เจมโมโปลิส เมืองอุตสาหกรรมอัญมณี


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

การเปิดตัวโครงการเจมโมโปลิส เมื่อกลางเดือนกันยายน ที่ผ่านมาจัดเป็นศูนย์กลางอัญมณีรายล่าสุดที่เปิดตัวโครงการมาในปีนี้ เจมโมโปลิส แปลกกว่าโครงการอื่น ๆ คือไปตั้งอยู่ที่ กม. 8 ถนนบางนา-ตราด ซึ่งห่างไกลย่านธุรกิจสำคัญ ขณะที่โครงการซึ่งเปิดตัวไปแล้วไม่ว่าจะเป็นเจมส์ ทาวเวอร์, จิวเวลรี เทรด เซนเตอร์, สีลม พรีเซียส ทาวเวอร์ และบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี ทาวเวอร์ ล้วนตั้งอยู่ในใจกลางเมืองย่านถนนสีลม มเหศักดิ์ สุรวงศ์และเจริญกรุง ซึ่งถือเป็นแหล่งการค้าอัญมณีในปัจจุบัน

ทำเลที่ตั้งของเจมโมโปลิสอาจจะดูด้อยเมื่อเทียบกับทำเลของโครงการอื่น ๆ แต่ในอนาคตซึ่งแนวโน้มการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกในโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด ทำได้สำเร็จ รวมทั้งโครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ถนนวงแหวนรอบนอก ถนนศรีนครินทร์ บางนา-ตราด ท่าอากาศยานหนองงูเห่าเกิดขึ้นจริง มิพักต้องสงสัยว่าทำเลที่ตั้งของเจมโมโปลิสจะเป็นจุดดึงดูดนักธุรกิจได้มากกว่าทำเลที่ตั้งในใจกลางเมืองสักเพียงใด

แนวคิดในการสร้างเมืองอุตสาหกรรมอัญมณีหรืออัญธานีแห่งนี้คือต้องการให้เป็นศูนย์รวมการผลิต การติดต่อซื้อขาย และการผ่านพิธีทางศุลกากรเพื่อการส่งออกซึ่งอัญมณีและเครื่องประดับไว้พร้อมสรรพภายในอาณาบริเวณเดียวกัน (ONE-STOP SERVICE)

พรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับกล่าวว่า "ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยมี 34,000 ล้านบาท ผมคิดว่าหลังจากที่เราสร้างเจมโม โปลิสเสร็จ โครงการนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมการส่งออกคึกคักมากขึ้น เราตั้งความหวังกันไว้ว่าจะเพิ่มมูลค่าให้ได้สูงถึง 100,000 ล้านบาท"

พื้นที่ 170 ไร่ บริเวณชานเมืองด้านฝั่งตะวันออกกำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วที่ดินแถบนี้ซื้อขายกันในราคาตารางวาละ 20,000-30,000 บาท และมีแนวโน้มแต่จะพุ่งสูงขึ้น ว่ากันว่าที่ดินเหล่านี้เป็นของกลุ่มเชียงเฮงเทรดดิ้ง ซึ่งนำโดยบุญยง อัศรัสกรเป็นหัวเรือใหญ่ในบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เจมส์ ซินดิเคทหรือ IGS ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้บริหารเจมโมโปลิส กลุ่มเชียงเฮงเป็นผู้ค้าและส่งออกอัญมณีรายใหญ่รายหนึ่ง ดำเนินกิจการมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว

IGS มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท กลุ่มผู้ถือหุ้นนอกจากเชียงเฮง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และมีพี่น้องเข้ามาร่วมบริหารงานด้วยหลายคน โดยบุญยง พี่ใหญ่ขึ้นเป็นประธานกรรมการแล้ว ก็มีพรสิทธิ์เป็นประธานกรรมการบริหาร วิชัย อัศรัสกรเป็นกรรมการผู้จัดการ ศิริ อาชาพิลาส, แสงชัย คุณารัตนอังกูร, ประเกียรติ นาสิมมา, คมสัน โอภาสสถาวร และอีกหลายคนซึ่งล้วนอยู่ในวงการผู้ประกอบการอัญมณีไทยรวมเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นและกรรมการ

ความคิดที่จะสร้างศูนย์กลางอัญมณี เกิดจากความเติบโตของธุรกิจส่งออกอัญมณีของไทยอย่างมาก ๆ ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา บรรดาพ่อค้าอัญมณีประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกันในเรื่องความไม่สะดวกของพ่อค้าต่างชาติที่เข้ามาติดต่อซื้อขายอัญมณีไทย ปัญหาหลักอยู่ที่กระบวนการติดต่อและส่งสินค้า

กลุ่มพ่อค้าต่างชาติจะต้องตระเวนซื้อสินค้าจากร้านต่าง ๆ บางครั้งต้องเดินทางไปต่างจังหวัด ตะลุยไปถึงแหล่งวัตถุดิบ และยังจะต้องมาติดต่อบริษัทประกันภัย นำสินค้าผ่านด่านพิธีทางศุลกากรติดต่อกับธนาคาร ซึ่งกว่าจะจบสิ้นกระบวนการในการเดินทางมาครั้งหนึ่ง ๆ ก็ต้องใช้เวลาหลายวันและยุ่งยากน่าเหนื่อยหน่ายไม่น้อย

