ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการนักกฎหมายรุ่นใหม่ปัจจุบันคือว่า
ต่างคนต่างก็หันไปสร้างบทบาทด้านความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และก็เน้นรับงานเฉพาะที่ตัวเองถนัด
บางคนรับปรึกษาและวางแผนภาษี แต่ไม่รับว่าความเกี่ยวกับคดีภาษีในศาลในขณะที่บางคนถนัด
ที่จะว่าความในศาลมากกว่าที่จะให้คำปรึกษาแนะนำ บางสำนักงานถนัดเฉพาะงานด้านพาณิชย-นาวี
ประกันภัย ก่อสร้าง ประมูลงานรัฐ และแม้แต่ทำสัญญาเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนหรือขนย้ายอาวุธสงครามก็มีสำนักงานที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะที่จะทำได้
แต่สำหรับเขาแล้ว ดร. มานะ พิทยาภรณ์ ทนายความอาวุโสในวงการขณะนี้ยังยืนยันว่าสำนักงานเขาเน้นที่การมีบริการแบบครบวงจร
ในวัย 64 ของเขาผ่านประสบการณ์มาหลายด้าน เซลส์แมน นักกฎหมาย ทนายความ นักวิชาการ
และนักการเมือง โดยในแต่ละด้านนั้นเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จพอสมควร
ดร. มานะ เริ่มทำงานขายกับบริษัท ซิงเกอร์ ซิงอิงแมชชีน จนขึ้นเป็นผู้จัดการภาคก่อน
ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความและที่ปรึกษากฎหมายบริษัทเดียวกัน งานด้านทนายความของ
เขาเริ่มขึ้นที่นี่หลังจากเขาเรียนจบ และทางบริษัทปรับตำแหน่งให้เขาเป็นทนายความและที่ปรึกษากฏหมายในเวลาต่อมา
การเป็นทนายความและที่ปรึกษากฎหมายในองค์กรธุรกิจในฐานะลูกจ้างนั้น เขาเคยเป็นถึงผู้จัดการฝ่ายและเป็นที่ปรึกษากฎหมายและภาษีอากร
บริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด (ประเทศไทย) ซึ่งที่นี่เขาเริ่มหันไปจับด้านกฎหมายภาษีอากรอย่างจริงจัง
เพราะเอสโซ่ค่อนข้างจะให้ความสำคัญทางด้านนี้มาก ถึงขนาดส่ง ดร. มานะไปศึกษาวิชาภาษีอากร
เพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยฮูสตัน สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหนึ่งปี
จากนั้น เขาจึงได้ออกมาตั้งบริษัทที่ปรึกษากฎหมายร่วมกับสำนักงาน SGV โดยรับงานทางด้านกฎหมายภาษีอากรอย่างจริงจัง
เพราะโดยตัว SGV นั้นเป็นสำนักงานบัญชีจึงมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายอยู่เนืองนิตย์อยู่แล้ว
โดยเริ่มก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นประมาณปี 2514
จะด้วยเหตุใดเจ้าตัวไม่อาจบอกได้ว่าทำไมเขาจึงแยกตั้งออกมาในเวลาที่อยู่ร่วมกัน
ไม่นานนักก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี
2519
ในด้านวิชาการนั้นเป็นที่ยอมรับกันในวงการศึกษาว่าดร. มานะ เป็นอาจารย์ที่มีงานตำรับตำราด้านวิชากฎหมายออกมาเป็นจำนวนมากทีเดียว
เขากล่าวว่าเขารักงานทางด้านนี้มาก แต่ก็เป็นงานที่สร้างรายได้ไม่ได้เลย
ทั้งการสอนและการเขียนหนังสือทางวิชาการออกมา แต่กระนั้นก็ทำได้มากพอสมควร
โดยเฉพาะตำราเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร
ดร. มานะ เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในหลาย……………………..มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน
ไม่ว่าจะเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในด้านการผลิตบัณฑิตด้านกฎหมายในปัจจุบัน
และ แม้กระทั่งสถานศึกษาและอบรมแห่งเนติบัณฑิตยสภา ซึ่งเป็นสถาบันศึกษากฎหมาย
ระดับสูง ของประเทศไทย ซึ่งอาจารย์ที่สอนส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นผู้พิพากษาศาลสูง
ภาพที่ค่อนข้างชัดเจนของดร. มานะและสำนักงานของเขาก็คือด้านภาษีอากร ซึ่งเขากล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่าเพราะลูกค้าของเขาส่วนใหญ่มีปัญหาทางด้านภาษีมากกว่าเรื่องอื่น
ๆ และด้วยความที่เขาเป็นทนายความที่เรียกได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิกในด้านนี้มายาวนาน
