ธุรกิจสมาชิกสนามกอล์ฟจะไม่ตกต่ำไปกว่านี้อีกแล้วหรือ?


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

นับจากธุรกิจกอล์ฟเติบโตอย่างสุดขีดมาเมื่อช่วงสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อประมาณ 6-7 ปีก่อนแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจสนามกอล์ฟก็ยังไม่มีโอกาสได้เห็นวันนั้นอีกครั้ง

โดยเฉพาะการที่ตลาดสมาชิกสนามกอล์ฟจะขึ้นลงตามภาวะตลาดหุ้น อย่างที่พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัท บางกอกกอล์ฟ บอกไว้เสมอ เห็นภาวะตลาดหุ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ก็คงหวังผลกำไรได้ยากจากคนที่หวังจะขายสมาชิกสนามกอล์ฟให้ได้ราคาดี เว้นแต่พวกรักกอล์ฟเป็นชีวิตจิตใจเท่านั้นที่จะถือเป็นช่วงโอกาสทอง ที่จะซื้อสมาชิกสนามกอล์ฟได้ในราคาถูกใจ มีโอกาสใดบ้างที่จะทำให้ธุรกิจสนามกอล์ฟกลับมาสดใสอีกครั้ง

"สภาวะธุรกิจกอล์ฟ ซบเซาต่อเนื่องมานานถึง 5 ปี ต่ำสุดเมื่อไตรมาส 3 ของ พ.ศ.2538 เริ่มดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อไตรมาส 4 และน่าจะเป็นการสิ้นสุดของยุคตกต่ำของธุรกิจกอล์ฟ ซึ่งเชื่อว่าหลังจากนั้นคงจะดีขึ้นตลอด" กิตติ โคมทองสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์ซื้อขายสมาชิกสนามกอล์ฟ จำกัด กล่าวกับ "ผู้จัดการ" พร้อมกับพูดถึงพฤติกรรมของกลุ่มผู้ซื้อสมาชิกกอล์ฟในปัจจุบันว่า

ผู้ซื้อสมาชิกสนามกอล์ฟ ส่วนใหญ่จะซื้อเพื่อใช้ประโยชน์ในการเล่นจริงๆ ไม่ใช่ซื้อเพื่อเก็งกำไรเหมือนในยุคที่สนามกอล์ฟบูมเมื่อ 5-6 ปีก่อน โอกาสที่ราคาค่าสมาชิกจะปรับตัวขึ้น จึงมีไม่มาก และแรงซื้อตรงส่วนนี้ ก็อาจจะทำให้ราคาสมาชิกสนามกอล์ฟเพิ่มขึ้นได้บ้างประมาณ 5-10%

สิ่งหนึ่งที่จะสังเกตได้ของการซื้อขายสมาชิกสนามกอล์ฟในช่วง 5 ปีที่ตกต่ำ จะเป็นการซื้อขายระหว่างสมาชิกสนามกอล์ฟเก่า กับกลุ่มสมาชิกใหม่ที่หันมาสนใจการเล่นกอล์ฟ หรือกลุ่มครอบครัว ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนายความสะดวกอื่นๆ ในโครงการ เช่น คลับเฮาส์ หรือศูนย์กีฬาต่างๆ ที่มีอยู่ในสนามกอล์ฟ ซึ่งผู้ซื้อจะเห็นว่าคุ้มค่าและราคาไม่แพงสำหรับค่าสมาชิกตลอดชีพ หรือค่าสมาชิกรายปีเพียงไม่กี่หมื่นบาท

ข้อสังเกตของการซื้อขายสมาชิกกอล์ฟในช่วงตกต่ำอีกประการ ก็คือ ผู้ประกอบการธุรกิจสนามกอล์ฟจะไม่มีส่วนยุ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย และจะไม่มีการขายสมาชิกกอล์ฟใหม่ เพราะราคาที่หมุนเวียนเปลี่ยนมือในท้องตลาด เป็นราคาที่ต่ำลงขนาดจะคิดเพียงค่าต้นทุนในการสร้างสนามต่อสมาชิกทั้งหมดที่มี ก็ยังนับได้ว่าขาดทุน เพราะเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาแรกขายสมาชิกในช่วงเปิดโครงการมากนัก

"ภายใน 5 ปีต่อไปนี้ ก็เชื่อได้แน่ว่าจะไม่มีการสร้างสนามกอล์ฟแห่งใหม่เกิดขึ้น เว้นแต่ถ้าจะสร้างก็ต้องเป็นสนามกอล์ฟชนิดที่ยกระดับให้สูงไปเลย เหมือนสโมสรราชพฤกษ์ ที่เป็นสนามกอล์ฟของคนระดับสูงจริงๆ จึงจะยังขายสมาชิกสนามกอล์ฟได้เป็นล้านบาท หรืออย่างกรณีที่กลุ่มปัญญากับเนเชอรัลพาร์ค ที่จับมือกันวางแผนจะสร้างสนามกอล์ฟปิดในโครงการวินสัน เพื่อให้เป็นสนามกอล์ฟที่เป็นส่วนตัวจริงๆ กับกลุ่มสมาชิก ซึ่งต้องลงทุนสูง แต่ก็นับว่าได้เปรียบของกลุ่มนี้เพราะมีที่ดินเดิมเป็นทุนอยู่แล้ว" กิตติกล่าวคาดการณ์

