซาน ชาวมาเลเซีย
ซึ่งการเข้ามาถือหุ้นในไทยเม็กซ์ของดาโต๊ะ โรเบิร์ต ดับบลิว.เค.ชานนี่เองคือจุดเริ่มต้น
ของการเข้ามาของกลุ่มปาล์มโก้ในประเทศไทย
จากคำบอกเล่า กลุ่มปาล์มโก้ เป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในมาเลเซีย
ผู้ที่เริ่มก่อตั้งกลุ่มปาล์มโก้ขึ้นมาคือ ชาน ยิต มิง ซึ่งเป็นพ่อของดาโต๊ะ
โรเบิร์ต ชาน โดยเริ่มจากธุรกิจน้ำมันมะพร้าว จนขยายมาเป็นน้ำมันปาล์มเมื่อ
ชาน ยิต มิง เสียชีวิตในปี 2525 ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชานซึ่งเป็นลูกชายคนโตจึงขึ้นเป็นประธานกลุ่มปาล์มโก้แทน
นอกจากธุรกิจที่ เกี่ยวกับน้ำมันปาล์มแล้วกลุ่มปาล์มโก้ยังมีธุรกิจอีกหลายแขนง
อย่างเช่นธุรกิจทางด้านเรียลเอสเตท หรือการร่วมทุนกับบริษัท คาโอ ของญี่ปุ่นทำกิจการในมาเลเซียเป็นต้น
ซึ่งปัจจุบันปาล์มโก้ก็เป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียด้วย
และการเข้าร่วมกับนักธุรกิจไทยก็เป็นแนวคิดของการขยายธุรกิจออกไปอีกด้านหนึ่งของกลุ่มปาล์มโก้ในขณะนั้น
การเข้ามาของกลุ่มปาล์มโก้ในเมืองไทยนั้น ส่วนหนึ่งมาจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับ
ครอบครัวของอนุตร์ในฐานะญาติห่าง ๆ ที่ศุภลักษณ์ ลูกชายของอนุตร์อธิบายว่า
"ป้าสะใภ้ของผมเป็นน้องสาวของแม่ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชาน" อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการทำธุรกิจร่วมกัน
จากการที่อนุตร์แนะนำให้ยุทธซื้อน้ำมันปาล์มจากลุ่มปาล์มโก้ จนในที่สุดก็ได้ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท
ไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ ขึ้นมา
ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชาน เป็นหนึ่งในกรรมการชุดแรกของบริษัท ไทยเม็กซ์ฯ ซึ่งมีทั้งหมด
8 คนคือ อนุตร์ อัศวานนท์, อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์, ชาน ฟุค คุน, เตียว คา
ทิน, ยุทธ ชินสุภัคกุล, โกวิท พรพัฒนนางกูร และเอกรินทร์ กฤษณยรรยง โดยมีอนุตร์ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและยุทธเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ
ต่อมาในเดือนตุลาคม 2525 บริษัท ไทยเม็กซ์ฯ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 32
ล้านบาท และในครั้งนี้เองที่ทำให้ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชานกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทฯ
แทนโดยถือหุ้นทั้งหมด 37.5% ในนามของบริษัท ปาล์มโก้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ฮ่องกง)
จำกัด หลังจากนั้นบริษัทฯ ได้มีการเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่งเป็น 48 ล้านบาทในปี
2530 และหุ้นในส่วนของปาล์มโก้เพิ่มขึ้นเป็น 39.3%
นอกเหนือจากการถือหุ้นในบริษัทไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ แล้วกลุ่มปาล์มโก้
