สยามซิตี้โฮมเซนเตอร์ ร้านอสังหาริมทรัพย์ใกล้บ้าน


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ความเติบโตของร้านคอนวิเนียนสโตร์เช่นเซเว่น-อีเลฟเว่น หรือร้านเสื้อผ้าอย่างเท็น แอนด์ โค ไปตามทำเลดีเยี่ยมในกรุงเทพฯ นั้นเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างมหาศาล แต่ใช่ว่ารูปแบบร้านค้าจะหยุดอยู่เพียงของชำหรือเสื้อผ้าเท่านั้น อสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูง ก็สามารถเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในจุดนี้ได้เช่นกัน และนับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารผู้มีหน้าที่เพียงปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการ ได้เข้ามารับหน้าเสื่อที่จะร่วมทุนเปิดร้านรับซื้อขายบ้านกลางใจเมือง "นครหลวงโฮมเซนเตอร์" เป็นย่างก้าวสำคัญของธนาคารนครหลวงไทย ที่จับมือร่วมกับบริษัท ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งศูนย์การแสดงแบบบ้านแห่งแรกในกรุงเทพฯ ที่จะจัดแสดงแบบบ้านต่าง ๆ เช่นทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม ในทุกระดับราคา และทุกย่าน อัตรา 60 : 40 เป็นสัดส่วนการร่วมทุนระหว่างธนาคารนครหลวงไทย และริชาร์ด เอลลิส ในการก่อตั้งโฮมเซนเตอร์แห่งนี้ขึ้น โดยมีทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 10 ล้านบาท โดยทางธนาคารนครหลวงไทยหวังเป็นอย่างมากว่า ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่นี้นอกจากจะเป็นจุดสร้างรายได้ที่ดีให้กับธนาคาร อันเนื่องมาจากค่าบริการที่เรียกเก็บจากบริษัทพัฒนาที่ดินที่เข้าร่วมโครงการ จะเป็นจุดระบายสินเชื่อที่ธนาคารตั้งเป้าไว้ว่าสินเชื่อรายย่อยด้านอสังหาริมทรัพย์ น่าจะเป็นตัวทำกำไรให้กับแบงก์ได้เป็นอย่างดีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งการที่แบงก์นครหลวงไทยจะทำเช่นนั้นได้ ย่อมหมายความถึงการมีจุดขายที่แปลกใหม่และต้องมีประสิทธิภาพด้วย ไซมอน แลนดี้ กรรมการผู้จัดการ นครหลวงโฮมเซนเตอร์ ผู้ที่อยู่กับริชาร์ดเอลลิสมาเป็นเวลาถึง 12 ปี คลุกคลีและคร่ำหวอดวงการอสังหาริมทรัพย์มาอย่างทะลุปรุโปร่ง ทราบดีถึงพฤติกรรมการซื้อขายหรือการเก็งกำไรว่าเขาทำกันอย่างไร จนสามารถพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว เล่าให้ฟังถึงลักษณะการให้บริการของโฮมเซนเตอร์ว่า เป็นการให้บริการฟรีกับแบบบ้านและคอนโดฯ ซึ่งในปัจจุบันมีให้เลือกประมาณ 20-30 โครงการ ตั้งแต่ระดับราคา 4 แสนถึง 20 ล้านบาท เช่นบ้านเคซีรามอินทรา เพรสซิเดนท์พาร์ค ศรีนครินทร์ วอเตอร์ฟอร์ดพระราม 4 ฯลฯ ซึ่งในช่วงต่อไปก็จะมีการติดต่อจากบริษัทพัฒนาที่ดินอีกกว่า 20 แห่ง ที่จะเข้ามาร่วมแนะนำโฮมเซนเตอร์แห่งนี้ และด้วยนโยบายของโฮมเซนเตอร์ที่เป็นเอกเทศ ดังนั้นโครงการที่มาร่วม จึงไม่จำเป็นต้องติดต่อกับทางแบงก์นครหลวงไทย หรือริชาร์ด เอลลิส โดยทางโอมเซนเตอร์จะมีทีมงานออกไปติดต่อ หรือทางโครงการจะติดต่อเข้ามาเอง ซึ่งบริษัทก็จะมีมาตรการในการกลั่นกรองโครงการด้วยการเลือกคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยเหตุที่โฮมเซนเตอร์แห่งนี้มีนโยบายเป็นเอกเทศ ซึ่งให้อิสระแก่ลูกค้าที่จะสามารถเลือก ซื้อบ้านโครงการใดก็ได้ โดยไม่ได้บีบบังคับว่าจะต้องเป็นโครงการที่แบงก์นครหลวงไทยสนับสนุน และไม่จำเป็นต้องเลือกใช้บริการสินเชื่อจากแบงก์อีกด้วย "ทางแบงก์และเรามีความคิดเห็นตรงกันว่า