"ดีเกือบจะเต็ม 100%"

โดย เดือนเพ็ญ ลิ้มศรีตระกูล
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

นับเนื่องจากการเปิดตลาดรถยนต์นำเข้ากึ่งเสรี ในช่วงนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นหัวหน้า รัฐบาล โดยการปรับอัตราภาษีรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูป ซึ่งถูกรัฐบาลควบคุมมากว่าหนึ่งทศวรรษ เพื่อ ยกเลิกการควบคุมรถยนต์นำเข้า (มิใช่ห้ามนำเข้า) โดยเฉพาะรถยนต์ในตลาดหลัก คือ ความจุที่ต่ำกว่า 2300 ซีซี ได้ส่งผลกระทบในทันทีที่ประกาศออกมา หลากหลายกระแสร่ำลือในช่วงนั้นว่า... - เป็นการทำลายการสนับสนุนการโอบอุ้มอุตสาหกรรมด้านรถยนต์ ที่ยังไม่เติบโต เต็มที่ ทั้งที่โอบอุ้มมาโดยตลอด และเป็นเวลานานกว่าสิบปี - เป็นการสนับสนุนให้รถติด แค่นี้ถนนก็ไม่พอวิ่งอยู่แล้ว - นับเป็นผลดีต่อผู้บริโภครถยนต์ จะได้ไม่ต้องถูกปิดกั้นเทคโนโลยีอีกต่อไป - จะรอดูว่าผู้ผลิตจะทนขายรถตกรุ่นได้นานเพียงใด - มอเตอร์โชว์ทุกงาน จะต้องพลิกผันสไตล์การจัดงานจากเดิมที่เป็นเพียงมหกรรมรถนอก แค่ขนรถรุ่นแปลก ๆ ที่มีขายอยู่ในต่างประเทศมาโชว์ก็ฮือฮาแล้ว เอาแค่สปอร์ตโตโยต้าเซลิกา คันละห้าแสนบาทในต่างประเทศมาโชว์ก็เรียกน้ำย่อยได้เพราะกำแพงภาษีนั้นสูงลิบ - น่าจะเกิดผู้ค้ารถนอกรายย่อยขึ้นเพียบ สามสี่ปีที่ผ่านมา บทสรุปของการปรับอัตราภาษีรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูป CBU (COMPLETE BUILT IN UNIT) ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นผลดีเกือบจะเต็ม 100% ในทันทีที่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเพียงไม่กี่สิบวัน รถนอกรุ่นแปลก ๆ ก็แห่กันมาที่ท่าเรือและกรมศุลกากรโดยผู้ค้ารายย่อย เพราะผู้ค้ารายย่อยไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องการบริการหลังการขาย อะไหล่ว่ากันทีหลัง ในขณะที่ตัวแทนจำหน่ายจริง ต้องรีรอถึงความแน่นอนของรัฐบาลและเตรียมการเรื่องบริษัทหลังการขาย เพื่อไม่ให้เสียชื่อเสียงว่าขายแล้วไม่รับผิดชอบ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบไปถึง ภาพพจน์เดิมอีกด้วย ผู้ค้ารถรายย่อยในช่วงแรกรวยไปถ้วนหน้า เพราะความเห่อของผู้บริโภค ขูดรีด ราคากันสุดฤทธิ์ โดยเฉพาะรถสปอร์ต หรือรถหรู อันถือเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ต่างเป็นตัวทำกำไรกัน ตุงกระเป๋า ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการรายหลัก ก็ส่งผลโดยตรงไปทั้งสายการผลิตจากเดิมที่เคยปิดกั้นเทคโนโลยีและข่าวสารของรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ แค่ผลิตรถยนต์ที่มีอุปกรณ์มาตรฐานไม่สูงนักเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นรถยนต์ ทั้งที่ในต่างประเทศมีการเปลี่ยนรุ่นไปแล้ว ขายกันจนกว่าจะคุ้มค่ากับการตั้งสายการผลิตหรือคุ้มค่าแม่พิมพ์ เพราะคนไทยไม่มีสิทธิ์เลือก บางบริษัทยืนหยัดประกอบรถยนต์รุ่นเก่าขายทั้งที่ญี่ปุ่นเลิกผลิตไปแล้ว บางบริษัทข้ามรุ่นการผลิตไปหนึ่งรุ่น โดยที่ผู้บริโภคยังนึกว่าเป็นรุ่นติดกันก็ยังมี ทั้งยังจำหน่ายควบคู่กันในปัจจุบันอีกด้วย ในเมื่อผู้ค้าหรือใครก็ได้สิทธิ์ที่จะนำเข้ารถยนต์ได้ ในอัตราภาษีที่คุ้มค่ากับคุณภาพ ก็เท่ากับเป็นการบีบบังคับให้ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบรถยนต์ในเมืองไทยมีความตื่นตัวกันมากขึ้นแบบสุดขีดเพราะถ้ามัวแต่เปลี่ยนรุ่นช้า