ประยูร คงคาทอง "เชน คัมแบค" สู่ธุรกิจน้ำมัน


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ชื่อของประยูร คงคาทอง ในอุตสาหกรรมน้ำมัน น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ถึงแม้เขาจะเกษียณตัวเองออกจากวงการนี้มากว่า 2 ปีแล้วก็ตาม แต่ด้วยประสบการณ์ที่อยู่ในธุรกิจน้ำมันมานานกว่า 20 ปีที่เอสโซ่กับผลงานที่สร้างสมไว้จนถึงปัจจุบัน ทำให้ชื่อของประยูรยังเป็นที่ต้องการของคนในวงการนี้อยู่

และที่บริษัท สยามสหบริการ จำกัดนี่เอง ที่ทำให้ประยูรตัดสินใจลาออกจากการเป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ของแบงก์กรุงเทพ มาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ที่สยาม-สหบริการ ด้วยเหตุผลที่ว่า "มันท้าทายดี"

ประยูรเป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิด หลังจากจบการศึกษาที่อัสสัมชัญ กรุงเทพฯแล้ว ได้เดินทางไปศึกษาต่อชั้นมัธยมที่ฮ่องกงเป็นเวลา 2 ปีจากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อด้านบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

ประยูรเริ่มงานครั้งแรกกับ GETZ-BROS, IN. ในซานฟรานซิสโกช่วงปี 2499 หลังจากนั้น 6 เดือนได้ย้ายเข้ามาประจำสาขาในกรุงเทพฯในตำแหน่งผู้จัดการฝ่าย และอีก 4 ปีต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการทั่วไป รวมเวลาที่อยู่ที่นี่นานถึง 11 ปี

และในช่วงที่ทำงานอยู่ใน GETZ-BROS นี่เองที่ทำให้ประยูรมีโอกาสพบกับชาติเชื้อ กรรณสูต ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ในการเชื้อเชิญให้ประยูรมาร่วมงานกับสยามสหบริการในปัจจุบัน

"เมื่อ 3 ปีก่อนเขาเป็นลูกน้องผม ตอนอยู่ GETZ-BROS คุณชาติเชื้อเขาเพิ่งจบจากอเมริกา เขาส่งประวัติมาให้ผมดู ผมเห็นว่าคนนี้ดีก็เลยรับเขาไว้ เขาอยู่กับผมได้ 4 ปี แล้วก็ออกไปทำที่ทีวีช่อง 7 จากนั้นอีก 30 ปีต่อมาผมกลายเป็นลูกน้องเขา" ประยูรเล่าถึงความสัมพันธ์ในอดีตที่โยงใยมาถึงการ่วมธุรกิจกันในปัจจุบัน

ในปี 2510 ประยูรได้ผันตัวเองเข้าร่วมงานกับบริษัทเอสโซ่แสตนดาร์ด(ประเทศไทย)จำกัด โดยครั้งแรกมีหน้าที่รับผิดชอบศูนย์บริการ(ปั๊มน้ำมัน) ของบริษัทฯในกรุงเทพฯทั้งหมด ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ประมาณ 2 แห่ง ทำอยู่ประมาณ 2 ปีก็หันมาดูแลศูนย์บริการในกรุงเทพฯทั้งหมดซึ่งรวมถึงศูนย์บริการซึ่งเป็นของลูกค้าด้วย หลังจากนั้นก็ขยายไปดูแลศูนย์บริการของบริษัทฯทั่วประเทศ

ไม่เพียงแต่งานในฝ่ายค้าปลีกเท่านั้น ประยูรได้ถูกฝึกให้เรียนรู้งานรอบด้านตามสไตล์บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เมื่อดูจากตำแหน่งหน้าที่ที่เปลี่ยนไปในแต่ละครั้งจากผู้จัดการภาคกลาง ผู้จัดการภาคนครหลวง ฝ่ายอุตสาหกรรม ฝ่ายวางแผนและจัดหาน้ำมัน และกลับมาอยู่ฝ่ายขายปลีกอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่ได้เดินทางไปดูงานในต่างประเทศด้านการวางแผนด้านการขายปลีกและการผลิตน้ำมันเป็นเวลา 20 เดือน เมื่อกลับมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดจนถึงตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด และเป็นกรรมการบริหารของบริษัทฯซึ่งเป็นคนไทยเพียง 1 ใน 2 คน (อีกคนคือ ประมุข บุณยะรัตเวช) ที่ได้เป็น

