You've Got a Mail จดหมายไม่มีลายมือในยุคอินเตอร์เน็ต


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

จดหมายไม่มีลายมือในยุคอินเตอร์เน็ต

ปริมาณการใช้อี-เมลในสหรัฐฯ ได้แซงหน้าการส่งจดหมายไปแล้วตั้งแต่ปีกลาย ข่าวนี้น่าทึ่งสำหรับผู้นิยมอินเตอร์เน็ต แต่สำหรับคนที่รักตัวอักษร บนแผ่นกระดาษ พวกเขาวิตกกันว่าการเขียนจดหมายที่มีลายมือเป็นเอกลักษณ์ กำลังจะหมดไปในยุคอินเตอร์เน็ตนี้

มื่อปี 1995 ปริมาณข้อความที่ส่งทางอี-เมลโดยเฉลี่ยในสหรัฐฯ สูงถึง 300 ล้าน ข้อความต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,500 ล้านข้อความต่อวันในปีนี้ อีกสามปีข้างหน้าตัวเลขจะสูงขึ้นไปเป็น 8,000 ล้านข้อความ ซึ่งมีทั้งการติดต่อธุรกิจ การร้องเรียนเรื่องต่างๆ การส่งเรื่องขำขันเวียนกันอ่านในหมู่เพื่อนฝูง ข่าวคราวของลูกๆ หลานๆ คนรักเก่า เพื่อนสมัยนักเรียน และอีกสารพันเรื่องราวที่สื่อผ่านอี-เมล

ข้อความนับพันล้านเหล่านี้ กำลังเป็นเหมือนออกซิเจนหล่อเลี้ยงโลกยุคอิน-เตอร์เน็ต ความสะดวกสบายในการใช้ ตลอดถึงประสิทธิภาพอันรวดเร็วทำให้ยังไม่มีสื่อใดมาเทียบชั้นกับอี-เมลได้ในขณะนี้

"ข้อจำกัดเชิงกายภาพทำให้เราไม่สามารถเคาะประตูบ้าน 2,000 หลัง เพื่อบอกข่าวคราวต่างๆ ได้พร้อมกัน แต่ตอนนี้ เพียงแค่เคาะปลายนิ้ว เราก็ทำได้ทุกอย่าง" มิเชล แอล.เดอร์ตูโซ (Michael L. Dertouzos) ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตต์ (MIT) บอก

"เมื่อสิบหรือยี่สิบปีก่อน ไม่มีทางที่พนักงานธรรมดาๆ จะได้พบกับผู้บริหารง่ายๆ" เรย์ แมกรูรี คณบดีคณะบริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยแห่งซาน ฟรานซิสโก กล่าว เขาเชื่อว่าอี-เมลกำลังจะนำไปสู่ความทัดเทียมกันในอุตสาหกรรมมากขึ้น

นี่คือข้อดีและความคิดในแง่ดีของผู้ที่นิยมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ แต่ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไป ก็มักจะมีเสียงท้วงติงหรือความวิตกกังวลบางประการควบคู่ไปด้วยเสมอ กรณีอี-เมลก็เช่นกัน มีผู้เห็นว่าอาจทำให้เราใช้สมอง คิดกันน้อยลง โกรธง่ายขึ้น และอาจลดทอนความเป็นมนุษย์ลงด้วย

"เมื่อครั้งที่มีอี-เมลใช้กันใหม่ๆ บางคนคิดไปว่าอี-เมลจะเป็นสื่อที่เย็นชา ไม่มีความเป็นส่วนตัว และยังทำให้ผู้คนไม่สามารถสร้างสายสัมพันธ์ต่อกัน" ซูซาน บาร์นส์ (Susan Barnes) นักวิจัยด้านการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม เล่า "แต่ที่จริงมันเป็นในทางตรงกันข้าม"

ยิ่งกว่านั้นอี-เมลก็ยังเป็นสื่อที่ช่วยให้เกิดความใกล้ชิดคุ้นเคยกันในแบบใหม่ ผู้พิการนับพันในสหรัฐฯ อาศัยอี-เมลติดต่อพูดคุยกัน วัยรุ่นเปลี่ยนพฤติกรรมจากการนั่งคุยโทรศัพท์นับชั่วโมง มาเป็นการคุยผ่านอี-เมลเป็นกลุ่มๆ ใน chat rooms

"พวกผู้ใหญ่ต่างหากที่ต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ให้เร็วขึ้น" โคเล็ตต์ บริงค์แมน (Colette Brinkman) อาสาสมัครวัย 70 ที่เข้าโครงการที่พักผู้สูงอายุในซิลิคอน วัลลีย์ ให้ความเห็น

