ประสบศักดิ์ ศิริโสภณา จาก "ริเวอร์แคว" มาวันนี้ก็ไม่พ้น "แม่น้ำแคว"


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

หากเอ่ยชื่อ "ประสบศักดิ์ ศิริโสภณา" หลายคนคงไม่รู้จักแต่หากกล่าวถึงชื่อ "บริษัทริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด" หลายคนคงซาบซึ้งถึงชื่อนี้ดีแน่ๆ

เพราะชื่อริเวอร์แควหรือ RKI ถือได้ว่าเป็นชื่อของหุ้นอื้อฉาวแห่งปี 2537 และประสบศักดิ์ก็มีส่วนเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับหุ้นตัวนี้

หลังปิดฉากความอื้อฉาวในปี 2537 ประสบศักดิ์เงียบหายไป มาคราวนี้เขากลับมาอีกครั้งกับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ "บ้านป่าริมธาร" ไม่พ้น "แม่น้ำแคว" เหมือนเดิม!

ประสบศักดิ์จบสาขาบัญชีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นทำงานในตำแหน่งผู้ตรวจสอบบัญชีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นที่ที่ประสบศักดิ์ใช้เวลา 2 ปี ในการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการออกตรวจบัญชีของสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั่วทั้ง 69 จังหวัดที่มีในตอนนั้น รวมถึงทุกอำเภอที่มีสำนักงานการไฟฟ้าตั้งอยู่

หลังจากนั้นลาออกเพื่อไปศึกษาต่อวิชาบริหารธุรกิจที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา 2 ปี แล้วกับมาช่วยงานพี่ชาย หนึ่งในพี่น้อง 9 คนของครอบครัวเขา ที่บริษัทชลประทานซีเมนต์ ด้านการจัดระบบบัญชีที่เขาถนัด ก่อนจะได้รับการชักชวนไปทำงานกับบริษัทสตาร์บล็อก ของสุเทพ บูลกุล ที่ให้โอกาสการทำงานกับเขามาก

"ตอนนั้นผมอายุ 27 ปี ได้เป็นผู้จัดการฝ่ายการเงินที่สตาร์บล็อก ถือเป็นตำแหน่งใหญ่ที่ได้เร็วมาก พอปี 2530 สตาร์บล็อกจะเอาบริษัทเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในฐานะผู้จัดการฝ่ายการเงิน ผมจึงมีส่วนร่วมเขียนโครงการเสนอ ก.ล.ต.และอยู่ในผู้ร่วมชี้แจงกับ ก.ล.ต." ประสบศักดิ์เล่าถึงผลสำเร็จชิ้นหนึ่งของการทำงาน

ขณะที่ประสบศักดิ์กำลังสนุกสนานกับงานที่สตาร์บล็อก เขาก็ต้องลาออกมาช่วยกิจการของพี่สาว "นิชา ศิริโสภณา" ที่ชื่อบริษัทเอเชียนเบสท์ จำกัด บริษัทผลิตและส่งออกผักและผลไม้กระป๋อง ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะโซซัดโซเซ เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและความผันผวนของต้นทุนการผลิต

"เป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุดของผม" ประสบศักดิ์เล่า เพราะเขาต้องฟื้นกิจการที่กำลังมีปัญหาด้วยกำลังตัวเองเป็นหลัก ทั้งหาลูกค้า ทำบัญชี แก้ปัญหาการเงิน

หลังจากกู้เงินมาสร้างโรงงานเป็นผลสำเร็จ บริษัทก็สามารถมีกำไรได้ในปีที่ 3 จากลูกค้าไม่กี่รายส่งสินค้าไม่กี่ตู้คอนเทนเนอร์ ก็มีออร์เดอร์เข้ามาร่วม 100 ตู้คอนเทนเนอร์

ช่วงนี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนของประสบศักดิ์ เมื่อเขาพบกับเอกภพ เสตะพันธ์ อดีตผู้บริหารบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย และต่อมาก็หันมาทำธุรกิจที่คล้ายคลึงกับประสบศักดิ์

