"อย่าหวั่นไหวกับมัน ผมเห็นมาแล้วถึง 10 ปี ทุกอย่างเป็นอนิจจัง"
คำตอบแฝงไปด้วยความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมของ วิทยา ว่องวาณิช รองผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจ
ไอทีเทอร์มินอลโปรดักส์ บริษัทสหวิริยา โอเอ เมื่อถูกถามถึงสถานการณ์ของแอปเปิล
คอมพิวเตอร์ที่กำลังเผชิญกับมรสุมธุรกิจ ด้วยตัวเลขขาดทุนในปีที่แล้วถึง
68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,700 ล้านบาท แถมต้องโละคนงานอีก 1,300 คน และอาจต้องยุติการผลิตเครื่องระดับโลว์เอ็นที่ทำกำไรไม่ถึง
20% จนถึงขั้นมีข่าวเจรจาขายกิจการให้กับซันไมโครซิสเต็มส์
เหตุการณ์พลิกผันที่เกิดกับแอปเปิล คอมพิวเตอร์ เจ้าของเทคโนโลยีในนามแมคอินทอชคู่แข่งตัวฉกาจของพืซี
ที่แทรกตัวอยู่ในตลาดคอมพิวเตอร์อย่างเหนียวแน่น จนเป็นเสมือน "สังคมเล็กๆ"
ย่อมสั่นคลอนความรู้สึกของคนทั่วไปไม่น้อย
แต่ในสายตาของวิทยาแล้ว เขากลับมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจที่ต้องมีขึ้นมีลง
ซึ่งผู้ผลิตพีซีคอมพิวเตอร์ ไอบีเอ็ม หรือคอมแพค ก็เคยเจอกับสถานการณ์เหล่านี้มาแล้วก็ผ่านพ้นมรสุมเหล่านี้ไปได้
ซึ่งแอปเปิลก็เป็นเช่นเดียวกัน
"ผมมั่นใจ และเอาชีวิตฝากไว้ตรงนี้" วิทยายังคงตอกย้ำถึงการเป็นสายเลือดของแอปเปิล
คอมพิวเตอร์ อย่างเต็มตัว วิทยาเป็นพนักงานคนแรกที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของสหวิริยาซิสเต็มส์
ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงรายแรกและรายเดียวที่ขายแมคอินทอชมาตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา
คำกล่าวที่ว่า "วิทยาเกิดมาพร้อมกับแอปเปิลคอมพิวเตอร์ในไทย"
ดูไม่เกินเลยเท่าใดนัก เพราะในขณะที่มืออาชีพในวงการคอมพิวเตอร์คนอื่นๆ เลือกที่จะเปลี่ยนสถานที่ทำงาน
ตามภาวะการขาดแคลนกำลังคนในธุรกิจสายที่มีการแย่งชิงตัวกันอย่างสนุกสนาน
แต่วิทยากลับเลือกอยู่กับสหวิริยา
วิทยาเป็นศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เริ่มหาประสบการณ์ทำงานเป็นครั้งแรกกับบริษัทดาต้าแมท
ซึ่งในเวลานั้นดาต้าแมทร่วมธุรกิจกับซัมมิทเอ็นจอเนียริ่งทำเรื่องบริการเครื่องมินิคอมพิวเตอร์
ทำอยู่ 2 ปี เขาจึงตัดสินใจบอนลัดฟ้าไปใช้ชีวิตนักศึกษาอีกครั้งที่สหรัฐอเมริกา
ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจจากเนชั่นแนลยูนิเวอร์ซิตี้ คือ ดีกรีทางการศึกษาใบที่สองที่วิทยาได้มาแบบบังเอิญ
เพราะความตั้งใจแรกของเขา คือ คณะคอมพิวเตอร์ไซน์ เท็กซัสยูนิเวอร์ซิตี้
