พ.ร.บ.ประกันสังคมจะบังคับให้นายจ้างพัฒนาฝีมือคนงานมากขึ้น


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้ามองในแง่ของการพัฒนาประเทศแล้วถือว่ากฎหมายประกันสังคมเกิดขึ้นด้วยสายตา ที่มองการณ์ไกล เป็นการป้องกันและตรียมแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากไทยกำลังเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาพที่เราเริ่มเห็นได้ชัดเจนในขณะนี้

จะเห็นว่าเกษตรกรได้กลายมาเป็นแรงงานรับจ้างแทนที่จะเป็นผู้ขายผลผลิตอย่างเก่า อันเป็นผลพวงจากอุตสาหกรรมที่ได้ขยายตัวออกสู่ภูมิภาค ที่ดินถูกกว้านซื้อ ขณะที่พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่กำลังกลายเป็นเขตอุตสาหกรรม และอีกส่วนหนึ่งนั้น ต่อไปจะดำเนินการธุรกิจเกษตรโดยบริษัทธุรกิจ และอาศัยเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

จึงมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ในอนาคตประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะกลายเป็นลูกจ้างเสียส่วนใหญ่ เพระการทำไร่ทำนาได้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการไปในรูปของอุตสาหกรรมแล้ว ดังนั้นกฎหมายประกันสังคมจะกลายเป็นส่วนควบของสังคมอุตสาหกรรมเลยทีเดียว

ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและถูกต้องในการออกกฎหมายฉบับนี้มาการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันรับผิดชอบในการจ่ายเงินร่วมกัน ถ้าไม่ใช่การประกันสังคมแล้วรัฐจะต้องรับภาระเพิ่มขึ้น

การที่เรามีกฎหมายประกันสังคม โดยกำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และรัฐบาลออกเงินสมทบฝ่ายละ 1.5% ของอัตราเงินเดือนแต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือนนั้นโดยส่วนตัวแล้วมองว่าเป็นการลดภาระของรัฐบาล นั่นก็คือรัฐออกเพียงส่วนเดียว อีกสองส่วนที่เหลือนายจ้างกับลูกจ้างก็จ่ายกันเอง

อันที่จริง เรามีกฎหมายกองทุนทดแทนที่จะให้หลักประกันแก่ลูกจ้างในเวลางาน แต่กฎหมายประกันสังคมจะเป็นส่วนที่เสริมจากกฎหมายกองทุนทดแทน โดยจะให้หลักประกันแก่ลูกจ้างในองค์กรที่มีตั้งแต่ 20 คนขึ้นไปในระยะแรก 4 ประเด็น คือ คลอดบุตร เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตายนอกงาน ซึ่งเมื่อก่อนเราไม่มี แต่พอมีกฎหมายประกันสังคม ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เสริมเพิ่มขึ้นจากกองทุนทดแทน

เมื่อเป็นอย่างนี้ หลายคนเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุน เนื่องจากเห็นว่าจะกลายเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และจะทำให้พ่อค้าผลักภาระไปให้ผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนที่สูงขึ้นนั้น อันนี้มีผลกระทบอยู่บ้างในบางส่วน

สำหรับบริษัทใหญ่ที่ให้สวัสดิการอะไรต่าง ๆ ดีกว่าที่กฎหมายประกันสังคมกำหนดไว้ ก็สามารถ CLAIM จากกรรมการประกันสังคมได้ ส่วนบริษัทที่มีสวัสดิการยังไม่ดีนักอาจจะคิดว่าเป็นภาระต้นทุนนั้น ที่จริงการสมทบเงินเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายที่จะกระทบโดยตรงเหมือนกับค่าจ้าง

ค่าจ้างโดยทั่วไปสำหรับธุรกิจไฮเทคจะคิดเป็นประมาณ 10% ของต้นทุน ส่วนกิจการที่ต้องใช้แรงงานฝีมือมาก ๆ เช่นเจียระไนพลอย ไม่น่าจะเกิน 30% และใน 45% ของค่าจ้างจะเป็นส่วนของสวัสดิการ

เชื่อว่ากฎหมายประกันสังคมจะมีผลกระทบน้อยกว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะมีการกำหนดแน่นอนว่าจะใช้เมื่อไหร่จะต้องจ่ายเงินเท่าใด นายจ้างก็วางแผนและคำนวณต้นทุนของตนได้ล่วงหน้า และวางแผนการลดต้นทุนได้