หรือผลิตรถยนต์ด้วยวัสดุคุณภาพต่ำ ก็จะโดนผู้ค้ารายย่อยตัดหน้านำเข้าจำหน่าย หรือผู้บริโภคนำเข้าเอง อีกทั้งปัญหาของการบริการหลังการขายของผู้ค้ารายย่อยที่เคยเป็นจุดด้อย ก็ได้ ถูกลบล้างลงไป เมื่อหลายรายพัฒนาตัวเองตั้งศูนย์บริการขนาดเล็ก เพราะสามารถนำเข้าอะไหล่ได้สะดวกจากสิงคโปร์ บินเช้าดึกก็ได้อะไหล่ และยังมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของทั่วโลกหรือบริษัทแม่ว่า รถยนต์ที่ผลิตออกไปไม่ว่าจะผลิตที่ใด นำไปใช้ในประเทศไหน ผู้ประกอบการในประเทศนั้น ๆ ก็ต้องรับรองคุณภาพและรับบริการ อย่างไม่มีข้อโต้แย้งว่าไม่ได้ซื้อจากตนเอง เมื่อย้อนดูกำแพงภาษีที่ถูกทลายลงไปต้องนับว่าเป็นผลดีเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในแง่ของผู้บริโภค ส่วนผู้ผลิตนั้น อาจบาดเจ็บในช่วงแรก แต่ระยะยาวแล้วคุ้มค่า เพราะสามารถขยายตลาดได้รวดเร็ว โดยไม่ต้องเสียเวลาตั้งสายการผลิต ด้วยเงินลงทุนหลายร้อยล้านบาท อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงต้นทุนต่อหน่วยอีกด้วย ถ้าคาดว่าจะจำหน่ายได้ในปริมาณน้อย ก็ตั้งสายการผลิตไม่ได้ เพราะต้นทุนต่อหน่วยสูง แต่ในกรณีของรถนำเข้า รุ่นไหนที่คาดว่าพอจะมีความเป็นไปได้ทางการตลาด ขายได้เดือนละหลายสิบคันไม่ต้องพูดถึงร้อยคัน หรือนำเข้าเป็นล็อต ๆ แล้วขายได้ ก็เดินตลาดนำเข้าเพื่อมาเปิดตัวได้ เพียงแต่อบรมช่าง มีสต็อกอะไหล่ก็เพียงพอ อาจจะถูกกว่าประกอบเองด้วยซ้ำ เมื่อเทียบต้นทุนต่อหน่วยที่มีปริมาณการจำหน่ายไม่มากนัก ส่งผลให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสใช้รถยนต์ประเภทแปลก ๆ จากความคุ้นเคยเดิมที่รถยนต์จะต้องเป็นแบบ 4 ประตู ซีดานเท่านั้น สามารถเลือกได้ตามความต้องการส่งตัว เช่น หรูสุดขีด สปอร์ตเท่ ๆ จี๊ป มินิแวนเอ็มพีวี รถตรวจการณ์ขับเคลื่อนสี่ล้อ ฯลฯ โดยสรุปแล้วแทบจะไม่พบผลเสียเลย สำหรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีในครั้งนั้น แม้แต่ปัญหาการจราจร เพราะรถติดไม่เกี่ยวกับรถนอก อาจส่งผลกระทบในช่วงแรกต่อผู้ประกอบการ แต่ระยะยาวจนถึงอนาคตแล้วดีทุกฝ่าย ไม่ควรเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ ทั้งยังอาจลดอัตราภาษีเพื่อลดช่องว่างของราคาเมื่อเปรียบเทียบราคาระหว่างรถนำเข้าบวกภาษีบวกค่าการตลาด กับรถประกอบในประเทศในรุ่นเดียวกัน อุปกรณ์ใกล้เคียงกันให้มีราคาต่างกันเพียง 5-10% เพื่อให้ผู้ผลิตตื่นตัวในด้านคุณภาพของรถยนต์กันมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป จุดนี้นับเป็นผลดีที่ชัดเจนว่า ผู้ผลิตจะไม่สามารถปิดกั้นเทคโนโลยีใหม่ได้อีกต่อไป แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตค้ำคออยู่ อาจจะไม่หวือหวาหรือมีอุปกรณ์มาตรฐานเพียบพร้อมเท่า แต่ก็ดีขึ้นอีกเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตตื่นตัว มีการแข่งขันกันมากขึ้น ได้ส่งผลให้ตลาดมีความคึกคักมากขึ้น มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนผู้ผลิตบริษัทแม่หลายรายให้ความสนใจมาตั้งโรงงานผลิตเพื่อส่งออกทั่วเอเซียนและทั่วโลกในเมืองไทย ในช่วงปี 2540-2545 คงชัดเจนกว่านี้ ไม่จะเป็นมาสด้า ฮอนด้า นิสสัน ฟอร์ด ไครสเลอร์ ฯลฯ ซึ่งก็ต่อเนื่องมายังตลาดแรงงานที่ขยายตัวขึ้น

กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.