อดีตที่ยาวนานของไอบีเอ็มไทย


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ไอบีเอ็ม ประเทศไทยเป็นบริษัทต่างชาติที่เก่าแก่แห่งหนึ่ง อายุหากนับตั้งแต่ไอบีเอ็ม คอร์ปอร์เรชั่นเข้ามาตั้งสำนักงานตัวแทนที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2491 ก็รวม 42 ปีซึ่งในเวลานั้น ยังไม่มีผู้ใดประดิษฐ์คิดค้นเครื่องสมองกลจนกระทั่งสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกง่ายดายเหมือนปัจจุบันสินค้าชนิดแรกที่ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่นแนะนำเข้ามาในเมืองไทยเมื่อปี 2494 คือเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าภาษาไทย

ปี 2495 ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่นจึงจัดตั้งไอบีเอ็ม ประเทศไทยขึ้นอย่างเป็นทางการและถือหุ้นในบริษัทลูกแห่งนี้ 100 % เต็ม หน่วยงานราชการแห่งแรกที่ใช้เครื่องไอบีเอ็ม 1401 คือสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งก็กลายมาเป็นลูกค้าประจำที่ใช้แต่เครื่องไอบีเอ็มตลอดมาจนปัจจุบัน

นอกจากจะเป็นผู้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว ไอบีเอ็มยังมีชื่อเรื่องเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าสองภาษา คือไทย-อังกฤษ หรือเรียกว่า IBM DUALECTRIC

ไอบีเอ็มเริ่มประสบความสำเร็จขึ้นเรื่อย ๆ ปี 2521 มีรายรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 10 ล้านดอลลาร์และในเวลาเพียง 3 ปีถัดมายอดรายรับก็เพิ่มเป็น 20 ล้านดอลลาร์

ไอบีเอ็มใช้วิธีจำหน่ายเครื่องผ่านตัวแทนเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2526 โดยสองบริษัทแรก ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่อง PC คือ SCT และ COMPUTER UNION ซึ่งก็ ยังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจของไอบีเอ็มด้วยดีเสมอมาจนปัจจุบัน

เมื่อธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์และ INFORNATION TECHNOLOGY เติบโตมากขึ้น ไอบีเอ็มได้จัดตั้ง INTERNATIONAL PROCUREMENT OFFICE (IPO) ขึ้นที่เมืองไทย เพื่อทำหน้าที่จัดซื้อชิ้นส่วนส่งไปให้โรงงานผลิตของไอบีเอ็ม ที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

รายการจัดซื้อแรกสุดคือสายเคเบิลสำหรับคีย์บอร์ดเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ส่งไปให้โรงงานไอบีเอ็มในสหรัฐฯ โดยก่อนที่จะจัดซื้อได้นั้นต้องผ่านกระบวนการทดสอบคุณภาพสินค้าตามมาตรฐานของไอบีเอ็มเสียก่อน แล้วไอบีเอ็มจึงจะกำหนด SPEC มาให้ผลิต

นอกจากสายเคเบิลแล้ว ก็มีการจัดซื้อ DISK DRIVE พัดลมและมอเตอร์ระบายความร้อน แผงวงจร SEMICONDUCTER เป็นต้น

ปี 2530 นับเป็นปีสำคัญของไอบีเอ็ม มีการย้ายสำนักงานมาอยู่ที่ตึกไอบีเอ็ม ถนนพหลโยธิน ซึ่งโอ่โถงและเป็นสำนักงานอัตโนมัติที่สมบูรณ์ การตั้งสำนักงานจัดซื้อในไทยเมื่อหลายปีก่อน ทำให้ไอบีเอ็ม (ญี่ปุ่น) และไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) ร่วมลงทุนกับสหยูเนี่ยนเพื่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ขึ้นในปี 2531 และในปีนี้เอง ไอบีเอ็มมีรายรับพุ่งทะยานขึ้นเป็น 62 ล้านดอลลาร์

ปีต่อมาไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) ได้รับเลือกให้เป็น COUNTRY OF THE YEAR ประสบความสำเร็จสูงสุดด้วยยอดขายทะลุ 2,000 ล้านบาท !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.