ทั้งสองได้พูดคุยปรึกษา เจอกันบ่อยๆ ในงานสัมมนาด้านธุรกิจอาหารทั้งในและต่างประเทศ จนในที่สุดก็ตกลงนำธุรกิจของทั้งสองฝ่ายมารวมกันในนามของบริษัทริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

บริษัทริเวอร์แควเป็นบริษัทขนาดเล็กมียอดขายประมาณ 170-200 ล้านบาทต่อปี มีกำไรประมาณ 7-10 ล้านบาท แต่เป็นธุรกิจที่มีอนาคตและมีส่วนสำคัญใรการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทย อีกทั้งด้วยประสบการณ์ทางด้านการเงินและบัญชีของประสบศักดิ์ และการเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสำคัญๆ เข้ามาถือหุ้น ทำให้ชั่วเวลาไม่กี่ปี ริเวอร์แควสามารถนำบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปลายเดือนมีนาคม 2537

ผู้ถือหุ้นใหญ่ของริเวอร์แควในขณะนั้นคือบริษัทธนสถาปนา จำกัด ที่มีประกิต ประทีปเสน เป็นประธาน ถือหุ้นประมาณ 7-8% ขณะที่ถือหุ้นรายอื่นๆ ถือหุ้นอยู่ราว 5% ที่สำคัญคือ เอกภพ,นิชา, ประสบศักดิ์ รวมไปถึงดำริห์ ก่อนันทเกียรติ โดยมีเอกภพเป็นประธานบริษัทและวีระวัฒน์ ชลวณิช เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร

แต่เพียงชั่วปีเดียว ริเวอร์แควก็ทำในสิ่งที่คาดไม่ถึง เมื่อประกาศว่า ผู้ถือหุ้นจะขายกิจการ เหตุผลสำคัญคือ บริษัทประสบภาวะขาดทุนประมาณ 20 ล้านบาท บริษัทธนสถาปนาต้องการขายหุ้นทิ้ง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของบริษัทอยู่แล้วที่ดำเนินการเพียงบริษัทลงทุน ทำให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นไม่มีกำลังพอจะลงเงินอีก ประกอบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ต้นทุนการผลิตพุ่งสูง ทำให้ผู้ถือหุ้นไม่มั่นใจอนาคตและต้องการขายหุ้นตาม

กลับตาลปัตรจากเมื่อเข้าตลาดหุ้นใหม่ๆ โดยเฉพาะประมาณการงบการเงินของ บลง.ธนสยาม ที่เป็นอันเดอร์ไรเตอร์นั้นผิดพลาดแบบขาวเป็นดำ

หุ้นริเวอร์แควก่อความสับสนตลาดหุ้นอยู่นาน เพราะไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ซื้อกิจการกันแน่ ช่วงแรกมีข่าวกลุ่มมอนเทอเรย์ของชยันต์ เตชะสุกิจ เข้าเจรจา แต่ต้องล้มไป รวมไปถึงเอบิโก้โฮลดิ้ง, กลุ่มว่องวานิช อีกทั้งมีการโจมตีว่ามีการนำข้อมูลภายในบริษัทเพื่อเก็งกำไรราคาหุ้น

ในที่สุด บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นิธิภัทร ก็เป็นแกนนำประกอบด้วยกลุ่มธนาคารกรุงเทพ, กลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เข้าซื้อกิจการริเวอร์แควด้วยมูลค่า 188 ล้านบาท สยบความสับสนวุ่นวายที่เต็มไปด้วยข่าวลือท่วมริเวอร์แคว

โดยนิธิภัทรนำริเวอร์แควไปอาบน้ำแต่งตัวใหม่เป็นบริษัทนิธิเวนเจอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มอบหมายให้ตรีขวัญ บุนนาค มาเป็นกรรมการผู้จัดการ โดยปรับเป็นบริษัทโฮลดิ้งแสวงหาลู่ทางการลงทุนใหม่ๆ เช่นที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนในหุ้นของบริษัทโกลด์มาสเตอร์, บริษัทเอเอแอรอน เป็นต้น เพื่อที่จะพัฒนาบริษัทเหล่านี้เข้าตลาดต่อไป

