บางกอกวอเตอร์รีซอส บทเรียนธุรกิจขายที่ดินรวยกว่าขายน้ำ


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

โรงงานอุตสาหกรรม 3,222 แห่งในเขตจังหวัดสมุทรปราการต้องตกอยู่ภายใต้วิกฤตการณ์ของน้ำบาดาล น้ำท่วมเพราะแผ่นดินทรุดและที่สำคัญคือการขาดแคลนน้ำใช้ในโรงงานซึ่งทางบริษัทบางกอกวอเตอร์รีซอส ผู้ชนะการประมูลสัมปทาน 30 ปีทำน้ำดิบเพื่ออุตสาหกรรมได้ล้มเลิกโครงการนี้ไปในปลายปีที่แล้วหลังจากเสียเวลาไปเกือบสี่ปีเปลี่ยนรัฐมนตรีไปถึงสี่คนกว่าจะได้มา สาเหตุจากที่ดินราคาแพง จนน่าพัฒนาเป็นสนามกอล์ฟมากกว่าทำเป็นอ่างเก็บน้ำทำให้ผู้บริหาร บริษัทบางกอกวอเตอร์รีซอสพลิกผันสถานะจากนักอุตสาหกรรมเป็นพ่อค้าจัดสรร ที่ดินไปเสียแล้ว ปล่อยให้รัฐต้องคว้าน้ำเหลวกับโครงการนี้อีกครั้งหนึ่ง !!

"ตอนนี้พวกเรากำลังแย่ น้ำบาดาลที่เจาะแล้วนำขึ้นมาใช้ในโรงงานเป็นน้ำเค็มมาก ทำให้หลายโรงงานต้องเอามากรองให้เป็นน้ำจืดก่อนต้นทุนก็สูง อยากจะให้รัฐบาลรีบ ๆ หาใครก็ได้ที่จัดหาน้ำมาเสียที" แหล่งข่าวในสภาอุตสาหกรรมระบายความอึดอัดกับสาธารณูปโภคที่รัฐบาลผูกขาดอยู่พัฒนาไม่ทันการเติบโตของอุตสาหกรรมไทย

น้ำดิบที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเป็นน้ำที่ใช้เพื่อชำระล้างเครื่องจักร ทำความสะอาดพื้นโรงงาน หรือเป็นน้ำที่ต้มเพื่อเอาแรงดันไอน้ำไปทำงานอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น คุณภาพน้ำจึงเพียงผ่านแค่ระบบปรับคุณภาพน้ำเบื้องต้นเพื่อการอุตสาหกรรมเท่านั้น (INDUSTRIAL WATER TREATMENT SYSTEM) จึงไม่จำเป็น ต้องดีเท่าน้ำประปาซึ่งราคาแพงกว่า คือทางการประปาคิดอัตราขายน้ำลูกบาศก์เมตรละ 6.20-8.70 บาทต่อปริมาณน้ำใช้ 0-200 ลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าใช้มากกว่า 200-50,001 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไปค่าน้ำจะลดลงยิ่งใช้มากยิ่งลดมากตกราว ๆ ลูกบาศก์เมตรละ 8.60 ลงมาถึง 5 บาท

แต่ถึงกระนั้นเจ้าของโรงงานส่วนใหญ่ ก็ยังคิดว่าน้ำประปามันดีเกินไปที่จะมาใช้ในโรงงานและต้นทุนค่าน้ำประปาก็ยังสูงกว่าการใช้น้ำบาดาลด้วย

ปัจจุบันอัตราการใช้น้ำของโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่น้อยในเขตจังหวัดสมุทรปราการตกประมาณ 105,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และในอนาคตได้มีการประเมินน้ำใช้ในโรงงานในสามเขตใหญ่ คือย่านถนนปู่เจ้าสมิงพรายจะใช้มากที่สุดถึงวันละ 85,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนย่านถนนเทพารักษ์จะมีปริมาณน้ำใช้ประมาณวันละ 26,000 ลูกบาศก์เมตร และในนิคมอุตสาหกรรมบางปูจะใช้วันละประมาณ 35,500 ลูกบาศก์เมตร แหล่งน้ำใช้ในย่านโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็คือน้ำบาดาล ที่แต่ละโรงงานลงทุนไม่ต่ำกว่าสามแสนบาท เพื่อขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลความลึกระหว่าง 100-300 เมตรมาใช้ โดยอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของกรมทรัพยากรธรณี ยิ่งนานวันการขุดเจาะหาน้ำบาดาลที่มีคุณภาพน้ำจืดยิ่งประสบปัญหา เพราะชั้นของดินที่มีน้ำจืดนั้นอยู่ลึกลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ขณะเดียวกันการเจาะบ่อน้ำบาดาลก็ทำให้แผ่นดินทรุดลง

