ก่อนจะถึงวันนั้น

โดย คำนูณ สิทธิสมาน
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

บอกตรงๆ ว่าหลายครั้งผมเริ่มท้อและหมดหวังกับสังคมไทย

ผมไม่ได้รักชาติ รักสังคม มีอุดมการณ์แก่กล้าอะไรนักหรอก และไม่ใช่คนประเภทที่ตัวสั่นทุกครั้งที่เห็นความอยุติธรรมจนป็นเพื่อนเซ กูวาร่าได้ ออกจะตรงกันข้าม ที่ถ้าเลือกได้อยากจะโลดแล่นท่องเที่ยวไปทั่ว เยี่ยมชมสิ่งดีๆ ที่ยังพอมีเหลืออยู่อีกมากมายในโลกใบนี้ บังเอิญผมเลือกไม่ได้เพราะยังต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

มันช่วยไม่ได้จริงๆ วิชาชีพเดียวที่ผมถนัดและมั่นใจว่าทำได้ดีที่สุดคือ การเขียนหนังสือ เขียนจากเรื่องจริงเพื่อสื่อความเป็นไปในสังคมให้ผู้ซื้อสิ่งพิมพ์รับรู้

กว่าครึ่งของเวลา 20 ปีที่ผ่านมาในวิชาชีพนี้ ผมยืนอยู่ในสายข่าวการเมือง เพิ่งจะเมื่อ 8 ปีมานี้เองที่ได้เข้ามาอยู่ในโลกของข่าวธุรกิจ แม้จะไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง แต่การสัมผัสเรียนรู้เพื่อพัฒนาเนื้อหาของข่าวการเมือง ทำให้ผมหูตากว้างขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศผูกพันเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก สภาวะไร้พรมแดนในการเคลื่อนไหวเงินตรามีปรากฏให้เห็นชัดขึ้น

ความร่ำรวยไม่ได้มาจากการทำงานหนักตามคติดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่มาจากความชำนาญในการเล่นเกม...

เกมการเงิน!

การเมืองวันนี้ถือได้ว่าหมดยุคเผด็จการทหาร โดยพื้นฐานระบอบผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งดำรงอยู่อย่างง่อนแง่น ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศในยุคทุนไร้พรมแดนเป็นที่มาของการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง แม้จะไม่มีข้อสรุปร่วมกันชัดเจนว่าเปลี่ยนไปสู่อะไร ในขณะที่นโยบายแห่งรัฐจำต้องถูกบังคับให้ปรับเปลี่ยนด้วยกลไกเศรษฐกิจโลกที่เรานำตัวเข้าไปผูกพันอยู่

เราจะต้องเป็นรัฐเสรีทางเศรษฐกิจธุรกิจ ทั้งทุนชาติและทุนต่างชาติจะต้องแข่งขันกันภายใต้กรอบกติกาเดียวกัน ภายในระยะเวลาอีกไม่นานนักข้างหน้า

รัฐไทยแบบเดิมที่เป็นรัฐเก็บค่าต๋งจะต้องสลายไป ดูมันเหมือนดี แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วขณะนี้ ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเสรีทางเศรษฐกิจ ก่อนที่การเมืองจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง รัฐยังคงมีอำนาจอยู่ และมีมากเสียด้วย

ผมหมายถึงอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ อย่าไปคิดถึงแค่เรื่องป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ แต่ต้องคิดถึงเรื่องคลื่นความถี่ในอากาศ ที่รัฐเป็นผู้มีอำนาจจัดสรรและเป็นเจ้าของในนามของประชาชน ต้องคิดถึงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน และ ฯลฯ

เชื่อมั้ยครับว่าที่สุดแล้ว มันจำต้องตกอยู่ในมือคนกลุ่มเดียว ได้มาจากรัฐ แล้วนำไปหาเงินจากต่างชาติ จากในชาติ ผ่านระบบธนาคาร สถาบันการเงิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกของตลาดหลักทรัพย์ มาสร้างโอกาสในการหาเงินจากประชาชนในรูปแบบต่างๆ

พวกเขาเข้ามาสู่การเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม กรณีอย่างบีบีซีนั้น ผมอยากจะบอกว่าเป็นเพียงเกมการเงินเบสิก ตื้นๆ ที่จับได้ไล่ทันง่าย เพราะตัวละครล้วนมี image ไม่ดีทั้งนั้น ที่สำคัญก็คือเป็นการหาเงินแบบตีหัวเข้าบ้านชั่วครั้งชั่วคราว งานใหญ่ที่สังคมไม่พยายามจะรับรู้ยังมีอีกมาก คนไทยมักตัดสินปัญหาด้วยความรู้สึก เราสะใจกับการประณาม บดขยี้ โจรกิ๊กก๊อกแบบผู้ร้ายหนังไทย เสียงดัง หัวเราะห้าว ไว้หนวด ดื่มบรั่นดีแทนน้ำ

แต่เรายกย่องนับถือโจรผู้ดี บีบีซีเล่นเกมการเงินตลาดๆ ง่ายๆ สัมพันธ์นักการเมืองตลาดๆ ไม่ค่อยมีปัญญา ต่างกับแบงก์อื่นที่เล่นเกมการเงินชั้นสูง กับโครงการที่ประชาชนต้องการ ผ่านเครือข่ายการเมืองภาพลักษณ์ดีงาม กว่าเมืองไทยจะเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเต็ม 100 ในอนาคต ผมสงสัยว่า จะมีอะไรเหลืออยู่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่บ้าง?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.