วิโรจน์ ตันตราภรณ์ ยอมทิ้งเงินปีละ 50,000 เหรียญ เพื่อเทคโนโลยีไทย


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ข่าวการเข้าเทคโอเวอร์บริษัทโทรคมนาคม "ไทร์" ในยุโรปของชินเทียกอิเล็กทรอนิค ซิสเต็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายของกลุ่มพี่น้องงานทวีเมื่อปลายเดือนมีนาคมอย่างเงียบ ๆ ก่อนหน้าที่จะเข้ามาแถลงข่าวอย่างเปิดเผยในกลางเดือนพฤษภาคมที่เพิ่งผ่านพ้นมา นับว่ามีความหมายยิ่งต่อการพัฒนาเทคโนโลยี่ด้านอิเล็คทรอนิกส์ไทย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเข้าเทคโอเวอร์ไม่เพียงแต่จะได้เครือข่ายการตลาดเท่านั้นหากยังได้เครือข่ายการวิจัยและพัฒนามาด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญการลงทุนเทคโอเวอร์ครั้งนั้น

งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี่ในโลกปัจจุบัน ถือว่าเป็นภารกิจที่จำเป็นต้องกล้าลงทุน เพื่อความได้เปรียบในโลกการแข่งขันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องการสิ้นเปลืองเงินทุนโดยไม่จำเป็น ในขณะนี้เพราะเมืองไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องยอดขายที่ยังน้อยและที่สำคัญกว่านั้นยังขาดแคลนทั้งประสบการณ์และนักวิจัยด้านนี้มาก

เมื่อ 75 ปีที่แล้วเทคโนโลยีขั้น 100 แมนเยียร์คือการทำ DUCTILE TUNSTEN ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ในปี 1990 นี้เทคโนโลยีที่ใหญ่กว่า 3000 แมนเยียร์จึงจะเรียกว่าใหญ่

ผู้รู้ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าในสหรัฐมีการลงทุนวิจัยในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคถึงปีละเกือบ 25% ของยอดขาย (ปี 1988) มีนักวิจัยที่มีประสบการณ์มีผลงานโดยใช้เวลาไปแล้วนับแสนแมนเยียร์ ขณะที่เมืองไทยภาครัฐได้ลงทุนไปในเทคโนโลยีการเกษตรคิดเป็นมูลค่า 12,500 ล้านบาทแล้ว (1แมนเยียร์เท่ากับ 50,000 บาท) หรือประมาณ 250,000 แมนเยียร์

การที่ประสบการณ์ส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในสาขาธุรกิจการเกษตรนับแสนแมนเยียร์มีผลงานวิจัยนับหลายร้อยชิ้น เหตุนี้ทิศทางการสร้างงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ในขณะนี้ จึงควรเน้นหนักในธุรกิจที่เกี่ยวข้องงานเกษตรเป็นด้านหลัก

"การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมันขึ้นกับขนาด อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีขนาดใหญ่ใช้คนมากและกินเวลานานนับสิบปีถ้างานนั้นใช้คน 60 คนก็จะใช้เวลาลงทุน 600 แมนเยียร์ ซึ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากทั้งที่ว่าไปแล้วเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์ ใช่ว่าจะสูงเลิศมากนักเหตุนี้องค์กรที่สามารถลงทุนงานวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมนี้ได้ต้องมียอดขายสูงมาก" ผู้รู้ยกตัวอย่างการลงทุนวิจัยให้ฟัง

คำว่า "แมนเยียร์"เป็นศัพท์เทคนิคที่ใช้กันในงานลงทุนโครงการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ความหมายของมันก็คือ เป็นหน่วยวัดค่าการใช้เวลาของจำนวนนักวิจัยในโครงการคูณด้วยระยะเวลาที่กำหนดในโครงการ

จำนวนแมนเยียร์จึงเป็นตัวสะท้อนถึงขนาดเทคโนโลยีที่จะบอกว่า มีความเหมาะสมเพียงไรสำหรับประเทศไทย

ดร.วิโรจน์ ตันตราภรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากสถาบันวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกาเล่าถึงภาพในมุมกว้างของงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ไทยว่า อุตสาหกรรมหลายชนิดยังไม่ค่อยตื่นตัวในการลงทุนสร้างสรรค์งานวิจัยและพัฒนาฯเท่าไรนักเนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงขณะที่ยอดขายยังไม่มากนัก ทางออกในการผลิตจึงใช้วิธีซื้อเทคโนโลยีจากต่างประทศปีๆ หนึ่งเกือบ 2,500 ล้านบาท (ปี 1987)

