"พรพรรณ" กับการฟื้นยูนิคอร์ด

โดย ภัทราวรรณ พูลทวีเกียรติ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ เคยบอกกับพรพรรณ ก่อนันทเกียรติ ว่า "ไม่ต้องมาทำงานหรอก มันเหนื่อย ตอนนี้อยู่บ้านเลี้ยงลูกดีกว่า"

ประโยคนี้ชาตรีพูดอย่างเห็นอกเห็นใจ หลังจากสามีของเธอ ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ ตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองได้ไม่นาน ผู้หญิงคนอื่นอาจคิดเหมือนที่ชาตรีแนะนำ แต่นั่นไม่ใช่พรพรรณ ก่อนันทเกียรติ เธอตัดสินใจเข้ามาดูแลรับผิดชอบยูนิคอร์ดเต็มตัว ทั้งๆ ที่ลำพังตัวเธอและลูกๆ 4 คน สามารถเลี้ยงชีพได้สบายจากฐานธุรกิจของตระกูลพรประภาที่เธอทำอยู่

มันคงไม่แปลกอะไรถ้าบริษัทยูนิคอร์ทที่สามีของเธอถือหุ้นใหญ่กำลังรุ่งเรือง แต่สภาพของยูนิคอร์ดตอนนี้ไม่ผิดอะไรกับคนไข้อาการหนัก ที่กำลังยืนอยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย ยิ่งหลังจากดำริห์หาชีวิตไม่แล้ว บริษัทผลิตปลากระป๋องแห่งนี้ก็ทรุดหนักไม่ผิดอะไรกับคนไข้เข้าขั้นโคม่า มีชีวิตอยู่ก็เพียงแค่กายภาพที่บ่งบอกว่า ชีพจรยังเต้นลมหายใจยังมี

ชะตาชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ไม่แพ้บริษัทยูนิคอร์ด

ดิฉันมีโอกาสสนทนากับเธออย่างจริงจังในช่วงสายของวันเสาร์กลางเดือนกุมภาพันธ์ เธอเล่าว่าตลอดเวลา 6-7 เดือนที่ผ่านมา เธอใช้เวลาศึกษาจนเข้าใจยูนิคอร์ดทุกแง่มุมจากที่ไม่เคยรับรู้รายละเอียดจากสามีเลยก่อนหน้านี้ เพราะดำริห์ไม่ต้องการให้ภรรยาทราบโดยเฉพาะเรื่องราวในทางลบ จนหาข่าวดีแทบไม่ได้

เพียง 7เดือน เธอก็รู้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต การเงิน การตลาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะบัมเบิลบี บริษัทลูกของยูนิคอร์ทที่สหรัฐอเมริกา ที่เป็นทั้งต้นตอของปัญหา ขณะเดียวกันก็เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่สุดเช่นกัน

เธอให้เหตุผลว่า ที่ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวเข้ามาฟื้นยูนิคอร์ทนั้น สาเหตุหลักเป็นเพราะต้องการพิสูจน์ว่า สามีของเธอไม่ใช่คนผิดดังที่สังคมกล่าวหา...ล้มบนฟูกบ้าง ผ่องถ่ายเงินจนยูนิคอร์ดขาดทุนบ้าง ฯลฯ สารพัด

เธอสรุปข้อผิดพลาดเป็นบทเรียนทางธุรกิจว่า ยูนิคอร์ทไม่ได้เดินกลยุทธ์ผิดที่ไปซื้อบัมเบิลบี อันเป็นเครือข่ายช่องทางการจำหน่ายในสหรัฐฯ ที่มีคนบริโภคปลาทูน่ามากที่สุดของโลก

ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากดำริห์ ผู้เป็นสามีตัดสินใจเปิดเกม สงครามราคาเป็นเจ้าแรกในสหรัฐฯ จนบัมเบิลบีเจ็บตัว

