บริษัทสยามอรุณ ดีเวลลอปเม้นท์ เป็นบริษัทพัฒนาที่ดินในเครือศรีกรุงวัฒนา
บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการผลิตและค้าปุ๋ยของประเทศ ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2532
ปีที่ธุรกิจที่ดินฟูเฟื่องที่สุดของเมืองไทย
ในปีนั้น สยามอรุณประกาศจะปูพรมพัฒนาที่ดินในรูปแบบของคอนโดมิเนียม สำนักงาน
ที่พักอาศัย โรงแรม อพาร์ตเมนต์พร้อมๆ กันถึง 10 โครงการ มีมูลค่านับแสนล้านบาท
นับเป็นการเปิดตัวครั้งแรกอย่างอหังการ์ทีเดียว
ท่ามกลางการเฝ้าจับตามองจากผู้ที่สนใจและอยู่ในวงการข่าวคราวความคืบหน้าในการก่อสร้างโรงการต่างๆ
ของบริษัทสยามอรุณก็ค่อยๆ หายไป ทั้งที่มีการยื่นเรื่องขออนุญาตก่อสร้างไปยังกรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว
สาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการต่างๆ ของบริษัทยังไม่ได้สร้างตอนนั้นเป็นเพราะการที่
สว่าง เลาหทัย ประธานกลุ่มศรีกรุง ซึ่งมีบริษัทในเครือต่างๆ มากมายนั้น ถึงแม้จะมีประสบการณ์
และมีเม็ดเงินมากพอที่จะซื้อที่ดินเก็บ แต่ในขณะเดียวกันก็ขาดทีมงานที่จะรุกทางด้านที่ดินอย่างจริงจัง
เมื่อมาประสบกับวิกฤติการณ์สงครามอ่าวเปอร์เชีย รวมทั้งเหตุการณ์การเมืองในประเทศที่ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว
ทำให้ทุกโครงการของสว่างถูกพับเก็บไว้นับตั้งแต่นั้นมา
สยามอรุณกลับมาสร้างความฮือฮาในกับวงการพัฒนาที่ดินอีกครั้งหนึ่ งเมื่อประมาณปี
2536 ด้วยการหยิบเอาโครงการคอนโดมิเนียมโครงการเดิมๆ มาปัดฝุ่นพัฒนาใหม่แต่ลดลงเหลือเพียงแค่
8 โครงการ คือ โครงการอรุณนคร ในพื้นที่ 37 ไร่ที่จะสร้างเป็นอาคารพักอาศันถึง
10 ตึก บนถนนเจริญนคร โครงการนวอาคาร บนถนนพระราม 3 เนื้อที่ 20 ไร่ และอีก
6 โครงการจะกระจายอยู่บนถนนสุขุมวิททั้งหมด
พีรพล เสรฐภักดี กรรมการบริหารของบริษัทเคยยืนยันว่า 8 โครงการนี้จะทำการสร้างพร้อมๆ
กัน กลยุทธ์ทางการตลาดที่วางไว้ในตอนนั้นที่สำคัญก็คือจะพุ้งเป้าไปยังกลุ่มธุรกิจค้าปุ๋ย
ค้าเหล็กที่ติดต่อกับบริษัทแม่อยู่แล้ว และใช้วิธีแลกเปลี่ยนคำตอบแทน โดยให้พื้นที่ห้องชุดแทนการจ่ายค่าจ้างกับผู้รับเหมาและผู้ค้าวัสดุแทน
โดยวิธีนี้พีรพลเคยเชื่อว่าจะเป็นการประหยัดงบประมาณในการก่อสร้าง และเพิ่มยอดขายได้อีก
50%
แต่เขาทำไม่สำเร็จ ในช่วงปี 2536 สยามอรุณก็ยังไม่สามารถก่อสร้างโครงการทั้งแปดพร้อมๆ
กันได้ มีเพียงโครงการเดียวที่มีการเดินหน้าทางการก่อสร้างคือโครงการเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์
39 ฟูจิ ซึ่งเป็นตึกสูง 14 ชั้น ชั้นล่างเป็นที่ตั้งของฟูจิซูเปอร์มาร์เก็ต
และมีห้องพักให้เช่าอีกประมาณ 168 ห้อง
จนกระทั่งปี 2538 สยามอรุณก็ได้เซ็นสัญญากับบริษัทฟิลิพพ์ ฮอลส์แมนไทย
สร้างอีก 2 โครงการคือโครงการซิตี้รีสอร์ท สุขุมวิท 39-49 เป็นอาคารสูง 26
ชั้น ประกอบด้วย ห้องพัก 250 ห้อง และโครงการซิตี้รีสอร์ท สุขุมวิท 49 มีจำนวนห้องพัก
198 ห้อง
ทั้ง 3 โครงการนี้มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2539 นี้ ซึ่งก็เท่ากับว่า 10 โครงการที่เคยประกาศเปิดตัวเมื่อปี
