วีระชัย ลีลาประชากุลในยามไทย-เยอรมันโปรดักส์ฮึดเหิมสุดขีด


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

วีระชัย ลีลาประชากุล ทายาทคนสำคัญของตระกูลลีลาประชากุล เปิดเกมรุกให้กับ "ไทย-เยอรมัน โปรดักส์" อีกครั้งหลังจากบริษัทได้เข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนมกราคม 2538 ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นนับเป็นมิติใหม่ของกลุ่มทุนแห่งตระกูลนี้ทีเดียว เพราะเป็นครั้งแรกที่เลือกส่งบริษัทในกลุ่มเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 20 ปี ด้วยทุนส่วนอื่นตลอด ครั้งนั้น วีระชัย ให้ความเห็นว่า "ถึงขณะนี้เราจะเติบโตในลักษณะเดิมคงไม่ได้ การก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างทันสถานการณ์เป็นสิ่งจำเป็น และคงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากพอสมควรในการขยายงานเพื่อให้บริษัทครองความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมด้านนี้ และเพื่อการขยายบทบาทด้านการผลิตเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น ดังนั้นจึงตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน แม้จะต้องเสียสัดส่วนการถือหุ้นไปบ้าง แต่ก็น่าจะดีกว่า การลงทุนด้วยตนเองในลักษณะเดิม" คำกล่าวข้างต้นดูจะเป็นบทเฉลยสำหรับแนวรุกครั้งใหม่นี้ วีระชัย คงมีแผนไว้ในใจอยู่บ้างแล้ว ก่อนที่จะนำบริษัทเข้าระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ อุตสาหกรรมผลิตท่อและแผ่นสแตนเลส ของเมืองไทยในปัจจุบันนี้ นับว่า "ไทยเยอรมัน โปรดักส์" โดดเด่นกว่าคู่แข่งรายอื่นทั้งด้านกำลังการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากกว่า บวกกับช่องทางการจำหน่ายที่ผ่านมาบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถจับกลุ่มลูกค้าได้แนบแน่นและต่อเนื่องมาตลอด แต่การเป็นเจ้าตลาด มิใช่ว่าจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้ เพราะระยะหลังคู่แข่งได้พัฒนาตามขึ้นมา มีการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือที่อื่นเข้ามาสู้บ้าง ขณะที่ "ไทย-เยอรมัน โปรดักส์" เน้นเทคโนโลยีจากเยอรมนี และอิตาลี ประกอบกับตลาดใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมาก จึงเป็นเรื่องที่จะต้องถีบตัวเองหนีขึ้นไปอีกขั้นเพื่อกุมตลาดให้ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่าการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ก็เพื่อแผนการขยายกำลังการผลิตจะได้เป็นจริงขึ้นมา ปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา บริษัทไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) จึงประกาศเปิดตัวโครงการโรงงานผลิตท่อและแผ่นสแตนเลสแห่งที่สอง ซึ่งใช้เงินลงทุนมูลค่าประมาณ 1,329 ล้านบาท โรงงานในแผนการขยายกำลังการผลิต ซึ่งถือเป็นโรงงานแห่งที่สองนี้ ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง บนที่ดินประมาณ 204 ไร่ ถือเป็นการแยกอาณาจักรออกไปจากโรงงานเดิม และโรงงานของบริษัทในเครือ ซึ่งอยู่ริมถนนบางนา-ตราด ก.ม. 39 ทั้งยังเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่าโรงงานเดิมถึงกว่า 3 เท่าตัว ทั้งนี้โรงงานเดิมมีกำลังการผลิตท่อสแตนเลสได้เพียง 8,400 ตันต่อปี และผลิตแผ่นสแตนเลสได้ 7,100 ตันต่อปี ขณะที่โรงงานแห่งใหม่นี้จะผลิตท่อสแตนเลสและแผ่นสแตนเลสรวมแล้วถึง 64,500 ตันต่อปี (รายละเอียดการผลิตดังตารางประกอบ) ทั้งนี้โรงงานแห่งใหม่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2539 การสร้างโรงงานแห่งที่สองในครั้งนี้ นอกจากต้องการจะหนีคู่แข่งในเรื่องของศักยภาพด้านกำลังการผลิตแล้ว ยังมีแนวคิดที่จะเป็นผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อทดแทนการนำเข้า และสร้างตลาดใหม่ ๆ ขึ้นมา ได้เข้ามาเป็นตัวหนุนทำให้เกิดโครงการขยายงานครั้งนี้ด้วย ผู้บริหารของ "ไทย-เยอรมัน โปรดักส์" ซึ่งใกล้ชิดกับวีระชัย มากคนหนึ่ง กล่าวถึงแนวคิดของวีระชัย ว่า มักจะวางแนวทางการทำอุตสาหกรรมในลักษณะบุกไปข้างหน้าตลอด จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาหลังจากเข้ามาบริหาร "ไทย-เยอรมัน โปรดักส์" เมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว ได้ปรับแนวการผลิตค่อนข้างมาก เช่นการนำเครื่องจักรทันสมัยเข้ามา เป็นรายแรก