สมุนไพรในสังคมไฮเทคโอกาสธุรกิจของเวชพงศ์รุ่นที่ 3


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อเอ่ยชื่อ "เวชพงศ์" สิ่งที่คนทั่วไปนึกถึงคงหนีไม่พ้นน้ำผึ้งซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วน้ำผึ้งเป็นเพียงสินค้าตัวหนึ่งของบริษัทและเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 18 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ธุรกิจของกลุ่มเวชพงศ์ หรือที่รู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่งว่า "ฮก อัน ตึ้ง" นั้นดำเนินต่อเนื่องมานานกว่า 80 ปี ความเป็นมาของกลุ่มเวชพงศ์เริ่มตั้งแต่สมัยที่นายอิ้วเจง แซ่เอีย ต้นตระกูลเวชพงศา ได้เปิดร้านขายใบชาในย่านสะพานหัน เมื่อปี 2455 หลังจากนั้น 3 ปีจึงได้จะทะเบียนก่อตั้งห.ส.น. เวชพงศ์โอสถ หรือฮก อัน ตึ้งขึ้นมา เพื่อดำเนินกิจการค้าขายยาเป็นหลัก กิจการของฮก อัน ตึ้ง ขยายจากร้านขายปลีก มาเป็นร้านขายส่งตัวแทนจำหน่ายและการผลิตยาในที่สุด รวมทั้งได้ย้ายร้านจากย่านสะพานหันมาเปิดที่แยกวัดตึก ถนนจักรวรรดิ เมื่อปี 2470 หรือ 68 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเวชพงศ์ โอสถยังคงดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ยาเป็นหลัก โดยเป็นทั้งผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายสมุนไพร ยาไทย ยาจีน ยาแผนโบราณและยาแผนปัจจุบัน โดยเฉพาะยาจีนสำเร็จรูปแผนโบราณนั้น เวชพงศ์ โอสถถือว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายยาจีนสำเร็จรูปรายใหญ่รายหนึ่งของไทย เพราะในแต่ละปีเวชพงศ์มีการนำเข้ายาจีนกว่า 50 ชนิด จากโรงงานผลิตยาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง หลายแห่งของจีน "ปี 2513 ผมได้มีโอกาสร่วมคณะ ของคุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ซึ่งจอมพลถนอม กิตติขจร ส่งไปสร้างสัมพันธ์ไมตรีกับจีนเป็นชุดแรก หลังจากที่ไม่มีความสัมพันธ์กันมานาน เพื่อดูว่าจะสามารถติดต่อค้าขายอะไรกันได้บ้าง สิ่งที่ผมสนใจมากคือสมุนไพรจีนและยาสำเร็จรูปของจีนที่เราขายอยู่แต่ต้องซื้อจากสิงคโปร์ ซึ่งซื้อมาจากฮ่องกงอีกต่อหนึ่ง แต่ต้องรอจนกระทั่งปี 2518 เมื่อความสัมพันธ์ดีขึ้นแล้ว เราจึงเริ่มสั่งซื้อยาและสมุนไพรจากจีนโดยตรง ทำให้ราคาถูกลงกว่าเดิมถึง 30%" เจนกิจ เวชพงศา ประธานกลุ่มเวชพงศ์ซึ่งสืบทอดธุรกิจต่อจากคุณพ่ออิ้วเจงร่วมกับพี่น้องของเขาอีกหลายคนย้อนอดีตให้ฟัง สำหรับในส่วนน้ำผึ้ง ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้กับกลุ่มเวชพงศ์นั้น เริ่มต้นเมื่อปี 2513 เพราะต้องการน้ำผึ้งแท้มาผสมเป็นยาลูกกลอน เนื่องจากที่ผ่านมาน้ำผึ้งส่วนใหญ่ที่บริษัทซื้อมาใช้จะเป็นน้ำผึ้งปลอม ทำให้ยาลูกกลอนขึ้นราเสียหาย อย่างไรก็ดีการเลี้ยงผึ้งในช่วงแรก ของเวชพงศ์ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับเพื่อน ชาวไต้หวันล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะไม่มีเทคโนโลยีในการเลี้ยง ต้องศึกษาหาความรู้จากประสบการณ์จริง ผลก็คือผึ้ง 3-4 ชุด ที่สั่งเข้ามาเลี้ยงในช่วง 3 ปีแรกตายหมดแต่กลุ่มเวชพงศ์ก็ไม่ล้มเลิก เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญและการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต จึงได้จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทอุตสาหกรรมผึ้งไทย จำกัด ขึ้นมาเมื่อปี 2516 แม้เพื่อนผู้ร่วมทุนจะถอนตัวก็ตาม โดยบริษัทอุตสาหกรรมผึ้งไทยจะทำหน้าที่เป็นผู้เก็บน้ำผึ้งมาผลิตและส่งให้ ห.ส.น.เวชพงศ์โอสถเป็นผู้จัดจำหน่าย จวบจนกระทั่งปี 2518 การเลี้ยงผึ้งจึงเริ่มดีขึ้น เพราะมีการย้ายรังผึ้งไปตามแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ คือจากบางกรวย นนทบุรี ไปที่รังสิต อยุธยา นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และท้ายที่สุดอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสวนลำไย ปี 2520 "น้ำผึ้งเวชพงศ์" จึงออกวางจำหน่ายในท้องตลาดและสร้างชื่อเสียงให้เวชพงศ์มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน พัฒนาการทางธุรกิจของกลุ่มเวชพงศ์ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นับเป็นการสืบทอดของคนในตระกูลเวชพงศา 3 รุ่น กล่าวคือจากนายอิ้วเจง ผู้ก่อตั้งสู่รุ่นลูก ซึ่งมีเจนกิจ เวชพงศา