เยาวณี ตุลยะเสถียร ระวัง...ซีพีกำลังฮุบร้านขายยา!


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

การเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกยาด้วยรูปแบบเชนสโตร์ของบริษัท พีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แคร์ จำกัด ภายใต้ชื่อ "พีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แอนด์ บิวตี้ แคร์ " ซึ่งเปิดตัวสาขาแรกที่รอยัลการ์เด้น หลาซ่า พัทยา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2538 ได้กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ในวงการยาที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างจัยตามองว่า จะเป็นบริษัทน้องใหม่ที่เข้ามาสร้างความสั่นสะเทือนให้กับธุรกิจค้าปลีกยา ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าตลาดถึงประมาณ 7,500 ล้านบาท

เพราะที่อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งบริษัทพีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แคร์ จำกัด และยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็คือบริษัทสยาม แม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือของซีพี ยักษ์ใหญ่ที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงินและประสบการณ์ช่ำชองในวงการค้าปลีกและค้าส่ง

แต่จนถึงขณะนี้ พีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แคร์ ก็ยังคงเดินเกมรุกเงียบเน้นการขยายเครือข่ายสาขาเป็นหลัก จากแห่งแรกคือ รอยัลการ์เด้น พลาซ่า พัทยา สู่แฟชั่นไอส์แลนด์, อิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว,รอยัล การ์เด้น ริเวอร์ไซด์เจริญนคร, กาดสวนแก้ว เชียงใหม่, ยูไนเต็ดเซ็นเตอร์ สีลม และล่าสุดคือ ที่พระราม 4 เป็นรูปแบบร้านสแตนด์อโลน รวมทั้งสิ้น 7 สาขา

"หน้าที่หลักของเราตอนนี้ก็คือ การมองหาทำเลดีๆ เพื่อขยายสาขาให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เลือกสินค้า และปรับปรุงสาขาที่เปิดดำเนินการไปแล้วให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าในแต่ละย่านที่เข้าไป และคิดแผนการโปรโมชั่นออกมาอย่างต่อเนื่อง" เยาวณี ตุลยะเสถียร ประธานกรรมการบริหารบริษัทพีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แคร์ จำกัด กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

การรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกยาของกลุ่มซีพีได้มีการกำหนดแผนการรุกขยายสาขาคือ ภายใน 3 ปี ร้านพีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แอนด์ บิวตี้ แคร์ จะมีเครือข่าย 50 สาขา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็จะเริ่มระบบแฟรนไชส์เข้ามาใช้ โดยคาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปีจะสามารถขยายสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 150 แห่ง

จากนโยบายเกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายจำนวนสาขาดังกล่าวข้างต้น ปีนี้พีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แคร์ มีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 15-20 แห่ง โดยขณะนี้มีทำเลเป้าหมายอยู่ประมาณ 5 แห่งคือ ที่สี่แยกลำสาลีและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งจะเปิดร้านในรูปแบบสแตนด์อะโลน และในพลาซ่าอีก 3 แห่ง จะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์ของพีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แอนด์ บิวตี้ แคร์ ในการเข้าสู่ตลาดนั้นอาศัยความสำเร็จในเชิงการบริหารงานของเซเว่น-อีเลฟเว่นและแม็คโครมาเป็นแม่บท ระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากการให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายสาขา ในส่วนของการเดินเกมสร้างชื่อร้านพีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แอนด์ บิวตี้ แคร์ ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้าง เยาวณียังได้นำกลยุทธ์การตลาดเข้ามาใช้เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในธุรกิจร้านขายยาประเภทเชนสโตร์

กล่าวคือนอกเหนือจากความโดดเด่นด้านรูปแบบร้านที่แม็คโครลงทุนว่าจ้างบริษัทที่ชำนาญในแคนาดาออกแบบ โดยให้น้ำหนักกับการจัดดิสเพลย์ ที่เน้นการใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์และเป็นหมวดหมู่ชัดเจนที่สุดแล้ว ส่วนของผลิตภัณฑ์ยังได้มีการจับมือกับซัปพลายเออร์ออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อวางจำหน่าย อาทิ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องสำอางที่มีการนำบรรจุภัณฑ์แบบแขวนเข้ามาใช้สร้างความแตกต่างจากร้านขายยาเชนสโตร์รายอื่น

รวมถึงวิธีการดึงกลุ่มเป้าหมายเข้ามาเดินในร้านเยาวณีได้นำกลยุทธ์ในเรื่องการจัดรายการในรูปแบบอินเฮาส์ โปรโมชั่นในรูปแบบลดแลกแจกแถมอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างฐานะลูกค้าประจำ โดยการนำระบบสมาชิกเข้ามาใช้ ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า พีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แคร์ ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งโดยมีกลุ่มสมาชิกถึงกว่าหมื่นคนในจำนวน 7 สาขาที่เปิดบริการ