"ทุก ๆ ปี การทรุดลงของแผ่นดินจังหวัดสมุทรปราการตกประมาณปีละนิ้ว ซึ่งเราจัดว่าอยู่ในขั้นวิกฤตที่ต้องป้องกันและแก้ไข และวิธีหนึ่งก็คือนโยบายปิดบ่อบาดาล โดยเราจะ ไม่ต่ออายุใบอนุญาตที่ครบสิบปีแล้วต่อไป และจะเก็บเงินค่าน้ำบาดาลเพิ่มขึ้นด้วย" ข้าราชการระดับสูงในกรมทรัพยากรธรณีเล่าให้ฟัง

บางกอกวอเตอร์รีซอสเกิดขึ้นมาได้เพราะช่องว่างตรงนี้ ที่การประปาของรัฐไม่สามารถจัดหาน้ำใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมย่านสมุทรปราการที่ราคาน้ำไม่แพงเท่าน้ำประปา ทุกโรงงานจึงยังใช้น้ำบาดาล แม้จะรู้เต็มอกว่าการขุดเจาะน้ำบาดาลจะทำให้แผ่นดินทรุดเรื่อย ๆ จนถึงขั้นวิกฤตแล้วก็ตามที

ความหวาดวิตกว่าเมืองสมุทรปราการนี้จะต้องจมต่ำกว่าระดับน้ำทะเลมาก ๆ ทำให้รัฐต้องออกมาตรการป้องกันและแก้ไขวิกฤตการณ์น้ำบาดาลไว้ตั้งแต่สมัยนายกรัฐมนตรีชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 2526

และจุดเริ่มต้นนี้เองที่ทำให้เกิดโครงการจัดหาน้ำดิบเพื่ออุตสาหกรรมขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม 2527 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมให้เอกชนลงทุนในโครงการสร้างระบบจ่ายน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ให้แก่โรงงานในเขตจังหวัดสมุทรปราการบริเวณปู่เจ้าสมิงพราย ถนนเทพารักษ์ ถนนสุขุมวิทและการนิคมอุตสาหกรรมบางปู ซึ่งความต้องการใช้น้ำวันละหนึ่งแสนลูกบาศก์เมตร โดยจะต้องไม่ขอรับการอุดหนุนทางการเงินจากรัฐบาล

จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยาเป็นผู้หนึ่งที่ผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เขาเข้ามา รับตำแหน่งในปี 2524 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในยุคที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นรัฐมนตรีว่าการฯ และต่อมาภายหลังเมื่อจิรายุได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ก็ได้พยายามชักชวนเอกชนมาทำโครงการนี้

ความผูกพันเช่นนี้ต่อมาเมื่อจิรายุได้รับพระราชโองการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ได้เห็นชอบที่จะนำสนง.ทรัพย์สินเข้าไปถือหุ้น 10% ในบริษัทบางกอกวอเตอร์ รีซอสนี้ด้วย

จุดเริ่มต้นของแนวความคิดที่จะให้บริษัทเอกชนเข้ามาทำน้ำดิบเพื่ออุตสาหกรรมนี้ ได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวที่จะรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายการประปานครหลวง ซึ่งเป็นกิจการของรัฐที่ผูกขาดสาธารณูปโภคนี้มานาน

แม้จะมีการช่วงชิงการนำโครงการนี้มาทำระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับการประปานครหลวงกันก็ตามที เช่นหลังจากมีนโยบายให้เอกชนทำโครงการนี้ ถัดมาอีกไม่นานราว ๆ ในวันที่ 8 มกราคม 2528 การประปานครหลวงก็ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักระยะที่สองช่วงแรก (โครงการ 3) โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งน้ำประปาให้ถึงโรงงานในย่านสำโรงและปู่เจ้าสมิงพราย

อย่างไรก็ตามมติคณะรัฐมนตรีนี้ได้ยืนยันถึงหลักการที่จะให้เอกชนดำเนินการ นับเป็นครั้งแรกที่นโยบายของรัฐได้สั่นคลอนอำนาจการผูกขาดของการประปา

