ต้นเดือนกรกฎาคม แจน เดิร์ก ทิมเมอร์ ชาวดัทช์วัย 57 ปี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานบริหารคนล่าสุดของฟิลิปส์…บริษัทผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ของเนเธอร์แลนด์
สืบต่อจากคอร์ ฟอน เดอ คลุจท์ที่ลาออกไป ทั้งที่เคยมีผู้คาดการณ์ว่า ลูกหม้อเก่าของฟิลิปส์อย่างคลุจท์จะกุมบังเหียนกิจการไปจนถึงปี
1991 อันเป็นปีที่บริษัทจะมีอายุครบ 100 ปี
สาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารสูงสุดในครั้งนี้ก็เพราะ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากิจการของฟิลิปส์นั้นสั่นไหวอยู่ตลอด
จากข่าวตกเป็นเป้าหมายการเทคโอเวอร์จนต้องปรับโครงสร้างองค์กรไปหลายระลอก
ล่าสุดถึงขนาดที่รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายการดำเนินการประจำไตรมาสแรกของปี
1990 ตกจาก 223 ล้านกิลเดอร์ เหลือ 6 ล้านกิลเดอร์ และยังคาดหมายยอมขาดทุนประจำปีนี้ว่าจะสูงถึง
2,000 ล้านกิลเดอร์ ทั้งที่ปีก่อนทำกำไรได้ถึง 1,370 ล้านกิลเดอร์ จนบรรดาผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างหวาดหวั่นกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
หลังจากที่เคยเชื่อมั่นกับคำพูดของคลุจท์ ที่ย้ำในงานประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีว่าผลประกอบการปีนี้มีแนวโน้มดี
ตัวการที่คอยฉุดดึงให้ฟิลิปส์ต้องขาดทุนขนาดหนักในครั้งนี้ก็คือ ธุรกิจในส่วนระบบข้อมูลและคอมพิวเตอร์นั่นเอง
โดยเฉพาะการที่ฟิลิปส์มัวแต่ทุ่มเทให้ความสำคัญกับคอมพิวเตอร์ที่เป็นระบบเฉพาะของตนเอง
(OWN SYSTEM) โดยลืมไปว่าแนวโน้มของตลาดนั้นหันมาให้ความสนใจกับระบบเปิด
(OPEN-SYSTEM) ที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ผลิตรายอื่นมากขึ้นทุกขณะ
และเมื่อฟิลิปส์ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคไม่ได้
กิจการโดยรวมจึงซวนเซไปด้วย แม้ว่าฟิลิปส์จะพยายามแก้ปัญหาด้วยการเจรจาร่วมทุนกับโอลิเวตติแห่งอิตาลี
เพื่อพัฒนาธุรกิจส่วนนี้ แต่ก็ต้องล้มเหลวไปเพราะไม่อาจตกลงกันได้ ในส่วนของผลประโยชน์สำคัญของทั้งสองฝ่าย
ที่จริง วีส เดคเกอร์ อดีตประธานบริหารของฟิลิปส์เคยพูดถึงบริษัทของตนด้วยความภาคภูมิใจเมื่อปี
1982 ว่า ฟิลิปส์เป็นบริษัทข้ามชาติรายเดียวเท่านั้นที่ยังแข็งแกร่งพอที่จะต่อกรกับญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์
ในเมื่อยักษ์ดัทช์รายนี้ยังคงไว้ซึ่งงานวิจัยและพัฒนารวมทั้งผลิตสินค้าด้วยตนเอง
ผิดกับบริษัทอเมริกันระดับเบิ้ม ๆ ทั้งหลายที่พากันถอยทัพยอมแพ้ และยกเลิกอุตสาหกรรมผลิตสินค้าประเภทนี้ไปหมดแล้ว
หวังพึ่งเฉพาะสินค้าราคาถูกของญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่
เดคเกอร์อดเสียดายแทนบริษัทอเมริกันไม่ได้ที่ตัดสินใจทิ้งอุตสาหกรรมแขนงนี้ให้ตก
ไปอยู่ในกำมือของญี่ปุ่น เพราะระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ โทรศัพท์
คอมพิวเตอร์ ล้วนต้องมีปฏิสัมพันธ์กัน ถ้าถอนตัวออกจากส่วนสำคัญของคอนซูเมอร์
อิเล็กทรอนิกส์ ก็เท่ากับว่า "หลุดจากวงโคจรแห่งการเรียนรู้ และคุณจะไม่มีวันหวนกลับมาไล่ทันได้อีก"
คลุจท์เองก็มีความเห็นในทำนองเดียวกันกับเดคเกอร์ "ญี่ปุ่นไม่ใช่พระเจ้า"
เขาให้สัมภาษณ์ในนิตยสารบิสซิเนส วีคไว้อย่างนั้น "เรา (ฟิลิปส์) ยังคงสามารถประดิษฐ์คิดค้นสินค้าได้เองอยู่"
เพราะฟิลิปส์มีห้องแล็บเพื่อการวิจัยและพัฒนาถึง 8 แห่ง และทุ่มงบประมาณเพื่อการนี้ปีละกว่า