น่าจะให้บริการโอมเซนเตอร์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่ต่างประเทศทำ คือทำแบบมืออาชีพ ไม่ใช่แบบมือสมัครเล่นที่เปิดกันทั่วไปในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ทางแบงก์นครหลวงไทยกำลังเตรียมการด้านดอกเบี้ยอัตราพิเศษ สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการโฮมเซนเตอร์ที่ติดต่อสินเชื่อกับทางแบงก์" ความเป็นมืออาชีพของโฮมเซนเตอร์ในความหมายของไซม่อนนั้นจะหมายความ นับตั้งแต่การออกแบบสถานที่ตั้งซึ่งจะต้องมีความโอ่โถง และใช้สีสันสดใส แต่ต้องกลมกลืนกับความอ่อนนุ่มและสุขุม ข้อสำคัญคือ ทำเลที่ตั้ง สาเหตุที่ต้องเลือกสีลม เป็นสาขาแรกของโฮมเซนเตอร์ เนื่องจากจุดนี้เป็นทำเลใจกลางกรุงที่มีคนเดินไปมาถึงวันละ 4-50,000 คน ซึ่งทางโฮมเซนเตอร์หวัง ว่าอย่างน้อยจะต้องมี ผู้สนใจเข้ามาสอบถามหรือใช้บริการอย่างน้อยวันละ 30 คน ซึ่งนับตั้งแต่เปิดบริการตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จากความสำเร็จของสาขาแห่งแรกที่โฮมเซนเตอร์แห่งแรกนี้เอง ไซม่อนจึงได้ตั้งเป้าไว้ว่าในช่วง 2 ปีข้างหน้า จะต้องกระจายสาขาออกไปตามสี่มุมเมืองให้ครบทั้ง 5-10 สาขาในระยะแรกของการเปิดสาขาในกรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการมองทำเลที่จะขยายออกไปแล้ว แต่เนื่องจากการเปิดแต่ละสาขาจะต้องใช้เนื้อที่ค่อนข้างมากถึงกว่า 200 ตารางเมตรต่อแห่ง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาพื้นที่ที่เหมาะสมได้ในระยะเวลา อันสั้น ความเป็นมืออาชีพประการที่สอง ที่โฮมเซนเตอร์จะต้องมีนั้นก็คือ นอกจากจะต้องมีการจัดบริการให้คำปรึกษาในการเลือกบ้าน หรือคอนโดฯ ตามงบประมาณที่ลูกค้ามีอยู่แล้ว การให้คำแนะนำด้านการออกแบบตกแต่ง หรือการต่อเติมบ้านก็จะต้องมีเสริมเข้าไปในร้านค้าอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่ที่จะต้องมีบริการทุกอย่างที่เกี่ยวกับบ้านให้ครบวงจร เพื่อไม่ต้องให้เกิดภาระกับผู้บริโภคที่จะต้องไขว่คว้าหาคำแนะนำจากจุดอื่น "และเมื่อความต้องการด้านบ้านมือสองของผู้บริโภคมีสูง เราก็มีบริการแนะนำในส่วนนี้บ้าง แต่ไม่ค่อยได้เน้นมากนัก เพราะเราหวังจะพุ่งเป้าไปจับลูกค้าคนรุ่นใหม่ระดับบีบวกขึ้นไป ที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัว ซึ่งคงไม่คิดจะเริ่มจากบ้านหลังที่สองของคนอื่น" อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวในปีแรกนี้ ทางโฮมเซนเตอร์ ไม่ได้หวังว่าจะได้รับส่วนแบ่งการตลาดมากนัก โดยคาดว่าจะอยู่ในอัตรา .5-1% เท่านั้น แต่สิ่งที่หวังมากกว่าก็คือ จากจุดนี้จะเป็นจุดกระตุ้นให้ค่ายอื่นในวงการ โดยเฉพาะแต่ละธนาคาร ที่มีโครงการว่าจะเข้ามาเปิดตัวในสมรภูมิการแข่งขันนี้ ก็จะได้โดดเข้ามาอย่างเต็มตัวทันที "ที่เราทราบมามีหลายค่ายสนใจจะเข้ามามีส่วนในการเปิดธุรกิจนี้ แต่ก็กำลังรอดูอยู่ว่าผู้ที่มาบุกเบิกตลาดเป็นรายแรกจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด ซึ่งถ้าหาก 1 ปีผ่านไปแล้ว โฮมเซนเตอร์ของเราสามารถทำได้ตามเป้าที่วางไว้ การแข่งขันในตลาดนี้ที่มีแต่ละธนาคารเป็นผู้สนับสนุนจะต้องสนุกขึ้นอย่างแน่นอน" ดังนั้น วันข้างหน้าเราอาจจะเห็นร้านค้าอสังหาริมทรัพย์ระดับมืออาชีพ ที่เปิดตัวทุกตรอก ซอกซอย ให้ประชาชนจับจ่ายบ้าน หรือคอนโดฯ ได้เหมือนเข้าไปซื้อของในเซเว่นอีเลฟเวนส์ก็ได้

กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.