ดร.วิโรจน์เคยทำงานวิจัยที่บริษัทเยนเนอรัล อีเล็คทริค(ยีอี)มาตั้งแต่ปี 2502 เพิ่งจะขอลาออกก่อนเกษียณเมื่อปี 1987 โดยยอมละทิ้งรายได้ปีละ 50,000 เหรียญเพื่อกลับมาทำงานที่เมืองไทยตามคำเชิญของพิจิตต รัตตกุล รมต. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯในสมัยนั้น (1987) และ มีกำหนดเวลา 3 ปี

"ผมมาในฐานะนักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์สหรัฐ ที่ผมเป็นสมาชิกอยู่หมดสัญญาแล้วก็วางแผนว่าจะอยู่ทำงานด้านส่งเสริมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต่อ ผมจะมีรายได้แค่ระดับของคนมีอาชีพเป็นภารโรง เท่านั้นคือปีละ 18,000 เหรียญซึ่งไม่สามารถยังชีพได้ในนิวยอร์ก"

พนักงานของยีอีกำหนดเกษียณอายุที่ 65 ปี ทางบริษัทจะให้ค่าบำนาญตลอดชีพปีละ 50,000 เหรียญ แต่ถ้าหากลาออกก่อนจะไม่ได้สิทธิอันนี้แต่เขาก็ลาออกก่อน เพื่อต้องการพัฒนาและกระตุ้นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยโดยมาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการรอง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา (STDB)

ดร.วิโรจน์จบการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มิชิแกน (แอนอาร์เบอร์) สาขาฟิสิกส์ของแข็งเมื่อปี 2501 มีผลงานวิจัยด้านอิเล็คทรอนิกส์ชั้นสูงให้ยีอีและองค์การนาซาหลายสิบชิ้นตลอดอายุการทำงานที่ยีอีเกือบ 30 ปี จนได้รับรางวัล CERTIFICATE OF RECOGNITION จากนาซาในผลงานวิจัย ADVANCED SOLAR CELL และผลงานที่โด่งดังในด้าน INFRARED CID IMAGING ที่ทำไว้เมื่อปี 1975 ก็ได้รับรางวัล GEDUSHMAN AWARD ในปี 1986

ด้วยประสบการณ์ที่คลุกคลีกับงานวิทยาศาสตร์มายาวนานเขาเล็งเห็นว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่จมปลักในห้องทดลองย่อมไม่เพียงพอต่อการพัฒนา เพื่อความก้าวหน้าในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ "นักวิทยาศาสตร์ต้องศึกษาการพัฒนาทางสังคมด้วย เพื่อขยายองค์ความรู้ในหลายมิตินั่นหมายถึงต้องเรียนรู้วิทยาการทางสังคมควบคู่ไปด้วย" ดร.วิโรจน์กล่าวถึงจุดยืนทางความคิดในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เขามองว่าการที่ไทยจะยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีต้องปูพื้นฐานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนโดยผ่านระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยม "สภาพการขาดแคลนนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์ส่วนสำคัญมาจากความบกพร่องในระบบการศึกษาที่ไม่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง ทำให้การผลิตนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นไปได้น้อย"

นอกจากนี้แล้วเขายังเห็นว่าที่ผ่านมารัฐได้เข้ามาลงทุนทางวิจัยเสียเองแทนที่จะปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการลงทุน จุดนี้เขาเชื่อว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เอกชนไทย ไม่ค่อยมีใครสนใจที่จะลงทุนด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื่องจากเห็นเป็นการสิ้นเปลือง

สิ่งนี้เป็นภารกิจหนึ่งที่เขาต้องการกระตุ้นให้เอกชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการส่งเสริมการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ ซึ่งจากการที่เขาคลุกคลีในงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ที่เมืองไทยเกือบ 3 ปีก็พบว่าเริ่มมีเอกชนบางรายเช่นปูนซิเมนต์ไทย กลุ่มพรีเมียร์ และกลุ่มซีพีมีการลงทุนตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนาฯพร้อมงบประมาณจำนวนหนึ่งแล้ว

นั่นหมายถึงว่าจากนี้ไประฆังการต่อสู้เพื่อเอาชนะความล้าหลังในคุณภาพของสินค้าในเวทีตลาดโลกของไทยได้ดังขึ้นแล้ว และเปรียบเสมือนเป็นสัญญาณการเริ่มยุคสมัยใหม่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ริเริ่มโดยภาคเอกชน

และบุคคลที่อยู่ข้างหลังภาพการริเริ่มหนทางการพัฒนาฯนี้คงแยกไม่ออกจากบทบาทหัวแถวของดร.วิโรจน์ ตันตราภรณ์ ที่อุตส่าห์ละทิ้งเงินก้อนใหญ่จากยีอีเพียงเพื่อมาสร้างสรรค์วิทยาศาสตร์ในบ้านเกิดของตนเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.