1,000 ล้านดอลลาร์ และยังมีโครงการร่วมทุนกับยักษ์ใหญ่ระดับโลกนับสิบบริษัท
ไม่ว่าจะเป็นการผลิตหลอดไฟร่วมกับมัตสุชิตะ, ผลิตคอมแพ็คดิสก์ร่วมกับโซนี,
ระบบโทรคมนาคมกับเอทีแอนด์ที หรืออุปกรณ์ในสตูดิโอ โทรทัศน์กับบอช เป็นอาทิ
แต่ในขณะที่รั้งตำแหน่งอันดับ 2 ของโลกทางด้านสินค้าคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์รองจาก
มัตสุชิตะจากแดนซามูไร และยังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบรรดาผู้บุกเบิกแห่งโลกคอน
ซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ จากที่มีผลงานการประดิษฐ์เครื่องเล่นเทปคาสเซตต์สำเร็จ
เมื่อทศวรรษ 60 ผลิตกล้องถ่ายวีดีโอได้ในทศวรรษ 70 และคอมแพ็คดิสก์ ในทศวรรษ
80 ฝีมือในเชิงการตลาดของฟิลิปส์กลับแย่เอามาก ๆ จึงพ่ายแพ้แก่คู่แข่งญี่ปุ่นในจุดนี้
และทำให้ฟิลิปส์เป็นที่หมายปองของบรรดานักล่าซื้อกิจการเรื่อยมา โชคดีอยู่หน่อยก็ตรงที่เนเธอร์แลนด์มีกฎหมายและเครื่องมือป้องกันเทคโอเวอร์กิจการบริษัทหลายอย่างฟิลิปส์จึงรอดพ้นวิกฤติไปได้โดยปริยาย
ยิ่งกว่านั้น ความเก่าแก่ของฟิลิปส์ซึ่งนัยหนึ่งช่วยให้ฟิลิปส์สั่งสมความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของบริษัทมาได้นาน
แต่ขณะเดียวกันก็ได้ทำให้ฟิลิปส์เติบโตขยายฐานออกไปจนมีขนาดใหญ่โตเทอะทะในลักษณะเดียวกับระบบราชการด้วยพนักงานของฟิลิปส์ในกว่า
60 ประเทศมีจำนวนถึงราว 305,000 คนทีเดียว แถมฟิลิปส์มีสไตล์การบริหารประเภท
"พ่อ ปกครองลูก" และเน้นการทุ่มเทกำไรไปเน้นความมั่นคงในด้านการจ้างงานจนมีชื่อเสียงเลื่องลือในแง่สวัสดิการพนักงานชนิดที่ไม่น้อยหน้าพนักงานของรัฐ
แต่จากปัญหาที่รุมเร้าฟิลิปส์อย่างหนักหน่วงมากขึ้น ระยะหลังฟิลิปส์จึงต้องเริ่มเล่นบทโหดที่ไม่เคยทำมาก่อน
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการปรับโครงสร้างด้วยวิธีลดต้นทุนอย่างที่บริษัทอื่นใช้
ซึ่งก็หมายความว่าจะต้องมีการปิดโรงงานและปลดพนักงานออกครั้งใหญ่ ช่วง 3
ปีที่ผ่านมามีการโละพนักงานออกไปทั้งสิ้น 32,000 คน และปิดโรงงานถึง 75 แห่งจากที่มีอยู่ทั้งหมด
420 แห่ง
นอกจากนั้นยังขายกิจการที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักอย่างเช่น ธุรกิจผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์
และกิจการผลิตยาสีฟัน ออกไป อีกทั้งตกลงผนวกกิจการในส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนกับ
เวิร์ลพูลแห่งสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว โดยขายหุ้นราว 53% ให้กับเวิร์ลพูล และถือหุ้นในมือราว
47% เพื่อจะได้มีเวลาทุ่มเทให้กับสินค้ากลุ่มที่ตนมีความถนัดมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าฟิลิปส์จะขายกิจการหรือหาผู้ร่วมทุนในธุรกิจผลิตเซมิคอนดักเตอร์
และธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์เพิ่มเติมอีกด้วย
ในส่วนของโครงสร้างการบริหารงานนั้น ที่ผ่านมาฟิลิปส์จะเน้นความสำคัญของการตัดสินใจจากส่วนกลางหรือสำนักงานใหญ่เป็นหลัก
ซึ่งแตกต่างจากแนวทางของคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นไอบีเอ็ม, เจเนอรัลอิเล็กทริค
หรือโซนี่ แต่นับจากนี้ ฟิลิปส์จะต้องเปลี่ยนนโยบายของตนเสียใหม่ โดยกระจายอำนาจให้ระดับผู้จัดการมีอำนาจการตัดสินใจมากขึ้น
ทั้งในเชิงการกำหนดยุทธวิธีขายและทำกำไรนั่นก็คือว่า แผนกสินค้าแต่ละแผนกย่อมรับผิดชอบบัญชีรายได้ของตนเองได้