การวางแผนลดต้นทุนเพื่อคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐานที่จะมีกำไรเหมือนเดิมนั้น คิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องผลักภาระให้ผู้บริโภคเสมอไป และน่าจะทำได้ยากขึ้น เพราะขณะนี้มีการแข่งขันกันในตลาดมาก ไม่เฉพาะแต่ในประเทศ และขยายออกไปสู่ตลาดโลก การเพิ่มราคาสินค้าจะทำให้แข่งขันได้ยากขึ้นซึ่งไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดี

แต่นายจ้างจะต้องเพิ่มผลิตภาพหรือ PRODUCTIVITY ให้สูงขึ้นด้วยการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรและระบบงาน ให้ดียิ่งขึ้นพร้อมกับลดต้นทุนการผลิต โดยไม่กระเทือนต่อคุณภาพของสินค้า เช่น ให้เกิดของเสียน้อยลงหรือเป็นศูนย์ได้ก็ยิ่งดี

เมื่อผู้ประกอบการรู้ว่าเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องจ่าย ย่อมเป็นเงื่อนไขที่เขาจะต้องปฏิบัติตาม และวางแผนได้ล่วงหน้า

ขณะเดียวกัน นายจ้างเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงถือว่าเป็นความรับผิดชอบที่เขาจะต้องมีหน้าที่ส่วนนี้ต่อสังคมด้วยเช่นเดียวกัน เพราะแต่ละส่วนก็เป็นของสังคมกันและกันที่เรียกว่า SOCIAL PARTNER เมื่อทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ มีความมั่นคงสังคมก็อยู่กันได้อย่างมีความสุขขึ้น แต่ถ้ารากฐานสังคมไม่มั่นคงแล้วผู้ประกอบการก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

จากสภาพสังคมที่กลายเป็นอุตสาหกรรม 3-5 ปีจากนี้ไปตลาดจะเป็นของผู้ใช้แรงงาน การมีกฎหมายนี้ออกมาจะเป็นหลักประกันในขั้นต้นแก่ผู้ใช้แรงงาน

แต่ในช่วงแรกอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง ยังห่วงกันว่าอาจจะมีการเรียกร้องให้นายจ้างเป็นคนออกเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้เพราะที่ผ่านมา แรงงานจะได้สวัสดิการฟรี แต่ต่อไปนี้เขาจะต้องเป็นผู้จ่ายด้วย ประเด็นนี้ นายจ้างจะต้องทำความเข้าใจกับพนักงานของตนให้ชัดเจน แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเกิดขึ้นจากการผลักดันของด้านแรงงานเป็นหลักก็ตาม

ผมว่าการประกันสังคมจะเป็นการบอกเราว่า แต่ละฝ่ายต่างก็มีสิทธิที่จะรับผลประโยชน์นั้นจากสังคม และมีหน้าที่ในการร่วมจ่ายด้วย

มั่นใจว่ากฎหมายประกันสังคมไม่น่าจะมีปัญหาต่อผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหาคือค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า ซึ่งไม่มีความแน่นอน และดูเหมือนว่ามีปัญหามาก ทำให้คาดการณ์และวางแผนล่วงหน้าไม่ได้ การคิดต้นทุนก็ไม่แน่นอน ซึ่งจะโยงไปถึงการตั้งราคาสินค้าและแผนกำไรของบริษัท ถ้าเปลี่ยนกะทันหันจะส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทอย่างมาก

สิ่งที่น่าห่วงไม่ใช่เรื่องกฎหมายประกันสังคม แต่เป็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า รัฐบาลจะต้องประกาศให้ชัดเจนว่าจะใช้นโยบายค่าจ้างอย่างไร เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะพัฒนาการลงทุนโดยใช้ค่าจ้างต่ำเป็นตัวดึงดูดต่อไปหรือไม่ ถ้าจะใช้กลยุทธ์นี้ ก็ต้องพิจารณากันให้ดีว่าเวลานี้ค่าจ้างของเรานำหน้ามาเลเซียไปแล้ว

แต่ถ้าจะใช้นโยบายค่าจ้างสูงหรือ HIGH-WAGE POLICY อย่างที่สิงคโปร์ใช้ ก็ควรประกาศให้ชัดเจน นักลงทุนจะได้ปรับตัวและวางแผนได้

ส่วนที่เกรงกันว่าเมื่อบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมแล้วจะมีปัญหาในการบริหารกองทุนประกันสังคม จากความล่าช้าของกลไกราชการนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาหนักหนา ส่วนความขลุกขลักในช่วงแรกก็คงมีบ้าง

