พูลเพิ่ม สุวัณณาคาร ผู้เบิกศักราชท่องเที่ยวข้ามชาติให้ภูเก็ต


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ภูเก็ตไอแลนด์รีสอร์ทเป็นจุดกำเนิดความสำเร็จของพูลเพิ่ม สุวัณณาคาร ผู้จุดประกายการท่องเที่ยวระหว่างประเทศให้กับเกาะภูเก็ตเป็นคนแรกและวันนี้บริษัท ภูเก็ตไอแลนด์ ซึ่งเป็นบีชรีสอร์ทที่เก่าแก่ที่สุดของภูเก็ตกำลังรอเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ หลังจากเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 350 ล้านบาท และตั้งบงล. ธนสยามเป็นแกนนำอันเดอร์ไรเตอร์ ผู้จำหน่ายหุ้นละ 50 บาท

พูลเพิ่มเป็นชาวกรุงเทพโดยกำเนิดตรงกับวันแห่งประวัติศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่ต่อมาบิดาชาวจีนแต้จิ๋วซึ่งชื่อ "อุ๊" ได้เข้ามาตั้งกิจการร้านค้าเพชรพลอยชื่อ "ย่งยู่ฉั่ง" ที่จังหวัดภูเก็ต ทำให้ชีวิตวัยเด็กของพูลเพิ่มเติบโตและเล่าเรียนจนจบมัธยมศึกษาปีที่หกที่ภูเก็ต เมื่อเรียนจบก็ช่วยครอบครัวค้าเพชร

ความเป็นคนหนุ่มหัวก้าวหน้า พูลเพิ่มไม่หยุดอยู่เพียงแค่การเป็นพ่อค้าเพชร แต่กลับมองเห็นโอกาสทำกำไรจากกิจการเหมืองแร่ขณะนั้นที่กำลังบูม จึงเข้าไปทำเหมืองแร่และพอมีเวลาว่างพูลเพิ่มก็คิดหาที่สักแปลงปลูกสวนส้มเขียวหวาน ซึ่งต่อมาที่ดินผืนนี้ได้ถูกพัฒนาเป็นบีชรีสอร์ทแห่งแรกของภูเก็ต

"ที่ดินที่เขาซื้อได้ตอนนั้นประมาณร้อยไร่เศษอยู่ที่แหลมกา เจ้าของเดิมเป็นข้าราชการแล้วไม่มีกำลังพัฒนาที่ตรงนั้น จึงขายไปให้คุณพูลเพิ่มราคาถูก ๆ" แหล่งข่าวซึ่งเป็นคนเก่าแก่ในภูเก็ตเล่าให้ฟัง

ในระยะนั้นหาดราไวย์ยังไม่มีการพัฒนา แต่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นหาดทรายที่อยู่ใกล้ตัวเมืองภูเก็ตที่สุด ขณะที่หาดป่าตองนั้นอยู่ไกลและการเดินทางไปมาแสนจะทุรกันดาร

ภูมิทัศน์ที่งดงามของแหลมกาทำให้เศรษฐีภูเก็ตนิยมไปสร้างบ้านพักตากอากาศชายทะเลมากเช่นกลุ่มงานทวีก็สร้างบ้านพักตากอากาศที่นี่ และปลูกสวนมะพร้าวไว้หลังจากที่หมดยุคพระอร่ามสาครเขตต์ ซึ่งเดิมเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณนั้น

แต่ตอนนั้น พูลเพิ่มยังไม่ได้คิดทำรีสอร์ทจวบจนกระทั่งสวนส้มเขียวหวานปลูกแล้ว ไม่ได้ผลดี เพราะปัญหาขาดแคลนน้ำ แม้ว่าจะพยายามปลุกปล้ำแก้ไขอย่างไรก็ไม่สำเร็จ พูลเพิ่มไม่ยอมแพ้ เขาได้ทดลองนำเอาโครงการเลี้ยงเป็ดพันธุ์กากี ซึ่งให้ไข่ดกมาเลี้ยง โดยหวังว่าจะให้ผลดีเหมือนกับที่เขาเลี้ยงกันริมแม่น้ำตาปี จ. สุราษฎร์ธานี แต่งานนี้พูลเพิ่มคิดผิด!!! เพราะสภาพแวดล้อมที่เป็นทะเลทำให้เป็ดขี้ตื่นตกใจและไม่ยอมออกไข่ กิจการเลี้ยงเป็ดได้ขาดทุนต้องล้มเลิกไป