ซึ่งเมื่อก่อนอุตสาหกรรมด้านนี้ของเมืองไทยจะค่อนข้างสกปรก เขม่าควัน เยอะมาก เพระมีการใช้ความร้อนมีการเผา และขั้นตอนยุ่งยากหลังจากที่บริษัทนำเครื่องจักรทันสมัยเข้ามาเห็นผลทันที เพราะการผลิตจะทำได้ง่ายขึ้นมาก ประหยัดต้นทุนมากกว่า นอกจากแนวคิดเรื่องการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว ยังมองในเรื่องของการลดต้นทุนควบคู่มาโดยตลอด เช่นการวางแผนงานการตรวจเช็คเครื่องจักรเป็นระยะ และตั้งหน่วยผลิตชิ้นส่วนที่ต้องเปลี่ยนและสึกหรอจากการผลิตเป็นประจำด้วยตนเอง เพื่อลดต้นทุน การคิดค้นและวิจัย เพื่อทำการผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทใหม่ ๆ ขึ้นมา เป็นการสร้างตลาดใหม่ ๆ ขึ้นมา ไม่ใช่รอให้ตลาดเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยเข้าไปรองรับเพียงเท่านั้น ต้องยอมรับว่าแนวคิดการบุกไปข้างหน้าทำให้ "ไทย-เยอรมัน โปรดักส์" เติบโตอย่างมากในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ สำหรับวีระชัย เขากล่าวถึงเหตุผลในการลงทุนครั้งนี้ว่า เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดในอนาคต ซึ่ง 4-5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสแตนเลสมีการขยายตัวอย่างมากเพราะตลาดเติบโต โดยเฉพาะตลาดในเมืองไทย ทั้งนี้เนื่องจากมีการใช้ผลิตภัณฑ์สแตนเลสทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุประเภทอื่น เช่น เหล็ก พลาสติก หรือแม้แต่ไม้ ทั้งนี้เพราะว่าสแตนเลสมีคุณภาพเหนือกว่าในหลายด้าน เช่นความทนกรดด่าง และทนต่อสภาพอากาศ ในขณะที่ราคาแพงกว่าผลิตภัณฑ์อื่นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมบุกเข้าหาลูกค้าใน 4 โครงการใหญ่ ด้วย เช่นโครงการสนามบินหนองงูเห่า, โครงการขยายสนามบินดอนเมือง, โครงการรถไฟฟ้าและโครงการโรงกลั่นน้ำมัน ยังไม่รวมถึงกลุ่มลูกค้ารายย่อย และผู้ผลิตเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ ที่จะเติบโตตามมา เพราะตลาดเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตอีกมาก เมื่อมองถึงการเปิดประเทศในแถบอินโดจีนผนวกเข้ามาด้วย วันนี้ของ "วีระชัย ลีลาประชาธรรม" ดูจะสดใสมาก ด้วยบทบาทของนักธุรกิจวัยหนุ่ม ที่มีอายุเพียง 37 ปี แต่กลับเติบโตอย่างรวดเร็วและกำลังจะนำพา "ไทย-เยอรมัน โปรดักส์" จากธุรกิจหลักพันล้านบาทต่อปี ก้าวสู่องค์กรธุรกิจหมื่นล้านบาทในไม่ช้านี้ ถ้าโรงงานแห่งที่สอง ประสบความสำเร็จตามแผนงานรองรับตลาดดังที่วางไว้ รายละเอียดแผนงานการผลิตโรงที่ 2 ที่จ. ระยอง 1. ผลิตท่อสแตนเลสขนาด 10-20 นิ้ว โดยมีกำลังการผลิตเต็มที่ประมาณ 22,800 ตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันสินค้าประเภทนี้ยังไม่มีการผลิตในประเทศ ดังนั้นจึงเป็นการผลิตเพื่อทดแทนการ นำเข้าทั้งหมด โดยผลผลิตส่วนหนึ่งประมาณ 30% จะถูกส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วย สำหรับตลาดในประเทศ จะส่งไปยังจำหน่ายยังกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และอุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล 2. ผลิตท่อสแตนเลสขนาด 38.1 มม. เป็นการขยายกำลังการผลิตจากโรงงานเดิมที่มีอยู่ โดยกำลังการผลิตเต็มที่โรงงานแห่งที่สองนี้จะมีประมาณ 16,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นการผลิตท่อสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร 40% อีก 60% เป็นการผลิตเพื่อป้อนไปยังอุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง การตกแต่งอาคารบ้านเรือน 3. ผลิตแผ่นสแตนเลสขัดลายเส้นผม เป็นการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากโรงงานเดิมมีอยู่ โดยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเต็มที่ 19,800 ตันต่อปี 4. ผลิตแผ่นสแตนเลสขัดเงา เป็นการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากที่โรงานเดิมมีอยู่ โดยมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเต็มที่ 4,800 ตันต่อปี 5. ผลิตแผ่นสแตนเลสสกัดลายตามสัญลักษณ์ ลักษณะของสินค้าจะเป็นการกัดลายบนแผ่นสแตนเลสให้เป็นลวดลายต่าง ๆ ตามที่ต้องการ ซึ่งจะนำมาใช้ในการตกแต่งอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และบ้านเรือน กำลังการผลิตจะมีประมาณ 1,100 ตันต่อปี โดยจะจำหน่ายในประเทศและส่งออกในปริมาณที่เท่ากัน

กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.