2532 นั้นได้ทำไปแล้วเพียง 3 โครงการเท่านั้น
โดยเฉพาะโครงการใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่พับแผนการก่อสร้างมาหลายครั้งหลายคราแล้วนั้น
ก็เตรียมร่วมทุนกับฟิลิพพ์ ฮอลส์แมน เพื่อเตรียมพัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่อีกครั้ง
การกลับมาอีกครั้งในปี 2539 นี้ เห็นได้ชัดเจนว่า สยามอรุณได้คลายท่าทีที่แข็งกร้าวลงมาก
การก้าวไปข้างหน้าในงานพัฒนาที่คราวนี้ไม่บุ่มบ่ามอย่างเช่นที่ผ่านมา โดยบอกว่าปีนี้จะขึ้นเพียง
2 โครงการคือ โครงการสุขุมวิท 63 บนที่ดินประมาณ 20 ไร่ มีพื้นที่ก่อสร้างประมาณ
150,000 ตารางเมตร และโครงการสุขุมวิท 22 ทั้ง 2 โครงการเป็นเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์
และห้างสรรพสินค้าในสไตล์ญี่ปุ่น จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "ลิตเติลโตเกียว"
เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการทั้งหมดของสยามอรุณที่เกิดขึ้นบนถนนสุขุมวิท
จะพุ่งเป้าไปยังกลุ่มลูกค้าจากประเทศญี่ปุ่นแทบทั้งสิ้น
อย่างน้อยก็แสดงถึงบทเรียนของสยามอรุณว่า อย่าเปิดแนวรบพร้อมกัน และควรเจาะเฉพาะกลุ่ม
ซึ่งกลุ่มญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่สยามอรุณสนิทชิดเชื้อในฐานะที่บริษัทแม่ทำธุรกิจร่วมกันมานาน
สุรชาติ วรกิจกาญจนกุล ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาดให้ความเห็นตรงนี้ว่า
"ปัจจุบันมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาทำงานในเมืองไทยมากมายราวๆ 30,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในย่านสุขุมวิท
อโศก แทบทั้งนั้นในขณะที่โครงการเราที่สร้างเสร็จในปีนี้ 3 โครงการนี้ถ้าสร้างเสร็จแล้วมีประมาณ
500 ยูนิตเท่านั้น"
สุรชาติยังย้ำอีกว่าปีนี้มีทั้งโครงการที่ใกล้เสร็จและจะเปิดใหม่ ดังนั้นคราวนี้บริษัทจึงจำเป็นต้องเปิดตัวมากกว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านมาแน่นอน
งานเปิดตัวต่อสื่อมวลชนครั้งแรกในปีนี้เลยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์
ในลักษณะของการจัดงานปีใหม่ร่วมกับบริษัทในเครืออีก 3 บริษัทคือ บริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี
บริษัทกรุงเทพผลิตเหล็ก และบริษัทยูไนเต็ด ฟลาวมิลล์ จำกัด
งานจัดขึ้นที่ตึก 10 สาธร บนถนนสาทร ทั้งๆ ที่บอกว่าคราวนี้เปิดตัวแน่
แต่ในงานคืนนั้นก็ไร้วี่แววของสว่าง เจ้าพ่อศรีกรุงผู้กำหนดทิศทางเดินให้กับสยามอรุณ
ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของเขาอยู่แล้วที่ไม่เคยพบปะนักข่าว หรือแม้แต่พีรพล
เสรฐภักดี กรรมการบริหารของบริษัทสยามอรุณก็ไม่มา สภาพทั่วไปของงานเลยค่อนข้างกร่อยๆ
คนที่นักข่าวปะหน้าแทนจึงเป็นสุรชาติ และทวี ธีรเจริญชัย ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการขาย
ซึ่งทั้งสองคนนี้ในช่วงแรกก็ไม่ค่อยจะเจรจากับนักข่าวนัก จนชักงงๆ ว่า การหวนกลับคืนสู่สนามการแข่งขันครั้งนี้
สยามอรุณเขาพร้อมจริงๆ แค่ไหน