ถ้าพนักงานหนุ่มการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) คนนี้ไม่ดิ้นรนที่จะส่งเสียน้องเรียนหนังสือด้วยการเบนเข็มชีวิตตัวเองมาทำธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าก็คงจะไม่มีวันนี้
วันซึ่งเขาประสบความสำเร็จทั้งด้านส่วนตัวและธุรกิจอย่างมีความสุข
สมพงศ์ นครศรี รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า เจ้าของบริษัท
บางกอกเคเบิ้ลสายไฟฟ้า จำกัด ผู้ผลิตลวดทองแดงและสายไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ
บุคคลซึ่งมีหลักในการทำธุรกิจที่ต่างไปจากนักธุรกิจรายอื่นอย่างที่หลายคนบอกว่า
"แปลกแต่จริง"
สมพงศ์ จบวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาฯ ก็เริ่มงานที่การไฟฟ้านครหลวงและด้วยความ
ที่ "ดิ้นรน" มากไปหน่อย ในฐานะที่เป็นพี่ชายคนโตจึงอาสาส่งน้องเรียน
ขณะที่กฟน. กำลังจะปรับไฟฟ้าตามบ้านจากระบบ 110 โวลต์มาเป็น 220 โวลต์ทำให้ต้องวางแผนระบบการจำหน่ายใหม่
ระบบ 220 โวลต์ เป็นระบบที่เหมาะกับเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วมากกว่า...!
จังหวะตรงนี้ที่สมพงศ์เห็นว่าสายไฟจะต้องเปลี่ยนใหม่หมด จึงมีช่องทางที่จะทำธุรกิจสายไฟฟ้า
ด้วยการเริ่มเข้าไปถือหุ้นในบริษัท สายไฟฟ้า บางกอกเคเบิ้ล
แต่มีปัญหาว่าทำงานได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย กิจการจึงไม่ก้าวหน้า ต่อมาจึงตัดสินใจออกมาบริหารงานของบริษัทเต็มตัว
หลังจากที่ได้ประสบการณ์ด้านช่างและการติดตั้งไฟมา ไม่น้อย พร้อมกันนั้นครอบครัวของสมพงศ์ก็ซื้อหุ้นของบริษัทสายไฟฟ้าฯ
เมื่อปลายปี 2511
เมื่อมาบริหารงานเองแล้ว สมพงศ์ยอมรับว่าค่อนข้างมีอารมณ์ จะโกรธมากเมื่อสั่งงานแล้วไม่ได้ตามต้องการ
"ผมเป็นคนมีอารมณ์โกรธรุนแรง" สมพงศ์รู้ว่านี่คือจุดอ่อนของตัวเองและทำให้จิตใจมัวหมองหดหู่
คนที่รู้เท่าทันตัวเองเมื่อรู้ว่ามีปัญหา ก็หาทางแก้นั้น ที่สุดแล้วก็จะไม่รู้สึกว่า
มีปัญหาอีก...!
สมพงศ์ถามเพื่อนรุ่นพี่ซึ่งแก่กว่า 10 ปีเศษ ก็ได้รับคำแนะนำให้ไปฟังเทศน์ที่วัด
ชลประทานรังสฤษฎ์และส่งหนังสือของท่านพุทธทาสมาให้อ่าน
เมื่อเปิดโลกทรรศน์ตัวเองให้กว้าง ก็ทำให้เห็นช่องทางแก้ปัญหามากมาย แต่สมพงศ์เลือกเอาทางธรรม
"จิตว่าง" เป็นเรื่องที่สมพงศ์ศึกษามากที่สุดและโหมอ่านหนังสือเหล่านี้อยู่เป็นปีและทบทวนเกือบ
20 ครั้ง
สุดท้ายก็พบว่าการทำงานด้วยจิตว่างนั้นเป็นไปได้ นั่นหมายถึงการที่เราไม่ไปยึดถือสรรพสิ่งที่มีอยู่มากเกินไปยอมรับสัจธรรมที่ว่าทุกอย่างคืออนิจจัง
ยิ่งคนประกอบธุรกิจด้วยแล้ว ถ้านำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นคติเตือนใจและทำได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งจะคลายความกังวลได้มากเท่านั้น
เพราะไม่ใช่เฉพาะความโกรธที่ทำให้จิตใจหดหู่ แต่รวมไปถึงความโลภ หลงอื่น
ๆ
โดยเฉพาะในสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอน" คนที่ทำใจได้เท่านั้นที่จะไกลจากความตึงเครียดทางประสาท"
สมพงศ์ผู้ซึ่งผ่านการฝึกฝนจิตมาแล้วกล่าวอย่างมั่นใจ
หลายคนอาจจะแปลกใจว่าถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะทำธุรกิจให้กำไรได้อย่างไร.?