ยังถือหุ้นใหญ่จำนวน 35% ในบริษัทปาล์มโก้ ทักษิณ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของไทยเม็กซ์
อินดัสตรี้ส์ อีกหนึ่งแห่ง นอกจากนี้กลุ่มปาล์มโก้ยังถือหุ้นใหญ่ ในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์
จำกัด ในนามของบริษัทชินรู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ซาตู จำกัด และบริษัทแอตลาสเอเชีย
จำกัด รวมหุ้นส่วนหนึ่งในธนาคารแหลมทองที่ขายให้กับสุระ จันทร์ศรีชวาลาในภายหลังด้วย
"การเข้ามาของกลุ่มปาล์มโก้ในประเทศไทยนั้นไม่ค่อยมีบทบาท หรือเป็นที่รู้จักมากมายอะไรนักเมื่อเทียบกับกลุ่มบริษัทธุรกิจข้ามชาติอื่น
ๆ ที่เข้ามาลงทุนขยายกิจการในประเทศไทย และถ้าพูดถึงเงินลงทุนในกิจการต่าง
ๆ ในเมืองไทยของกลุ่มปาล์มโก้ก็มีเพียงไม่กี่สิบล้านบาทเท่านั้น" แหล่งข่าวคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต
และที่ผ่านมาบทบาทของกลุ่มปาล์มโก้มีเพียงชื่อในฐานะของผู้ถือหุ้นใหญ่เท่านั้น
ในเรื่องของการบริหารงานในแต่ละบริษัทแล้วเป็นหน้าที่ของกลุ่มผู้บริหารของไทยทั้งสิ้น
มีก็แต่เพียงการส่งเจ้าหน้าที่จากมาเลเซียมาดูแลให้คำแนะนำเท่านั้น ส่วนที่ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มปาล์มโก้มากที่สุดเห็นจะเป็นในเรื่องของการสร้างโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มซึ่งกลุ่มปาล์มโก้มีประสบการณ์ในด้านนี้มากที่สุด
กลุ่มปาล์มโก้เริ่มถอนตัวออกจากประเทศไทยด้วยการขายหุ้นกิจการต่าง ๆ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว
โดยเริ่มจากหุ้นทั้งหมดในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ จำกัด หุ้นบางส่วนจำนวน
6% ในบริษัทไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ จนกระทั่งล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้
จึงได้ขายหุ้นที่เหลือในบริษัทไทยเม็กซ์ฯ และบริษัทปาล์มโก้ทักษิณออกไป พร้อมกับการลาออกจากการเป็นกรรมการของดาโต๊ะ
โรเบิร์ต ชาน, ชาน ฟุคคุน และเตียว คา ทินในบริษัท ไทยเม็กซ์ฯ นับเป็นการถอนตัวในกิจการทั้งหมดที่มีอยู่ในเมืองไทย
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับกลุ่มปาล์มโก้เล่าให้ฟังว่า "ในช่วงหลัง ๆ กลุ่มปาล์มโก้ในมาเลเซีย
มีปัญหายุ่ง ๆ ในหมู่พี่น้อง เมื่อก่อนเขาก็ทำกันดี แต่ตอนหลังต่างคนต่างไปทำธุรกิจนอกเหนือจากที่ทำอยู่
พี่น้องก็เลยทะเลาะกัน เขาก็เลยต้องขายกิจการออกไปเพื่อส่วนรวม เขาต้องการจะทำธุรกิจในมาเลเซียดีกว่าที่จะมาลงทุนทำธุรกิจในเมืองไทย
ซึ่งไกลจากเขาและเขาเองก็ดูแลไม่ทั่วถึง อีกประการหนึ่งคือต้องการนำเงินไปชำระหนี้ด้วย"
ในขณะที่หนังสือพิมพ์ NEW STRAITS TIME ของมาเลเซียประจำวันที่ 24 สิงหาคม
ที่ผ่านมาได้ลงข่าวเรื่องความขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัวชาน ซึ่งควบคุมบริษัท
ปาล์มโก้ โฮลดิ้ง ได้ปะทุและสิ้นสุดลงในวันที่ 23 สิงหาคม เมื่อสตีเฟน ชาน
