ทีทีแอนด์ทีผสมโรง

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ทันทีที่คณะกรรมาธิการคมนาคมจุดประเด็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐาน โดยมีสมบัติ อุทัยสาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับลูกไปสานต่อด้วยการนำวิธีการบริการแบบไทม์โซนมิเตอริ่ง โดยอ้างว่าเพื่อความยุติธรรมคนใช้มากเสียมาก ใช้น้อยเสียน้อยมาใช้ แถมพ่วงด้วยการลดค่าบริการทางไกลในต่างจังหวัดลง 30% ไทยเทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือทีทีแอนด์ที ผู้รับสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานในต่างจังหวัด แม้จะยังไม่โดนแรงกดดันเหมือนกับโทรศัพท์มือถือ แต่ก็เหมือนนกรู้รีบออกมารับลูก ด้วยการนำเสนออัตราค่าโทรศัพท์ทางใหม่ทันที เพื่อไม่ให้เสียชื่อว่าเป็นลูกหม้อเก่าของ ทศท. แถมยังมีมือบริหารจากองค์การโทรศัพท์ลาออกมาร่วมทีมอยู่เป็นจำนวนมาก

อัตราค่าโทรศัพท์ทางไกลใหม่ที่ทีทีแอนด์ทีเสนอมานั้น จะแบ่งช่วงเวลา ใหม่ออกเป็น 2 ช่วงคือ ภาคกลางวัน และกลางคืน ในขณะที่อัตราค่าบริการเดิม แบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา ซึ่งทีทีแอนด์ทีไม่ได้ยืนยันอัตราใหม่ลดลงเฉลี่ย 33% ส่วนอัตราค่าโทรศัพท์ภายในจังหวัดให้คงอัตราเดิมคือ ครั้งละ 3 บาท อัตราที่ทีทีแอนด์ทีเสนอมานั้น หากมองในภาพรวมแล้วดูดี เพราะเป็นอัตราที่ลดลงกว่าเดิม หากทีทีแอนด์ทีไม่ได้ยื่นเงื่อนไขขอลดส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน ที่เคยจ่ายให้กับ ทศท. 43% เหลือเพียง 25% เป็นการตอบแทน

เท่ากับว่า ทีทีแอนด์ทีไม่ต้องควักเนื้อ แต่เป็นการผลักภาระให้กับองค์การโทรศัพท์ฯ เป็นผู้รับภาระเหล่านี้ไปแทน

แม้ว่า ดร.อดิศัย โพธารามิก จะชี้แจงว่าการแลกเปลี่ยนด้วยวิธีนี้จะให้ทั้งทีทีแอนด์ที และ ทศท.มีรายได้เพิ่มขึ้นทางอ้อม เพราะจะดึงดูดให้มีผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งทำให้รายได้ของทั้งทีทีแอนด์ทีและ ทศท.เพิ่มขึ้น

แน่นอนว่าทีทีแอนด์ทีย่อมรู้ว่าองค์การโทรศัพท์ฯ คงจะไม่ยอมง่ายๆ เพราะต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่การออกมายื่นข้อเสนอก่อน อาจเป็นไปได้ว่าทีทีแอนด์ทีต้องการซื้อเวลา เพื่อลดแรงกดดันจากคณะกรรมาธิการ ซึ่งกำลังเร่งทำคะแนนเสียงอยู่ในเวลานี้ และมีผลศึกษาอย่างไม่เป็นทางการของคูเปอร์แอนด์ไรแบนด์ บริษัทจากต่างประเทศที่ ทศท.จ้างมาเป็นที่ปรึกษาในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งศึกษาโครงสร้างอัตราค่าบริการทั้งหมดของ ทศท. ได้เคยชี้แจงกับคณะกรรมการของ ทศท.อย่างไม่เป็นทางการแล้วว่า อัตราค่าโทรศัพท์ทางไกลนั้นแพงเกินไป ในขณะที่โทรศัพท์ภายในจังหวัดถูกเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนของ ทศท. ซึ่งทีทีแอนด์ทีคงรู้เรื่องนี้ดี

ดังนั้น การออกมายื่นข้อเสนอก่อนย่อมดีกว่าการถูกบีบให้ต้องทำตามเพราะอาจมีข้อต่อรองได้มากกว่าการต้องทำตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ หรือไม่ ทีทีแอนด์ทีอาจเห็นตัวอย่างจากการลดค่าบริการเพจเจอร์ ที่ ทศท.ต้องออกมาแบกรับภาระแทนเอกชนผู้รับสัมปทาน ด้วยการยอมลดผลประโยชน์ตอบแทนลง ดีไม่ดี ทศท.เกิดเห็นชอบขึ้นมา หรือมีการต่อรองในเรื่องตัวเลขผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อย ทีทีแอนด์ทีก็คงสบายไปไหนจะได้ทั้งเงินและได้ทั้งกล่อง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.