25 ธันวาคม 2527 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุนครั้งที่หนึ่ง ปรากฏว่าไม่มีเอกชนรายใดเสนอตัว จึงต้องยกเลิกไป ต้องเปิดประมูลเป็นครั้งที่สองในวันที่ 24 พฤษภาคม 2528 มีผู้ยื่นเสนอสองราย แต่ขอถอนตัวหนึ่งราย อีกรายหนึ่งขอเวลาศึกษาเพิ่มเติมจึงยกเลิกไป

จนถึงครั้งที่สามในวันที่ 24 พฤษภาคม 2528 - 20 มกราคม 2529 ได้มีการประกาศชักชวนเอกชนอีก คราวนี้มีผู้ยื่นเสนอสองรายคือบริษัทมารูเบนีฯ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนของสามบริษัทยักษ์ใหญ่คือบริษัท MARUBENI บริษัท NIPPON KOKAN และ COMPAGINIE GENERALE DES EAUX ส่วนอีกรายที่ยื่นเสนอคือ ดร. บุญราศรี บริบูรณ์ แต่คณะกรรมการได้พิจารณายกเลิกทั้งสองราย เพราะไม่มีหลักประกันใด ๆ ที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้

สองปีเต็ม ๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมใช้เวลาประกาศหาเอกชนมาลงทุนทำโครงการนี้ แต่ในที่สุดก็คว้าน้ำเหลว!!

จนกระทั่งตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนไปอีกสมัย เป็นประมวล สภาวสุ เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงนี้แทนจิรายุ ประมวลได้ประกาศหาเอกชนรายใหม่เข้ามาลงทุนทำน้ำดิบเป็นครั้งที่สี่ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2530 และเปิดซองประมูลในวันที่ 3 สิงหาคม 2530 มีผู้เสนอขอลงทุน 4 ราย คือ 1) กลุ่มบริษัท CONSORTIUM ASANO ENGINEERING & KAIYO LTD. 2) กลุ่มบริษัท MARUBENI 3) ดร. บุญราศรี บริบูรณ์ ร่วมกับบริษัทเทวัณไฮโดรอินดัสทรี และ 4) บริษัทบางกอกมอเตอร์ อีควิปเม้นท์

ในที่สุดเมื่อเดือนกันยายน 2530 บริษัท บางกอกมอเตอร์ อีควิปเม้นท์ก็เป็นผู้ชนะการประมูลได้รับสัมปานจัดหาน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 30 ปี ก็คือเพราะเสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุดให้กับทางการ

ข้อเสนอการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐมนตรีประมวล สภาวะสุก็คือจะผลิตน้ำให้ใกล้เคียงกับน้ำประปาแต่ดีกว่าน้ำบาดาล โดยจะใช้แหล่งน้ำผิวดินทั้งหมดมาทำการผลิต คือแหล่งน้ำจากคลองในทุ่งฝั่งตะวันออกระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกงในพื้นที่โครงการ ชลประทานคลองด่านและคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต โดยจะสร้างอ่างเก็บน้ำ (RESERVIOR) ที่มีความจุเพียงพอเพื่อเก็บน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ตลอดฤดูแล้ง

เงินลงทุนในโครงการที่บางกอกมอเตอร์อิควิปเม้นท์เสนอคือ 1,050 ล้านบาทสร้างอ่างเก็บน้ำขนาด 15 ล้านลูกบาศก์เมตรสองอ่างบนเนื้อที่ 2 พันไร่ พร้อมระบบท่อส่งน้ำโดยแบ่งการลงทุนในระยะ 5 ปีแรก เป็นเงิน 550 ล้านบาท และเมื่อความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นจนกำลังการผลิตในระยะแรกไม่พอเพียงก็จำเป็นต้องมีการพิจารณาเพิ่มกำลังผลิต ซึ่งประมาณการลงทุนเพิ่มจนสิ้นอายุการได้สิทธิขายน้ำจะใช้เงินลงทุนอีก 500 ล้านบาท

