เปิดศักราชใหม่ 2539 นับว่าเป็นปีหนูทองของบริษัทเชสเตอร์ตัน ประเทศไทย
บริษัทบริหารงานขายข้ามชาติที่สามารถคว้างานชิ้นใหญ่มาได้เป็นประเดิม เพราะบริษัทบริหารงานขายรายอื่นๆ
ก็ต้องการช่วงชิงโครงการนี้ทั้งสิ้น
โครงการใหญ่ที่ว่านี้คือ "จุฬาไฮเทคสแควร์" โครงการพัฒนาที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ซึ่งกำลังเร่งงานทางด้านการก่อสร้าง โดยบริษัทไทยชิมิสึ จำกัด
จุฬาไฮเทคดำเนินการโดยบริษัทสยามเทคโนซิตี้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ
นำโดยธนาคารกสิกรไทย บงล.ศรีมิตร บงล.นวธนกิจ บงล.เอกธนกิจ และบริษัทไจโด
จากประเทศญี่ปุ่น ในสัดส่วน 55% และ 45%
ไจโดเป็นองค์กรในลักษณะรัฐวิสาหกิจของประเทศญี่ปุ่น มีไอ.อี.ซี.เอฟ ถือหุ้น
35% ที่เหลือเป็นบริษัทชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น ที่รวมตัวกันเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ
โครงการนี้จะประกอบไปด้วยอาคารที่พักอาศัยสูง 39 ชั้น โดยที่ 4 ชั้นล่างเป็นพลาซาในพื้นที่
7,000 ตารางเมตร ชั้นที่ 6-37 เป็นที่พักอาศัยจัดแบ่งเป็น 500 ยูนิต หรือ
60,000 ตารางเมตร ส่วนของโครงการศูนย์ประชุมมีพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร
ส่วนที่ 3 คืออาคารสำนักงานสูง 40 ชั้น มีพื้นที่รวมประมาณ 300,000 ตารางเมตร
พื้นที่ขายออฟฟิศประมาณ 120,000 ตารางเมตร
งานหลักทางเชสเตอร์ตันก็คือการขายพื้นที่พักอาศัย และพื้นที่ของอาคารสำนักงานทั้งหมด
ซึ่งแน่นอนว่าทางเชสเตอร์ตันรับงานนี้ด้วยความมั่นใจ เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นที่ดินแปลงใหญ่ใจกลางเมืองที่ไม่มีคู่แข่งประกอบกับความพร้อมของเจ้าของโครงการ
ทำให้ไม่เป็นเรื่องยากที่จะอธิบายให้ลูกค้ามั่นใจจนยอมควักกระเป๋าซื้อ
รวมทั้งจุดเด่นของโครงการนี้ที่สามารถคุยให้ลูกค้าฟังได้ก็คือทางจุฬาฯ
ต้องการให้อาคารสำนักงานของที่นี้เป็นอาคารที่ทันสมัยด้วยการติดตั้งระบบอินเทลลิเจนท์อย่างเต็มรูปแบบและมีศูนย์ประชุมนานาชาติ
ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางอาคารที่พักอาศัยกับอาคารสำนักงานมีพื้นที่รวมประมาณ
10,000 ตารางเมตร สำหรับจัดนิทรรศการทางด้านวิชาการ
ซึ่งยังมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นไปอีกว่าโครงการนี้น่าสนใจเพียงใด ระหว่างพัฒนางานนี้
เป้าหมายต่อไปของสยามเทคโนซิตี้ก็คือการทำโครงการในเฟสต่อๆ ไปในที่ดินของจุฬาฯ
ซึ่งขณะนี้ทางจุฬาฯ ก็กำลังเตรียมที่ดินอีกประมาณ 80 ไร่ ตรงข้ามกับตลาดสามย่านเพื่อทำการเปิดประมูลในปีนี้
เป็นเฟสที่ 2 นับเป็นที่ดินแปลงใหญ่มูลค่าสูงที่สุดในประเทศขณะนี้ ซึ่งแน่นอนว่านักพัฒนาที่ดินหลายรายกำลังจ้องตาเป็นมัน
แต่ยังติดขัดอยู่ตรงที่ว่าทางจุฬาฯ ยังไม่สรุปรายละเอียดออกมาว่าจะเป็นรูปแบบใด
เกียรติ์กำจร พงษ์สวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท สยามเทคโนซิตี้ จำกัด
ผู้ประมูลโครงการจุฬาไฮเทคสแควร์ได้เองก็ได้เปิดเผยว่า ทางบริษัทเองก็ยังคอยรายละเอียดจากจุฬาฯ
ในขณะเดียวกันก็เตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการต่างๆ อยู่เพื่อจะได้พัฒนาเป็นโครงการต่อเนื่องกับจุฬาไฮเทค
"เราอาจจะต้องหาผู้ร่วมทุนเพิ่มเพราะเป็นโครงการที่ใหญ่ขึ้น เปรียบเทียบง่ายๆ
จุฬาไฮเทคสร้างบนที่ดินเพียง 21 ไร่ใช้เงินไปประมาณ 7,500 ล้าน ถ้าที่ดิน
80 ไร่มันต้องลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 4 เท่าตัว"
ถ้างานชิ้นใหญ่ต่อไปสยามเทคโนซิตี้คว้าไปได้อีกก็มีโอกาศมากว่า เชสเตอร์ตันน่าจะมีงานใหญ่ยักษ์อีกโครงการรออยู่ข้างหน้าเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตามจากการขายจุฬาไฮเทคก็คือตัวตัดสินเช่นกัน
บริษัทเชสเตอร์ตัน ประเทศไทย เป็นบริษัทบริหารการขายข้ามชาติที่เป็นยักษ์ใหญ่รายหนึ่งทางด้านการขายของเมืองไทยรับงานการขายพื้นตึกใหญ่ๆ
มาแล้วหลายโครงการ ปัจจุบันมีโครงการที่กำลังขายอยู่เช่น เอสจีทาวเวอร์ ลุมพินี
เพลส เออีซีเพลส หลายโครงการที่ทางบริษัทรับงานบริหารการขายก็จะทำงานทางด้านประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปด้วย
แต่การจัดงานลงนามในสัญญารับบริหารการขายระหว่างบริษัทสยามเทคโนซิตี้ กับบริษัทเชสเตอร์ตันไทย
ซึ่งเป็นการเปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 นั้นไม่ประทับใจเลย
เริ่มจากความล่าช้าของผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่ายที่ผิดนัดไปกว่าชั่วโมง และความคับแคบของสถานที่ในห้องเซ็นสัญญาที่เหมือนจะอยากเซ็นกันเงียบๆ
จนต้องย้ายมาห้องแถลงข่าวที่มีขนาดไม่ต่างกันนัก แถมมีเพียงชุดรับแขกที่มีที่นั่งไม่เกิน
10 คนอยู่ 1 ชุด เฉพาะบริการ 5 คนเข้าไปแล้ว ในขณะที่มีนักข่าวกว่า 30 คน
ซึ่งอาจจะเป็นความผิดของนักข่าวที่เดี๋ยวนี้มีมากฉบับเกินไป
ในวันนั้นนักข่าวหลายคนค่อยๆ สลัดแขนขาและเดินออกมาด้วยความเมื่อยขบ พร้อมๆ
กับหวังว่า กว่าโครงการนี้จะขายหมดเชสเตอร์ตันคงได้พัฒนาฝีมือการจัดแถลงข่าวอีกหลายครั้ง
และคงจะพร้อมกว่าครั้งนี้แน่นอน