|
ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยยืดอกรับเสรี "ปกป้อง...ไร้สาระ"
โดย
สันทิฎฐ์ สมานฉันท์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)
กลับสู่หน้าหลัก
ยังเป็นข้อถกเถียงกันอีกมาก ว่าแนวทางเพื่อช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยโดยภาครัฐ จำเป็นหรือไม่ และควรจะออกมาอย่างไรในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่เหลือจากนี้ ก่อนที่การค้าเสรีจะเกิดขึ้นจริง ซึ่งหมายถึงว่าการคุ้มครองและอุ้มชูที่กลุ่มอุตสาหกรรมนี้เคยได้รับจากภาครัฐมากว่า 3 ทศวรรษ จะต้องยกเลิกไป
นโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในด้านของการสนับสนุน กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยก็คือการบังคับผู้ประกอบการรถยนต์ในประเทศไทยให้ใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งทำการผลิตในประเทศตามสัดส่วนที่กำหนด
ช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่เหลือนี้ จะสามารถวางแนวทางเพื่อให้อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย พัฒนาตัวเองได้ทันจนสามารถรับมือเมื่อถึงเวลาแห่งการเปิดเสรี ได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน
"ผู้ที่พร้อมจะพัฒนาตัวเอง ให้ทันเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มีความซื่อสัตย์ในการดำเนินธุรกิจ มีความเป็นมืออาชีพในการบริหารงาน มีความจริงจังที่จะเป็นนักอุตสาหกรรมด้านนี้ และที่สำคัญมีทุนขยายงานเพียงพอ ก็น่าจะดำรงอยู่และแข่งขันได้ไม่ยาก ในสภาพการค้าเสรีที่กำลังจะเกิดขึ้น" คือคำกล่าวที่ผู้อยู่ในวงการหลาย ๆ ฝ่ายมักให้ความเห็นและกล่าวถึง
จนถึงปัจจุบันอุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์ของไทย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ปิกอัพ รถยนต์นั่งหรือรถจักรยานยนต์ เกือบทุกยี่ห้อได้ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเกินกว่าที่ภาครัฐกำหนดไว้ โดยเฉพาะรถยนต์ปิกอัพและรถจักรยานยนต์ มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศเกือบจะ 100% อยู่แล้ว
เหตุผลเพราะ ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตได้ในประเทศนั้น ทำให้ผู้ประกอบรถยนต์มีต้นทุนต่ำกว่าการใช้ชิ้นส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
ประการสำคัญอุตสาหกรรมยานยนต์ ระหว่างอุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์ กับอุตสาหกรรมการผลิต ชิ้นส่วนยานยนต์นั้นจำเป็นต้องพัฒนาร่วมกัน หรืออย่างน้อยต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต โนฮาวต่าง ๆ เพราะชิ้นส่วนที่จะไปใช้ให้ได้นั้น ต้องมีสเปกตามแบบที่ผู้ออกแบบรถยนต์กำหนด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าอุตสาหกรรมประกอบยานยนต์นั้น จะต้องใช้ชิ้นส่วนที่ตรงตามสเปกยานยนต์เหล่านั้น จึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด
ซึ่งทุกวันนี้ อุตสาหกรรมประกอบยานยนต์ของไทยกับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนมีการเกื้อหนุนกันในระดับที่พัฒนาเกาะติดกันมาเติบโตมาด้วยกัน
"อย่าว่าแต่ห้าปีเลย ถ้ามีการยกเลิกการบังคับใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตได้ในประเทศทันที ก็ไม่มี โรงงานประกอบรถยนต์แห่งใด จะยกเลิกการดำเนินธุรกิจกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตได้ในประเทศ เพราะทุกวันนี้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศมีคุณภาพและราคาใกล้เคียงกับต้นแบบมากที่สุด ไม่แพ้ฐานผลิตแห่งอื่น ยิ่งอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ โดยเฉพาค่าเงินเยน รวมทั้งค่าเงินสกุลอื่นอย่างเช่น เงินมาร์ก ได้ปรับตัวสูงขึ้น ยิ่งทำให้ต้นทุนของสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยต่ำลง ยังไม่นับรวมถึงเรื่องของอัตราการจ้างแรงงาน ต้นทุนการดำเนินงานอื่น ๆ และเรื่องของฝีมือแรงงาน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะเป็นการเกื้อหนุนให้อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนของไทยอยู่ในช่วงที่ได้เปรียบ หรืออย่างน้อยก็ไม่น่าจะ ถูกทิ้งจากคู่ค้าได้โดยง่าย" ผู้บริหารโรงงานประกอบรถยนต์แห่งหนึ่งให้ความเห็น