สำหรับสมพงศ์แล้วได้ยึดหลักธรรมในการใช้ชีวิตและทำธุรกิจ และเห็นว่าไม่เป็นเรื่องที่ขัดแย้งต่อการทำธุรกิจไม่ว่าจะอยู่ในภาวะแข่งขันที่รุนแรงเพียงใดก็ตาม
การทำธุรกิจเป้าหมายก็คือการหากำไร นั่นคือหน้าที่ว่าจะต้องทำอย่างนั้น
แต่สมพงศ์บอกว่า ในขณะที่มุ่งแต่กำไรก็ต้องเตือนใจไปว่าเราอาจจะขาดทุนก็ได้
เพราะโดยสภาพแวดล้อมจะมีปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่เราบังคับไม่ได้
เมื่อรู้ว่าปัจจัยไหนที่คุมได้คุมไม่ได้ จะทำให้เราเตรียมรับมือกับแต่ละสถานการณ์ได้ดีขึ้น
บริษัท สายไฟฟ้าฯ นั้นผลิตทั้งลวดทองแดงและสายไฟฟ้า ขายทั้งในและต่างประเทศ
โดยสมพงศ์ยึดหลักว่าจะต้องมีสัจจะ ถือคุณภาพเป็นหลัก
สำหรับการติดต่อการค้าในความคิดของสมพงศ์นั้นหากจะต้องติดต่อกับใครซึ่งไม่น่าไว้ใจ
ก็เลี่ยงเสียดีกว่า เพราะในธุรกิจจะค้าขายกันได้นาน ก็ต้องอาศัยความจริงใจ
"ธุรกิจใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนความสุจริตทั้งสิ้น"
เมื่อเจรจาการค้าก็ย่อมเจอชั้นเชิงและเล่ห์เหลี่ยมของธุรกิจ สมพงศ์บอกว่าถ้าเขาพูดอะไร
ไม่น่าฟัง ไม่ตรงกับใจเรา ก็ใช้วิธีเงียบ
ในธุรกิจไฟฟ้าที่สมพงศ์คลุกคลีมาแล้วกว่า 20 ปี เขาได้พัฒนาและขยายธุรกิจออกไปอย่างเงียบ
ๆ
ปัจจุบันมีบริษัทในเครือคือ ฮิตาชิ บางกอกเคเบิ้ล และไทยฮิตาชิ ลวดอาบน้ำยา
ช่วงไหนในประเทศมีดีมานด์สายไฟฟ้ามากก็มุ่งตลาดภายใน แต่เมื่อตลาดในประเทศซบเซาก็จะมุ่งตลาดนอกเป็นหลักและอยู่ในฐานะที่แข่งขันได้ทั้งด้านราคาและคุณภาพ
ถึงจุดที่เห็นว่าควรจะขยายกำลังผลิตเมื่อเตาหลอมทองแดงขนาด 8,500 ตันต่อปี
เริ่มเต็มกำลังผลิต สมพงศ์ก็เริ่มเสาะหาเตาหลอมใหม่ ซึ่งถ้าจะติดตั้งใหม่
ก็ต้องใช้มาตรฐานขั้นต่ำในตลาดโลกคือขนาด 40,000 ตันต่อปี
สมพงศ์เห็นว่า ถ้าเฉพาะบริษัทของตนทำเพียงรายเดียวก็เกินกำลังตลาดที่ตนมีอยู่ประมาณ
15,000 ตันต่อปี ขณะที่ทางเฟ้ลปส์ดอด์จ ไทยแลนด์ของชุมสาย หัสดิน ผู้ผลิตสาย
ไฟฟ้ารายใหญ่อีกแห่งของไทยกำลังจะขยายกำลังผลิตจากตลาดที่ตนมีอยู่ 15,000
ตันต่อปีเช่นเดียวกัน
บังเอิญว่าทั้งสมพงศ์และชุมสายต่างก็หาซื้อเตาหลอมใหม่ด้วยเป้าหมายเดียวกัน
จึงไปจ๊ะเอ๋กัน...!
