เอ็มซีซี


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซีในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวที่น่าจับตาดูหลายประการ โดยเฉพาะราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากมาย!!

ภายหลังจากการลาออกของนพพร พงษ์เวช กรรมการผู้จัดการบงล. เอ็มซีซี (ซึ่งดำรงตำแหน่งมาประมาณ 2 ปี) เมื่อปลายเดือนมกราคม 2533 หลังจากนั้นหุ้นของเอ็มซีซีก็พุ่งขึ้นมาตลอดและพุ่งแรงยิ่งขึ้นเมื่อ ข่าวการร่วมมือกับบริษัทเชส (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ CHASEMANHATTAN CORPORATION ถือหุ้น 100% เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2533 และพุ่งขึ้นอีกเมื่อคณะกรรมการของเอ็มซีซีประกาศว่า ผู้มาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการคนใหม่คือ ชาญชัย ตุลยะเสถียร นักบริหารการเงินจากไทยออยล์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2533

วิเคราะห์กันว่าการที่หุ้นเอ็มซีซีพุ่งขึ้นอย่างมากจากที่เคยเคลื่อนไหวอยู่ในระดับประมาณ 50-60 บาทเมื่อปี 2532 แต่ ณ วันที่ "ผู้จัดการ"ปิดต้นฉบับนี้ราคาขึ้นไปถึง 257 บาท เหตุผลก็คือ หนึ่ง ผลประกอบการออกมาดี กำไรครึ่งปีแรกของ ปี 2533 คือ 100 ล้านบาทนั้นมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2532 ถึงเท่าตัว สอง กระแสโดยรวมของหุ้นในกลุ่มบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สูงขึ้นทุกตัว สาม กระแสข่าวบริษัทเชส (ประเทศไทย) ซึ่งร่วมมือและร่วมทุน 10% กับเอ็มซีซี โดยที่บริษัทเชสจะส่งออร์เดอร์คำสั่งซื้อหุ้นของลูกค้ามาผ่านบงล. เอ็มซีซีเช่นเดียวกับบงล.ศรีมิตรร่วมมือกับบริษัทแบริ่ง (ประเทศไทย) และข่าวลือเกี่ยวกับการเปลี่ยนผู้บริหารซึ่งคาดว่าจะทำให้ทิศทางบริษัทเปลี่ยนไปนับว่ามีผลต่อจิตวิทยาของตลาดไม่น้อย

กรณีนพพร พงษ์เวชซึ่งมาด้วยแรงหนุนของบุญมา วงศ์สวรรค์ประธานกรรมการบริษัท สไตล์ของนพพรซึ่งตลอดชีวิตของเขาเป็นนายธนาคารมาตลอด เขาเป็นคนหัวก้าวหน้าแบบอนุรักษ์ ก้าวหน้าในเชิงการมองการณ์ไกลในการพัฒนาคนเตรียมพัฒนาองค์กรและพยายามที่จะให้ความสำคัญกับธุรกิจในหลายลักษณะทั้งการให้สินเชื่อรายใหญ่ การทำ HIRE PURCHASE การทำการประกัน การขายหุ้นบริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ นพพร ไม่ต้องการเน้นไปที่ธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่ง กำลังบูมมาก ๆ ทั้งนี้เพราะความคิดที่ว่าหากวันใดตลาดหลักทรัพย์เกิดมีปัญหา จะมีผลกระทบต่อฐานะของบริษัทโดยตรง จึงไม่อยากให้ทุ่มเทไปในทิศทางของหลักทรัพย์มากเกินไป ซึ่งวิธีคิดของเขาไม่เป็นที่พอใจของกรรมการบริษัทบางคน แต่ที่ยังทำงานมากันได้ก็เพราะมีผู้ใหญ่อย่างบุญมาคอยไกล่เกลี่ยครั้นบุญมาล้มป่วยจนไม่สามารถมาทำงานได้ แรงกดดันจึงกระหน่ำไปที่นพพรจนเขาต้องตัดสินใจ ลาออกในที่สุด ส่วนบุญมาก็ลาออกในเวลาต่อมา