ประยูรเกษียณเมื่ออายุครบ 55 ในปี 2529 แต่ด้วยความสามารถที่ยังมีอยู่ในระดับสูง ทำให้ประยูรได้รับการต่ออายุการทำงานออกไปอีก 1 ปี

และถ้าจะพูดถึงผลงานตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ร่วมงานกับเอสโซ่นั้น คงจะพูดได้ไม่ง่ายนักในเนี้อที่อันจำกัดนี้

แต่มีผลงานชิ้นหนึ่งที่ถูกกล่าวขานกันมาก และเป็นผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับประยูรทุกครั้งที่กล่าวถึงคือ การพลิกประวัติศาสตร์การเป็นผู้นำในตลาดน้ำมันในประเทศไทยให้กับเอสโซ่ได้เป็นผลสำเร็จตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา หลังจากที่ต้องตามเชลล์มาตลอดเป็นระยะเวลาหลายสิบปี

แผนยุทธศาสตร์ชิงความเป็นผู้นำถูกกำหนดขึ้นด้วยกลยุทธ์ "ป่าล้อมเมือง"

ในขณะที่หัวใจสำคัญของการทำปั๊มน้ำมันอยู่ที่ทำเลการตั้ง เชลล์ค่อนข้างจะได้เปรียบในฐานะผู้มาก่อน โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯปั๊มน้ำมันที่อยู่ในโลเกชั่นดีๆมักจะเป็นเชลล์ ในขณะที่เอสโซ่มาทีหลังการหาที่ตั้งดีๆค่อนข้างลำบากและแพง ถ้าจะเปรียบเทียบจำนวนปั๊มน้ำมันในเขตกรุงเทพฯ ขณะนั้นแล้วเอสโซ่มีอยู่เพียง 80-90 ปั๊มในขณะที่เชลล์มี 130 ปั๊ม

ทางออกของเอสโซ่ในขณะนั้นคือการออกต่างจังหวัดโดยอาศัยความเจริญทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวออกไปสู่ภูมิภาค เพราะฉะนั้นความจำเป็นในการใช้น้ำมันจึงมีมากขึ้นด้วยการขนส่งด้วยรถสิบล้อเอสโซ่จึงสร้างสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "ทรัคสเตชั่น" ขึ้นในหลายๆจุดเท่านั้นยังไม่พอ การผสมผสานแนวความคิดด้านบริการให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในโลเกชั่นนั้น เป็นหัวใจสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ในขณะที่เรารู้ว่าลูกค้าของเราเป็นใคร และเขาต้องการอะไร เราควรพยายามหาสิ่งเหล่านั้นมาให้เขา เขาก็เป็นลูกค้าที่ดีของเรา

นโยบายหนึ่งที่ประยูรคิดขึ้นมาคือเรื่องห้องน้ำสะอาด โดยคำนึงว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนขับรถสิบล้อ เมื่อเดินทางไกลก็คิดถึงห้องน้ำ การมีห้องน้ำที่สะอาด ประกอบกับการบริการด้านอื่นอย่างเช่นห้องอาบน้ำ ที่สำหรับล้างรถ ร้านอาหารราคาถูกหรือมีที่ให้นอนพักผ่อน ทำให้เหมือนกับเป็นบ้านที่สองของเขา เท่ากับเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ซึ่งกลยุทธ์นี้เองที่ประยูรบอกว่าทำให้เอสโซ่มีส่วนแบ่งตลาดขึ้นมา

ประยูรเกษียณอายุการทำงานหลังจากที่เอสโซ่ทำการต่ออายุให้อีก 1 ปีในช่วงสิ้นปี 2530 และตั้งใจไว้ว่าจะเลิกทำงานแล้วกลับไปอยู่กับครอบครัวที่อเมริกา

แต่ความตั้งใจของประยูรก็ต้องล้มเหลว เพราะเพื่อนที่ชื่อชาตรี โสภณพนิช (กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ) ชักชวนให้มาร่วมงานที่ธนาคารกรุงเทพ ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดูแลฝ่ายการตลาด