ติดตามด้วยการจัดระเบียนธุรกิจในเครือให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น โดยแบ่งธุรกิจหลักออกเป็น
4 แขนงใหญ่ ๆ ด้วยกันคือธุรกิจผลิตหลอดไฟ, คอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีข้อมูล
ธุรกิจผลิตหลอดไฟฟ้านั้นเป็นส่วนที่ทำกำไรให้กับบริษัทถึงราว 1 ใน 3 เพราะหลอดไฟฟ้าฟิลิปส์นั้นได้ชื่อว่าเป็นหลอดไฟฟ้าที่ดีที่สุดในโลก
ครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกถึง 30% ฟิลิปส์จึงเดินหน้าพัฒนาธุรกิจส่วนนี้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟฟ้าชนิดประหยัดพลังงานหรือการบุกเบิกเปิดตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะยุโรปตะวันออก
ในส่วนคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์นั้น มีหัวหอกสำคัญคือบริษัทโพลีแกรมที่อยู่ในเครือและเพิ่งฟื้นฟูกิจการได้สำเร็จอย่างงดงาม
ด้วยฝีมือของแจน ทิมเมอร์ ในปี 1987 ธุรกิจในส่วนนี้จะรวมไปถึงการผลิตและจำหน่ายคอมแพ็ค
ดิสก์ด้วย
ด้านชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้น สินค้าที่เด่นของฟิลิปส์ก็คือซิพดีแรม
เพียงแต่ยังเป็นส่วนที่ฟิลิปส์มีส่วนแบ่งตลาดอยู่น้อย ทั้งที่เป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุด
ปัญหาสำคัญในขณะนี้จึงอยู่ที่การพยายามเปิดตลาดชิพในญี่ปุ่นและกลุ่มอาเซียนให้ได้
ส่วนกิจการด้านเทคโนโลยี่ข้อมูล บริษัทวิจัยดาต้า เควสท์แห่งสหรัฐฯ เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า
หากฟิลิปส์ต้องการให้กิจการส่วนนี้ของตนรุ่งโรจน์ขึ้นอีกครั้ง ภายในปี 1991
ฟิลิปส์จะต้องเร่งสางปัญหาภายในธุรกิจนี้ให้ได้ เพราะปัจจุบันนี้ฟิลิปส์มีส่วนแบ่งตลาดคอมพิวเตอร์ในยุโรปเพียง
1% เท่านั้น นับว่ายังห่างไกลจากคู่แข่งทั้งค่ายโอลิเวตติและซีเมนส์อยู่มาก
ฟิลิปส์ก็ได้ปรับปรุงกิจการในส่วนนี้ไปเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
โดยคงธุรกิจด้านฮาร์ดแวร์และระบบคอมพิวเตอร์แบบเปิดที่สามารถเชื่อมโยงกับคอมพิวเตอร์ของบริษัทอื่น
ๆ ได้เอาไว้ และเร่งลดการผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในระบบเฉพาะของตัวเองลง ผลจากการปรับโครงสร้างในส่วนนี้จะกระทบถึงแผนกธุรกิจระบบข้อมูลทั้งในส่วนนี้จะกระทบ
ถึงแผนกธุรกิจระบบข้อมูลทั้งในเนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, เยอรมนีตะวันตก,
สวีเดน, สหรัฐฯและแคนาดา
ภาระหน้าที่อีกอย่างของฟิลิปส์ก็คือ การทำให้เป็นองค์การระดับโลกอย่างแท้จริง
ซึ่งหมายถึงการเข้าไปสร้างฐานตลาดในอเมริกาเหนือและเอเชียให้มั่นคงจนทำยอดขายได้ถึง
1 ใน 3 ของยอดขายรวมประจำปี การจะเป็นเช่นนี้ได้ ฟิลิปส์จะต้องรู้จักใช้กลยุทธ์ประสานการประหยัดตามขนาด
(ECONOMY OF SCALE) ในกระบวนการผลิตสินค้าให้เข้ากับทักษะ ทางการตลาดที่มีความยืดหยุ่น
และปรับตัวตามความ ต้องการของท้องถิ่นแต่ละแห่งด้วย ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพาเฉพาะตลาดยุโรปเป็นหลักอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
แต่ภาระหน้าที่ทั้งหลายทั้งปวงข้างต้นก็ใช่ว่าจะลุล่วงไปได้โดยง่าย ประธานบริหารอย่างทิมเมอร์
ผู้ได้รับฉายาต่าง ๆ นานา (อ่านประวัติได้ในล้อมกรอบ) จะพานาวาธุรกิจลำมหึมานี้ไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่นับจากนี้คือช่วงเวลาที่จะพิสูจน์ฝีมือของเขาอีกครั้งหนึ่งโดยมีเดิมพันคือกิจการอายุร่วม
100 ปีอย่างฟิลิปส์นั่นเอง