แต่ในระหว่างการตอบรับจากมหาวิทยาลัย วิทยาจึงสมัครเรียนที่เนชั่นแนลยูนิเวอร์ซิตี้
รัฐแคลิฟอร์เนียไปพลางๆ จนกระทั่งจบหลักสูตร
หลังจบการศึกษา วิทยาบินกลับมาประกอบอาชีพส่วนตัวด้านอิเล็กทรอนิกส์ระยะหนึ่ง
ก่อนได้รับการชักชวนจากแจ็ค มิน ชุม ฮู บิ๊กบอสชองสหวิริยาโอเอให้เข้าร่วมบุกเบิกตลาดให้กับแอปเปิลคอมพิวเตอร์เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว
ซึ่งในช่วงนั้นแอปเปิลคอมพิวเตอร์ยังใหม่มากสำหรับตลาดในเมืองไทย
"ผมยอมรับว่าเสี่ยงมาก เพราะในเวลานั้นคนไทยยังไม่รู้จักแมคอินทอชเลย
ถึงขนาดที่มีหนังสือพิมพ์ลงว่า เป็นครั้งแรกที่คุณแจ็คเลือกสินค้าผิดพลาด"
วิทยาเล่า
เป็นดังคาดในช่วงปีแรกของการเปิดตลาด วิทยาขายแมคอินทอชไม่ได้แม้แต่เครื่องเดียว
ปัญหาสำคัญในเวลานั้นคือยังไม่มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ภาษาไทยออกมารองรับกับเครื่องแมคอินทอช
จนกระทั่งสหวิริยาขอเป็นผู้พัฒนาภาษาไทยขึ้นเอง สถานการณืจึงเริ่มกระเตื้องขึ้น
ไทยรัฐและเดลินิวส์เป็นลูกค้าสองรายแรกที่ดึง ทำให้แมคอินทอชพ้นขีดอันตราย
ธุรกิจสิ่งพิมพ์ เป็นลูกค้ากลุ่มแรกที่แมคอินทอชเข้าไปเจาะตลาด และด้วยเทคโนโลยีเฉพาะตัว
ทำให้แมคอินทอชยึดครองส่วนแบ่งตลาดในลูกค้าธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่างเหนียวแน่น
ด้วยตัวเลขที่วิทนายืนยันว่ามีส่วนแบ่งตลาดถึง 95% ในกลุ่มลูกค้าสิ่งพิมพ์
"ผมบอกได้เลยว่าเวลานี้ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ทุกแห่งจะต้องมีเครื่องแมคอินทอชใช้งานอยู่"
วิทยากล่าวอย่างภูมิใจ
แน่นอนว่า ตลาดสิ่งพิมพ์ไม่ใช่เป้าหมายเพียงอย่างเดียวแน่ ลูกค้าประเภทการศึกษาและบ้านพักอาศัย
รวมทั้งอินเทอร์เน็ตก็เป็นสิ่งที่วิทยาตั้งเป้าหมายในการขยายตลาดให้กับแอปเปิลมาตลอด
แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แม้ว่าระบบปฏิบัติการของแมคอินทอชจะมีคุณสมบัติอันโดดเด่น
"ง่ายต่อการใช้งาน" ด้วยคำสั่งที่เป็น "ไอคอน" เฉือนระบบปฏิบัติการของพีซีในยุคแรกๆ
จนทาบไม่ติด แต่จุดเด่นนี้ใช่ว่าจะยั่งยืน เมื่อไมโครซอฟท์เองก็หันมาพัฒนาระบบปฏิบัติการ
"วินโดว์" ออกมาใช้กับพืซี ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันแถมยังมีราคาถูกกว่าและยังมีแอพพลิเคชั่นประเภทต่างๆ
ออกมามากมาย
ตลอดเวลาที่ผ่านมา สหวิริยาไม่สามารถขยายตลาดแมคอินทอชไปได้มากกว่าที่เป็นอยู่
แม้แมคอินทอชจะครองตลาดลูกค้าสิ่งพิมพ์เกือบ 100% แต่ในตลาดอื่นๆ แมคอินทอชเข้าไปมีบทบาทน้อยมาก
โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บรรดาพีซีชื่อดังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไอบีเอ็ม
