การศึกษาตลอดชีวิตในยุคอินเตอร์เน็ต


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2542)



กลับสู่หน้าหลัก

โรเจอร์ แอล. ฟีนสตรา (Roger L. Feenstra) วัย 44 ผู้บริหารเชนร้านหนังสือ Berean Christian Stores แห่งซินซินนาติ ซึ่งมีสาขา 22 แห่งในเก้ามลรัฐของสหรัฐฯ ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการงาน แต่เมื่อตกกลางคืนสัปดาห์ละสองวัน เขาจะเข้าเรียนวิชาการด้านบริหารในโครงการของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ในลอสแองเจลิส การเรียนหนังสือของฟินสตราไม่ต้องเสียเวลาเดินทางแม้แต่น้อย เพราะเขาใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อ

ผมเลือกเวลาเรียนเองได้" ฟีนสตรา บอก "ผมเข้าเรียนได้ทุกเมื่อตามความ สะดวก จะเรียนห้านาทีหรือสองชั่วโมงก็แล้วแต่"

ฟีนสตราสามารถกดหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อไปยังโครงการได้ในขณะที่อยู่ในห้องครัว ที่ริเวอร์ไซด์ หรือจากห้องพักในโรงแรมทั่วประเทศ จากนั้นก็ดาวน์โหลดคำบรรยายวิชา ส่งรายงาน ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเพื่อนร่วมชั้น รวมทั้งรับทราบผลสอบทางอินเตอร์เน็ต (เขาเพิ่งได้เกรด A ในวิชาทรัพยากรมนุษย์) เขาใช้เวลาเรียนสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง

ยังมีคนอเมริกันอีกนับล้านที่กำลังเรียนหนังสือแบบเดียวกับฟีนสตรา ในขณะที่ตลาดแรงงานกำลังเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่ง ผู้ที่หันมาสนใจการศึกษาตลอดชีวิตจึงมีมากขึ้น

"มันเป็นการเรียนรู้ตามเวลาและสถานที่ ที่คุณเลือกเองได้" จอห์น เอส. พาร์ คินสัน (John S. Parkinson) ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และการสร้างสรรค์แห่งเอิร์นส์ แอนด์ ยังก์ (Ernst & Young) กล่าว

ในอนาคตการเรียนรู้จะไม่จบลงที่วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยอีก เมื่อก่อนกลุ่มแพทย์จะต้องคอยติดตามผลงานทางวิชาการเพื่อไล่ให้ทันความก้าวหน้าทางการแพทย์ ตอนนี้นักธุรกิจเองก็ต้องหาความรู้ใหม่ๆ ใส่ตัวเพื่อไม่ให้เสียเปรียบคู่แข่งเช่นกัน

ในแง่สถิติ ปรากฏว่ามีชาวอเมริกัน 23 ล้านคนที่เข้าร่วมโครงการการศึกษาผู้ใหญ่ในปี 1984 และเพิ่มจำนวนเป็น 76 ล้านคนในปี 1995 เมื่อถึงปี 2004 อาจเพิ่มเป็น 100 ล้านคน

การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์เชอร์เมน เอ. ทิลลี (Shermaine A. Tilly) วัย 47 ไม่เคยนึกมาก่อนว่าเธอจะต้องกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง หลังจากที่จบปริญญาเอกทางชีวเคมีที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปส์กิน เมื่อปี 1980 เธอต้องการเปลี่ยนสายงานมาทางด้านการบริหารและพัฒนาธุรกิจ แต่เพราะขาดความรู้ทางธุรกิจ จึงศึกษาต่อระดับ MBA ที่ Rotman School of Management แห่งมหาวิทยาลัยโต-รอนโต