แม้จะไม่มีประสบการณ์ทางการเงินเลย แต่ในส่วนตัวขณะนั้นประยูรไม่ได้หนักใจกับงานใหม่นัก เพราะคิดว่าการตลาดของแบงก์กับน้ำมันเหมือนกันคือ "การขายบริการ" ถ้าบริการเราดีคนก็กลับมาหาเราทั้งหมดขึ้นอยู่กับการทำให้ลูกค้าพอใจ

ประยูรเข้าร่วมงานกับแบงก์กรุงเทพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2531 แต่ก็อยู่ไม่ได้นานก็ลาออก

คนที่เคยร่วมงานกับประยูรสมัยที่อยู่แบงก์กรุงเทพเล่าให้ฟังว่า "จริงๆแล้วคุณประยูรเป็นคนมีไฟอยู่ตลอดเวลา มีแนวความคิดอะไรใหม่ๆที่จะปรับปรุง แต่ด้วยการที่แบงก์กรุงเทพมีโครงสร้างที่ใหญ่ ขั้นตอนเลยมากคุณประยูรเองก็ไม่มีอำนาจเพียงพอในการที่จะตัดสินใจทำอะไรได้ทุกอย่างต้องผ่านขั้นตอนเลยทำให้อึดอัด

ยิ่งชาตรีเอาชาติศิริ "โทนี่" ลูกชายมานั่งประกบประยูรด้วยแล้วทำให้เขาถูกสต้าฟฟ์ในฝ่ายมองข้ามความสำคัญไปมาก เพราะทุกคนมุ่งไปที่โทนี่เนื่องจากรู้ว่าสามารถสื่อสารถึงพ่อได้เร็วกว่าประยูร

เมื่อออกมาชาติเชื้อ กรรณสูตซึ่งถือหุ้นใหญ่ในสยามสหบริการชวนมาทำงาน

กับการเข้ามาในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของสยามสหบริการ ซึ่งแน่นอนโดยตำแหน่งแล้วใหญ่กว่า แต่ด้วยความที่องค์กรมีขนาดเล็กกว่าจึงมีทั้งผลดีและผลเสียแตกต่างกันเมื่อเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่ทั้งสองแห่ง

ผลดีสำหรับการเป็นองค์กรที่เล็กกว่าคือความคล่องตัวในการทำงาน โดยเฉพาะการตัดสินใจได้ฉับไวแต่ในแง่ของการทำงานแล้วหนักกว่าองค์กรใหญ่โดยเฉพาะงานที่ต้องบุกเบิกใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดองค์กร การเลือกทำเลที่ตั้งปั๊มการสร้างตราของสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งภาระหน้าที่ทั้งหมดนี้ประยูรจะต้องเข้าไปจัดการดูแลด้วยตัวเอง

บริษัท สยามสหบริการ จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2520 ดำเนินธุรกิจด้านการส่งน้ำมันให้กับบริษัทน้ำมันในประเทศเช่น เชลล์ เอสโซ่ คาลเท็กซ์ ป.ต.ท. รวมไปถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ต่อมาในปี 2528ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ให้ดำเนินธุรกิจการค้าน้ำมันขึ้นอีกแขนงหนึ่งภายใต้มาตรา 6 แห่งพ.ร.บ.น้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2521 บริษัท จึงได้ก่อสร้างคลังน้ำมันและถังเก็บน้ำมันขึ้น 4 ถังที่ถนนราษฎร์บูรณะสามารถเก็บน้ำมันได้ประมาณ 12,000 เมตริกตัน

และในปี 2529 บริษัทได้ดำเนินการค้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเพียงอย่างเดียว และมีนโยบายที่จะขยายธุรกิจค้าน้ำมันลงไปยังภาคใต้ โดยเลือกสุราษฎร์ธานีเป็นศูนย์กลางดำเนินงานที่มีทั้งอาคารที่ทำการและถังเก็บน้ำมัน 4 ถังขนาดความจุ 20,000 เมตริกตันนัยว่าเป็นคลังน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ขณะนี้