ข้อเสนอที่สำคัญหนึ่งที่บางกอกมอเตอร์อิควิปเม้นท์เสนอก็คือ อัตราจำหน่ายน้ำจะคิดอัตรา 4.75 บาทตลอด 5 ปีแรกและเพิ่มขึ้นในอนาคตในอัตราสูงสุด 7.50 บาทต่อลูกบาศก์เมตรในช่วงปีท้าย ๆ ของการผลิต นอกจากนี้ตั้งแต่ปีที่ 8 หากค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเกิน 1% ต่อปีจะขอปรับอัตราค่าน้ำใหม่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

เบื้องหลังของการที่บางกอกมอเตอร์ อิควิปเม้นท์ชนะครั้งนี้ อยู่ที่ความสัมพันธ์เก่าแก่ที่เจ้าของกิจการนี้คือสมพงษ์ ฝึกการค้า มีต่อพรรคชาติไทย ซึ่งคุมกระทรวงอุตสาหกรรมมาหลายสมัยตั้งแต่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ประมวล สภาวสุ บรรหาร ศิลปอาชาและพลเอกประมาณ อดิเรกสาร

สมพงษ์ ฝึกการค้าไม่ใช่นักอุตสาหกรรมแต่เป็นพ่อค้าที่มีสายสัมพันธ์มากคนหนึ่ง ในอดีตสมพงษ์เคยเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยยศสิบตำรวจโทในกองทะเบียน กรมตำรวจ เกิดเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2478 เป็นชาวอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี บุตรของนางกิมเฮง และนายประถม เมื่ออายุได้ 42 ปีก็ได้ตั้งบริษัท บางกอกมอเตอร์ อิควิปเม้นท์ รับเหมางานก่อสร้างให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต สำนักงานพลังงานแห่งชาติและกรมทางหลวง ปัจจุบันมีโครงการสร้างทางท่าเรือตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โครงการก่อสร้างเขื่อนโรงไฟฟ้าและส่วนประกอบโครงการห้วยประทาว จังหวัดชัยภูมิ มูลค่า 268 ล้านกว่าบาท และโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ หมายเลข 35 สายธนบุรี- ปากท่อ มูลค่า 228 ล้านบาท

สมพงษ์มีเส้นสายทางการเมืองที่เกื้อกูลการทำธุรกิจของเขาอยู่มาก โดยเฉพาะกับพรรคชาติไทย ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสมพงษ์กับบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ซึ่งเป็น ส.ส. สุพรรณบุรีถึง 6 สมัย ทุกครั้งที่บุญเอื้อลงสมัครรับเลือกตั้ง สมพงษ์จะเป็นหัวคะแนนคนสำคัญให้ และเมื่อบุญเอื้อได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรในปี 2526 สมพงษ์เคยไปช่วยราชการบุญเอื้อที่หน้าห้อง

ความสนิทสนมเช่นนี้เป็นที่ครหาว่า พรรคชาติไทยจะทิ้งทวนงานสัมปทานน้ำดิบเพื่ออุตสาหกรรมนี้ เพราะว่าทั้งรัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต่างเป็นคนของพรรคชาติไทย

เมื่อชนะการประมูลแล้ว ในปี 2531 สมพงษ์ได้ระดมทุนจากนักธุรกิจหลายรายตั้งบริษัท บางกอก วอเตอร์รีซอส หรือเรียกย่อ ๆ ว่า BWRC ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ซึ่งต่อมาได้เพิ่มทุนเป็น 250 ล้านบาท โดยมีกรรมการบริษัท 15 คน คือสมพงษ์ ฝึกการค้า ชาลี โสภณพนิช บูรพา อัตถากร (รองกรรมการผู้จัดการบริษัท) ม.ล. กุทัณฑ์ สนิทวงศ์ สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ อารักษ์ สุนทรส (สนง. ทรัพย์สินฯ) ไพบูลย์ อิงคะวัติ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ชาญชัย ลี้ถาวร กรพจน์ อัศวินวิจิตร (บริษัทแสงทองค้าข้าว) เพิ่มพูน ไกรฤกษ์ พีรศิลป์ ศุภผลศิริ (บริษัทชาตรีโสภณ) โสมนัส ชุติมา (แบงก์กรุงไทย) และวีระ รมยะรูป

ในระยะเริ่มแรกผู้ถือหุ้นคนสำคัญคนหนึ่ง ที่มีบทบาทก็คือสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ นายแบงก์ใหญ่แห่งธนาคารแหลมทองซึ่งสนับสนุนทางการเงินให้กับบริษัทบางกอกมอเตอร์ อิควิปเม้นท์ของสมพงษ์ มาตั้งแต่เริ่มตั้งกิจการ