สำหรับคนทำงานแล้ว การเพิ่ม พูนความรู้ให้ทันสมัยจะเกิดขึ้นในที่ทำงาน บริษัทอย่าง เจเนอรัล อิเล็กทริก (General Electric) ยูนิซิส (Unisys) และเฟเดอรัล เอ็กซ์เพรส (Federal Expess) คือตัวอย่างองค์กรที่จัดได้ว่าเป็น "มหาวิทยาลัยองค์กร" เนื่องจากให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงานทั้งทางด้านวัฒนธรรมองค์กร และทักษะการบริหารโดยมีโครงการฝึกอบรม ทั้งที่ใช้ระยะเวลาเพียงวันเดียวไปจนถึงสามสัปดาห์ เป้าหมายก็คือให้ผู้บริหารมีความสามารถที่จะกระตุ้นให้พนักงานเกิดความกระตือรือร้นในการทำงาน เมื่อปี 1988 มีบริษัทประเภทนี้ในสหรัฐฯ ราว 400 แห่ง ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,600 แห่ง

อินเตอร์เน็ตมีส่วนสนับสนุนการให้การศึกษาอบมรมแก่พนักงานในองค์กรเหล่านี้ด้วยเช่นกัน อย่างที่ เพน แซร์ อิงค์ (Pensare Inc.) ในแคลิฟอร์เนีย ได้ร่วมมือกับวาร์ตัน (Wharton) และสำนักพิมพ์ฮาร์วาร์ด บิสซิเนส สกูล จัดโครงการอบรมระบบออนไลน์ซึ่งบริษัทสามารถใช้ผ่านเครือข่ายภายในองค์กรได้ โครงการเหล่านี้แตกต่างจากหลักสูตรการศึกษาที่มุ่งให้คุณวุฒิแบบเดิม โดยมีเป้าหมายที่การฝึกฝนทักษะเฉพาะด้านมากกว่า เช่น ศิลปะการเจรจาต่อรอง หรือลูกค้าสัมพันธ์ เป็นต้น

สถาบันการศึกษาเองก็กำลังปรับตัวตามความต้องการการเรียนรู้ตลอดชีวิตเช่นกัน โดยอาศัยอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งสนับสนุน อย่างที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) จัดการศึกษาระดับปริญญาโทออนไลน์ "นักศึกษาต้องการเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงพยายามคิดหาทางออกที่ดีที่สุดที่จะตอบสนองความต้องการนี้" แอนดี ดิเปาโล (Andy DiPaolo) ผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรม และ Executive director ของศูนย์การพัฒนาบุคลากรมืออาชีพแห่งสแตนฟอร์ด ให้ความเห็น

อัลเลน อง (Allen Ong) วิศวกรออกแบบด้านฮาร์ดแวร์ที่ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (Hewlett-Packard) ในแวนคูเวอร์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของแนวคิดดังกล่าว ขณะนี้อง กำลังศึกษาระดับปริญญาโททางด้านวิศวกรรม ในระบบออนไลน์ตามโครงการของสแตนฟอร์ดที่ปาโล อัลโต แคลิฟอร์เนีย องสามารถล็อกออนเพื่อบันทึกคำบรรยายและใช้ดัชนีช่วยในการเลือกหัวข้อที่ต้องการแลกเปลี่ยนความเห็นได้

ชั้นเรียนระบบอินเตอร์เน็ตนี้ช่วยให้นักศึกษาที่ค่อนข้างขี้อายกล้าแสดงความเห็นมากขึ้น การโต้ตอบผ่านอินเตอร์เน็ตยังช่วยให้มีการกลั่นกรองความคิดได้มากขึ้น ที่สำคัญก็คือ ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องคร่ำเคร่งกับการจดคำบรรยายจากแผ่นสไลด์ เพราะสามารถดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ตได้

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาระบบ

ออนไลน์มีค่าใช้จ่ายสูงไม่น้อย ที่มหาวิทยาลัย ซีราคิวส์ (Syracuse University) ค่าธรรมเนียมการศึกษาหลักสูตร MBA ทางอินเตอร์เน็ตและหลักสูตรปกติจะตกราว 32,000 ดอลลาร์เท่ากัน ส่วนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ค่าธรรมเนียมการศึกษาสำหรับนักศึกษาทางไกลหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิศวกรรม ตกราว 45,000 ดอลลาร์ แต่หลักสูตรภาคปกติ 26,000 ดอลลาร์