รวมทั้งการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็มักจะถูกเชิญให้ไปสอนกฎหมายภาษีเสียเป็นส่วนใหญ่
การที่ ดร. มานะ เป็นนักกฏหมายที่จับด้านภาษีมาตั้งแต่รุ่นบุกเบิกและยาวนานจนถึงปัจจุบันนี้
ทำให้เขาได้รับปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตและเป็นศาสตราจารย์ทางด้านภาษีอากรจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นศาสตราจารย์คนแรกและคนเดียวของเมืองไทย
ส่วนทางด้านการเมืองเขาก็เคยเยื้องกายเข้าไปแล้วเช่นกัน นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ
และเป็นเลขานุการประธานสภานี้ด้วย เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกในเวลาต่อมา
กลิ่นอายการเมืองหอมกรุ่นเมื่อหมดยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แล้วจึงกระโดดลงสมัครและได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
จังหวัดสุรินทร์อยู่ สมัยหนึ่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายทางการเมืองของเขา
ดร. มานะกระโดดออกมาตั้งสำนักงานเป็นของตัวเองโดยถือหุ้นคนเดียวอย่างจริงจังใน
ปี 2519 โดยเป็นสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศ และเน้นที่กฎหมายภาษีอากร แต่เจ้าตัวบอกว่าในทางปฏิบัติแล้วสำนักงานของเขาให้บริการแบบครบวงจร
คือมีตั้งแต่การเผยแพร่ความรู้โดยการบรรยาย อบรมสัมมนา การให้คำปรึกษาวางแผน
ไปจนถึงการดำเนินคดีในศาล และเกี่ยวกับกฎหมายทุกด้านไม่เฉพาะกฎหมายภาษีอากรเท่านั้น
"จริงอยู่ผมชำนาญทางด้านภาษีอากร ลูกความส่วนใหญ่ของผมก็มีปัญหาทางด้านภาษีอากรมาก
แต่ตามโครงสร้างการทำงานของสำนักงานเรามีบริการกฎหมายทุกด้าน ตั้งแต่การจัดองค์กรทางธุรกิจกฎหมายแรงงาน
กฎหมายแพ่งพาณิชย์ทั่วไป กฎหมายอาญา กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา"
ดร. มานะกล่าว
เขากล่าวว่าด้านแรงงานกำลังทำสถิติขึ้นมาเป็นอันดับที่สองรองจากภาษีในขณะนี้
เพราะเหตุว่าบ้านเมืองพัฒนาขึ้นมีการลงทุนมากขึ้น ทั้งองค์กรแรงงานของลูกจ้างก็มีความแข็งแรงมากขึ้น
มีข้อเรียกร้องมากขึ้น และรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือสัญญาจ้างนั้นก็มีความซับซ้อนมีเงื่อนไขมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
บริการด้านกฎหมายสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าวิ่งตามมาเป็นอันดับที่สาม
นอกนั้นเป็นเรื่องการจัดตั้งองค์กรธุรกิจต่าง ๆ พวกทะเบียนบริษัท ห้างร้าน
สมาคม หอการค้า
"ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผมคิดว่าจำเป็นสำหรับนักกฎหมายรุ่นใหม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องรู้อยู่แค่นั้น
เพราะอาชีพนักกฎหมายหรือทนายความจำเป็นจะต้องรู้อย่างกว้างขวาง ในด้านกฎหมายนั้นก็จะต้องเรียนรู้กฎหมายอย่างรอบด้านที่สุด
ทางด้านธุรกิจการค้าต่าง ๆ ก็จำเป็นจะต้องรู้ หรืออย่างน้อยก็ต้องรู้เรื่องที่เรากำลังทำอยู่
และการทำงานก็จะต้องเป็นทนายที่ขึ้นศาลด้วยและเก่งทางด้านการให้คำปรึกษาแนะนำและวางแผนด้วย"
เขากล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ดร. มานะไม่เชื่อว่าคนที่ไม่เคยขึ้นศาลว่าความเลยจะให้คำปรึกษาได้ดี และทำนองเดียวกันคนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจเลยก็คงจะว่าความแย่เหมือนกัน
เพราะคนที่จะให้การวางแผนหรือคำปรึกษาที่ดีนั้นจะต้องมองปัญหาในอนาคตเมื่อไปถึงโรงศาลแล้วจะแก้ไขอย่างไร
เช่นเดียวกันการที่จะนำเสนอข้อมูลและการซักถามพยานให้ทะลุปรุโปร่งและศาลเข้าใจในปัญหานั้น
ๆ ทนายความจะต้องมีความรู้มาเป็นอย่างดีเสียก่อน
ด้วยเหตุนี้สำนักงานของเขาถึงต้องให้มีบริการแบบครบวงจรของอาชีพทนายความ
"เป็นทนายความไม่ได้ขึ้นศาลก็เหมือนทหารไม่ได้ออกรบ แต่ถ้าจะออกรบอย่างเดียวไม่เคยศึกษากลยุทธ์การศึกสงครามก็ไม่เจริญก้าวหน้า
จะเป็นก็แต่เพียงทหารชั้นเลวตลอดชาติ" ดร. มานะกล่าวย้ำ