|
ดร.นพดล อินนา เบื้องหลังของ "สิงห์" ผงาดในวงการไอที
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)
กลับสู่หน้าหลัก
นอกเหนือไปจากการนั่งบริหารในบุญรอดบริวเวอรี่ ผู้ผลิตเบียร์ โซดา และผลิตภัณฑ์น้ำดื่ม ซึ่งรู้จักกันดีภายใต้ชื่อ "สิงห์" อันเป็นกงสีของครอบครัวแล้ว สันติ ภิรมย์ภักดี ยังมีกิจการหลายประเภทที่ใช้เงินส่วนตัวไปร่วมลงขันเอาไว้มากมาย ตามประสาของผู้มีชื่อเสียง และมีเพื่อนพ้องในวงการธุรกิจมากมาย
กิจการที่สันติไปลงทุนส่วนตัวนี้ จะมีตั้งแต่กิจการภัตตาคาร โรงแรม ท่องเที่ยว เอเยนซีโฆษณา สนามกอล์ฟ ธุรกิจให้เช่าเฮลิคอปเตอร์ ตลอดจนกิจการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์
เมื่อกิจการเหล่านี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น สันติมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาดูแลกิจการเหล่านี้อย่างจริงจังเสียที ขณะเดียวกันเขาก็มองเห็นแล้วว่า ธุรกิจอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี หรือไอที อันเป็นคลื่นลูกใหม่ที่กำลังมีบทบาทอย่างมากในโลกธุรกิจทุกวันนี้ ซึ่งเขามองเห็นว่าคงไม่ยากหากแทรกตัวอยู่ในธุรกิจไอที ที่มีมูลค่ามหาศาล
เป็นเวลาเดียวกับที่สันติได้รู้จักกับดร. นพดล อินนา อดีตรองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นกรรมการก่อตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และต่อมาได้อำลาชีวิตการเป็นอาจารย์ หันมาร่วมงานที่บริษัท เทเลคอม โฮลดิ้ง ในตำแหน่งของ SENIOR PROJECT EXCUTIVE
จากประสบการณ์ทางวิชาการในเรื่องของเทคโนโลยีผสมผสานกับความรู้ในเชิงธุรกิจที่ได้มาจากเทเลคอมโฮลดิ้ง ทำให้ ดร. นพดล ตัดสินใจรวบรวมสมัครพรรคพวกที่เป็นอาจารย์ด้วยกัน หันมาร่วมมือกับสันติ โดยจัดตั้งเป็นบริษัท GRIFFIN HOLDING ทำหน้าที่เป็นโฮลดิ้ง คอมปานี เพื่อควบคุม ดูแลธุรกิจที่สันติไปร่วมลงทุนไว้ทั้งหมด พร้อมเป้าหมายในการขยายธุรกิจทางด้านไอทีอย่างจริงจัง
ต่อมา GRIFFIN HOLDING ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเทคโนโลยี โอเปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ "ท้อป กรุ๊ป" เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจที่วางไว้ ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นของท้อป กรุ๊ปนั้น ประกอบไปด้วย สันติ 80% ดร. นพดล 5% ที่เหลือเป็นของผู้บริหารในบริษัท
ดร. นพดล รับตำแหน่งหน้าที่บริหารงานหลัก ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ มีทีมงานผู้บริหารส่วนใหญ่จะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อาทิดร. ธัชชัย ชื่นชม อดีตอาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ รับตำแหน่งผู้จัดการโครงการพิเศษ และมีสันตินั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร
งานชิ้นแรกที่ท้อปกรุ๊ปได้ประกาศตัวต่อสาธารณชนคือ การเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้เข้าประกวดราคาจัดซื้อซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ของกรมอุตุนิยมวิทยา มูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการอื้อฉาวที่สุดโครงการหนึ่งในเวลานี้ ด้วยขนาดของโครงการประกอบกับการเป็นวางรากฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์สำหรับพยากรณ์อากาศ ทำให้ยักษ์ใหญ่ในวงการพลาดไม่ได้
