วัดอุณหภูมิ "หุ้นทางด่วน-รถไฟฟ้า" ยังไม่รู้ปหมู่หรือจ่า

โดย สุชาติ สวัสดิยานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

รัฐมีนโยบายที่จะให้บริษัทผู้ได้รับสัมปทานโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะถือว่าเป็นโครงการอันเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และประชาชนควรมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ แต่ความปรวนแปรของปัจจัยหลาย ๆ ประการ ก็เป็นเครื่องกีดขวางให้บริษัทเหล่านี้เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ค่อยสะดวกโยธินเท่าที่ควร ปัจจัยหลักที่จะทำให้การเข้ามาระดมทุนของโครงการทางด่วน และขนส่งมวลชน ไม่เป็นไปตามที่หวังก็คือ สถานะและความมั่นคงของโครงการนั้น ซึ่งรวมถึงอัตราเสี่ยงที่การเมืองจะเข้ามาแทรกแซงทำให้โครงการต้องมีอันผันแปร หรือล้มเลิกไป นอกจากนั้นประสิทธิภาพในการบริหารโครงการเพื่อให้ได้รายได้มากที่สุด ก็เป็นอีกความห่วงใยของนักลงทุนที่หวังจะเข้ามาหาเม็ดเงินจากหุ้นโครงการนั้นๆ โดยตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก จะมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องหุ้นสาธารณูปโภคประเภทนี้ ที่จะถูกจัดอันดับความสำคัญไว้กลาง ๆ ไม่โดดเด่นขึ้นมาแต่ประการใด เนื่องจากหุ้นเหล่านี้ไม่ใช่หุ้นที่มีความหวือหวาสร้างผลกำไร ให้กับนักลงทุนมากเช่นเดียวกับหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หรือหุ้นสื่อสาร พลังงาน ด้วยเหตุที่นักลงทุนสามารถคำนวณรายได้ จากการเก็บค่าผ่านทาง หรือค่าโดยสารได้อย่างละเอียดยิบ จึงทำให้หุ้นขนส่งขนาดใหญ่เหล่านี้ มีข้อจำกัดในการขยายตัวด้านกำไรสุทธิ ซึ่งถ้านักลงทุนต่างประเทศสนใจจะเข้ามาซื้อ ก็จะต้องพิจารณาดูว่า ช่วงใดหุ้นเหล่านี้จะมีมูลค่าตามราคาตลาดรวมสูงเป็นพิเศษ นักลงทุนต่างชาติจะไม่เคยนำหุ้นประเภทนี้เข้าข่ายหุ้นที่น่าสนใจลงทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้ทัศนะถึงความสนใจของนักลงทุนในประเทศกับหุ้นประเภทนี้ว่า เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ยังยึดติดกับแรงซื้อขาย และกระแสขึ้นลงของตลาดต่างประเทศมากพอสมควร จึงทำให้โอกาสที่หุ้นขนส่งขนาดใหญ่จะได้แรงสนับสนุนจากนักลงทุนในประเทศจึงไม่น่าจะแตกต่างจากนอกประเทศแต่ประการใด ในขณะที่ปัจจัยแปรผันด้านการเมือง หรือปัจจัยจิตวิทยาด้านอื่น ก็จะเป็นแรงสมทบที่ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจในหุ้นประเภทนี้ได้ในบางช่วง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้หุ้นสาธารณูปโภคเหล่านี้ลืมตาอ้าปากได้นั้น ก็มีอยู่บ้าง ซึ่งจะต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่าจะจัดหมวดหมู่ให้หุ้นเหล่านี้เข้าไปอยู่ในหุ้นกลุ่มก่อสร้าง และสาธารณูปโภคที่จะจัดขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีอนาคตสดใส เมื่อไร เพราะหากจะให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้นขนส่งก็จะถูกยึดไว้ด้วยค่า P/E Ratio กลุ่มที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้การขยายตัวด้านราคาของหุ้นสาธารณูปโภคเหล่านี้ไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร แต่สิ่งเหล่านี้ทาง ก.ล.ต. ก็คงจะต้องรอดูศักยภาพของแต่ละหุ้นสาธารณูปโภคก่อนว่า จำเป็นหรือไม่ต้องแยกกลุ่มออกมาโดยเฉพาะ ในปัจจุบันมีหุ้นทางด่วนและระบบขนส่งมวลชนเข้าแถวเตรียมเข้าตลาดอยู่ 3 ราย เริ่มจากบริษัททางด่วนกรุงเทพ (Bangkok Expressway consortium limited) (BECL) ซึ่งเพิ่งกระจายหุ้นไปสู่มหาชนเป็นจำนวน 99.745 ล้านหุ้น ในอัตราหุ้นละ 41 บาท เมือเร็ว ๆ นี้ และกำลังรอเวลาเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เร็ว ๆ นี้ โดยศักยภาพของบริษัท ช.