คนที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็คือบางกอก เชาว์ขวัญยืน บางกอกเป็นกรรมการบริหารบริษัทไทยออยล์และเป็นกรรมการที่เอ็มซีซีด้วย เขาเพิ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในคณะกรรมการก่อนนพพรจะตัดสินใจลาออกไม่นานนัก แหล่งข่าวระดับสูงในเอ็มซีซีให้ความเห็นกรณีการเข้ามาของบางกอกว่า "บางกอกเห็นว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นั้นกำลังบูมมาก โอกาสที่จะทำกำไรเห็นได้ชัด ๆ มันเหมาะมากที่จะใช้เป็นฐานสำหรับการสร้างธุรกิจประเภทนี้ โดยตัวของมันเองและธุรกิจ อื่น ๆ ของบางกอกเอง บางกอกคงคิดจะปักหลักที่นี่เพราะที่ไทยออยล์เขามีปัญหากับผู้ใหญ่ที่นั่นพอสมควรและทำอะไม่ค่อยได้นัก ประกอบกับหุ้นในส่วนของเชาว์กำลังจะถูกลดทอนลง เพื่อกระจายให้กับคนภายนอกจากมาตรการเข้าตลาดหลักทรัพย์เขาจึงวางแผนที่จะยกทีมเอาคนที่เขาเชื่อมือและไว้วางใจได้เข้ามาในเอ็มซีซี"

สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2533 คณะกรรมการมีมติให้บางกอกขึ้นเป็นประธานแทนบุญมา และให้ธีรพงษ์ มณเทียรวิเชียรฉาย ผู้จัดการฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดที่ชาญชัยดึงตัวมาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป รายงานตรงต่อเขาที่เอ็มซีซี

หากพิจารณาทีมผู้บริหารใหม่จะเห็นได้ว่าชาญชัยเป็นลูกน้องบางกอกที่ไทยออยล์เป็นมือโปรด้านบริหารการเงินคนหนึ่งในยุทธจักรซึ่งเคยอยู่เบื้องหลัง การทำตั๋วเงินบาทไทยออยล์อันลือลั่นมาแล้ว ส่วนธีรพงษ์ก็เป็นคนที่มีฝีมือหาตัวจับยากในเรื่องของการค้าเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นคนที่มาดูแลด้านตลาดเงิน และก็อาจจะเตรียมไว้สำหรับการคาดหวังในอนาคตเมื่อธนาคารชาติประกาศให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ใหญ่ ๆ (บางแห่ง) สามารถทำธุรกิจปริวรรตเงินตราต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งก็มีแนวโน้มมากว่าจะป็นเช่นนั้น หากเมื่อถึงเวลานั้นจริงและเอ็มซีซีได้ใบอนุญาติก็จะได้เปรียบเพราะเตรียมผู้เชี่ยวชาญไว้แล้ว

การบริหารงานภายใต้ทีมงานคนหนุ่มทั้งสามคนนั้นมีแนวโน้มว่าจะทำให้เอ็มซีซี AGGRESSIVE มากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องธุรกิจบริหารตลาดเงิน และบางด้านของธุรกิจวาณิชธนกิจที่มีความเป็นไปได้สูงที่เอ็มซีซีจะร่วมมือกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเปิดฉากรุกธุรกิจตลาดเงิน (MONEY MARKET) ร่วมกันเพราะธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีเครือข่ายธุรกิจบริการทางการเงินที่กว้างขวางมากในตลาดการเงินเอเซียแปซิฟิค ซึ่งจะให้ผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่ายและคงจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในเอ็มซีซีอีกมาก คาดกันว่าจะทำให้หุ้นเอ็มซีซีหวือหวาต่อไปรวมทั้งตัวบริษัทเองด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.