ครั้งหนึ่งสมบูรณ์เคยสร้างความประทับใจให้กับสมพงษ์ ด้วยการเข้าไปเป็นท้าวมาลีวราชไกล่เกลี่ยหุ้นส่วนบริษัทกับสมพงษ์ซึ่งมีเรื่องขัดแย้งกันอย่างหนัก จนกระทั่งทำให้งานที่ได้ประมูลได้จากทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องหยุดชะงักกลางคัน สมบูรณ์เข้าไปประนีประนอมจนสำเร็จ งานนี้สมพงษ์ได้สมนาคุณสมบูรณ์ด้วยเงินสด 17 ล้านบาท

"สมบูรณ์เขาก็มอบเงิน 17 ล้านบาท นี้ให้กับธนาคารเพราะว่าที่ทำไปนี้ก็ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว" แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง

การที่สมพงษ์ กระโดดเข้าไปทำโครงการน้ำดิบนี้ เพราะว่าเขามองว่าจะใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ทางบางกอก อิควิปเม้นท์นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าเพราะได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว เหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว เป็นงานที่เขาถนัดอยู่แล้วขุดดินทำเขื่อนหรืออ่างเก็บกักน้ำ

สมพงษ์ได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาคือบริษัทเซ้าท์อีสท์เอเชียเทคโนโลยี (SEATEC) ของดร. สุบิน ปิ่นขยัน ทำงานสำรวจและออกแบบโครงการเป็นเงิน 9,975,000 บาท และทำงานควบคุมการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 14 ล้านบาท

การวางแผนทยอยซื้อที่ดินผืนใหญ่นับ 5,000 ไร่เพื่อทำอ่างเก็บน้ำและจัดสรรบ้านโครงการซื้อที่ดินนี้เริ่มเกิดขึ้นในราวปี 2529-30 ซึ่งภาวะราคาซื้อขายที่ดินรอบนอกกรุงเทพฯ ยังมีราคาต่ำมาก สมพงษ์ได้กว้านซื้อที่ดินบริเวณอำเภอบางบ่อ (ถนนบางนา-ตราด กิโลเมตร ที่ 29.5 หรือบริเวณถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี ประมาณกิโลเมตรที่ 9-1) เป็นเนื้อที่แปลงใหญ่ 2,800 ไร่ 3 งาน 88 ตารางวา โดยมีการตีราคาเพื่อกู้เงินในราคาเฉลี่ยแล้วไร่ละเพียง 350,000 บาท

สมพงษ์ต้องกู้เงินจากแบงก์ไทยพาณิชย์และแบงก์กรุงเทพเพื่อซื้อที่ดินมูลค่า 980.10 ล้านบาท โดยเอาที่ดินผืนนี้เป็นหลักทรัพย์จำนองไว้

นอกจากนี้บริษัท บางกอกวอเตอร์รีซอสยังได้ซื้อที่ดินในนามของบริษัทบางเสาธงเพื่อการเกษตร ที่ดินที่บริษัทนี้ซื้อไว้อยู่ตรงบริเวณบางพลี บริเวณกิโลเมตร 18 ถนนวัดศรีวารีน้อยจำนวน 143 ไร่ 3 งาน 85 ตารางวาเป็นซื้อขาย 18,810,000 บาท โดยที่ดินดังกล่าวได้จดจำนองไว้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอใช้วงเงินโอดีชั่วคราวเป็นเงิน 29 ล้านบาท

"ตอนนั้นเราซื้อเงียบ ๆ ในราคาไร่ละไม่กี่หมื่นบาทเท่านั้น ก็ซื้อได้มากแต่ลักษณะที่ตรงนั้นเป็นบ่อปลา แต่เราก็ไม่ติดใจเพราะคิดว่าอย่างไรเสียก็ต้องขุดอ่างเก็บน้ำอยู่แล้ว แล้วเอาดินมาถมที่เพื่อจะจัดสรรเป็นเขตอุตสาหกรรม และบ้านจัดสรร สนามกอล์ฟ ต่อไป" อดีตผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบางกอกวอเตอร์รีซอสเล่าให้ฟัง

