"ปูนใหญ่" คู่ปรับ "ทีพีไอ"

โดย วิลาวัณย์ วิวัฒนากันตัง
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ก่อนปี 2526 ปูนใหญ่จะผลิตปูน ผลิตเยื่อกระดาษหรือสินค้าอื่นใด ทีพีไอแทบจะไม่สนใจ แต่เมื่อเริ่มมีโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติ (ปคช.) เกิดขึ้น ปูนใหญ่เป็นอีกรายหนึ่งที่สนใจลงทุนในแขนงนี้

ปูนใหญ่จึงตั้งบริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด (ทีพีอี) ขึ้นเมื่อปลายปี 2526 เข้าร่วมถือหุ้นในบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด 15.9% และทีพีไอร่วมถือหุ้น 14.4% โดยมีปตท.เป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ 49%

ยังมีบริษัทดาวน์สตีมอีก 2 บริษัท คือ บริษัท เอชเอ็มซี โลลิเมอร์ จำกัดและบริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัดร่วมถือหุ้นเพื่อรับเอททีลีนจากโรงโอเลฟินส์ของปคช.มาผลิตเม็ดพลาสติก

ทีพีอีนั้นไม่เพียงแต่มีโครงการผลิตพีอีในปิโตรเคมี -1 เยี่ยงทีพีไอเท่านั้น แต่ยังได้รับส่งเสริมให้ผลิตเม็ดพลาสติกพีพีในปิโตรเคมี -2 เช่นเดียวกับทีพีไอ แต่ทีพีไอจะผลิตได้ก่อนในปีนี้ ขนาดกำลังผลิต 80,000 ตันต่อปี

พีพีนั้นจะต่างกับเอชดีคือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพีพีจะดูสวย บาง น้ำหนักเบา แต่ไม่แข็งแรง ขณะที่เอชดีจะทนทานกว่า แต่สวยน้อยกว่า โดยที่เป็นอยู่ในขณะนี้ตลาดพีพีและเอชดีจะมีส่วนที่คาบเกี่ยวกันอยู่ แต่แนวโน้มนั้นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกจะเลือกใช้เม็ดพลาสติกตรงตามคุณสมบัติของสินค้ามากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ทั้งทีพีไอและปูนใหญ่ต่างก็ได้บีโอไอในการผลิตโพลีออล เม็ดพลาสติกซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตฟองน้ำ

ในยุทธจักรของการค้าปูน ปูนใหญ่ย่อมได้เปรียบ เพราะบุกเบิกและมีความเชี่ยวชาญมากว่า 70 ปี แต่ในยุทธจักรผลิตเม็ดพลาสติกพีอีแล้ว ต้องยกให้ทีพีไอซึ่งเป็นต่อหลายขุมในการสี่ยงลงทุนเป็นรายแรกในภูมิภาคนี้

แม้จะมีอายุเพียงรอบปีเดียว แต่ต้องยอมรับว่าทีพีไอได้รุกไปไกลแล้ว ชนิดที่ทีพีไอกล้าพิสูจน์ว่า ถ้าพูดถึงความเชี่ยวชาญด้านเม็ดพลาสติกพีอีแล้ว "เขาไม่เป็นรองใคร" แหล่งข่าวระดับสูงวิจารณ์ "โดยเฉพาะประมวล (เลี่ยวไพรัตน์) ซึ่งคุมทางด้านโรงงาน"

"เป็นเรื่องไม่แปลกที่ปูนใหญ่มาลงทุนเม็ดพลาสติกหรือทีพีไอไปลงทุนปูน แต่ถ้านักลงทุนรายใหญ่ขยายการลงทุนเป็นหน้ากระดานและทำครบวงจรด้วย ก็จะทำให้การแข่งขัน ผูกขาดกันอยู่ไม่กี่ราย โอกาสที่รายเล็กจะเกิดก็ยาก เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องอาศัยการเป็นแนวร่วมซึ่งกันและกัน ทำให้การผลิตอยู่ในมือนักลงทุนไม่กี่ราย" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

แต่ในช่วงแรกที่ทีพีไอเข้าตลาด อภิพร ภาษวัธน์ กรรมการผู้จัดการทีพีอีเคยกล่าวว่า คงต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปีในการครองสัดส่วนตลาด เพราะปัจจุบันทีพีไอยึดตลาดไว้หมด

