เชาวลิต ผู้วาดฝันให้ "จำลอง" ในคลองแสนแสบ


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

วันที่ 1 ตุลาคม 2533 เป็นวันแรกที่กรุงเทพมหานครเปิดให้มีการเดินเรือในคลองแสนแสบอย่างเป็นทางการโดยมี หจก. ครอบครัวขนส่งเป็นผู้รับดำเนินการ

จากแนวความคิดที่ต้องการจะคลี่คลายปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้การขนส่งทางน้ำเข้าช่วยเหลือเพื่อให้เป็นทางเลือกทางหนึ่งในการเดินทางของประชาชน

"โครงการเดินเรือในคลองนี้เริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นผู้ว่าการฯ กรุงเทพมหานคร สมัยที่แล้ว ได้มีการพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาเรื่องการจราจรบนท้องถนนที่ยิ่งนับวันก็ยิ่งติดขัดมาก จึงได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการที่กรุงเทพมหานคร จะใช้การขนส่งทางน้ำผ่านคลองต่าง ๆ ที่มีอยู่เข้ามาช่วย และเริ่มศึกษาโครงการเมื่อปลายปี 2531-2532 โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนกรุงเทพมหานครได้ทำการศึกษาเส้นทางเดินเรือในคลองที่มีแนวโน้มความเป็นไปได้ไว้ทั้งหมดประมาณ 16 เส้นคลองได้แก่ คลองแสนแสบ คลองพระโขนง คลองประเวศน์ คลองเปรมประชากร คลองตัน คลองสามวา คลองบางซื่อ คลองบางใหญ่ คลอง บางกอกน้อย คลองมอญ คลองชักพระ คลองบางมด คลองภาษีเจริญ คลองทวีวัฒนา คลองมหาสวัสดิ์ และคลองสนามชัย

โครงการเดินเรือในคลองนี้ถูกสานต่อมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่ 2 ของการเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร โดยเลือกเอาคลองแสนแสบเป็นเส้นทางแรกในการทดลองเดินเรือ สาเหตุที่เลือกเพราะคลองแสนแสบนี้เป็นคลองที่ผ่าเข้าถึงใจกลางเมืองและผ่านจุดคมนาคมที่สำคัญหลายแห่ง" พลตรีจำลองกล่าวถึงที่มาของโครงการเดินเรือในคลองแสนแสบ

หลังจากที่ได้ข้อมูลและมีความแน่ใจว่าจะเดินได้แน่จริง ๆ ทางคณะกรรมการพิจารณาการทดลองเดินเรือเพื่อแก้ปัญหาจราจรอันประกอบด้วยผู้แทนจากกรมธนารักษ์ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และกรุงเทพมหานครจึงได้พิจารณาร่างหลักการ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนเดินเรือในคลองแสนแสบ โดยได้ประกาศเชิญชวนไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ข้อกำหนดของผู้เข้ารับการส่งเสริมการเดินเรือมีหลักเกณฑ์ใหญ่ ๆ คือ

1. ผู้ที่จะเข้ามาเดินเรือจะต้องดำเนินการไม่ให้เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ
2.
3. จะเลือกส่งเสริมผู้ที่เสนอหลักการและโครงการที่ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด กรุงเทพมหานครจะไม่มีนโยบายหารายได้จากการเดินเรือนี้
4.
ซึ่งพลตรีจำลองได้อธิบายเพิ่มเติมว่า "กรุงเทพมหานคร ริเริ่มโครงการเดินเรือในคลองแสนแสบนี้ โดยตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่าจะไม่ขอมีส่วนกำไรแม้แต่บาทเดียว กรุงเทพ- มหานคร จะดำเนินการผสานงานอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง เพื่อให้ประชาชนได้มี ทางเลือกในการสัญจรไปมาและได้คลี่คลายปัญหาจราจรลงบ้าง สำหรับหลายคนที่ต้องอาศัยรถประจำทางหรือรถยนต์เพียงอย่างเดียว"

นอกจากนี้ในข้อกำหนดไม่มีเรื่องการให้สัมปทานแต่จะเป็นการให้ผู้ประกอบการ จดทะเบียน และทดลองเดินเรือ 3-6 เดือนก่อนจึงจะได้รับอนุมัติให้เดินเรือโดยสารประจำทาง สิ่งที่กรุงเทพมหานคร จะควบคุมคือในเรื่องของเสียง ความเร็วในการขับเรือ ส่วนเรื่องของราคาปล่อยให้เสรีขึ้นอยู่กับดีมานต์ ซัพพลาย เพราะจะต้องแข่งกับค่าโดยสารรถประจำทาง ซึ่งถ้าแพงกว่าแล้วบริการไม่ดีธุรกิจเดินเรือก็อยู่ไม่ได้