เป็นทายาทคนสำคัญที่ถูกวางรากฐานให้เป็นผู้รับช่วงกิจการร่วมกับพี่น้องคนอื่น ๆ ก่อนที่จะมาสู่ยุคลูกของเขาในปัจจุบัน เวชกิจร่ำเรียนมาทางแพทย์แผนจีนและแผนไทยโดยตรง ยาและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่บริษัทคิดค้นขึ้นมาจำหน่ายในช่วงแรกเป็นผลิตผลจากมันสมองของเขาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นยาหอมปิดทองเวชพงศ์ ขี้ผึ้งนายพล เหงือกปลาหมอตรานายพล ความรอบรู้ของเจนกิจด้านสมุนไพรได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งภาคราชการและเอกชน เพราะเขาเคยเป็นคณะกรรมการอนุมัติตำรับยาของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งเคยเป็นนายกสมาคมพ่อค้ายาอยู่ 4-5 สมัย และปัจจุบันก็ยังเป็นนายกกิตติมศักดิ์อยู่ด้วย นอกจากเจนกิจแล้ว อภิญญา เวชพงศา น้องสาวของเขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจของครอบครัวในช่วงที่ธุรกิจของกลุ่มมีการขยายกิจการมาสู่สมุนไพรไทยอย่างจริงจัง หลังจากที่เธอใช้วิชาความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่ไปร่ำเรียนมาจากสหรัฐอเมริกาทำงานกับบธนาคารกรุงไทยอยู่นาน 15 ปี โดยเข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายขาย ห.ส.น.เวชพงศ์โอสถ (ฮก อัน ตึ้ง) นอกจากนี้พี่น้องคนอื่น ๆ ในตระกูลเวชวงศาก็อยู่ในแวดวงยา เพราะไม่ว่า บริษัท แสงสว่างตราค้างคาว หรือ ห้างขายยาตราเสือดาว ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นต้น ก็เป็นธุรกิจของคนในตระกูลนี้ทั้งสิ้น ปัจจุบันเจนกิจอายุ 75 ปี แม้ว่าจะยังแข็งแรงมาก แต่เขาก็เริ่มวางมือจากเวชพงศ์โอสถ ให้ลูกและหลานเข้ามาสืบทอดกิจการต่อไป โดยที่เขายังคอยเป็นที่ปรึกษาให้ ในส่วนของการพัฒนาและคิดค้นตำรับยาใหม่ ๆ นั้น เจนกิจมีลูกหลานที่ร่ำเรียนมาทางเภสัชกรจะมารับช่วงไป ส่วนการบริหารนั้น วสันต์ เวชพงศา บุตรชายของเขาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ วสันต์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก UNIVERSITY OF MIAMI สหรัฐอเมริกา หลังจากที่ใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาด้วยการเป็นสถาปนิกประมาณ 5 ปี ควบคู่ไปกับการช่วยดูแลงานในฟาร์มผึ้งในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ไปด้วย ในที่สุดก็ลาออกมาช่วยสานต่อธุรกิจที่ปู่และพ่อบุกเบิกไว้อย่างเต็มตัว ตั้งแต่ปี 2521 เป็นต้นมา ภาระหน้าที่ของวสันต์ นอกจากเขาจะเป็นผู้ดูแลฟาร์มผึ้งจนซาบซึ้งในระเบียบวินัยในการทำงานของผึ้งจนนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการทำงานของเขาแล้ว ความเป็นคนรุ่นใหม่ที่เห็นประโยชน์ของสมุนไพรจึงทำให้เขาพยายามที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้ทันสมัย เหมาะสมที่จะใช้ในวิถีชีวิตปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้คนไทยหันมาสนใจสมุนไพรมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ประเภทเม็ดอมสมุนไพร ยาดมส้มมือ ฟ้าทลายโจรอัดเม็ด ผลิตภัณฑ์สมุนไพรพร้อมนำไปชงดื่มไม่ว่าจะเป็นมะตูมอบน้ำผึ้งบรรจุซองเกสรดอกคำฝอยบรรจุซอง รวมทั้งเห็ดหลินจือบรรจุซองที่ร่ำลือกันว่าสามารถรักษามะเร็งได้ที่จะตามออกมาในเร็ว ๆ นี้ หรือล่าสุด คือน้ำผึ้งพร้อมดื่มผสมสมุนไพรบรรจุกระป๋องล้วนแล้วแต่เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของเขาทั้งสิ้น วสันต์กล่าวถึงแนวทางการนำสมุนไพรมาพัฒนาเป็นสินค้าสำเร็จรูปในอนาคตว่า จะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ในรูปของอาหารเสริม เครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งเครื่องสำอางโดยมีเป้าหมายที่จะออกสินค้าใหม่อย่างต่ำ 3-4 ตัวในแต่ละปี ทั้งนี้นอกจากเพื่อลดต้นทุนการจัดจำหน่าย เพราะเวชพงศ์ มาร์เก็ตติ้ง บริษัทจัดจำหน่าย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีทีมขายและมีจุดขายประมาณ 3,000-4,000 จุดทั่วประเทศ ยังเป็นการฉกฉวยโอกาสที่กระแสความนิยมสมุนไพรทวีความเข้มข้นในหมู่ผู้บริโภคคนไทยรุ่นใหม่เพื่อสร้างตลาดนี้ให้เติบโต เพราะ "วสันต์" ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลเวชพงศาหวังว่ากลิ่นสาบสมุนไพร ที่เขาคุ้นเคยมาแต่เล็ก จะแพร่กระจายมากขึ้นในสังคมไทยที่กำลังวิ่งตามเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง

กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.