ฟุคคุน ถูกปลดออกจากกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหารภายหลังที่เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้เพียง
6 เดือนเท่านั้นโดยที่ประชุมบอร์ดซึ่งมีดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชาน พี่ชายเป็นประธาน
หลังจากการปลดชาน ฟุคคุน แล้ว ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชานได้เข้าเป็นกรรมการผู้จัดการแทน
ในรายงานข่าวชาน ฟุคคุน เปิดเผยว่าการประชุมคณะกรรมการบริษัทนั้นเกิดขึ้นมาจากการตัดสินใจที่จะให้ผู้ถือหุ้นลงมติเกี่ยวกับการประชุมวิสามัญ
เพื่อยอมรับการแต่งตั้งกรรมการ 2 คน คือ ดาโต๊ะ โมฮะเหม็ด ยูโซฟ ลาติฟและไซอิด
อาซาฮารี ซะฮาบูดิน และเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริษัทได้รับจดหมายร้องเรียนจากผู้ถือหุ้นซึ่งกล่าวถึงความขัดแย้งในด้านผลประโยชน์ที่มีกับดาดต๊ะ
ยูโซฟ และไซอิด ซะฮาบูดิน ถ้าทั้ง 2 คนนี้ยังเป็นกรรมการของบริษัทต่อไป
ความขัดแย้งได้ลุกลามขึ้นและเป็นผลให้มีการยื่นหนังสือมาจากบริษัทลูกของปาล์มโก้
(ROAD EXPRESS SDN BHD) ที่จะให้มีการเรียกคืนเงินกู้ที่บริษัทได้ให้กับกรรมการทั้ง
2 คน มูลค่า 3 ล้านริงกิต ซึ่งกรรมการทั้ง 2 คน มีหุ้นอยู่มากพอสมควร ชาน
ฟุคคุน กล่าวอีกว่าในฐานะที่เป็นกรรมการผู้จัดการเขาเปิดประชุมขึ้นในวันที่
9 เมษายน และกรรมการ 2 คนก็อยู่ในที่นั้นด้วย แต่ก็ไม่มีใครทำให้ทั้ง 2 คนลาออกได้
ซึ่งคณะกรรมการคนอื่นได้ตัดสินใจที่จะใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการกับกรรมการทั้ง
2 คนต่อมาในวันที่ 20 เมษายน คณะกรรมการตัดสินใจเรียกประชุมอีกแต่ ดาโต๊ะ
โรเบิร์ต ชานกับกรรมการทั้ง 2 คนนั้นไม่เห็นด้วย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23
สิงหาคม ดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชานจึงได้เรียกประชุมและปลดน้องชายของตนเอง ซึ่งเรื่องนี้ชาน
ฟุคคุน กล่าวหาว่าพี่ชายของตนมีส่วนรู้เห็นกับกรรมการทั้ง 2 คน รวมทั้งน้องเขยที่ชื่อเตียว
คา ทินด้วย
กลุ่มที่รับซื้อหุ้นในกิจการต่าง ๆ จากกลุ่มปาล์มโก้คือกลุ่มที่มีอนุตร์เป็นแกนนำและการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท
ไทยเม็กซ์ฯ และบริษัท ปาล์มโก้ทักษิณ ก็เนื่องด้วยเหตุผลที่ว่าตนเองอยู่ในฐานะของผู้ก่อตั้งบริษัท
รวมทั้งมองแล้วว่าอนาคตของน้ำมันพืชจะไปได้ดีสามารถแตกแขนงไปยังธุรกิจอื่นได้อีกมากมาย
และการที่บริษัทมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่เป็นคนไทยก็น่าจะเป็นผลดีต่อการนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ดังนั้นเมื่อกลุ่มปาล์มโก้ต้องการจะขายหุ้นในส่วนนี้ก็เป็นเรื่องที่สอดคล้องเป็นอย่างยิ่ง
อนุตร์เข้ามาในบริษัทไทยเม็กซ์ฯ ในตำแหน่งของประธานกรรมการ โดยความเป็นจริงแล้วตำแหน่งนี้ไม่ได้มีบทบาทในแง่ของการเข้ามาบริหารงานมากนัก
ส่วนมากจะเข้าร่วมประชุมด้วยในกรณีที่มีเรื่องสำคัญ ๆ อย่างเช่นการขยายโรงงาน