สิ่งที่กรุงเทพมหานคร ให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการที่เข้ามานอกเหนือจากการไม่เก็บผลประโยชน์ แล้วยังช่วยในเรื่องการจัดหาสถานที่สาธารณะเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือ โดยกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้จัดสร้างท่าเทียบเรือให้ ซึ่งกำหนดให้มีท่าเทียบเรือทั้งหมดตลอดเส้นทางยาว 18 กิโลเมตร (ตั้งแต่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนถึงสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์) จำนวน 34 ท่า ในจำนวนนี้ประมาณ 10 กว่าท่า เป็นท่าที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติอย่างเช่นท่าหน้าวัด เป็นต้นสำหรับที่เหลือประมาณ 20 ท่า เป็นท่าที่กรุงเทพมหานครจะต้องจัดสร้างเพิ่มเติม นอกจากนี้กรุงเทพมหานคร ยังช่วยในเรื่องของการขุดลอกคลองในบางช่วงรวมถึงการเก็บเศษขยะในคลองซึ่งทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว และการทำประชาสัมพันธ์ป้ายบอกทางขึ้น ลงเรือตามจุดต่าง ๆ ด้วย

เนื่องจากการเดินเรือในคลองแสนแสบเป็นเรื่องใหม่ในช่วงที่มีประกาศเชิญชวนออกไปทางกทม. เองก็ไม่มั่นใจนักว่าจะมีเอกชนสนใจมาลงทุนเพราะมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากไม่แน่ใจว่าประชาชนจะยอมรับและหันมาใช้บริการหรือไม่เนื่องจาก ติดเรื่องน้ำในคลองซึ่งอยู่ในสภาพที่เน่าแล้วและมีกลิ่นเหม็นพอสมควร ซึ่งถ้าหากไม่มีเอกชนรายใดสนใจเข้าร่วมโครงการ กทม. ก็ได้ประกาศที่จะดำเนินการเองถึงแม้ว่าจะขาดทุนบ้างก็ตาม

"ในช่วงนั้นมีไม่กี่รายที่ติดต่อเข้ามาอย่างเช่น รสพ. ก็สนใจติดต่อมาจะขอทำเรือติดแอร์ แล้วก็เงียบหายไปอีกรายก็บริษัทสินสมุทรมีหนังสือมาว่าจะขอทำโดยมีเงื่อนไขสัมปทานจากกทม. 20 ปี ซึ่งเรื่องนี้กทม.ไม่มีอำนาจที่จะให้ได้ ก็มีอีกรายหนึ่งคือ หจก. ครอบครัวขนส่งที่ยื่นเรื่องเข้ามาโดยไม่ได้ตั้งเงื่อนไขอะไรนอกเหนือจากการให้บริการและประโยชน์กับประชาชนสูงสุด จึงถูกเลือกให้เข้ามาทดลองทำการเดินเรือในคลองแสนแสบนี้" แหล่งข่าวในกทม. เล่าให้ฟัง

การอาสาเข้ามาเดินเรือในคลองแสนแสบของหจก. ครอบครัวขนส่งครั้งนี้ หลายต่อหลายคนรวมทั้งผู้ว่าฯ จำลองมองว่าเป็นการเสียสละเพื่อสังคมค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอนาคตที่ยังมองไม่เห็นว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ เพราะแม้แต่ผู้เชี่ยวกรากในธุรกิจขนส่งมวลชนทางน้ำอย่างเรือด่วนเจ้าพระยาก็ยังไม่สนใจโครงการนี้เลย

ในขณะที่เชาวลิต เมธยะประภาส เสนอตัวเข้าสานต่อแนวความคิดของผู้ว่าฯ จำลอง ให้เป็นความจริงในนามของหจก. ครอบครัวขนส่ง

ถึงแม้ว่าวันนี้ธุรกิจที่เชาวลิตทำอยู่คือการทำบ้านจัดสรรในโครงการหมู่บ้านสุพรรณ-ณิการ์ และสวนเกษตรที่นครนายก แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เชาวลิตมั่นใจว่าเขาสามารถทำธุรกิจนี้ได้

เชาวลิตเล่าให้ฟังว่า "แม่ผมเป็นคนปากเกร็ด เป็นคนแม่น้ำ ครอบครัวผมเติบโตและ คุ้นเคยมากับน้ำ ธุรกิจที่ครอบครัวผมทำอยู่ จนกระทั่งถึงปัจจุบันคือการรับส่งผู้โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไปในคลองต่าง ๆ ย่านปากเกร็ด โดยมีเรือหางยาวอยู่ประมาณ 10 ลำ นอกจากนี้ในสมัยที่ผมเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อปี 2514 ซึ่งเป็นรุ่นแรก ขณะนั้นยังไม่มีขสมก. รถประจำทางที่ให้บริการกับนักศึกษามีไม่เพียงพอ ผมก็จัดรถรับส่งนักศึกษาที่เรียกกันติดปากสมัยนั้นว่า "ด่วนราม" วิ่ง 2 เส้นทางคือ ปากคลองตลาด-ม.รามคำแหง โดยเช่ารถนำเที่ยวซึ่งเป็นรถบัสขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ทำงานมาวิ่ง ทำอยู่ประมาณ 4 ปีก็เลิกไปเพราะเกิดมีขสมก. ทำให้มีบริการรถโดยสารมากขึ้น นอกจากจะทำรถแล้ว ช่วงนั้นยังนำเรือหางยาวจำนวน 10 ลำมาวิ่งในคลองแสนแสบเพื่อรับส่งนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ระหว่างประตูน้ำกับม.รามคำแหง ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่วิ่งอยู่ในปัจจุบันเพียงแต่ว่าระยะทางสั้นกว่า ค่าโดยสารประมาณ 5 บาท ทำได้ประมาณ 2-3 ปี ก็เลิกเพราะมีการสร้างประตูกั้นน้ำในคลองเรือจึงวิ่งไปมา ไม่สะดวก"