แม้ว่าการยกเลิกการติดต่อค้าขายระหว่างผู้ประกอบยานยนต์กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย จะไม่น่าจะเกิดขึ้นทันทีหลังจากการค้าเสรีเกิดขึ้น
แต่ระยะยาวแล้วผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ก็ต้องประมาณตนไว้บ้าง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย น่าจะแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือกลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่บริษัทผู้ค้าหรือผู้ประกอบรถยนต์ในประเทศ ตั้งเครือข่ายขึ้นหรือร่วมทุนกับผู้ผลิตชาวไทย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีปัญหา หรือน่าวิตกนัก แม้การค้าเสรีจะเกิดขึ้น
เนื่องเพราะส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ และในช่วงที่การผลิตในประเทศญี่ปุ่นขยายตัวลำบาก เพราะปัจจัยหลายด้านบีบรัด โครงการขยายงานส่วนใหญ่จึงต้องออกต่างประเทศ ซึ่งไทยก็เป็นจุดหนึ่งที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับโลกเหล่านั้นสนใจ และเมื่อตัดสินใจเลือกประเทศไทยแล้ว ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกลุ่มดังกล่าวนี้ จะถูกเลือกเป็นอันดับต้น
กลุ่มที่สอง คือกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งเริ่มต้นโดยกลุ่มนักลงทุนชาวไทยเกือบ 100% แต่มีการจับมือดำเนินธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบยานยนต์ มาโดยตลอดจนถึงลักษณะที่ว่าเป็นเครือข่ายที่เติบโตมาด้วยกัน ซึ่งกลุ่มนี้มีศักยภาพสูงมาก และเป็นนักพัฒนาที่ยอมลงทุนก้าวตามผู้ผลิตทุกย่างก้าว
ถึงขนาดที่ว่าโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่ของคู่ค้าเกิดขึ้น ก็สามารถตามไปตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนแห่งใหม่ในบริเวณเดียวกันได้ เพื่อการผลิตยุคใหม่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกมาก
ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กลุ่มที่สองนี้ ไม่แตกต่างกับกลุ่มที่หนึ่งมากนัก ทั้งเทคโนโลยีการผลิต และโนว์ฮาวต่าง ๆ ที่ได้การป้อนมาจากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างชาติหรือบริษัทผู้ประกอบยานยนต์ ที่ปัจจุบันทุ่มงบประมาณด้านการส่งเสริมพัฒนาการให้แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยค่อนข้างมาก
กลุ่มที่สามดูจะเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ยังมีขนาดธุรกิจไม่ใหญ่โตนัก และต้องคอยแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่น ที่มีเป็นจำนวนมากในตลาด ซึ่งส่วนนี้บริษัทผู้ประกอบรถยนต์ไม่ค่อยให้ความสำคัญในการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือโนว์ฮาวต่าง ๆ มากนัก เพราะเป็นบริษัทคู่ค้าในลักษณะเฉพาะกิจมากกว่าจะผูกสัมพันธ์ทางการค้าเป็นการถาวร
กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กลุ่มนี้อาจรวมถึงรายเล็ก ๆ หรือโรงงานห้องแถวทั้งเหล่าที่รับงานช่วงต่อมาจากผู้ผลิตชิ้นส่วน ที่รับงานมาจากโรงงานประกอบยานยนต์ แต่ไม่สามารถผลิตให้ทันจึงต้องมาหาผู้รับช่วงอีกทอดหนึ่ง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กลุ่มที่สามนี้ มักเป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบยานยนต์ในประเทศไทยค่อนข้างผิดหวังอยู่มาก เนื่องจาเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีการพัฒนา ทั้งเรื่องของคุณภาพของชิ้นงาน หรือการเข้าสู่ระบบการผลิตแบบสมัยใหม่ โดยพยายามยึดติดกับความคุ้มครองที่ภาครัฐมีให้ ทำให้ผู้ประกอบยานยนต์ในประเทศต้องหาแหล่งผลิตใหม่ค่อนข้างบ่อยครั้ง