การซื้อที่เพิ่มหรือการนำบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นต้น ดังนั้นการบริหารงานส่วนใหญ่จึงตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารของบริษัทฯ
มากกว่าถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการของบริษัทหลายครั้งแต่คนที่บริหารงานหลักยังคงเป็นสุระ
นิยมวัน กรรมการผู้จัดการและศุภลักษณ์ อัศวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ
สุระ นิยมวัน เข้ามาแทนตำแหน่งของยุทธ ซึ่งลาออกไปด้วยสาเหตุเกี่ยวกับนโยบายการบริหารงานไม่ตรงกัน
เมื่อปลายปี 2528 สุระจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี
2499 หลังจากนั้นเข้าอบรมหลักสูตร ELECTRIC UTILITY ประเทศสหรัฐอเมริกาและผ่านประสบการณ์การทำงานหลายแห่ง
เคยเป็นเรือตรีประจำกรมนาวิกโยธินและกรมอู่ กองทัพเรือ, พนักงานบัญชีโทแผนกบัญชีเขื่อนภูมิพล
กองคลังกรมชลประทาน, ผู้ควบคุมบัญชี โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะและโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่
การลิกไนท์, ผู้จัดการสำนักงานโรงงานปุ๋ยเคมีแม่เมาะ, ผู้จัดการฝ่ายการเงินบริษัทปุ๋ยเคมีจำกัด,
ผู้จัดการทั่วไปผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและกรรมการบริษัทยูเนียนคาร์ไบต์ไทยแลนด์
จำกัด และตำแหน่งสุดท้ายก่อนมาอยู่ไทยเม็กซ์ฯ เป็นผู้จัดการฝ่ายการเงินบริษัทสตาร์บล็อค
ส่วนศุภลักษณ์ อัศวานนท์ หลังจากจบปริญญาโท บริหารธุรกิจจาก OKALAHOMA CITY
UNIVERSITY สหรัฐอเมริกาในปี 2522 ได้เข้าทำงานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ฝ่ายสินเชื่อสาขาพนักงานสินเชื่อจนถึงปี
2525 จึงเข้ามาเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ในไทยเม็กซ์และในปี 2528
จึงขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการ
ธุรกิจในช่วงแรกของบริษัทไทยเม็กซ์ฯ ยังคงเป็นธุรกิจเดิมที่ยุทธทำต่อเนื่องมาคือการสั่งนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากมาเลเซียเข้ามาแยกส่วนแล้วบรรจุขายเป็นปี๊บให้กับร้านอาหาร,
โรงแรม, ภัตตาคารและยี่ปั้วทั่วประเทศ อีกส่วนหนึ่งบรรจุเป็น BULK ขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเช่นโรงงานอาหารกระป๋องหรือโรงงานทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
โดยใช้ชื่อ "มรกต" "เทพ" และ "โป๊ยเซียน"
ซึ่งราคาของทั้ง 3 ยี่ห้อแตกต่างกันไม่มากนัก
ทางด้านโรงงานในระยะเริ่มแรกมีเพียงโรงงานแยกน้ำมันที่ถนนปู่เจ้าสมิงพรายเพียงโรงเดียวเท่านั้น
ต่อมาในปลายปี 2527 จึงสร้างโรงกลั่นน้ำมันในเนื้อที่เดียวกับโรงงานแยกน้ำมันเสร็จ
ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่รัฐบาลปิดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ดังนั้นโรงงานทุกแห่งจึงหันมาซื้อวัตถุดิบภายในประเทศแทน
การขยายเครือข่ายกิจการของบริษัท ไทยเม็กซ์ฯ จึงเริ่มขึ้นในปี 2527 อีกแห่งหนึ่งคือ
การตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในนามของบริษัท สตูลปาล์ม ออยล์ จำกัด ขึ้นที่จังหวัดสตูล
โดยการ รับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านในเขตนั้นนำมาสกัดเป็นน้ำมันดิบ แล้วส่งป้อนให้กับโรงงานแยกน้ำมัน
ที่ปู่เจ้าสมิงพรายอีกทีหนึ่ง โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10 ล้านบาทและเพิ่มเป็น
20 ล้านบาท ในปี 2530 ซึ่งบริษัทไทยเม็กซ์ถือหุ้นอยู่ 50% ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่
15 กันยายน ที่ผ่านมาหุ้นจำนวน 50% ที่ถือในนามของบริษัท ไทยเม็กซ์ฯ ได้ขายให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นของไทยเม็กซ์ฯ
จนหมด เท่ากับว่าเวลานี้ บริษัท สตูลปาล์มออยล์ ไม่ได้เป็นบริษัทในเครือของบริษัทไทยเม็กซ์ฯ
อีกต่อไปแล้ว
ถัดจากนั้นในปี 2528 กลุ่มผู้ถือหุ้นในบริษัทไทยเม็กซ์ฯ ก็ได้ร่วมกันตั้งบริษัทในเครือขึ้นอีกแห่งคือ
บริษัท ปาล์มโก้ ทักษิณ จำกัด ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยมีกลุ่มปาล์มโก้และกลุ่มบริษัททักษิณปาล์ม
(2521) ถือหุ้นฝ่ายละ 35% ส่วนบริษัทไทยเม็กซ์ฯ ถือหุ้นอยู่เพียง 10% เท่านั้น
ซึ่งตามโครงการเดิมที่วางไว้นั้นบริษัทนี้จะทำสวนปาล์ม และเมื่อปลูกปาล์มจนได้ผลแล้วจะสร้างโรงสกัดขึ้นที่นี่อีกแห่ง
โดยได้ซื้อที่ดินไว้ตั้งแต่ปี 2526-2527 จำนวน 12,000 ไร่ซึ่งราคาขณะนั้นตกไร่ละ
3,000 บาท พร้อมทั้งลงมือปลูกไปบ้างแล้ว แต่ในช่วงที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวถูกอุทกภัยถึง
2 ครั้ง ทำให้บริษัทฯ ต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่ว่าในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวควรจะเปลี่ยนโครงการไปทำอะไรที่มันให้ผลดีกว่าการปลูกปาล์ม
หรือไม่เนื่องจากราคาที่ดินได้ถีบตัวสูงขึ้นมาก
หลังจากการขยายโรงกลั่นเสร็จและรัฐบาลได้ปิดการนำเข้าน้ำมันเป็นช่วงที่ผลผลิตปาล์มในเมืองไทยเพิ่มปริมาณมากขึ้นด้วย
ทางบริษัทไทยเม็กซ์ฯ จึงขยายกำลังการผลิตจากเดิม 10,000 ตันต่อปีเป็น 40,000
ตันต่อปี (เต็มกำลังการผลิต)
กำลังการผลิตส่วนหนึ่งที่เหลือนี้กลายเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้บริษัทไทยเม็กซ์ฯ
กระโดดเข้ามาในตลาดน้ำมันขวดในชื่อของมรกตแต่เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้ค่ายนี้ตัดสินใจเข้าสู่ตลาดการแข่งขันที่ดุเดือดนี้คือ
น้ำมันขวดเป็นน้ำมันที่พอมีกำไรและเป็นตลาดที่แน่นอน ในขณะที่น้ำมันบรรจุปี๊ปเป็นตลาดคอมเมอดิตี้ที่มีการแข่งขันราคากันมากรวมทั้งมีการขึ้นลงของราคาในช่วงของวันแตกต่างกันออกไป
คล้ายกับราคาทองหรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งควบคุมค่อนข้างยาก
การเข้าตลาดน้ำมันพืชบรรจุขวดครั้งแรกในปี 2528 เป็นการนำเข้าไปวางขายในร้านแบบธรรมดาโดยขอให้ร้านที่เคยขายแบบปี๊ปให้ช่วยขายให้
ส่วนในห้างสรรพสินค้าวางได้บ้างไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะห้างใหญ่ ๆ วางไม่ได้เลยเนื่องจากว่าสินค้ายังไม่เป็นที่รู้จัก