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2531 สยามสหบริการเซ็นสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สถานีบริการฯ ภายใต้เครื่องหมายการค้าตราม้าบินกับบริษัท โมบิลออยล์ จำกัดโดยที่บริษัทแม่ของโมบิลออยล์ให้ข้อเสนอ 3 ข้อคือ หนึ่ง จะเข้าร่วมลงทุนในบริษัทค้าน้ำมันที่ใช้ชื่อว่าสยามบริการด้วย สอง จะขายน้ำมันให้ในราคา "กันเอง" เท่ากับที่อื่นทั่วโลก สาม ให้เครดิตสั่งซื้อน้ำมันได้ล่วงหน้า 45 วันโดยไม่คิดดอกเบี้ย

การที่บริษัท โมบิลออยล์ตกลงร่วมค้ากับทางสยามสหบริการครั้งนี้ คนในวงการกล่าวกันว่าเป็นผลของความพยายามที่โมบิลจะกลับเข้ามาในตลาดอีกครั้งหลังจากปั๊มของตราม้าบินถูกเปลี่ยนเป็นตราของเอสโซ่ทั้งหมดเมื่อ 25 ปีก่อน เนื่องจากเห็นว่าตลาดน้ำมันในเมืองไทยขยายตัวอย่างมาก

ก่อนหน้าที่จะร่วมกับสยามสหบริการ โมบิลมีปั๊มน้ำมันประมาณ 6-7 แห่งที่ภาคใต้และมีคลังน้ำมันที่กันตังแต่ไม่อยู่ภายใต้มาตรา 6 แห่งพ.ร.บ. น้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2521 พราะจำนวนขายยังไม่ถึง (จะต้องขาย 10 ล้านลิตร/เดือนขึ้นไปถึงจะเป็นผู้ค้าน้ำมันได้)

การกลับมาอีกครั้งของโมบิลได้มีการกำหนดตลาดขึ้นใหม่ โดยในเขตกรุงเทพฯและภาคกลาง โมบิลออยล์จะเป็นผู้ดำเนินการเอง ส่วนที่เหลือในภาคใต้ ภาคเหนือและอีสานให้สยามสหบริการเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด โดยมีโมบิลออยล์ไทยแลนด์ เป็นฝ่ายให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคตลอดจนการฝึกอบรมบุคลากร

ความพยายามที่ผ่านมาของผู้บริหารสยามสหบริการในการขยายปั๊มน้ำมันของตนเองให้ได้มากที่สุด แต่ดูเหมือนจำนวนตัวเลขตลอด 2 ปีที่ผ่านมีเพียง 15 แห่งเท่านั้น

การดึงประยูรเข้ามาร่วมชายคาเดียวกับสยามสหบริการจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งอย่างน้อยประสบการณ์การทำงานในวงการน้ำมันมา 20 ปีก็ทำให้ประยูรรู้ว่าควรจะทำอย่างไร

ประยูรกล่าวว่าจุดหนึ่งที่สยามสหบริการค่อนข้างได้เปรียบกว่าบริษัทน้ำมันข้ามชาติรายอื่นคือการเป็นบริษัทของคนไทยซึ่งสามารถ มีกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดินได้ ดังนั้นการที่จะเพิ่มจำนวนปั๊มในลักษณะที่บริษัทลงทุนเอง จึงไม่ใช่เรื่องยาก ความได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งคือการมีกิจการครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเรือบรรทุกน้ำมันจากสิงคโปร์ คลังน้ำมัน และมีบริษัทรถขนน้ำมันของเราเอง

สิ่งเริ่มแรกที่ประยูรเข้ามาทำคือ การตระเวนดูกิจการของบริษัททั่วประเทศ พร้อมไปกับการหาทำเลที่ตั้งปั๊มใหม่ๆ ที่เหมาะสม โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 5 ปีจะเปิดปั๊มให้ได้ 300 ปั๊ม ซึ่งอาจจะรวมปั๊มของโมบิลในภาคกลางด้วย (โมบิลอาจจะมีประมาณ 100 แห่ง)