การช่าง จำกัด ซึ่งเข้ามาถือหุ้นของ BECL อยู่มากถึง 35% ซึ่งมีงานใหญ่อยู่ในมือมากมาย และจะนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกัน ทำให้นักลงทุนมีความสนใจใน "หุ้นพี่" และ "หุ้นน้อง" คู่นี้เป็นอย่างมาก ซึ่งทาง BECL เองก็มีความเชื่อมั่นว่าความเสี่ยงในการก่อสร้างทางด่วนของตนนั้นน้อยกว่าการดำเนินสาธารณูปโภคด้านอื่น เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงด้านต้นทุนค่าก่อสร้าง เพราะผู้รับเหมาก่อสร้างก็คือ บริษัท ช. โตคิว คอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็นบริษัทร่วมของ ช. การช่างกับโตคิวจากญี่ปุ่น จึงแทบจะตัดปัญหาในด้านนี้และความล่าช้าไปในตัว การสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารหลายแห่ง รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินของ บงล. หลายแห่งก็เป็นเครื่องรับประกันถึงความมั่นคงในตัวเองได้ หุ้นตัวนี้จึงได้รับความสนใจจองหุ้นอย่างล้นหลาม อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญให้ทัศนะว่าแม้หุ้น BECL จะมีปัจจัยส่งเสริมอยู่มากก็ตาม แต่ด้วยราคาที่ตั้งไว้สูงถึง 41 บาท เนื่องด้วยค่า P/E ที่สูงถึง 60 เท่า เพราะผลประกอบการที่ยังไม่สามารถสร้างกำไรสุทธิได้เต็มที่ในช่วง 2-3 ปีแรก ทำให้มีการคาดการณ์ว่าหุ้นตัวนี้ จะไม่สามารถสร้างความตื่นเต้นได้มากนักในช่วงที่เริ่มเข้าตลาดใหม่ ๆ แต่ในระยะยาว เมื่อบริษัทสามารถเข้าไปรับงานทางด่วนรายอื่นได้เพิ่มเติมอีก ก็จะเป็นหุ้นตัวหนึ่งที่มีศักยภาพได้ ถัดมาก็เป็นหุ้นที่กล่าวถึงตั้งแต่ต้นนั้นก็คือ บริษัททางยกระดับดอนเมือง หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ สำหรับอนาคตของหุ้นตัวนี้ในตลาดนั้น นักลงทุนต่างประเทศไม่ค่อยตั้งความหวังกับหุ้นตัวนี้มากนัก โดยคาดการณ์ว่าจะมีกำไรสุทธิจากผลประกอบการเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ราคาหุ้นของดอนเมืองโทลเวย์ตั้งไว้ค่อนข้างสูงคือ 19 บาท แต่นักลงทุนต่างประเทศก็ยังมองโลกในแง่ดีว่าในช่วงต่อไปดอนเมืองโทลล์เวย์น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการขึ้นค่าธรรมเนียมผ่านทาง หรือเมื่อปัญหาต่าง ๆ ได้คลี่คลายลงไปในทางที่ดี แต่นักลงทุนในประเทศยังมองหุ้นตัวนี้ด้วยความเคลือบแคลงว่า ศักยภาพในการทำกำไรของดอนเมืองโทลล์เวย์ จะต่ำกว่าคู่แข่งสำคัญคือ BECL ส่วนคำประกาศขายทิ้งโครงการของผู้บริหารนั้น นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ในขณะนี้ยังไม่มีส่วนส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีการซื้อขายกันอย่างจริงจัง ต่อเมื่อใกล้เวลาจะเข้าซื้อขาย หากมีข่าวเช่นนี้ออกมาเรื่อย ๆ ก็จะทำให้สถานะของดอนเมืองโทลล์เวย์ย่ำแย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่ อีกหนึ่งโครงการที่จ่อคิวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เช่นกันก็คือ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (Bangkok Transit System company) (BTSC) ของกลุ่มธนายง แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีการกำหนดราคาอันเดอร์ไรต์ของหุ้น BTSC ว่าเป็นราคาเท่าไร แต่ด้วยที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งมีธนาคารกรุงเทพ เป็นหัวหอกนำทีม ที่มีการศึกษากันแล้วถึงความคุ้มค่าของการนำบริษัทเข้าระดมทุน โดยถือเป็นบริษัทระบบขนส่งมวลชนรายแรกในตลาดหลักทรัพย์ ความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการ รวมถึงต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มจากเพียง 2 หมื่นล้านต้น ๆ เมื่อเริ่มประกาศก่อสร้างเมื่อปี 2535 มาเป็นกว่า 3 หมื่นล้านบาทในขณะนี้ รวมถึงปัญหาก่อสร้างตามจุดวิกฤติต่าง ๆ รวมถึงปัญหาเงินกู้จากต่างประเทศที่ถูกเตะถ่วงมาเป็นเวลานาน ที่รุมเร้าซึ่งจะทำให้ความล่าช้าขยายเวลาออกไปอีก ล้วนแต่ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศ และนอกประเทศกับหุ้นตัวนี้มากนัก ดังนั้นนักวิเคราะห์จึงให้ความเห็นได้เพียงว่า คงต้องรอไปก่อนว่า โครงการจะมีความเป็นไปได้ในการก่อสร้างให้เสร็จเมื่อไร แล้วจึงมาวิเคราะห์ถึงทิศทางของหุ้นในตลาด ก็คงจะไม่สายเกินไป บรรดาหุ้นทางด่วน-รถไฟฟ้าหรือ "หุ้นบริษัทสาธารณูปโภค" จึงเป็นทางเลือกใหม่ของนักลงทุน เพียงแต่ว่าบริษัทเหล่านี้ต้องฝ่าด่านเข้าไปจดทะเบียนในตลาดให้ได้เสียก่อน ส่วนหุ้นจะขึ้นหรือลงนั้น คงต้องลุ้นกันอีกหลายเฮือก

กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.