ครั้นจะลงทุนเพื่อทำเฉพาะของตนเองก็เกินกำลังตลาดของแต่ละฝ่าย ขณะที่เตาหลอมขนาดเล็กที่สุดคือ
40,000 ตันต่อปี
ทั้งสองฝ่ายจึงเริ่มคุยกันเมื่อปี 2531 และเห็นว่าควรจะร่วมกันลงทุน
โดยทางสมพงศ์คือบริษัทสายไฟฟ้าฯ ฮิตาชิ บางกอกเคเบิ้ล ไทยฮิตาชิ ลวดอาบน้ำยา
ฮิตาชิ ญี่ปุ่นฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งคือเฟ้ลป์สดอด์จ ไทยแลนด์ สยามอีเลคทริค
และซูมิโตโม่ ญี่ปุ่น ร่วมถือหุ้นฝ่ายละ 50%
นั่นก็คือ ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบริหารชื่อว่าบริษัทไทยคอปเปอร์ ร็อด จำกัด
(THAI COPPER ROD) มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท
โรงงานนี้จะผลิตลวดทองแดงขนาด 8 มิลลิเมตร โดยทำให้ทองแดงผ่านความบริสุทธิ์ถึง
99.99% มีทำเลอยู่ที่สมุทรปราการ และได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
โดยเริ่มผลิตแล้วเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ในขนาดกำลังผลิตเดือนละ 2,500 ตัน
หรือปีละประมาณ 30,000 ตัน คาดว่าอีก 3 ปีจะใช้เต็มกำลังผลิตตามการขยายตัวของตลาดภายในและจากนั้นก็จะขยายเพิ่มเป็นปีละ
50,000 ตัน
แม้สมพงศ์กับทางเฟ้ลป์สดอด์จ ไทยแลนด์จะผลิตลวดทองแดงร่วมกัน แต่ด้านสายไฟฟ้าก็ยังคงผลิตและแข่งขันกันในตลาดเช่นเดิม
สมพงศ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าการร่วมมือลงทุนเตาหลอมเครื่องนี้
ทำให้ต้นทุนอยู่ในอัตราที่ต่ำ แข่งขันกับตลาดได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีซึ่งประสมประสานกันระหว่างสหรัฐกับเยอรมนีที่ทันสมัย
ได้มาตรฐานโลกในระบบที่เรียกว่า KRUPP-HAZELETT UNIT
อย่างไรก็ตาม วัตถุดิบคือทองแดงยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้แก่ ชิลี แซมเบีย
ด้วยการทำสัญญาเป็นปี ๆ ไป
เมื่อบริษัท สายไฟฟ้าฯ กับเฟ้ลป์สดอด์จ ไทยแลนด์ บริษัทซึ่งมีชื่อเสียงในการผลิตสายไฟฟ้าจับมือกัน
หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องแปลก...!