แม้ว่าย่านสีลม สุรวงศ์ และมเหศักดิ์จะเป็นศูนย์รวมร้านค้าอัญมณีไว้มากที่สุดคือประมาณ 400 รายจากจำนวนผู้ประกอบการค้าอัญมณีทั้งสิ้น 3,000 รายทั่วประเทศ แต่ก็มีร้านค้าและโรงงานหลายแห่งที่ไม่ได้อยู่บริเวณนี้ และการผ่านกระบวนการอื่น ๆ ดังที่กล่าวมา ซึ่งจะต้องใช้เวลาเดินทางผ่านเส้นทางจราจรที่ติดขัดก็เป็นเรื่องไม่น่าสนุกนัก

ศูนย์กลางอัญมณีเป็นสิ่งที่ผู้ค้าและส่งออกอัญมณีต้องการเป็นที่สุด เพราะไม่เพียงแต่จะรวมขั้นตอนกระบวนการทุกอย่างไว้ในสถานที่เดียวกัน แต่ในแง่ของการสร้างอาคารศูนย์กลางขึ้นมาใหม่นั้น ผู้ค้าสามารถออกแบบอาคารสถานที่ควบคุมความปลอดภัยและการควบคุมในเรื่องแสง การติดตั้งกระจกเพื่อให้การชมและเลือกซื้ออัญมณีสามารถทำได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้การพิจารณาความงดงามของอัญมณีว่าจะเปล่งปลั่งแวววาวสักเพียงใด นั้นอาศัยดูกับแสงธรรมชาติจะเห็นชัดที่สุด

โครงการเจมโมโปลิสมีสิ่งที่ต่างไปจากโครงการศูนย์อัญมณีอื่น ๆ คือมีพื้นที่สำหรับสร้างโรงงานผลิต เจียระไนเพชร อัญมณีและเครื่องประดับ โดยในส่วนที่เป็นโรงงานนี้มีรวมทั้งสิ้น 46 หลัง และวิชัย อัศรัสกรกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าโรงงานเหล่านี้มีการจับจองไปหมดแล้ว และขณะนี้กำลังเปิดให้จองอาคารเทรดดิ้ง เซนเตอร์ 1 ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์หลังแรกในจำนวน 3 หลัง ที่จะสร้างขึ้นสนนราคาต่ำสุดยูนิตละ 4.5 ล้าน บาท/100 ตรม. สูงสุดยูนิตละ 25.65 ล้านบาท/570 ตรม.

ชาญณรงค์ อัศรัสกรจากกลุ่มเชียงเฮงกล่าวว่า "ลูกค้าที่มาจับจองพื้นที่ส่วนมากเป็น ชาวต่างชาติอย่างมิสเตอร์อาโอยาม่าจากบริษัท โอเรียลเต็ล ไดมอนด์ ก็สนใจโครงการเจม โมโปลิสมาก เขาเป็นลูกค้าเก่าแก่ที่ซื้ออัญมณีกับเรามาเป็นเวลานาน"

โยชิยูกิ อาโอยาม่า ผู้จัดการใหญ่บริษัทโอเรียลเต็ล ไดมอนด์ อิงค์ (ODI) ซึ่งเป็น 1ใน 200 บริษัทลูกค้าชั้นดีของบริษัทเดอเบียร์ส (DBS) ที่รู้จักกันทั่วโลกว่าเป็นผู้ค้าอัญมณีรายใหญ่ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมเดินทางเข้ามาซื้อเพชรในตลาดไทยนานกว่า 10 ปีแล้วโดยมียอดซื้อจากตลาดไทยสูงถึง 10-15% ของยอดซื้อทั้งหมดของ ODI คิดเป็นมูลค่าประมาณ 18-27 ล้านดอลลาร์จากยอดซื้อทั้งหมด 180 ล้านดอลลาร์/ปี"

ทั้งนี้เพชรที่อาโอยาม่าซื้อไปนั้นเป็นเพชรที่ผ่านกระบวนการเจียระไนแล้ว แต่ก็ถือเป็นวัตถุดิบที่ต้องเอาไปแต่งเข้าตัวเรือนอีกขั้นหนึ่ง

ชาญณรงค์กล่าวว่า "ข้อได้เปรียบของการผลิตในไทยคือ เราสามารถทำขนาด (SIZE) เล็กคือในขนาด .03-.10 กะรัตขึ้นไป ขณะที่แหล่งผลิตบางแห่งเช่นที่มอสโกมีความชำนาญแต่การผลิตขนาดใหญ่คือ .25 กะรัตขึ้นไป ซึ่งนี่ก็เป็นข้อได้เปรียบทางการตลาดของเรา แม้การผลิตขนาดเล็กจะราคาต่ำแต่ว่าเป็นที่ต้องการของตลาดมาก และญี่ปุ่นก็เป็นตลาดที่เราส่งออกเพชรไปจำหน่ายมากที่สุดแห่งหนึ่ง มูลค่าตลาดอัญมณีในญี่ปุ่นสูงถึง 200,000 ล้านเยน" อาโอยาม่าให้ข้อคิดเห็นว่าโครงการเจมโมโปลิสจะเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมอัญมณีที่สมบูรณ์ที่สุดเมื่อโครงการสำเร็จเรียบร้อย และในอนาคต ODI อาจพิจารณาลงทุนในเมืองไทยบ้าง แต่ต้องรอดูสถานการณ์สักระยะหนึ่งก่อน

เป้าหมายของผู้ค้าและส่งออกอัญมณีที่จะเห็นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 100,000 ล้านบาท/ปีจะเป็นจริงเมื่อไหร่นั้นคงต้องรอดูกันต่อไป โครงการศูนย์อัญมณีเหล่านี้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปีจึงจะสำเร็จ และเมื่อถึงเวลานั้นก็คงจะพอดีกับที่โครงการด้านคมนาคมขนส่งรายรอบเจมโมโปลิสเป็นรูปร่างจริงจังมากขึ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.