น้ำมันพืชมรกตเริ่มทำการตลาดครั้งแรกในปี 2529 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่น้ำมันพืชโลตัส
ซึ่งทำจากน้ำมันปาล์ม ของค่ายลีเวอร์บราเธอร์วางตลาดและเป็นช่วงจังหวะที่น้ำมันพืชองุ่นซึ่งเป็นน้ำมันถั่วเหลืองทำการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และวางตลาดใหม่ทั้งประเทศ
ช่วงนั้นเองเป็นช่วงที่น้ำมันปาล์มถูกกระแสต่อต้านจากกลุ่มน้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันรำข้าวจาก
5 ค่ายประกอบด้วยกุ๊ก, ทิพ, องุ่น, ชิม, คิง ซึ่งรวมตัวกันในนามของ "ชมรมน้ำมันพืชเพื่อสุขภาพ"
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสกัดกั้นความได้เปรียบในเรื่องราคาของน้ำมันปาล์มที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า
ซึ่งทางค่ายน้ำมันปาล์มเองก็ใช้จุดนี้เป็นกลยุทธ์หลักในการเจาะตลาด
หากจะเปรียบเทียบราคาขายปลีกของน้ำมันพืชแต่ละยี่ห้อในช่วงปี 2529 แล้ว
ปรากฎว่าองุ่นราคาสูงที่สุดคือ 26 บาทต่อขนาดบรรจุ 1 ลิตรในขณะที่กุ๊ก, ทิพ,
คิง, เกสร, มรกตอยู่ในราคาเดียวกันคือ 24 บาท ส่วนชิมราคา 23 บาทและโลตัสราคาต่ำสุดคือ
22 บาท
น้ำมันปาล์มขณะนั้นถูกจู่โจมด้วยโฆษณาเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีกรดไลโนเลอิคน้อยส่วนน้ำมันถั่วเหลือง
รำข้าวและข้าวโพดมีกรดตัวนี้มากจึงช่วยลดโคเลสเตอรอลได้ โฆษณาชิ้นนี้ ลงติดต่อกันอยู่
2-3 วันจึงถูกระงับไป
หลังจากนั้นไม่นาน องุ่นก็ออกแคมเปญโฆษณาของตัวเองใหม่ (ในขณะที่ค่ายอื่นยังเงียบอยู่ทำใหหลายคนมองว่าองุ่นคือผู้อยู่เบื้องหลังของการก่อตั้งชมรมในครั้งนั้น)
เน้นที่ความเป็นน้ำมันถั่วเหลือง 100% ไม่มีไขและไม่มีโคเลสเตอรอลตามด้วยชุดที่
2 ที่บอกว่าน้ำมันถั่วเหลืองตราองุ่นช่วยลดโคเลสเตอรอล ซึ่งการเคลมในจุดนี้นี่เองที่ทำให้น้ำมันปาล์มต้องออกมาโวย
และทำเรื่องร้องเรียนไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแคมเปญ โฆษณาชิ้นนั้นจึงถูกระงับไป
การสวนกลับจากน้ำมันปาล์มเกิดขึ้นหลังจากที่มองดูการสกัดกั้นของน้ำมันถั่วเหลืองอยู่พักใหญ่
ด้วยการออกแคมเปญโฆษณาเชิงวิชาการโดยอ้างผลวิจัยโนเบิลไพรซ์ถึง 3 ชิ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกันคือตั้งแต่เดือนเมษายนปี
2530 เป็นการออกในนามของสมาคมน้ำมันปาล์มซึ่งเพิ่งก่อตั้งจากการรวมกลุ่มของน้ำมันปาล์มที่ประกอบด้วยล่ำสูง
(น้ำมันพืชหยก), ลีเวอร์ (น้ำมันพืชโลตัส), และไทยเม็กซ์ฯ (น้ำมันพืชมรกต)
โฆษณาทั้ง 3 ชิ้นของค่ายน้ำมันปาล์มสรุปได้ใจความว่า ผลงานวิจัยชนะรางวัลโนเบลของดร.ไมเคิล
เอส. บราวน์และดร.โจเซฟ แอลโกลสไตน์แห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ รัฐเท็กซัสได้ค้นพบว่าไขมันไม่อิ่มตัวโพลีอันแซททูเรท
และโมโนอันแซททูเรทเหมาะที่จะบริโภคมากกว่าไขมันอิ่มตัว (มีมากในไขมันสัตว์)
ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโคเลสเตอรอล นอกจากนี้ดร.สกอต เอ็ม. กรันดีผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์และวิทยาศาสตร์เมืองดัลลัสก็ยังได้ค้นคว้าเพิ่มเติมพบว่าโมโนอัน
แซททูเรท ซึ่งมีมากในน้ำมันมะกอกและน้ำมันปาล์มโอเลอีนสามารถลดโคเสเตอรอลในเส้นเลือดได้ดีมาก
ส่วนโพลีอันแซททูเรท ซึ่งมีมากในน้ำมันถั่วเหลืองก็ช่วยลดโคเลสเตอรอลได้เช่นกัน
แต่ถ้าบริโภคมาก ๆ อาจไปกระตุ้นการสร้างตัวของเนื้องอกและขัดขวางระบบคุ้มกันโรคของร่างกาย
การต่อสู้ในศึกโคเลสเตอรอลระหว่างน้ำมันพืชองุ่นและน้ำมันปาล์มได้รับการไกล่เกลี่ยจากผู้ใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์จนเรื่องนี้จบลงได้ในช่วงปีเดียวกันนั้น
จากผลพวงความหาญกล้าของน้ำมันพืชองุ่นในครั้งนั้น ทำให้องุ่นกลายเป็นน้ำมันพืชที่มาแรงในตลาด
พร้อมกับส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบันน้ำมันพืชองุ่นก้าวขึ้นเป็นผู้นำ
ด้วยส่วนแบ่งตลาดประมาณ 25% ในขณะที่เจ้าตลาดเดิมคือ ทิพและกุ๊กอยู่ในราว
18% และ 22% ตามลำดับ
เช่นเดียวกันกับการต่อสู้ของน้ำมันพืชมรกต ในฐานะน้ำมันปาล์มที่ต้องการจะเกิดให้ได้
การทำตลาดอย่างจริงจังจึงเริ่มขึ้นในช่วงปี 2530-2531 นี่ถ้าดูจากข้อมูลของบริษัท
มีเดียโฟกัสเกี่ยวกับการใช้งบโฆษณาของน้ำมันพืชแต่ละยี่ห้อจะเห็นได้อย่างเด่นชัดคือในปี
2529 มรกตใช้งบในการโฆษณาเพียงล้านบาทเศษหรือประมาณ 3.5 % ของงบโฆษณาน้ำมันพืชทั้งหมด
35 ล้านในขณะที่กุ๊กใช้มากที่สุดประมาณ 10 ล้านบาทและองุ่นใช้เกือบ 5 ล้านบาท
ในปีถัดมา 2530 องุ่นกลับใช้งบโฆษณามากที่สุดคือ 13.5 ล้านบาทหรือ 31% ในขณะที่กุ๊กมาเป็นอันดับสอง
8.5 ล้านบาทเศษส่วนมรกตใช้เพียง 6 แสนกว่าบาทเท่านั้น ในปี 2531 องุ่นยังคงใช้มากที่สุดแต่จำนวนเงินลดลงเหลือ
7.9 ล้านในขณะที่ทิพมาเป็นอันดับสอง 6.6 ล้านตามด้วยมรกต 4.5 ล้านบาท สำหรับปี
2532 องุ่นยังคงใช้งบเป็นอันดับหนึ่ง 15.7 ล้านบาทหรือ 30% ตามด้วยมรกต 12.3
ล้านบาทและกุ๊ก 7.9 ล้านบาท และในปี 2533 จากงบโฆษณาตั้งแต่เดือนมกราคม-
สิงหาคม ปรากฏว่าองุ่นใช้งบไปแล้ว 15.8 ล้านบาทหรือ 27.9% ตามด้วยกุ๊ก 12.6
ล้านบาทและมรกต 9.2 ล้านบาท
จากการทำการตลาดอย่างจริงจังนี่เองทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของมรกตจากเดิมในช่วง
2 ปีแรกของการเข้าตลาดมีไม่ถึง 5% ขึ้นมาถึง 15% ในปัจจุบันกลายมาเป็นอันดับ
4 ในน้ำมันพืชทั้งหมดและเป็นอันดับหนึ่งในตลาดน้ำมันพืชที่ทำจากน้ำมันปาล์มและถ้าดูจากปริมาณการขายในช่วง
4 ปีหลัง ปรากฏว่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณปีละ 30-40%
เมื่อดูรายได้จากการขายของบริษัทฯ แล้วเพิ่มขึ้นทุกปี ถึงแม้ว่าในบางปีผลประกอบการ
จะออกมาขาดทุนทั้งนี้ศุภลักษณ์ได้อธิบายถึงเหตุผลว่า "เป็นเพราะการลงทุนในช่วงเริ่มกิจการนั้นบริษัทฯ
ต้องใช้เงินลงทุนถึง 200 ล้านบาทในขณะที่ทุนจดทะเบียนเพียง 16 ล้านบาทและเรียกเก็บจากผู้ถือหุ้นเพียง