รายได้ที่มาสองทางจากการขายน้ำบวกกับรายได้จากการขายดินที่ขุดขึ้นมาในช่วงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในระยะสองปีเป็นรายได้มหาศาล จากการศึกษาของบริษัทกลุ่มที่ปรึกษาไทยร่วมกับบริษัทคอมพลิเม็นท์ ซึ่งทางกรมโรงงานได้ว่าจ้างศึกษาเรื่องโครงการจัดหาน้ำเพื่อโรงงานอุตสาหกรรมได้บอกไว้ว่า ถ้าหากการก่อสร้างช่วงแรกในปี 2530-31 จะสามารถขุดดินได้ 8.8 ล้านคิว ซึ่งครึ่งหนึ่งคือ 4.5 ล้านคิว เป็นดินที่เหลือใช้สามารถนำไปขายได้คิวละ 100 บาท จะได้เงินมากถึง 459 ล้านบาททีเดียว

และในช่วงที่สองถ้ามีการก่อสร้างในปี 2536-37 ปริมาณดินที่ขุดได้ 4.58 ล้านคิวจะมีดินที่เหลือ พอไปขายได้ถึง 2.5 ล้านคิว ซึ่งจะขายได้คิวละ 115 บาท คิดเป็นเงินถึง 289 ล้านบาท

แค่ขายดินก็รับเงินมหาศาลแล้ว และยิ่งราคาดินในปัจจุบันถีบตัวสูงขึ้นเป็นคิวละเกือบพันบาท รายได้ที่จะมาจากทางนี้ยิ่งมากมาย และสมพงษ์ก็ได้ขอลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายดินนี้ด้วย แต่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้คัดค้านว่า บริษัทได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรแล้ว

งานนี้ไม่ง่ายเหมือนอย่างที่สมพงษ์คิด เพราะเขาต้องเจอเกมการเมืองของกุล่มสหภาพการประปานครหลวงที่คุมการส่งจ่ายน้ำในเขตจังหวัดสมุทรปราการด้วย และต่อต้านเอกชนที่รุกล้ำเข้ามาในอุตสาหกรรม

สมพงษ์ต้องเจอมรสุมการเมือง การประท้วง การให้สัมปทานนี้จากการประปา จนทำให้การเซ็นสัญญาต้องล่าช้าไปกว่ากำหนด กว่าจะเซ็นสัญญาได้จริง ๆ ก็ล่วงเลยมาถึงวันที่ 5 เมษายน 2532 โดยบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขณะนั้นเป็นคนลงนามร่วมกับชาญชัย ลี้ถาวร ประธานบริษัทฯ และสมพงษ์ ฝึกการค้า กรรมการผู้จัดการบริษัท

ถึงเวลานั้นที่ดินและประมาณการแผนการลงทุนก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาที่ดินแถวย่านบางนา-ตราด ซึ่งเคยซื้อได้ในราคาไร่ละไม่กี่หมื่นบาท ได้ถีบตัวสูงขึ้นเป็นหลักล้านในชั่วระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมานี้

แผนการที่จะกว้านซื้อที่ดินให้ได้ครบ 5,000 ไร่มาได้แค่ครึ่งทาง!! ผู้บริหารบริษัทบางกอกวอเตอร์ ได้เลิกล้มโครงการจัดหาน้ำเพื่ออุตสาหกรรม โดยอ้างถึงต้นทุนที่ดินแพงเป็นสาเหตุหลัก ทำให้ไม่สามารถหาซื้อที่ดินเป็นแปลงสี่เหลี่ยมเพื่อทำอ่างเก็บน้ำได้ ส่วนที่ดินที่ซื้อไว้แล้วก็มีลักษณะยาวไป ทำให้บริษัทต้องเสียค่าใช้จ่ายในการวางท่อสูงกว่าที่คาดไว้

ดังนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2532 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ยกเลิกสัญญาและริบเงินประกันตามสัญญา 10.5 ล้านบาททันที

แต่ถึงกระนั้น บางกอกวอเตอร์รีซอสก็ซื้อที่ดินแถบนั้นได้ถึง 2,800 ไร่ ซึ่งถ้าตีมูลค่าในปัจจุบันก็ไม่ต่ำกว่าสองพันกว่าล้านบาท

ดังนั้นแผนการขายหลักทรัพย์ที่ดินจำนวนสองพันกว่าไร่จึงเกิดขึ้นราวปลายปี 2532 หลังจากล้มเลิกโครงการแล้ว เงินนับพันล้านที่ได้จากการขายที่ดินแปลงใหญ่นี้ ก็จะนำไปแบ่งจ่ายคืนผู้ถือหุ้น 200 ล้านบาท จ่ายหนี้คืนแบงก์ไทยพาณิชย์ 700 ล้านบาท แบงก์กรุงเทพ 160 ล้านบาท และแบงก์กรุงไทย 10 ล้านบาท