ทีพีอีซึ่งเป็นบริษัทลูกของปูนใหญ่นั้น ถ้าพูดถึงสไตล์การค้าของปูนใหญ่แล้ว จะไม่นิยมตัดราคา แต่คราวนี้ทีพีอีต้องนำเข้าเม็ดพีอีในราคาสูง แล้วเข้ามาตัดราคา 20-30% เพื่อดึงดูดลูกค้าเพื่อสร้างตลาดในระยะแรก ขณะเดียวกันก็พยายามตั้งชมรมสมาชิกผู้ใช้เม็ดพลาสติกเพื่อขายเม็ดพลาสติกให้โดยตรง

ด้านทีพีไอก็ไม่น้อยหน้า ตอนหลังให้เอเย่นต์ทำสัญญาผูกมัดกันเลยว่า ถ้าขายเม็ดพลาสติกของทีพีไอแล้วห้ามขายของรายอื่นตลอดไป จนทำให้บรรดาเอเย่นต์เริ่มเคลื่อนไหวคิดตั้งบริษัทกลางเป็นตัวแทนขายเม็ดพลาสติกของทั้งค่ายทีพีไอและทีพีอีแต่ไม่เป็นผล

ตอนนี้ "ทีพีอี กำลังพยายามตามทดสอบคุณภาพเอชดีของทีพีไอเพื่อประเมินตลาดอยู่ ขณะที่ทีพีไอก็พยายามตามดูคุณภาพของทีพีอีเช่นเดียวกัน" แหล่งข่าววงการพลาสติกเล่าถึงความเคลื่อนไหวในตลาด

เอชดีของทีพีอีที่ผลิตออกมา ส่วนหนึ่งส่งออกไปยังสหรัฐ

พูดไปแล้ว การเข้าตลาดของทีพีไอและทีพีอีนั้นต่างกัน

ทีพีไอเกิดก่อน ท่ามกลางความไม่แน่ใจของผู้ใช้ว่าคนไทยจะผลิตเม็ดพลาสติกได้เอง ทีพีไอในช่วงนั้นถึงขนาดเปิดตัวขนานใหญ่ให้บรรดาผู้ใช้เม็ดพลาสติกทุกแขนงที่เกี่ยวข้องเข้าชมระบบการผลิตเอชดีในโรงงานอย่างละเอียด เพื่อยืนยันว่า…ทำได้โดยทีพีไอ ฝีมือคนไทย…"มิใช่นำเข้ามาขายแล้วอ้างว่าผลิตได้เองดังที่โจษขานกัน"

เนื่องจากตอนนั้น เพิ่งจะผลิตเม็ดพลาสติกแอลดีและเอชดีได้เอง ดีมานด์ที่นำเข้าจากต่างประเทศก็หันมาใช้ของทีพีไอแทน ขณะนั้นรัฐบาลตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าแอลดีและเอชดีเพื่อปกป้องผู้ผลิต จนผู้ใช้รู้สึกว่าตนเหมือน "ลูกไก่ในกำมือ" ที่ทีพีไอคิดจะขึ้นราคาเมื่อไหร่ก็ได้

นั่นเป็นความเจ็บปวดของผู้ใช้ในห้วงเวลาที่ผ่านมา อันเป็นธรรมดาของตลาดธุรกิจใหญ่ที่มีผู้ผลิตผูกขาดเพียงรายเดียว แม้ว่าจะมีคุณภาพดีตามต้องการสักเพียงใดก็ตาม

การเกิดของทีพีไอนั้น ซัพพลายได้ต่อเนื่อง แต่ไม่พอป้อนความต้องการของผู้ใช้ เมื่อทีพีอีแทรกเข้ามาในตลาด ผู้ใช้เองก็ต้องอาศัยเวลาปรับการเลือกใช้ เพราะการเสี่ยงใช้ยี่ห้อใหม่แค่คุณภาพเม็ดพลาสติกต่างกันเพียงเศษธุลี คุณภาพผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ออกมาจะเพี้ยน ไปอย่างเห็นได้

ปัญหาของทีพีไอในตอนนี้อยู่ที่ซัพพลายได้ไม่ต่อเนื่องแหล่งข่าวระดับสูงจากวงการพลาสติกกล่าว "เขาคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการปรับตัว"

อย่างไรก็ตาม การมีผู้ผลิตหลายรายย่อมดีกว่ารายเดียวแน่ จะทำให้แข่งขันกัน ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.