เมื่อการค้าเสรีเกิดขึ้น การบังคับใช้ชิ้นส่วนไม่มีผล กลุ่มที่สามนี้จะเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะตัวเลือกของผู้ประกอบยานยนต์จะมีมากขึ้นอีก ที่สำคัญการนำเข้าเพื่อมาทดแทนชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ ในส่วนของกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนกลุ่มสามนี้ เป็นเรื่องที่กระทำได้ไม่ยากเลย และไม่เป็นเรื่องกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ทางธุรกิจมากเท่าใดนัก
กลุ่มผู้ผลิตกลุ่มที่สาม จึงเป็นกลุ่มที่ภาครัฐจะต้องให้ความเอาใจใส่อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการหาเทคโนโลยี ที่ดีและเหมาะสมมาให้ข้อมูลข่าวสาร แหล่งเงินทุน และอื่น ๆ ที่จะเป็นการส่งเสริมธุรกิจ
อย่างไรก็ดี มีนักอุตสาหกรรมที่ยืนอยู่ทั้งสองข้างกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า
"ไม่ถึงกับตายแต่ต้องดิ้นรน และพัฒนาตัวเองให้ได้ ที่เรียกร้องจะให้รัฐออกมาปกป้องอย่างนั้นอย่างนี้ในช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่กี่ปี ก็จะเข้ารูปแบบเดิม เหมือนที่เราเป็นมากว่า 30 ปี คือไม่รู้จักโตสักที ทำไมไม่หันมาพิจารณาเพื่อช่วยเหลือตนเองก่อนมัวแต่เรียกร้องอยู่ร่ำไป ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยไม่มีวันเติบโตไปกว่านี้ ที่ผ่านมาน่าจะเป็นบทเรียนได้ดีพอว่าเราผิดพลาดได้อย่างไร ทำไมเราถึงแพ้เกาหลีใต้หลายช่วงตัวนัก ทั้งที่จริงแล้วไม่น่าเป็นอย่างนั้น มันถึงจุดที่เราต้องต่อสู้ด้วยตัวเองได้แล้ว ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือไม่ให้เราเสียเปรียบต่างชาติ ในด้านของการกระตุ้นให้เกิด เช่นการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ หรือการอำนวยความสะดวกด้านพิธี-การศุลกากรต่าง ๆ มากกว่า ที่จะมาปกป้องกันมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เราไม่ยอมพัฒนาตนเองดังที่เป็นมา"
การเปิดเสรียานยนต์เมื่อราว 4 ปีก่อน ผู้ประกอบการในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ บางค่ายออกมาป่าวร้องว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ถึงกาลอวสานแล้ว
แต่ผ่านมา 4 ปี ไม่เห็นเป็นเช่นนั้น ตรงกันข้าม รายที่เข็มแข็งก็พัฒนาตัวเองต่อไปและยิ่งใหญ่ขึ้นมาก ส่วนรายที่ยังไม่ยอมพัฒนาตัวเองก็ต้องหันมาพัฒนาตัวเอง ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่า สามารถอยู่กันได้ มิหนำซ้ำยังมีรายใหม่ ๆ เข้ามายังตลาดอีกมาก อย่างที่เมืองไทยไม่เคยมีมาก่อน และต้องยอมรับว่านโยบายเช่นนั้น ย่อมทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ทั้งที่ควรจะได้รับมานานแล้ว
เช่นกันการค้าเสรีที่จะมาถึงอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็คงไม่แตกต่างอะไร ผู้ที่พร้อมจะพัฒนาตัวเอง ก็จะสามารถดำรงอยู่ได้
ส่วนผู้ที่คอยแต่จะงอมืองอเท้ารับการคุ้มครองปกป้องจากภาครัฐ คงต้องพิจารณาตนเองให้หนักหรือไม่ สภาพโดยรอบก็คงจะบีบให้หายหน้าไปจากวงการนี้อยู่ดี
นึกแปลกใจอยู่ว่า ถึงวันนี้ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นฐานอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งสำคัญ แห่งหนึ่งของเอเชีย แต่ทำไมเมื่อการค้าเสรีจะเกิดขึ้น เรากลับมาคิดกันว่าเราจะไปไม่รอดทำไมเราไม่คิดกันหาช่องทางตลาดในต่างประเทศ ว่ามีหรือไม่ และเราจะส่งสินค้าของเราไปจำหน่ายได้อย่างไร
ไม่เข้าใจ !!!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|