นอกจากค่าสมาชิกกอล์ฟที่ทรงตัวอยู่แล้วนั้น ค่ากรีนฟีของสนามกอล์ฟแต่ละแห่ง โดยเฉพาะสนามกอล์ฟในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็ยังคงอยู่ในราคาเดิมระหว่าง 1,000-2,000 บาทเช่นกัน

"ค่ากรีนฟีที่ยังคงเป็นราคาเดียวกับเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีสนามกอล์ฟแห่งไหนกล้าขึ้นราคา เพราะกลัวไม่มีคนมาเล่น แต่ก็เชื่อว่าจะต้องมีการปรับราคาขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะแต่ละสนามเริ่มทนต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสนามที่เพิ่มขึ้นไม่ไหวและที่สำคัญค่ากรีนฟี ยังเป็นตัวแปรหลักที่จะทำให้ค่าสมาชิกสนามกอล์ฟปรับตัวขึ้นตามอีกด้วย" กิตติกล่าว

อย่างไรก็ดี เป็นที่เชื่อกันของผู้เกี่ยวข้องในวงการกอล์ฟเป็นเสียงเดียวกันว่า ปริมาณการซื้อขายสมาชิกสนามกอล์ฟจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดปี หลังจากที่เริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้นให้เห็นในช่วงต้นปี พ.ศ.2539 นี้แล้ว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณการซื้อสมาชิกสนามกอล์ฟเพิ่มขึ้น แต่สนามที่มีอยู่ก็มีเท่าเดิม ไม่มีการสร้างสนามใหม่ให้ซื้อ รวมถึงโอกาสการสร้างสนามกอล์ฟในเขตกรุงเทพฯ ก็เป็นไปได้ยาก ทำให้นักเล่นกอล์ฟหน้าใหม่ต้องหาซื้อสมาชิกกอล์ฟจากสนามที่มีอยู่เดิม

กิตติกล่าวว่า ปริมาณการซื้อสนามกอล์ฟจะเพิ่มมากโดยเฉพาะในอีก 2 ปีข้างหน้า จากเหตุผลเดียวกันที่คนต้องการสนามเล่นกอล์ฟเพิ่มขึ้น เพราะนักกอล์ฟหน้าใหม่ในวันนี้ 80% ยังใช้วิธีจ่ายค่ากรีนฟีเมื่อฝีมือถึงระดับหนึ่งแล้ว นักกอล์ฟเหล่านี้จะค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมมาซื้อสมาชิกสนามกอล์ฟเพิ่มขึ้น

ส่วนลักษณะการซื้อขายสมาชิกสนามกอล์ฟ จะมีหลายรูปแบบ ในปัจจุบันโดยมากผู้ซื้อและผู้ขายจะตกลงกันเอง

อย่างที่สอง ผู้ขายมักจะฝากขายกับเจ้าหน้าที่ในสนามกอล์ฟ เมื่อมีผู้สนใจและสามารถขายได้ เจ้าหน้าที่รับฝากก็จะได้สินน้ำใจตอบแทน และอย่างที่สาม คือการฝากขายกับบริษัทบริการซื้อขาย ทั้งนี้การขายแบบนี้ยังไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทยเท่าไร ซึ่งผิดกับการซื้อขายสมาชิกสนามกอล์ฟในต่างประเทศ

"ในต่างประเทศถ้ามีสนามเปิดใหม่ ก็ให้บริษัทตัวแทนเป็นผู้จัดขาย ดังนั้นเมื่อสมาชิกเก่าต้องการขายต่อก็จะฝากกับนายหน้า"

สิ่งเหล่านี้คงจะยืนยันได้ว่า ไม่เพียงแต่ธุรกิจสนามกอล์ฟที่ไม่มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นเลยในช่วง 5 ปี ในส่วนของบริษัทบริการซื้อขายสมาชิกสนามกอล์ฟก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

เพราะแม้กีฬากอล์ฟจะเป็นที่นิยมในประเทศไทยมาหลายปี แต่จำนวนบริษัทบริการซื้อขายสมาชิกสนามกอล์ฟกลับมีน้อยเต็มที ชนิดนับจำนวนบริษัทกลับไปกลับมาใน 1 นาที ได้หลายรอบ

บริษัทที่เป็นที่รู้จักในด้านนี้โดยทั่วไปคงจะมีเพียง 2 บริษัท คือบริษัทศูนย์ซื้อขายสมาชิกสนามกอล์ฟ จำกัด และบริษัทบางกอกกอล์ฟ จำกัด

สาเหตุที่บริษัทลักษณะนี้เกิดขึ้นยาก กิตติกล่าวว่า เพราะการดำเนินงานที่ต้องขึ้นอยู่กับความเชื่อถือของลูกค้า ต้องมีฐานลูกค้าที่สร้างสมมา และต้องคลุกคลีอยู่ในวงการมามาก เพื่อใช้เป็นประสบการณ์ในการทำงาน ตัวอย่างเช่น การขายสมาชิกสนามกอล์ฟของแต่ละสนามจะมีรายละเอียดมากมายแตกต่างกัน บางแห่งแถมสมาชิกคลับเฮาส์แต่บางแห่งไม่แถม จุดเด่นของสนามแตละแห่งฯลฯ

รู้กันอย่างนี้แล้ว ใครที่สนใจจะเปิดบริษัทบริการซื้อขายสมาชิกสนามกอล์ฟ ทางที่ดีก็ควรจะอาศัยช่วงเวลาที่ซบเซา ฝึกปรือฝีมือไว้ให้พร้อมเมื่อธุรกิจนี้ตื่นขึ้นมาอีกหน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.