ท้อปกรุ๊ป ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการ ในฐานะผู้เข้าประมูลหน้าใหม่ที่สามารถไป ดึงเอายักษ์ใหญ่ทั้งหลายอย่าง ไอบีเอ็ม ไนเน็กซ์ และฮิวจ์ ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อเข้าประมูลในโครงการนี้
แม้จะมีพันธมิตรแข็งปั๋งในวงการคอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคม แต่การที่ท้อปกรุ๊ปต้องต่อกรกับยักษ์ใหญ่ที่ช่ำชองในธุรกิจประมูล และมีสายสัมพันธ์และสายป่านอย่าง กลุ่มยูคอม, ล็อกซเล่ย์ สหวิริยา, ไทยอีควิปเมนท์ รีเสิร์ช จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ท้อปกรุ๊ปจะลุยฝ่าเข้าไป
"เราเตรียมตัวเข้าประมูลโครงการนี้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เพราะเป็นโครงการที่สำคัญมาก เป็นการวางรากฐานระบบคอมพิวเตอร์ให้กับกรมอุตุ ซึ่งนานปีจะมีสักครั้ง งานนี้เราจึงไม่ได้หวังผลกำไรมากไปกว่าชื่อเสียง" ดร. นพดลกล่าว
แต่การเข้าประมูลของท้อปกรุ๊ปในครั้งนี้ ก็ไม่มีอะไรเสีย เพราะหากประมูลได้ท้อปกรุ๊ปจะได้ชื่อเสียงเพียงพอที่จะแจ้งเกิดในวงการไอทีได้ทันที แต่หากไม่ได้ต้องไปเริ่มใหม่ในการประมูลโครงการอื่น ๆ ซึ่งนอกเหนือจากโครงการนี้แล้ว ดร. นพดล และทีมงานได้เตรียมนำท้อป กรุ๊ปเข้าประมูลในโครงการประมูลคอมพิวเตอร์อื่น ๆ อีก
โครงการขายตั๋วรถไฟด้วยระบบคอมพิวเตอร์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เตรียมจะเปิดประมูล รวมทั้งโครงการประมูลของหน่วยงานราชการอีก 3-4 โครงการที่อยู่ในเป้าหมายของท้อป-กรุ๊ป
ในการประกวดราคาในโครงการเหล่านี้ ดร.นพดล จะทำในลักษณะของทีมงานและหากประมูลได้แล้ว จึงจะจัดตั้งเป็นในรูปของบริษัท เพื่อรับผิดชอบโครงการนั้น ๆ โดยเฉพาะ เนื่องจาก ท้อปกรุ๊ปเอง จะทำหน้าที่เป็นโฮลดิ้ง คอมปานี เพื่อลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่ง
เส้นทางเดินในธุรกิจไอทีของท้อปกรุ๊ปนั้น ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์เสียทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้สันติ ได้ไปร่วมถือหุ้นในบริษัท แอ็ดวานซ์ วิชั่นซิสเต็มส์ (เอวีเอส) ซึ่งทำธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์วินโดว์ภาษาไทย ให้กับไมโครซอฟท์ และถือหุ้นในบริษัท สตูดิโอ 10 ทำธุรกิจอิมเมจ โปรเจกเตอร์
นอกจากนี้สันติ ยังเป็นหนึ่งในถือหุ้นจำนวน 14% ในบริษัทคอมลิงค์ เป็นผู้ดำเนินโครงการวางสายเคเบิลใยแก้วตามรางรถไฟ ให้กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ซึ่งมีกลุ่มซีพี เป็น ผู้ถือหุ้นหลัก
นอกเหนือจากการประมูลโครงการคอมพิวเตอร์แล้วนั้น ท้อปกรุ๊ปยังต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากโครงการคอมลิงค์
ในเวลาเดียวกัน ด้วยมูลค่าตลาดอันมหาศาลของธุรกิจค้าเครือพีซี ทำให้ดร. นพดล ไม่ได้จำกัดตัวเองไว้เพียงธุรกิจประมูลคอมพิวเตอร์ในโครงการขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังเตรียมตัวเป็นตัวแทนจำหน่าย คอมพิวเตอร์พีซี และเวิร์คสเตชั่น ที่แม้ว่าการแข่งขันจะรุนแรงก็ตาม
เป้าหมายของท้อปกรุ๊ปที่ดร. นพดล และสันติวางไว้คือจะมีธุรกิจที่ดำเนินอยู่อย่างครบวงจร และเติบโตจนมีบทบาทในวงการไม่แพ้กิจการของบุญรอด และนี่คืออีกเสี้ยวหนึ่งในชีวิตธุรกิจของสันติ ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ในโลกธุรกิจใบใหม่นี้ซึ่งไม่จำกัดแค่เบียร์สิงห์อีกต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|