50% เท่านั้น ดังนั้นเงินที่นำมาลงทุนส่วนใหญ่บริษัทฯ กู้จากแบงก์มาดังนั้นจึงมีภาระในการชำระหนี้ดอกเบี้ยให้แบงก์ทุกปี"
และจากความสำเร็จของน้ำมันพืชมรกตในตลาดบรรจุขวดนี่เองที่สร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัทไทยเม็กซ์ฯ
ในการที่จะขยายกิจการของบริษัทฯ ต่อไปนอกเหนือจากการเป็นผู้ผลิตน้ำมันพืชแล้ว
โครงการที่จะทำต่อไปคือการผลิตสินค้าในหมวดอาหารเช่นข้าวถุงตรามรกต, น้ำมันบรรจุถุง,
แป้งทอดกรอบรวมถึงอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากน้ำมันพืช โดยการผลิตกรดไขมันป้อนโรงงานยาสีฟันและเครื่องสำอางอีกด้วย
นอกเหนือจากการรับเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทเสรีวัฒน์และบุตรจำกัดไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีโครงการที่จะจัดซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น
2 เท่าคือจาก 100 ตันต่อวันเป็น 200 ตันต่อวันและมีโครงการที่จะสร้างโรงงานใหม่ขึ้นบนเนื้อที่ประมาณ
50 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการหาซื้อสถานที่เพื่อสร้างเป็นโรงงานผลิตสินค้าต่อเนื่องที่ใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปาล์ม
ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนส่วนนี้ประมาณ 200-300 ล้านบาท
จากแนวความคิดในการขยายกิจการดังกล่าวนี้ทำให้บริษัทฯ ต้องระดมทุนด้วยการนำบริษัทฯ
เข้าตลาดหลักทรัพย์โดยเริ่มจากการเปลี่ยนชื่อจากเดิม บริษัท ไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์
จำกัด มาเป็นบริษัท มรกต อินดัสตรี้ส์ จำกัด เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา
พร้อมกับการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 48 ล้านบาทเป็น 100 ล้านบาทหุ้นที่เพิ่มขึ้นจำนวน
5.2 ล้านหุ้นนี้จะกระจายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม 2.8 ล้านหุ้นที่เหลืออีก 2.4
ล้านหุ้นจะกระจายให้กับประชาชนทั่วไปกำหนดขายในราคาหุ้นละ 95 บาทจากราคาพาร์10
บาท โดยมอบหมายให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์เป็นแกนนำในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นให้
ซึ่งจะมีการยื่นเรื่องให้ตลาดหลักทรัพย์พิจารณาในเร็ว ๆ นี้
"ถึงแม้ว่าแนวโน้มในอนาคตของบริษัท มรกต อินดัสตรี้ส์ จะดูสดใสจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกปีและจากแผนการขยายกิจการออกไปในหลาย
ๆ ส่วนก็ตามแต่สำหรับที่นี่แล้วไม่จำเป็นที่คนอย่างอนุตร์จะต้องมานั่งบริหารอย่างเต็มตัวเพราะยังมีธุรกิจอื่นที่อนุตร์จะต้องทำอีกมากและสำคัญมากกว่า
ดังนั้นข่าวการกลับเข้ามาของอนุตร์ในบริษัทมรกตจึงเป็นเพียงการกลับมาในตำแหน่งของประธานกรรมการอย่างเช่นที่เคยเป็นมาตั้งแต่ปี
2525-2530 เท่านั้น" และนั่นคือคำ ยืนยันของศุภลักษณ์ อัศวานนท์ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการของไทยเม็กซ์และลูกชายของอนุตร์