งานนี้ขายที่ดินรวยยิ่งกว่าทำน้ำขายเสียอีก เพราะขายน้ำกว่าจะถึงจุดคุ้มทุนต้องใช้เวลาถึง 11 ปี (ดูตารางแผนการเงินประกอบ) และคนที่มองเห็นโอกาสทองนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น ชาตรี โสภณพนิช เจ้าสัวแห่งแบงก์กรุงเทพและเจ้าของสมญานามหนึ่งว่า "แลนด์ลอร์ดเมืองไทย"

การเข้ามาของแบงก์กรุงเทพในบางกอกวอเตอร์รีซอส ก็โดยการที่สมพงษ์ได้ไปกู้ยืมเงินเพื่อมาทยอยซื้อที่ดินนับพัน ๆ ไร่ดังกล่าว โดยเอาที่ดินเป็นหลักทรัพย์จำนองในการกู้ครั้งนี้ แบงก์ที่ปล่อยกู้ให้กับโครงการนี้ก็คือ แบงก์กรุงเทพ แบงก์ไทยพาณิชย์และแบงก์กรุงไทย ซึ่งแต่ละแห่งจะถือหุ้น 10% ในบางกอกวอเตอร์รีซอส

แต่ชาตรีถือหุ้นมากกว่า 10% โดยถือหุ้นในนามบริษัทอื่น ๆ คือบริษัท ชาตรีโสภณ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง อินเวสเม้นท์ ถือ 5 แสนหุ้น บริษัทจตุบุตร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สิน เอเซีย บริษัทเอเชียเสริมกิจถือ 195,000 หุ้น และชาลี โสภณพนิช บุตรชายของชาตรีก็ถือ 1 แสนหุ้น

และหลังจากโครงการน้ำดิบเพื่ออุตสาหกรรมนี้ต้องล้มเลิกไปในปี 2532 นี้ ชาตรีก็ได้กว้านซื้อหุ้นรายย่อยและหุ้นของแบงก์ไทยพาณิชย์และสำนักงานทรัพย์สินซึ่งมีอยู่ 25% ไป ทำให้ชาตรีกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในบริษัทนี้

และครั้งหนึ่งด้วยความเป็นผู้ถือหุ้นคนสำคัญ ชาตรีได้เคยคัดค้านการขายหุ้นกิจการบริษัทบางกอกวอเตอร์รีซอส ให้แก่วิฑูรย์ ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัทอัมรินทร์ พลาซ่า ที่ต้องการซื้อหุ้นในราคา 135 บาทจากราคาพาร์ 100 บาท จำนวน 2 ล้านหุ้น โดยงานนี้ธารินทร์ นิมมานเหมินท์กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์เป็นผู้เสนอต่อที่ประชุมกรรมการบริษัทว่า บริษัท อัมรินทร์พลาซ่าได้มีหนังสือเสนอขอซื้อที่ดินของบริษัทที่บริเวณถนนรัตนโกสินทร์ 200 ปี

แผนการของวิฑูรย์ต้องการซื้อบางกอกวอเตอร์รีซอสเพื่อเอาที่ดินซึ่งมีจำนวน 2,750 ไร่ไปจัดสรรพัฒนาเป็นสนามกอล์ฟ ไม่ใช่ต้องการทำน้ำดิบ

"ตอนนั้นเราเสนอขอซื้อหุ้นทั้งบริษัท เพราะเราต้องการซื้อที่ดิน ครั้งแรกที่ประชุมก็ตอบตกลงจะขาย แต่ตอนหลังมีผู้ถือหุ้นกลุ่มหนึ่งไม่ยินยอมขายแบบกลับลำเปลี่ยนใจไม่ขาย เราเลยไม่ได้ซื้อ ที่ซื้อก็ตั้งใจจะทำบ้านจัดสรร สนามกอล์ฟ ไม่ได้คิดจะทำน้ำเลย" วิฑูรย์ ว่องกุศลกิจ ประธานบริษัทอัมรินทร์พลาซ่าเล่าให้ฟัง