แต่เมื่อโลกการจัดการสมัยใหม่ยุคทศวรรษ 90 คู่แข่งขันต่างหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางร่วมมือทำธุรกิจ
แทนที่จะฟาดฟันกันให้ตายไปข้างหนึ่ง และสิ่งนี้เองที่ทำให้หลักกลยุทธ์ BUSINESS
ALLIANCE เกิดขึ้นทั่วโลก
สำหรับสมพงศ์นั้นถือว่าเมื่ออะไร ๆ ก็เปลี่ยน จึงต้องปรับตัวให้ทัน มิใช่มุ่งแต่ธุรกิจเฉพาะของตัวเอง
แต่จะต้องมองกว้างขึ้น เพื่อความพร้อมในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งก็เข้าหลักเดียวที่ว่าทุกอย่างอนิจจังนั่นเอง
ไม่ว่าจะทำธุรกิจหรือมีบทบาททางสังคมมากขนาดไหน สมพงศ์ยังคงมีวิถีชีวิตเรียบง่าย
อันต่างจากสไตล์นักธุรกิจโดยทั่วไป
สมพงศ์มีตำแหน่งหน้าที่ทางสังคมธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประธานสมาคมนายจ้างเครื่องใช้ไฟฟ้า
เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ประธานอนุกรรมการติดตามการจัดซื้อสินค้าของรัฐบาล
ประธานอนุกรรมการจัดทำหลอดภาพทีวี ประธานอนุกรรมการควบคุมการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมหรือแม้แต่
ประธานอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า
แต่สมพงศ์ไม่เคยรู้สึกวุ่นวายกับชีวิต เนื่องจากเขาได้อาศัยหลักธรรมมาเป็นแนวปฏิบัติ
สุรายาเมาที่เคยติดก็ละได้หมด...!
จากที่ต้องดื่มเหล้าเจือโซดา 2 แก้วก่อนทานข้าว สมพงศ์ก็มีอันตัดสินใจเลิกเมื่อได้ฟังท่านปัญญานันทะภิกขุเทศน์ว่า
"เหล้า...ถ้ากินแล้วไม่เมาก็อย่ากิน เพราะความหมายของการกินเหล้าอยู่ที่ว่ากินแล้วต้องเอาให้เมาหรือล้มกันตรงนั้นไปเลย"
สติและสัจจะคือสิ่งที่ทำให้สมพงศ์รู้สึกสงบแม้ในยามทำธุรกิจ..!
เพราะสมพงศ์ผ่านสนามซึ่งต้องชนะตัวเองมาแล้วอย่างหนัก โดยเฉพาะครั้งหนึ่งเมื่อป่วยเป็นไข้หวัด
พยาบาลที่เป็นภรรยาของหมอบอกว่า..ขออะไรสักอย่างได้ไหม...? สมพงศ์รับปากทันทีว่า
"ได้สิ"
แต่มันเป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับสมพงศ์เมื่อถูกขอให้เลิกสูบบุหรี่ จากที่เคยสูบวันละ
2 ซอง...!
เขาใช้ความพยายามอยู่ 2 อาทิตย์อย่างหงุดหงิดในอารมณ์อย่างมาก และไม่กล้าบอกใครว่าจะเลิกสูบบุหรี่
เพราะกลัวทำไม่ได้
แต่เมื่อได้ฟังเทปพระพยอม สมพงศ์ก็ตัดใจเลิกทันที โดยไม่รีรออะไรอีก เมื่อเอาชนะความเคยชินที่เคยอยากได้
นั่นดูเหมือนว่าจะเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ที่เขาภูมิใจ ซึ่งอาจจะยากยิ่งกว่าการทำธุรกิจด้วยซ้ำไป
แม้เขาจะเป็นนักธุรกิจแต่สมพงศ์ยืนยันที่จะใช้ชีวิตอย่างสมถะ ดื่มน้ำเปล่า
ไม่ใช้เครื่องประดับแม้แต่นาฬิกา
ตีสี่ คือเวลาตื่นนอนของสมพงศ์จากนั้นก็ทำสมาธิครึ่งชั่วโมง เพื่อเสริมพลังและสติก่อนที่จะต้องเผชิญปัญหาอีกตลอดวัน
เสร็จแล้วก็ออกวิ่ง
เขากำหนดตัวเองให้ถึงที่ทำงานไม่เกิน 6.45 น. ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าจะต้องบริหารเวลาให้มีประสิทธิภาพที่สุด
ด้วยหลักธรรมที่สมพงศ์ปฏิบัติมานาน จึงทำให้มั่นใจได้ว่าเขาจะมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสด้วยความสุขอันสงบจากใจได้ในทุกสถานการณ์...!