บรรดาโบรกเกอร์ใหญ่ ๆ ของญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งสำนักงานตัวแทนกันนานหลายปีแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น โนมูระ, นิกโก้, ยามาอิชิ แต่ไดวา ซีเคียวริตี้ส์ 1 ใน 5 โบรกเกอร์ยักษ์ของญี่ปุ่นที่ไปใหญ่ในสหรัฐและยุโรปอยู่ไม่น้อยนั้น
เพิ่งจะได้เข้ามาตั้งสำนักงานเอาเมื่อต้นปี 2532 นี่เอง
ที่ว่าใหญ่นั้นให้ดูที่รายได้ของปี 1989 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรอบบัญชี ไดวาฯ
ทำรายได้ จากค่าธรรมเนียมในการค้าหลักทรัพย์ การรับประกันและจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
เพิ่มขึ้นสูงมาก คือ 61 และ 166.9 พันล้านเยน ตามลำดับ ทั้งที่เป็นการคำนวณจากระยะเวลาเพียง
6 เดือน (ดูตารางรายได้ค่าธรรมเนียม)
นอกจากนี้ไดวาฯ ยังเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของวงการค้าพันธบัตรโลก มีเครือข่ายงานค้าตลอด
24 ชั่วโมง ที่โตเกียว ลอนดอน นิวยอร์ก ฮ่องกง โดยส่วนแบ่งตลาดสำคัญของไดวาฯ
อยู่ที่การค้าพันธบัตรยูโรเยน และพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น
ถึงกระนั้นก็ยังไม่ช้าเกินไป หากเข้ามาล่าไปอีก 2 ปีซิจัดว่าช้าแน่ เพราะคงจะหาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มาร่วมทุนด้วยได้ไม่ง่าย
อย่างไรก็ดี ไดวาฯ ยังไม่ตกลงปลงใจกับบริษัทหลักทรัพย์ไทยรายใด ธุรกิจที่สำนักงานตัวแทนแห่งนี้ทำยังคงเน้นในเรื่องของการจัดหาและเก็บรวบรวมข้อมูลส่งให้สำนักงานใหญ่ที่โตเกียว
ข้อมูลหลักคือเรื่องราวเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ข้อมูลบริษัทตลาดหลักทรัพย์ฯ
สถานการณ์เศรษฐกิจการเมือง โดยเน้นข้อมูลที่ได้รับจากบริษัทโบรกเกอร์และหนังสือพิมพ์
คาชูฮิโก ทากาฮาชิ ผู้จัดการสำนักงานตัวแทนไดวา ซีเคียวริตี้ส์ ในกรุงเทพเปิดเผยกับ
"ผู้จัดการ" ว่า "การเข้ามาตั้ง สนง. เมื่อปีที่แล้วถือเป็นครั้งแรกที่เข้ามาในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
แต่ในส่วนของความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาลหรือเอกชนนั้นมีมานานแล้ว
โดยแผนกคอร์-ปอเรท ไฟแนนซ์ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์เคยทำจัดหาเงินกู้ให้บริษัทไทยหลายครั้ง
โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรยุโรปและญี่ปุ่น"
ตัวทากาฮาชินั้นทำงานกับไดวาฯ มาตั้งแต่เรียนจบเศรษฐศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเคโอะหมาด
ๆ เมื่อปี 1970 โดยเริ่มงานในฝ่ายรับประกันและจัดจำหน่ายพันธบัตร ครั้นจบการศึกษาบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กในปี
1975 ก็ยังกลับมาทำงานที่ไดวาฯ ต่อ โดยถูกส่งตะเวนไปฮ่องกง โตเกียว (เอเชีย)
อัมสเตอร์ดัม (ยุโรป) และนิวยอร์ก (อเมริกา) ฝ่ายงานที่เชี่ยวชาญมากหนีไม่พ้นด้านไฟแนนซ์
ค้าหลักทรัพย์และเงินตราต่างประเทศซึ่งล่าสุดก่อนมารับตำแหน่งผู้แทนในกรุงเทพฯ
นั้น ประจำอยู่ที่ไดวา ซีเคียวริตี้ส์ อเมริกา อิ้งค์ นาน 4 ปีครึ่ง
การเดินทางมารับตำแหน่งที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งของสำนักงานใหญ่
ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วทากาฮาชิก็พอใจมาก เขาชอบอาหารไทยและมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสังคมธุรกิจต่างแดนได้อย่างรวดเร็ว
มูลเหตุที่ไดวาฯ เข้ามาตั้งสนง. ตัวแทนเนื่องมาจากความต้องการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น
ในตลาดหลักทรัพย์ไทยมีเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับความรุ่งเรืองของตลาดหลักทรัพย์ไทยด้วย
ไดวาฯ ได้ดำเนินการขอให้สมาคมผู้ค้าหลักทรัพย์แห่งประเทศญี่ปุ่น อนุมติให้นักลงทุนประเภทบุคคลชาวญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย
ผ่านโบรกเกอร์ญี่ปุ่นได้รับการอนุมัติครั้งนี้ทำสำเร็จในเดือนธันวาคม 2530
จากนั้นไดวาฯ ก็ดำเนินการจัดตั้งกองทุน กองแรกคือ ASIAN FUND เพื่อลงทุนในตลาดหุ้นหลายประเทศในย่านเอเชีย
วงเงิน 4 พันล้านบาท โดย 20% ของวงเงินดังกล่าวใช้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยส่วน
THAI CAPITAL FUND ลงทุนในประเทศไทยเต็มวงเงินประมาณ 1,700 ล้านบาท
การตั้งกองทุนเข้ามาซื้อหุ้นในประเทศไทยเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้สะดวกมาขึ้น
ทั้งนี้เพราะกฎหมายญี่ปุ่นระบุว่านักลงทุนญี่ปุ่นจะลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้ก็โดยผ่านบริษัทโบรกเกอร์ญี่ปุ่นด้วยกันเท่านั้น
แล้วโบร์กเกอร์เหล่านี้จะส่งคำสั่งซื้อขายมาให้กับโบรกเกอร์หรือซับโบรกเกอร์ท้องถิ่นอีกทอดหนึ่ง
นักลงทุนญี่ปุ่นจะต้องเสียค่าธรรมเนียมแก่โบรกเกอร์ท้องถิ่นและโบรกเกอร์ญี่ปุ่นในอัตรา
0.5% เท่ากัน และโบรกเกอร์ญี่ปุ่นยังจะหักค่าธรรมเนียมอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่า
"INTERMEDIATE COMMISSION อีก
ส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นหรือชาวญี่ปุ่นในต่างประเทศที่เป็น RESIDENT ก็ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ต่างประเทศได้โดยทำตามกฎหมายในประเทศนั้น ๆ หมายความว่าต้องมีการเสียภาษีตามที่กฎหมายในแต่ละแห่งบังคับไว้ด้วย
บริษัทในเครือของไดวาฯ ที่ทำด้านการซื้อขายหุ้นคือ DAIWA INTERNATIONAL
CAPITAL MANAGEMENT (DICAM) ซึ่งทำการลงทุนให้ลูกค้าสถาบัน ส่วนลูกค้ารายบุคคลที่ซื้อหน่วยลงทุนนั้นจะต้องผ่านทาง
DAIWA INVESTMENT TRUST AND MANAGEMENT
ไดวาฯ ใช้โบรกเกอร์ที่เป็นบริษัทไทยแท้ ๆ ซึ่งหมายถึงโบรกเกอร์ที่ไม่มีการร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น
เช่น ภัทรธนกิจ ธนชาติ ธนสยาม เป็นต้น
ทากาฮาชิ กล่าวว่า "หากเราซื้อหุ้นผ่านซีมิคหรือทิสโก้ทางไดอิชิคังเงียวแบงก์ก็ต้องรู้ว่าเราซื้อหุ้นอะไร
หรืออย่างพัฒนสินเราก็ไม่ใช้ เพราะครั้งหนึ่งทางโนมูระฯ เคยร่วมทุนด้วย และตอนนี้ก็ยังมีความสัมพันธ์กันในทางใดทางหนึ่ง
เราจะใช้โบรกเกอร์กระจายไปหลายเบอร์ เลือกเอารายที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่ดีแก่เรา"
นอกเหนือจากความสนใจในตลาดหุ้นแล้ว ไดวาฯ ยังมีบริษัทลูกที่เข้ามาทำธุรกิจเวนเจอร์
แคปิตอลในไทยคือ IPPON INVESTMENT & FINANCE CO., LTD. หรือ NIF ผลงานการร่วมลงทุนชิ้นแรกคือบริษัทเทคโนโลยี
แอพพลิเคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์
โทรศัพท์และโทรทัศน์ โดยสินค้าเหล่านี้ส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ ทั้งหมด
เทคโนโลยี แอพพลิเคชั่น ยื่นขออนุญาตจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่มกราคม
2533 ปัจจุ บันอยู่ระหว่างการรออนุมัติจากระทรวงการคลัง
การร่วมทุนและผลักดันบริษัทร่วมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างกรณีเทคโนโลยี
แอพพลิเคชั่นฯ ถือเป็นภาระกิจสำคัญอันหนึ่งของไดวา แต่ที่เป็นเป้าหมายหลักยังคงเป็นเรื่องการสนับสนุนการลงทุนของชาวญี่ปุ่นในตลาดหลักทรัพย์ไทย
การจัดตั้งกองทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น
ทากาฮาชิค่อนข้างจะเชื่อมั่นในทิศทางการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์ไทยอยู่ไม่น้อย
เขาไม่หวั่นเกรงผลกระทบทางการเมืองที่เคยแผลงฤทธิ์เอากับตลาดหุ้นในครั้งก่อน
ๆ
ว่าไปแล้วนักลงทุนที่ตื่นตระหนกกับการเมืองก็มักจะเป็นคนไทยเสียมากกว่าพวกต่างชาติ
ซึ่งจะรับรู้เรื่องการเมืองไทยไปอีกแบบหนึ่ง ทากาฮาชิกล่าวอย่างติดตลกว่า
"ผมไม่เห็นจำเป็นต้องรู้จัก ผบ.ทบ. มากเท่าผู้ว่าการแบงก์ชาติเลย"