อันที่จริง อี-เมลเป็นเพียงความสำเร็จในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิด พอล ซาฟโฟ (Paul Saffo) นักอนาคตวิทยาบอกและเปรียบเทียบอี-เมลกับการเกิดขึ้นของบริการไปรษณีย์ในศตวรรษที่ 18 ในอังกฤษ "ตอนนั้นคนเห่อเขียนจดหมายกันมากมายเหมือนที่เราเห่ออี-เมลตอนนี้" เขาบอกจดหมายของบุคคลสำคัญๆ กลายเป็นสิ่งมีค่าก็เพราะมีการเก็บรักษาไว้อย่างดี แต่ในอี-เมล "เราจะจำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะมันอันตรธานไปหมด"

นี่คือข้อวิตกประการเดียวของซาฟโฟ เพราะข้อความจำนวนมหาศาลอาจหายไปได้ทุกครั้งที่มีการอัพเกรดระบบคอมพิว-

เตอร์ หรือเมื่อฮาร์ดดิสก์เกิดมีปัญหา แม้แต่รัฐบาลสหรัฐฯ เองก็เริ่มมีข้อถกเถียงกันว่าจะเก็บรวบรวมข้อความในอี-เมลไว้จำนวนเท่าไร ใครจะรู้ได้ว่าข้อความใดจะมีความสำคัญในอนาคต เพราะจดหมายที่ประธานาธิบดีบิล คลินตัน เคยเขียนถึงพันเอกยูจีน โฮลมส์ เมื่อปลายทศวรรษ 1960 ก็กลายมาเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ไปแล้วในขณะนี้

ยิ่งกว่านั้น หากจะโต้แย้งว่าเนื้อหาสาระมีความสำคัญ แต่ใครจะเถียงว่ารูปแบบไม่มีความหมาย จะมีข้อความในอี-เมลสักเท่าไรที่ปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกได้เท่ากับจดหมายที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ที่รัก" หรือน่าประทับใจไปกว่าจดหมายของลูกที่เขียนถึงซานตาคลอสเป็นฉบับแรกด้วยดินสอสี นี่ยังไม่นับถึงจดหมายที่ทำให้เราโกรธจนต้องขยำทิ้งทันทีที่อ่านจบ

ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย รัฐบาลสหรัฐฯ เคยจัดบริการอี-เมลให้กับทหารที่ต้องออกรบ แต่แอนดรูว์ แคร์รอล (Andew Carroll) หัวหน้าโครงการบทกวีและการเขียนอเมริกันกำลังรวบรวมจดหมายนับหมื่นของเหล่าทหารที่ส่งไปมาในช่วงสงคราม ซึ่งมีทั้งรูปแบบจดหมายธรรมดาและอี-เมล แต่เขาบอก "ทหารในปัจจุบันมีความฉลาดเฉลียวและมีการศึกษาดีกว่าเมื่อราว 130 ปีก่อน แต่กระนั้นจดหมายในช่วงสงครามระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ก็ยังโดดเด่น ชนิดที่อี-เมลเทียบไม่ติดเลย"

ประเด็นที่ว่าอี-เมลดีหรือไม่ดีอย่างไร คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องด่วนสรุปในตอนนี้ เพราะอี-เมลยังเป็นเทคโนโลยีที่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เดอตูโซส์ คาดว่าปริมาณการใช้อี-เมลจะเพิ่มขึ้นถึงสิบเท่าตัวในสิบปีข้างหน้า ทำให้แต่ละคนรับข้อความผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ถึงกว่า 1,000 ข้อความต่อวัน และในอนาคตสื่อชนิดนี้อาจเชื่อมโยงกับภาพ และเสียงด้วย

วันหนึ่งข้างหน้า ถ้าลูกสาววัย 14 ไปพักร้อนต่างประเทศกับกลุ่มเพื่อน แล้วส่งอี-เมลมาบอกข่าวคราวทุกวัน รวมทั้งภาพถ่ายสวยๆ ให้ดู คนเป็นพ่อแม่ย่อมสบายใจที่รู้ว่าลูกสาวปลอดภัยและมีความสุข

วันนี้ อี-เมลกำลังก้าวไปข้างหน้า เหมือนกับที่มนุษย์เราต้องพัฒนาต่อไป และไม่ว่าเราจะใช้เทคโนโลยีอะไร เราก็คือมนุษย์ที่โหยหาข่าวสารและแสนเป็นสุขใจเมื่อคนที่รักติดต่อมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.