แผนงานที่เตรียมไว้ขณะนี้คือการสร้างตราสินค้าของบริษัทขึ้นสองตราคือคำว่า "SUSCO" ซึ่งเป็นชื่อย่อของสยามสหบริการจะใช้สำหรับปั๊มในภาคเหนือและอีสานให้เป็นเอกลักษณ์ของเราเองส่วนตรา "ม้าบิน" จะใช้เฉพาะในเขตภาคใต้ ทางด้านการลงทุนมากกว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นปั๊มใหญ่โดยการนำเอาคอนเซ็ปต็การทำปั๊มแบบครบวงจรมาใช้นั่นคือมีมินิมาร์ท มีโปรแกรมการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องอย่างเร็ว (QUICK LUBE) หรือการตั้งร้านค้าต่างๆเช่น ประดับยนต์ แบตเตอรี่ ยางรถยนต์ ไว้บริการ ซึ่งจุดนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประยูรมั่นใจว่าโมบิลจะประสบผลสำเร็จในตลาด

นอกจากนี้การนำระบบคลังสำรองมาใช้ก็เป็นอีกคอนเซ็ปต์หนึ่ง เมื่อจำนวนปั๊มมีมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง ทางบริษัทฯจะใช้ปั๊มใหญ่ที่มีอยู่เป็นศูนย์การส่งน้ำมันให้ปั๊มเล็กในรัศมีนอกบริเวณ 30-40 กิโลเมตรละแวกหมู่บ้าน จะได้ไม่ต้องรอน้ำมันจากกรุงเทพฯซึ่งกินเวลาถึง 2 วัน

นโยบายที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ประยูรคิดขึ้นคือการสร้าง "เถ้าแก่ปั๊มน้ำมัน" ด้วยการรับประกาศรับสมัครผู้ที่สนใจจะทำงานในตำแหน่งผู้จัดการปั๊ม โดยไม่จำเป็นจะต้องมีทุนเพราะสยามสหบริการเป็นผู้ลงทุนให้ พร้อมกับฝึกอบรมให้ เพียงแต่ผู้สมัครสนใจธุรกิจด้านนี้ หรือเคยมีประสบการณ์ทางด้านน้ำมัน หรือช่างตามศูนย์บริการรถต่างๆมาแล้วก็สามารถทำงานนี้ได้

ส่วนทางด้านการจัดองค์กรนั้น ประยูรกล่าวว่า "ผมไม่ได้เปลี่ยนองค์กรนี้ทั้งหมด เพียงแต่จัดให้มันเข้ารูปมากขึ้น เมื่อก่อนมีรองกรรมการผู้จัดการ 2 คนรับผิดชอบฝ่าย 7-8 ฝ่าย เพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น ผมจึงยกเลิกตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการลง และให้ผู้อำนวยการแต่ละฝ่ายรายงานโดยตรงกับผม"

นอกเหนือจากความมั่นใจของผู้ร่วมงานถึงอนาคตของบริษัทสยามสหบริการ ภายใต้การบริหารงานของมืออาชีพอย่างประยูรแล้วความมั่นใจนี้ยังรวมถึงการสร้างความมั่นคงให้กับบริษัทฯด้วย นั่นคือการนำบริษัทฯเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเสนอข้อมูลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาถึง 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งล่าสุดซึ่งเป็นครั้งที่ 3 จึงได้ผ่านการพิจารณา (ขณะปิดต้นฉบับได้ผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการรับหลักทรัพย์ใหม่แล้ว และกำลังจะนำเสนอเข้าคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง)

นัยว่า การผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการครั้งนี้เป็นผลมาจากความมั่นใจที่มีต่อประยูรในฐานะมืออาชีพที่คร่ำหวอดในวงการน้ำมันมานาน และได้เข้ามามีส่วนในการบริหารกิจการของสยามสหบริการจริงๆ

อย่างนี้ "เสี่ยหมง" มงคล สิมะโรจน์ต้องโค้งงามๆให้ประยูร

ถึงแม้ว่าการเข้ามาของประยูรจะมีความหมายต่อสยามสหบริการเพียงใดก็ตาม แต่ประยูรได้ประกาศออกมาแล้วว่าเขาจะขออยู่ที่เพียง 3-4 ปีเท่านั้น จากนั้นก็จะขอไปอยู่กับครอบครัว ส่วนงานที่นี่ก็จะพยายามสร้างคนขึ้นมาแทนและเมื่อถึงเวลานั้นคงต้องมาดูกันอีกทีว่า ความตั้งใจของประยูรที่จะทำให้ชื่อของโมบิลภายใต้ชายคาของสยามสหบริการไปถึงฝั่งหรือไม่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.