ทางบริษัทยังใช้ฐานจำนวนสมาชิกเหล่านี้ สร้างกิจกรรมในรูปแบบการส่งข่าวสารการเคลื่อนไหวของบริษัทไปยังบรรดาสมาชิกอย่างต่อเนื่อง

"ปีนี้เราคงมุ่งเจาะตรงไปยังลูกค้าเป้าหมายในทำเลแต่ละพื้นที่ที่เราเปิดบริการ โดยเน้นการให้ความรู้กับลูกค้ามากที่สุด สำหรับแผนโปรโมชั่นที่คิดไว้ยังมีอีกมาก" ประธานกรรมการบริหารกล่าว

พีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แอนด์ บิวตี้ แคร์ นับเป็นร้านขายยาในรูปแบบเชนสโตร์ที่ผสมผสานรูปแบบของเชนสโตร์ในประเทศอังกฤษและประเทศเพื่อนบ้านอย่างฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งต่างประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เข้ามาประยุกต์ให้เข้ากับสภาพสังคมไทย ภายใต้สโลแกน "ร้านยา...ที่มีให้คุณมากกว่ายา"

กล่าวคือรูปแบบร้านจะเป็นกึ่งผสมผสานระหว่างร้านขายยากับคอนวีเนียนสโตร์ในร้านเดียวกัน ซึ่งภายในร้านจะประกอบไปด้วยสินค้าในกลุ่มเวชภัณฑ์มีสัดส่วนประมาณ 50% ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารประเภทสแน็ก กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ เป็นต้น

โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดบริการใน 3 ทำเลหลักคือ 1. ศูนย์การค้า 2.อาคารสำนักงาน และ 3.ร้านในรูปแบบสแตนด์อะโลน

เยาวณีเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารยุคบุกเบิกของสยามแม็คโคร เธอเล่าถึงเบื้องหลังการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกยาของแม็คโครว่า เป็นผู้เสนอความคิดและได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้เข้ามารับผิดชอบศึกษาโครงการนี้ตั้งแต่ต้น หลังจากได้รับไฟเขียวจากผู้ใหญ่ จึงได้เข้ามาสานต่ออย่างเต็มตัว

เธอยอมรับว่าเส้นทางเดินของร้านพีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แอนด์ บิวตี้ แคร์ ได้นำแนวทางของเซเว่น-อีเลฟเว่นมาปรับใช้ บวกกับประสบการณ์ที่ได้เข้าไปมีส่วนผลักดันแม็คโคร ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นในฐานะผู้บริหารด้านการเงิน ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการนำแม็คโครเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ตลอดจนแม่แบบของงานบริหารด้านการตลาดในส่วนสินค้าอุปโภค-บริโภคที่เธอสะสมมาเมื่อครั้งที่เคยร่วมงานกับดีทแฮล์ม ก่อนตัดสินใจลาออกมาร่วมงานกับแม็คโคร เข้ามาผสมผสานเพื่อผลักดันให้ร้านพีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แอนด์ บิวตี้ แคร์ ผงาดในธุรกิจค้าปลีกยา

"ตอนนี้ถ้าเราจะบอกว่าเราประสบความสำเร็จอาจเร็วไปเพราะยังไม่ถึงปี แต่เราก็มีความมั่นใจ เนื่องจากเราเป็นมืออาชีพที่มีข้อดีคือ เรามีความพร้อมและความสำคัญคือ เรามีแบ็กอัพที่ดี"

แบ็กอัพที่ดีในคำกล่าวของเธอ นอกเหนือจากเงินทุนแล้ว ยังกินความรวมไปถึงการอาศัยฐานที่แข็งแกร่งของทั้งเซเว่น-อีเลฟเว่นและแม็คโครเป็นทัพหนุนด้านการส่งสินค้า โดยเฉพาะในส่วนของยา ซึ่งแม็คโครสามารถซัปพอร์ตได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจค้าปลีกยา ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกระบบโควตาร้านขายยา กระแสสุขภาพที่กำลังมาแรง การตัดสินใจของกลุ่มซีพีในการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจนี้ ก็คงต้องจับตากันต่อไปว่า พีเพิลส์ เฮ็ลธ์ แอนด์ บิวตี้ แคร์ จะสามารถเดินรอยตามรุ่นพี่ในเครือเดียวกัน ในการพลิกบทจากน้องใหม่สู่การเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการค้าปลีกยาได้สำเร็จหรือไม่!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.