คอมแพค ดิจิตอล ฮิวเลตต์แพคการ์ด ต่างกระหน่ำราคาลงมากันอย่างสุดขีด แต่คุณสมบัติกลับเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
และในระหว่างที่บรรดาพีซีเหล่านี้ผลัดกันช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกันอย่างสนุกสนาน
แมคอินทอชกลับแฝงตัวอยู่อย่างเงียบเชียบในตลาด
วิทยายอมรับว่า แมคอินทอชไม่ได้ "แข็งแรง" เหมือนกับพีซี สิ่งที่สหวิริยาเลือกคือการทำตลาดเฉพาะที่มีความถนัดเท่านั้น
"เราไม่สามารถป้อนสินค้าให้กับคนได้ทุกกลุ่ม ในเมื่อคุณมีข้อจำกัดที่ทำได้เท่าที่กำลังจะทำได้
และในอนาคตพีซียี่ห้อต่างๆ ก็ต้องทำแบบเดียวกับเรา เพราะไม่มีใครจะเหมาะกับทุกตลาด"
วิทยากล่าว
การเลือกเฉพาะตลาดที่มีความถนัดและแข็งแกร่งอยู่แล้ว ก็นับว่ามีข้อดีไม่น้อย
เพราะสหวิริยาสามารถเก็บเกี่ยวผลกำไรจากการขายเครื่องแมคอินทอชในธุรกิจสิ่งพิมพ์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
แทนที่จะไปแข่งขันตัดราคากับพีซีเพื่อเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มที่ใช้กลยุทธ์ราคามาเป็นตัวทำตลาด
ดีไม่ดีก็อาจเข้าเนื้อได้ง่ายๆ
ดูเหมือนโชคดีของแมคอินทอช เพราะในช่วง 2-3 ปีมานี้ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ขยายตัวออกไปมากมาย
มีหนังสือพิมพ์เกิดใหม่บนแผงหลายฉบับ และในจำนวนเหล่านี้มีหลายรายเลือกใช้แมคอินทอช
ปีที่ผ่านมา สหวิริยามีรายได้จากการขายแมคอินทอช 525 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าสิ่งพิมพ์
แต่อย่าลืมว่า การที่มีจุดแข็งในลูกค้าเพียงกลุ่มเดียวก็นับเป็นเรื่องเสี่ยงไม่ใช่น้อย
เพราะเมื่อมีเหตุการณ์พลิกผันกับลูกค้าในกลุ่มนี้ขึ้นก็ย่อมกระทบกับตลาดของแมคอินทอช
โดยตรง ซึ่งแมคอินทอช ยังไม่มีฐานลูกค้าอื่นๆ มาสนับสนุนเท่าใดนัก
อีกทั้งคู่แข่งรายอื่นก็พร้อมที่จะเข้ามาช่วงชิงตลาดของแมคอินทอช โดยคู่แข่งมีฐานจากตลาดอื่นเป็นส่วนสนับสนุนที่ดีอยู่ก่อนแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น มรสุมลูกแล้วลูกเล่าที่กำลังกระหน่ำบริษัทแม่อยู่ในเวลานี้
ยังไม่รู้ว่าจะใช้เวลาเพียงใดในการแก้ไขสถานการณ์ แม้ว่ายังไม่เกิดผลกระทบขึ้นกับตลาดของไทยในช่วงสั้นๆ
ก็ตาม แต่หากยาวนานออกไปผลกระทบย่อมเกิดขึ้นแน่
กระนั้นก็ตามวิทยาก็ยังกล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า แอปเปิลเป็นแค่ไข้หวัดเท่านั้นไม่ใช่นิวมอเนียดังที่วิตกกันไป
"ผู้จัดการ" ก็หวังจะเป็นแค่เช่นนั้น เพราะนานๆ ไป ไข้หวัดก็ลามไปเป็นนิวมอเนียได้เหมือนกัน
!