ทว่าความเสียหายในครั้งนั้น เทียบกันไม่ได้กับผลที่เกิดจากกระแสอนุนักษ์ปลาโลมาของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ต้นทุนปลาทูน่าเพิ่มขึ้นถึง 25% คนทั้งประเทศประท้วงไม่บริโภคปลาทูน่าเลยตามติดด้วยเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้นจาก 2-3% เป็น 5-6% ต่อปี
สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นตัวหลักของปัญหาที่อยู่นอกเหนือการคาดหมายและการควบคุมมากระหน่ำซ้ำจนบัมเบิลบียับเยิน

โชคร้ายตรงที่บัมเบิลบีมีสัดส่วนของเงินกู้สูงมาก ต่อเนื่องมาตั้งแต่ 7 ปีก่อน ที่ได้กู้เงินมาเพื่อซื้อกิจการร่วม 300 ล้านเหรียญสหรัฐ สิ่งที่บัมเบิลบีต้องการคือเงินสดเข้ามาเพื่อจ่ายหนี้

ขณะนี้วงจรตลาดปลาทูน่ากำลังฟื้นตัวขึ้น คำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่สภาพของยูนิคอร์ดที่เป็นอยู่ไม่มีแรงผลิตป้อนตลาดขาดเงินซื้อปลาจำนวนมาก ทำได้แต่เพียงอาศัยเครดิตจากซัพพลายเออร์ปลาหมุนไปวันๆ กำลังการผลิตลดลงจาก 20-30 สาย เมื่อ 5 ปีก่อนเหลือเพียง 3-4 สายในปัจจุบัน คนงานจาก 5,000 คนต่อผลัด เหลือเพียง 1,500 คน

เพียงแค่มีเงินทุนหมุนเวียนเข้ามา ก็สามารถต่อชีวิตของยูนิคอร์ดได้ เธอได้เสนอแผนนี้ให้แบงก์กรุงเทพ เจ้าหนี้รายใหญ่ไปไม่ต่ำกว่า 5 หน ทว่าทุกอย่างเงียบเชียบ

ในเรื่องนี้ดิฉันเชื่อว่า ต่อให้หนทางรอดของยูนิคอร์ดเป็นจริงดังที่เธอคิด แต่เจ้าหนี้รายใหญ่อย่างแบงก์กรุงเทพไม่ได้มองเหมือนเธอแน่

ลำพังถ้าแบงก์กรุงเทพต้องการเงินต้นบวกดอกเบี้ยคืนก็ไม่น่าจะหนักใจอะไรนัก แต่สิ่งที่ปรากฏตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา มีหลายอย่างที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เป็นต้นว่า ทำไมบริษัทที่ปรึกษาการเงินยูนิคอร์ดที่แบงก์กรุงเทพยอมรับจึงต้องเป็นบริษัทแคปิตอล แมเนจเมนท์ ของเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ ซึ่งแบงก์กรุงเทพอหุ้นและให้การสนับสนุนอยู่ ทั้งๆ ที่วงการทราบกันดีว่า เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญใน Money Game จำพวกเดียวกับ ราเกซ สักเสนา

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ แทนที่จะเริ่มต้นกันที่อนาคตของยูนิคอร์ดจะต้องทำอะไรบ้าง แบงก์กลับยื่นข้อเสนอให้ยูนิคอร์ดเพิ่มทุน 1,000 ล้านบาท โดยยังไม่มีการพูดถึงว่าจะเอาเงินไปทำอะไร รวมไปถึงการไม่มีคำตอบจากเจ้าหนี้มายังยูนิคอร์ดโดยตรง แต่มีข่าวแบงก์กรุงเทพปรากฏในหนังสือพิมพ์ทุกวัน วันนี้รับแผนของบริษัทที่ส่งมา อีกวันบอกว่ายังไม่เห็นเรื่อง หรือไม่ก็มีชื่อผู้เข้าฟื้นฟูรายใหม่ปรากฏมาเป็นระยะๆ

แต่ทุกครั้งที่มีข่าว ราคาหุ้นของยูนิคอร์ดก็เหวี่ยงอย่างรุนแรงตามเนื้อหาที่ปรากฏ ฯลฯ

เห็นทีพรพรรณจะฝ่าอุปสรรคในการฟื้นฟูยูนิคอร์ดไม่ง่ายนัก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.