บรรยากาศวิชาการเป็นประเด็นหนึ่งที่นักศึกษาจำนวนหนึ่งชี้ว่าเป็นจุดอ่อนของการศึกษาทางอินเตอร์เน็ต ผศ.แคโรล เอส. ฟังกาโรลี (Carole S. Fungaroli) สาขาวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ผู้เขียนหนังสือ "Traditional Degrees for Nontraditional Students" ให้ความ เห็นว่า "ในฐานะครูบาอาจารย์ เราสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของนักศึกษาได้จริงๆ แต่จะไม่มีทางทำได้ถ้าเราไม่เคยเห็นหน้าตาพวกเขา และไม่เคยพูดคุยกันตัวต่อตัว"

แต่ก็มีนักศึกษาทางอินเตอร์เน็ตบางคนที่ยืนยันว่าชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปได้ และเปลี่ยนในทางปฏิบัติด้วย เช่น มอลลี ฮิลตัน (Molly Hilton) วัย 33 ฮิลตันทำงานรับผิดชอบโครงการด้านการสื่อสารการตลาดของบริษัทเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่อย่าง Haworth Inc. ในมิชิแกน ฮิลตันจบปริญญาตรีทางด้านภาษาอังกฤษ และได้เข้าศึกษาหลักสูตร UCLA Extentions ทางอินเตอร์เน็ตเพื่อเตรียมตัวศึกษาต่อปริญญาโททางบริหารธุรกิจ บริษัทให้การสนับสนุนด้านการศึกษาแก่ฮิลตัน และเธอสามารถเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรภาคปกติหรือระบบอินเตอร์เน็ตก็ได้ ฮิลตันเลือกอย่างหลังโดยให้เหตุผลว่า หลังจากได้ศึกษาหลักสูตร UCLA Extentions เธอพบว่าอี-เมลทำให้ผู้สอนตั้งใจสอนนักศึกษามากขึ้น นอกจากนั้น ฮิลตันยังเป็นคุณแม่ลูกสองที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวตามลำพัง อินเตอร์เน็ตจึงอำนวยความสะดวกให้เธอได้ทั้งครอบครัว การงาน และการศึกษา "การเรียนระบบออนไลน์ทำให้เราแม่ลูก ได้นั่งเรียนและทำการบ้านไปพร้อมๆ กัน"

ในแง่นี้ การเรียนระบบออนไลน์จึงไม่ใช่การเปลี่ยนวิธีการศึกษาแบบเดิม เพียงแต่มีช่องทางการศึกษาเพิ่มขึ้นเท่านั้น และยังมีตัวอย่างการผสมผสานการศึกษาในแบบออนไลน์กับการศึกษาในชั้นเรียนปกติอีกด้วย เช่น หลักสูตร MBA ข้ามประเทศของมหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮม (Fordham University) ซึ่งกำหนดหลักสูตรให้ระยะเวลาเรียน 15 สัปดาห์ ในหนึ่งภาคเรียน นักศึกษาจะต้องเข้าชั้นเรียนเดือนละครั้ง ในวันสุดสัปดาห์ ที่นิวยอร์กซิตี้ หรือละแวกใกล้เคียง เวลาที่เหลือนักศึกษาต้องศึกษาคำบรรยาย รวบรวมเอกสารและทำงานกลุ่มโดยอาศัยอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง หลักสูตรนี้ยังเลียนแบบบรรยากาศบริษัท ข้ามชาติ เพื่อตอบสนองนักศึกษาที่มาจากองค์กรชั้นนำอย่างไอบีเอ็ม เป็นต้น แต่มหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮมก็ยอมรับว่าอินเตอร์เน็ต ไม่สามารถทดแทนการเรียนการสอนแบบพบปะในชั้นเรียนได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่มีเวลาและเงินมากพอที่จะศึกษาในภาคปกติได้ อินเตอร์เน็ตจึงมีส่วนช่วยคนกลุ่มนี้ได้มาก "Online Learning.net" ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาหลักสูตรให้กับ UCLA Extentions และคาดว่าจำนวนนักศึกษาระบบออนไลน์จะเพิ่มเป็น 10,000 คนในปีหน้า จากตัวเลขราว 6,000 คนในปีนี้ และ 2,200 คนเมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านที่พบว่าการศึกษาทางอินเตอร์เน็ตคือหนทางที่ลงตัวระหว่างครอบครัวและงานอาชีพ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.