แม้ว่าการทำสวนส้มและเลี้ยงเป็ดจะขาดทุนยับเยินแต่กิจการเหมืองแร่ และการค้าเพชรทองก็ยังเป็นทุนสะสมที่เพียงพอสำหรับโครงการลงทุนใหม่ ๆ ของพูลเพิ่ม

"ท่านเป็นคนมองการณ์ไกล เพราะแร่เป็นสินทรัพย์ที่ต้องหมดไปวันใดวันหนึ่ง ในขณะที่การก้าวสู่ธุรกิจโรงแรมเป็นการขายบริการที่ไม่มีวันหมด" พงศ์อนันต์ สุวัณณาคาร ซึ่งเป็นลูกชายคนโตของพูลเพิ่มเล่าให้ฟัง

"ภูเก็ตไอแลนด์รีสอร์ท ชายทะเลแห่งแรกของภูเก็ตแห่งแรกจึงเกิดขึ้นที่หาดราไวย์ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว พูลเพิ่มเริ่มต้นปลูกกระท่อมเพียงแค่ 12 หลัง หลังละ 2 ห้องนอน สถานที่ตั้งของกระท่อม ก็เหมาะที่จะเดินเล่นและชมทิวทัศน์ของหาดทรายและทะเลงดงาม

ในระยะแรกแขกที่มาพักก็มาจากเพื่อนฝูงที่แนะนำกันมาแบบปากต่อปาก และการปลูกกระท่อมที่สร้างด้วยคอนกรีตสมัยนั้นก็ยังไม่กลมกลืนกับธรรมชาติจนกระทั่งกุศะ ปันยารชุน ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท WORLD TRAVEL SERVICE นึกอยากให้ปรับปรุงใหม่

จากไอเดียที่เพื่อนฝูงแต่ละคนแนะนำให้พูลเพิ่ม คิดการขยายการลงทุนปรับปรุงภูเก็ตไอแลนด์รีสอร์ทครั้งใหญ่ในปี 2517 มีบริการครบครันตามแบบรีสอร์ทมาตรฐานโลกคือสระน้ำ ห้องอาหารและบริการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ

การลงทุนที่ขยายเพิ่มขึ้นทำให้ต้องมีการเพิ่มทุนบริษัทเรื่อย ๆ จากทุนจดทะเบียนแรกเริ่มที่ตั้งไว้หนึ่งล้านบาทในปี 2515 ได้เพิ่มเป็น 5 ล้านบาทในปี 2517 จนกระทั่งปลายปี 2531 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 300 ล้านบาท

ภูเก็ตไอแลนด์ รีสอร์ทจึงเป็นกิจการที่ใหญ่มากและหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ก็คือตลาดลูกค้าชาวต่างประเทศในปี พ.ศ. 2513-2514 พูลเพิ่มเป็นเอกชนคนแรกที่เดินทางไปต่างประเทศเพื่อโปรโมทภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวและกิจการนี้ทำรายได้ในปี 2517 ได้ 7.05 ล้านบาทและกำไร 1.1 ล้านบาท จนกระทั่งปัจจุบันในปี 2532 มีรายได้มากถึง 151 ล้านบาทจากการขายบริการและห้องพักที่ปัจจุบันมีถึง 315 ห้องแล้ว โดยไม่ต้องพึ่งเชนโรงแรมเหมือนที่อื่น ๆ เพราะอาศัยทำตลาดลูกค้ามานานนับ 20 ปี

"ตอนที่พูลเพิ่มเขาทำอยู่นั้น การท่องเที่ยวยังขลุกขลักและคนอื่น ๆ เขาก็ยังสนุกสนานกับการทำเหมืองอยู่ แต่พอยุคหลังเหมืองแร่ถึงทางตันแล้ว เพราะราคาแร่ตกและแหล่งแร่กับแรงงานหายากขึ้น นายเหมืองเก่าอย่างบันลือ ตันติวิท เห็นท่าเหมืองแร่จะไปไม่ไหวก็หันมาลองจับโรงแรมดู ก็ถึงกับปรารถว่าถ้ารู้ว่าทำโรงแรมมันดีอย่างนี้ทำไปนานแล้ว" แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง

ภายในระยะเวลาไม่ถึงสิบปี ภูเก็ตเติบโตด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างมาก ๆ มีการพัฒนาที่ดินแถบชายทะเลหลายแห่งเป็นแหล่งตากอากาศระดับสูงและหาดป่าตองก็เป็นแหล่งดึงดูดใจนักลงทุนมากที่สุด มีโรงแรม บังกะโลและคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นหนาแน่นที่หาดป่าตอง

เมื่อหาดป่าตองเริ่มบูมพูลเพิ่มก็ขยายไปสร้างโรงแรมบ้านไทยบีชรีสอร์ทขึ้นที่นั่น ในนามของบริษัท เพิ่มพงศ์พัฒนา และที่ดินส่วนหนึ่งได้นำมาจัดสรรเป็นบ้าน ทาวน์เฮาส์ และอาคารพาณิชย์ขายในราคาหลังละ 7 แสนบาทในปี 2528 ซึ่งธุรกิจเศรษฐกิจไทยกำลังฟุบตัวเนื่องจากธนาคารพาณิชย์จำกัดการเติบโตสินเชื่อไว้ไม่เกิน 18% กว่าจะขายได้หมดโครงการก็ตกราวปี 2530 ถึงตอนนั้นราคาก็ขึ้นเป็นหลักล้านแล้ว

โรงแรมบ้านไทยบีช รีสอร์ทนี้ต่อมาได้โอนเข้ามาอยู่ในเครือของบริษัทภูเก็ต ไอแลนด์ในปี 2531 โดยตีมูลค่าเฉพาะสินทรัพย์ตัวอาคารไม่รวมค่าที่ดินเป็นเงิน 90 ล้านบาท

จากกิจการโรงแรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้พูลเพิ่มต้องซื้อสะสมที่ดินไว้เพื่ออนาคตและในเดือนกันยายนปีหน้าโครงการ "ภูเก็ตไอแลนด์ แมนชั่น" ที่ตั้งอยู่ใกล้เขารังก็จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ โดยจะขายแบบการจองพักแบบประจำและเหมาเป็นช่วงเวลา เจาะกลุ่มลูกค้าพนักงานสายการบินทั้งในและนอกประเทศที่ต้องผ่านภูเก็ต "ตอนนี้การบินไทยก็จองไว้ให้พนักงานไว้เรียบร้อยแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว

ครั้งหนึ่งพูลเพิ่มเคยปรารภกับเพื่อนเก่าคนหนึ่งว่าในอีก 5 ปี ถ้าเขามีแคชโฟลสักพันล้านบาท จะไปตั้งบริษัทแฟคเตอริ่ง ซึ่งทำหน้าที่รับซื้อลดใบอินวอยซ์สำหรับผู้ที่ขาดเงินทุนหมุนเวียน คล้าย ๆ กับการรับซื้อลดเช็ค

"เขาเคยบอกว่าทำโรงแรมและบ้านจัดสรรเหนื่อยสู้เอาเงินต่อเงินไม่ได้" แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง

แต่อุปสรรคสำหรับพูลเพิ่มวันนี้ ไม่ใช่เรื่องเงินทองแต่กลับเป็นเรื่องของสุขภาพ ขณะนี้ พูลเพิ่มได้ป่วยด้วยโรคหัวใจและอยู่ระหว่างการรักษาพักฟื้นร่างกาย ดังนั้นการบริหารงานกิจการทั้งหมดได้โอนไปอยู่ในมือทายาทคนโต คือพงศ์อนันต์ ซึ่งมีอายุ 32 ปี ส่วนการบริหารภายในบริษัทตกเป็นภาระแก่ลูกสาวคนสุดท้องชื่อพาณีหรือ "เจี๊ยบ" ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 28 ปี และเพิ่งเแต่งงานไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ก็ยังคงเป็นลูกที่ใกล้ชิดพูลเพิ่มมากที่สุด

พูลเพิ่มมีลูกชายหญิงสี่คนที่เกิดจากภรรยาชื่อนงนุช คือพงศ์อนันต์ พรรณนิภา พัฒนา และพาณี

วันนี้ธุรกิจของพูลเพิ่มไม่ขาดผู้สืบช่วงกิจการแล้ว แต่ตราบใดที่เขายังมีชีวิตอยู่เขาจะไม่ยอมหยุดคิดที่จะลงทุนทำธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น นี่คือชีวิตของ พูลเพิ่ม สุวัณณาคาร ผู้บุกเบิกศักราชการท่องเที่ยวคนแรกของภูเก็ตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.