พอชาตรีทราบข่าวนี้หลังจากส่งลูกชายคือชาลีเข้าประชุมแทนในวาระที่ธารินทร์เสนอ ปรากฏว่าชาตรีได้คัดค้านให้ยกเลิกการซื้อขายนี้ ด้วยเหตุผลว่าหุ้นที่เสนอขายแก่กลุ่มอัมรินทร์ พลาซ่านั้นต่ำเกินไปแค่ 135 บาท ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

มังกรย่อมรู้ทางมังกร วิฑูรย์ก็ย่อมจะมอง ออกว่างานนี้ชาตรีไม่ยอมปล่อยชิ้นปลามันนี้ไปแน่ ๆ ที่ดินที่ราคาแพงราวทองคำผืนใหญ่ผืนนี้ บนถนนบางนา-ตราด หาไม่ได้อีกแล้ว

วิฑูรย์ต้องถอยห่างออกมาโดยยืนยันจะไม่ซื้อแพงกว่า 135 บาท และจะซื้อหุ้นทั้งหมดไม่ใช่ซื้อได้แค่บางส่วน และทั้ง ๆ ที่รู้ว่าถึงเสนอซื้อสูงกว่านี้ชาตรี ก็ต้องออกโรงคัดค้านอีกแน่นอน

แต่หลังจากวิฑูรย์ต้องเด้งออกไปจากแรงค้านของชาตรี แต่ต่อมาชาตรีก็ได้เข้ารับซื้อหุ้นของแบงก์ไทยพาณิชย์และสำนักงานทรัพย์สินในราคา 135 บาท

จนถึงวันนี้ชาตรีในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงเป็นผู้กำหนดนโยบายบริษัทในการที่จะพัฒนาที่ดินผืนใหญ่ที่สุดจำนวนสองพันกว่าไร่บนถนนบางนา-ตราดนี้ สมพงษ์จึงเป็นแค่ตัวประกอบหนึ่งเท่านั้นเอง!!

"สมพงษ์เขายังคิดจะขอกลับเข้าไปทำน้ำดิบอีกครั้ง แต่ในส่วนของแบงก์กรุงเทพ ชาตรีคงจะไม่เห็นด้วยเพราะปัจจุบันที่ดินแถวนั้นสูงเกินกว่าจะทำโครงการดังกล่าวได้อีกแล้ว" แหล่งข่าวระดับสูงเล่าให้ฟัง

ในอนาคตอันใกล้นี้ที่ดินแปลงใหญ่ที่เป็นสินทรัพย์ของบริษัท บางกอกวอเตอร์รีซอสนี้ได้มีแผนพัฒนาเป็นเมือใหม่ที่มีทั้งบ้านจัดสรร นิคมอุตสาหกรรมและสนามกอล์ฟ ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มมูลค่าที่ดินตามสไตล์ชาตรี โสภณพนิชเช่นเคย

แต่สำหรับโครงการจัดหาน้ำดิบเพื่ออุตสาหกรรม ก็ยังเดินหน้าหานักอุตสาหกรรมกันต่อไป ปัจจุบันอธิบดีกรมโรงงานยิ่งยง ศรีทองมีทางเลือกอยู่ 3 ทางคือ 1 ) ยกเลิกโครงการ 2) ออกประมูลใหม่และลดเงื่อนไขให้เอกชนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้และ 3) ส่งเรื่องนี้ให้การประปานครหลวงหรือประปาภูมิภาคทำ

ขณะนี้อธิบดีกรมโรงงานได้ทำการออกประมูลใหม่ แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อยมากที่เอกชนจะทำโครงการนี้ให้เกิด เพราะแหล่งน้ำดิบไม่พอและราคาที่ดินสูงลิบลิ่ว

ดังนั้นความเป็นไปได้ที่สุดที่เป็นหนทางเลือกอยู่เพียงประการเดียวคือข้อที่สาม ให้การประปานครหลวงรับงานนี้ไป

ถึงบทสุดท้ายนี้แล้ว คนรับกรรมนี้ต่อไปก็คือบรรดาโรงงานอุตสาหกรรทั้งหลายในเขตอุตสาหกรรม แถบสมุทรปราการที่ต้องสูบน้ำบาดาลที่นับวันคุณภาพน้ำเลวเต็มที และต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าโครงการจัดหาน้ำเพื่ออุตสาหกรรมนี้จะลงตัว ก็คงชาติหน้าตอนบ่าย ๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.