เนื่องจากกฎหมายประกันสังคมเป็นกฎหมายแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่เป็นทั้งแพ่งและกฎหมายอาญาผสมผสานกัน การบังคับใช้จะต่างกับกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา

แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับกฎหมายแรงงาน ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องวิตกบ้าง อย่างกฎหมายกองทุนเงินทดแทนที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่ามีผลดีอยู่ไม่น้อย

ขณะที่กฎหมายประกันสังคมจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะต่างกับกฎหมายกองทุนเงินทดแทนแม้จะเป็นการบริหารแบบไตรภาคีเหมือนกัน แต่กรรมการประกันสังคมจะประกอบไปด้วยฝ่ายละ 5 คนเท่ากัน แต่กองทุนทดแทนจะมีราชการ 8 คน นายจ้างและแรงงานฝ่ายละ 1 คน

กรรการชุดนี้จะเป็นผู้วางนโยบายซึ่งเชื่อว่าจะมีการถกเถียงอภิปรายกันอย่างกว้างขวางก่อนที่จะมีมติเรื่องใดออกมา การที่ทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน และถ้าใช้อำนาจหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพกฎหมายฉบับนี้จะเป็นฉบับแรกที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ส่วนผู้ปฏิบัติงานก็คือสำนักงานประกันสังคมที่จะตั้งขึ้นใหม่โดยจะเป็นกรม ๆ หนึ่งแยกออกจากกรมแรงงาน ขึ้นตรงกระทรวงมหาดไทย สำนักงานนี้จะมีผู้อำนวยการดูแลเทียบเท่าอธิบดี และจะแยกสายงานออกไปตามความเหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ทำงานก็เป็นส่วนที่มีประสบการณ์ด้านกองทุนทดแทนมาแล้วและเพิ่มอัตรากำลังขึ้นใหม่

คิดว่าแนวโน้มการบริหารงานประกันสังคมจะมีประสิทธิภาพมากกว่าราชการทั่วไป เพราะเงินกองทุนเป็นเงินของคนอื่น ทั้งของนายจ้างและลูกจ้าง ไม่ใช่ของรัฐอย่างเดียว และเชื่อว่ากรรมการของแต่ละฝ่ายคงไม่นิ่งดูดาย และจะกำกับดูแลการบริหารอย่างใกล้ชิดอย่างที่เป็นได้ชัดจากกองทุนเงินทดแทน

จะเห็นว่า แม้แต่ตอนนี้ยังพูดกันเลยว่า เงินกองทุนจะบริหารอย่างไรเพื่อให้เกิดดอกผลสูงสุดโดยไม่ต้องเสี่ยง อย่างกองทุนเงินทดแทนจะฝากแบงก์ ซึ่งมองกันว่าน่าจะมีวิธีการอื่นที่ได้ประโยชน์ดีกว่า เช่นฝากแบงก์ส่วนหนึ่ง และเอาไปลงทุนอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้กองทุนงอกเงยขึ้น ซึ่งจะส่งกลับไปเป็นสวัสดิการของลูกจ้างได้เพิ่มขึ้น อาทิ ลงทุนร่วมกับการเคหะ เป็นต้น

การออกกฎหมายประกันสังคมครั้งนี้ แม้จะยังไม่ครอบคลุมไปถึงทุกกิจการ แต่ในเบื้องต้นจะช่วยหนุนให้กฎหมายค่าแรงเข้าระบบมากขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ เพราะการหักเงินเข้ากองทุนจะหักจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับจริง ซึ่งเป็นการตรวจสอบไปในตัวด้วยว่า นายจ้างรายนั้นจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายหรือไม่ และทำให้มีผลเป็นจริงมากขึ้น

ขณะเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้ก็จะกลายเป็นปัจจัยผลักดันหลักให้นายจ้างมาเน้นการบริหารคนอย่างจริงจังมากขึ้น ให้มีฝีมือในผลิตภาพสูงคุ้มกับต้นทุนด้านแรงงานที่เขาได้ลงทุนไป จะทำให้องค์กรต่าง ๆ บริหารบุคคลอย่างเป็นระบบกว่าที่ผ่านมา

สถานการณใหม่จะบังคับให้นายจ้างจัดระบบบริหารค่าจ้างที่จะควบคุมและแจกแจงผลงานได้ พร้อมกันนั้นจะทำให้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งต่อไปเราจะเห็นนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น

นอกจากนี้แล้ว ในฐานะที่เป็นรองประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ฯ เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะผลักดันให้องค์การบริหารแรงงานปรับตัวไปด้วย นั่นคือ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมจะเกิดขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอันนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.