จากประสบการณ์ในการขนส่งมวลชนที่ได้มานี่เองทำให้เชาวลิตสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการเดินเรือในคลองแสนแสบกับทางกทม. โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาและสำรวจความเป็นไปได้ในการที่จะลงทุนถึง 3 เดือน (หลังจากที่รู้แน่ว่ากทม. เอาจริงกับโครงการนี้) สิ่งที่ศึกษามีเรื่องระดับน้ำในคลองซึ่งแต่ละช่วงจะไม่เท่ากัน ทางสำนักการระบายน้ำจะเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมระดับน้ำโดยเฉลี่ยแล้ว ส่วนที่ตื้นที่สุดจะมีระดับน้ำสูง 1.70 เมตร และให้ระดับน้ำมีระยะห่างจากท้องสะพานข้ามคลองประมาณ 2 เมตร

ในเรื่องของธุรกิจแน่นอนว่าเรือจะต้องวิ่งรับผู้โดยสารตลอดทั้งวัน (06.00-19.00น.) ถึงแม้ว่าบางช่วงจะมีผู้โดยสารใช้บริการน้อยก็ตาม จากการศึกษาแล้วจึงกำหนดจำนวนเที่ยววิ่งใน 1 วัน จะวิ่งทั้งหมด 104 เที่ยวทั้งไปและกลับโดยชั่วโมงเร่งด่วนช่วง 06.00-08.00น. และ 16.00-18.00 น. หรือจะออกทุก 8 นาทีต่อลำ โดยใช้เวลาเดินทางจากต้นทางถึงปลายทางเพียง 1 ชั่วโมง ส่วนค่าโดยสารอยู่ในอัตรา 5-15 บาท

สำหรับเรือที่จะนำมาใช้วิ่งบริการนั้น ในช่วงของการทดลอง 3 เดือนแรกนี้จะเป็นเรือหางยาวขนาดใหญ่ที่วิ่งในแม่น้ำสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ประมาณ 40-50 คน โดยลักษณะของเรือแม่น้ำนี้กราบเรือจะสูงอยู่แล้ว ประกอบกับการทำแผงกั้นน้ำให้สูงขึ้นอีก 20 เซนติเมตร จึงช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าน้ำในคลองจะไม่กระเซ็นถูกผู้โดยสารขณะวิ่ง (ผู้โดยสารจะโผล่พ้นจากเรือแค่หูเท่านั้น) และเรือที่จะนำมาทดลองวิ่งจะมีทั้งหมด 20 ลำ ซึ่งส่วนหนึ่งเชาวลิตจะนำเรือของตนเองที่ใช้วิ่งอยู่ที่ปากเกร็ดมาบริการ อีกส่วนหนึ่งก็จะรวบรวมจากญาติพี่น้องเพื่อนฝูง และในช่วงที่ทดลองวิ่ง 3 เดือนนี่เองเป็นช่วงที่จะหาข้อสรุปได้ว่าเรือที่เหมาะสมที่จะวิ่งในคลองนี้ควรจะเป็นเรือแบบใด และนั่นหมายถึงการลงทุนที่จะมีต่อเนื่องไปอีก ซึ่งหากธุรกิจนี้ไปได้ก็มีเรือให้บริการเพิ่มเป็น 40 ลำ

ในขณะที่ยังไม่สามารถประเมินรายได้ที่จะได้รับจากธุรกิจที่กำลังทำอยู่กับเงินลงทุนต่อเดือนประมาณ 1.5 ล้านบาทซึ่งเป็นค่าน้ำมัน ค่าเรือและค่าพนักงานก็ดูเหมือนจะเป็นการเสี่ยงไม่น้อยทีเดียว แต่เชาวลิตก็ยืนยันว่า "ผมคิดว่าผมคงยืนอยู่ได้มากกว่า 3 เดือน แต่ถ้าจะพูดถึงทุนแล้วผมสู้ได้ถึง 3 ปี ผมว่าช่วงนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมเมื่อการจราจรเป็นจลาจลเหมือนทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าคนจะติดว่าน้ำเหม็น ก็คงมีส่วนหนึ่งที่ไม่อยากนั่ง แต่ว่าทางเลือกของคนในกทม. มันตีบตันขึ้นเรื่อย ๆ ผมพยายามทำธุรกิจเติมในสิ่งที่ขาดหรือจะเอาของเก่ามาปัดฝุ่นใหม่ในสถานการณ์และเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจ แต่ถ้าไม่คุ้มทุนหรือคลองมีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นสร้างถนนคร่อมคลอง หรือสร้างประตูกั้นน้ำ เรือผ่านไม่ได้ผมก็ต้องเลิกไปเองเหมือนที่เคยเลิกมาแล้ว"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.