ส่วนกิจการผลิตและส่งออกผักผลไม้กระป๋องก็ยังดำเนินต่อไป โดยถือเป็นกิจการอีกส่วนหนึ่งของนิธิเวนเจอร์ โดยประสบศักดิ์เล่าว่า ก่อนหน้านี้บริษัทได้คิดผลิตข้าวโพดกระป๋องที่มีผู้นิยมบริโภคและส่งออกรองจากสับปะรด โดยตัดสินใจใช้เงินลงทุน 60 ล้าน
ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญพัฒนาพันธุ์ข้าวโพดที่ไม่มีใยและได้คุณภาพเพื่อส่งสู่ตลาดโลก ใช้เวลาพัฒนา 8-10 รุ่นพันธุ์ ก็ได้พันธุ์ที่สามารถปลูกในประเทศและเก็บเกี่ยวได้ปีละ 4 ครั้ง ประมาณเกือบ 2 ปีต่อมา บริษัทจึงผลิตแต่ข้าวโพดส่งออกอย่างเดียว ก่อนจะเริ่มทำตลาดในไทยในปี 2539 นี้ด้วย

แต่สำหรับตัวประสบศักดิ์ หลังจากขายหุ้นริเวอร์แควทิ้ง เขาก็ลาออกจากตำแหน่งบริหารและกลับไปอยู่กับสุเทพ บูลกุล แต่คราวนี้เขาไปเป็นผู้อำนวยการอยู่ที่บริษัทอีสเทอร์นสตาร์ส บริษัทในตลาดหุ้นอีกครั้ง ไปดูโครงการอยู่แถวอิสเทอร์นซีบอร์ด

แต่ในที่สุด เขาก็ตัดสินใจออกมาทำธุรกิจของตนเองที่ "บ้านป่าริมธาร" ที่กาญจนบุรี ซึ่งเป็นโครงการดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว

"การออกมาทำโครงการบ้านป่าริมธาร ใครๆ ก็ค้าน แต่ผมก็ตัดสินใจแล้ว เพราะชอบป่ามาตั้งแต่เด็ก เพราะต้นไม่ดูดซับความเครียดเราออกไปได้ แต่ก่อนเราจ้างสถาปนิกมาดูแล แต่ตอนนี้ลงมือเอง เห็นได้ว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่เราคิด สภาพโครงการออกมาตามที่เราต้องการ ยอดขายที่หยุดมานานก็เพิ่มขึ้น และเราก็จะปิดการขายให้ได้ในปีนี้ และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ที่นี่จะเป็นผลงานที่ภูมิใจของเรา" ประสบศักดิ์กล่าวถึงงานล่าสุด ที่ทำอยู่อย่างเต็มตัว ตอนนี้ในฐานะนักบริหาร ซึ่งเขาเชื่อว่างานบริหารแบบนี้ ที่จะทำให้ก้าวไปทำงานด้านบริหารอื่นๆได้ ตามแต่โอกาสในอนาคต

ผู้ถือหุ้นบริษัทบ้านริมธาร จำกัด ยังประกอบด้วยเอกภพ, นิชาและประสบศักดิ์เหมือนเดิม โดยรีสอร์ตแห่งนี้ดำเนินการบนที่ดิน 217 ไร่ที่เอกภพซื้อไว้นานแล้ว มูลค่าทั้งโครงการประมาณ 400 ล้านบาท

วันนี้ดูเหมือนว่าประสบศักดิ์จะมีความสุขกับโครงการ "บ้านป่าริมธาร" นี้เป็นอย่างมาก และเตรียมหาลู่ทางพัฒนาโครงการใหม่อีกด้วย

ในช่วงเวลาหลายปีมานี้ พิสูจน์แล้วว่า ชื่อ "แม่น้ำแคว" มีความหมายสำหรับประสบศักดิ์มากจริงๆ!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.