|
ทัวร์เทคโนโลยี ระดับไฮคลาสเมื่อเลขาฯไอบีเอ็มกลายเป็นนางฟ้าติดปีก
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)
กลับสู่หน้าหลัก
อาชีพเลขานุการ โอกาสจะเติบโตไปเป็นผู้บริหารระดับสูงคงทำได้ยากอย่างมากก็ไต่เต้าจากเลขานุการของผู้บริหารระดับเล็ก ๆ ไปเป็นระดับใหญ่ขึ้น หรือขยับไปเป็นเลขานุการของฝ่ายหรือแผนก" เสียงสะท้อนของคนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงจุดสูงสุดของวิชาชีพเลขานุการ
แต่ในยุคปัจจุบัน หนทางของวิชาชีพของเลขานุการดูเหมือนจะไม่ได้ตีบตันอีกต่อไป เลขานุการของผู้บริหารหลาย ๆ คน เริ่มใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ที่ได้มาก่อร่างสร้างตัวจนมีธุรกิจของตัวเอง เช่นกรณีของ "จินตนา สุเมธวานิชย์" อดีตเลขานุการบริหาร ฝ่ายการตลาดธุรกิจการเงินและการธนาคาร บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย ที่มีโอกาสสร้างธุรกิจที่เรียกว่า "ทัวร์เทคโนโลยี" สำหรับลูกค้าที่เป็นผู้บริหารระดับสูง มาจากประสบการณ์การเป็นเลขานุการ
จินตนา นับเป็นหนึ่งในพนักงานกว่าร้อยคนในไอบีเอ็ม ประเทศไทย ที่ยื่นใบลาออกโดยสมัครใจ ตามโปรแกรม VOLUNTARY TRANSITION PROGRAM อันเป็นนโยบายรัดเข็มขัดของยักษ์สีฟ้า
เธอใช้ชีวิตการเป็นเลขานุการบริหาร ฝ่ายการตลาดธุรกิจการเงินและการธนาคารมาเป็นเวลาเกือบ 6 ปี ให้กับเจ้านายที่ผลัดเปลี่ยนกันมาถึง 4 คน และในปัจจุบันเจ้านายของเธอเหล่านี้ ก็ได้สร้างชื่อเสียงอยู่ในแวดวงธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ
ศุภกิจ ทองเจือ เจ้านายคนแรกในไอบีเอ็ม ตามมาด้วยพัลลภ นาคพิทักษ์ ซึ่งปัจจุบันนั่งเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่บริษัทล็อกซบิท เครือของล็อกซเล่ย์ ทำธุรกิจวางระบบคอมพิวเตอร์ให้กับลูกค้าในกลุ่มธนาคาร ตามมาด้วยสมประสงค์ บุญยะชัย ลาออกมาร่วมงานกับกลุ่มชินวัตร และนั่งเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส) ส่วนวนารักษ์ เอกชัย ก็ได้รับการ โปรโมตให้เป็นกรรมการผู้จัดการ ไอบีเอ็ม ประเทศไทยคนปัจจุบัน
แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมองว่าอาชีพเลขานุการของเธอจะไม่มีโอกาสก้าวหน้า อย่างมากก็เป็นเพียงแค่เลขานุการอาวุโส แต่สำหรับจินตนาแล้ว เธอกลับมองว่าประสบการณ์ที่บ่มเพาะมาถึง 6 ปีนั้นสำคัญยิ่งกว่าตำแหน่งงาน เพราะนอกจากโอกาสรู้จักผู้บริหารระดับสูงเป็นจำนวนมากแล้ว เธอยังได้เรียนรู้เคล็ดลับในการตลาดจากบรรดานักการตลาดเหล่านี้ อันเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลในวันข้างหน้า
แต่เมื่อเธอตั้งครรภ์ ทำให้ต้องการมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น จินตนาจึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาทำธุรกิจส่วนตัว ประจวบเหมาะกับไอบีเอ็มออกโปรแกรมให้พนักงานลาออกได้โดยสมัครใจพอดี เธอจึงยื่นใบลาออกมาพร้อม ๆ กับเพื่อนร่วมงานอีกหลายคน
"ในเวลานั้น ก็มาดูว่าจะทำธุรกิจอะไรได้บ้างที่มีคู่แข่งไม่มาก ก็พบว่ามีเรื่องธุรกิจเดินทางไปดูงานทางด้านเทคโนโลยี แม้ว่าบริษัททัวร์จะมีอยู่เยอะ แต่ที่เจาะลูกค้าที่เป็นผู้บริหารระดับสูงแล้วมีอยู่น้อยมาก เพราะต้องอาศัยทักษะ และประสบการณ์ที่ดีมาถึงจะทำได้ ดังนั้นคู่แข่งใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาคงทำไม่ได้ง่าย ๆ" จินตนาเล่า
วันที่ 1 กันยายน 2536 บริษัททราเวลเทคโนโลยี เซอร์วิส จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อประกอบธุรกิจพาลูกค้าที่เป็นผู้บริหารระดับสูงเดินทางไปดูงานแสดงสินค้าและสัมมนาทางด้านเทคโนโลยีในต่างประเทศ รวมทั้งการรับจัดพาลูกค้าไปประชุมหรือดูงานในต่างประเทศ
จินตนา ยอมรับว่า วิชาชีพเลขานุการเป็นประโยชน์กับเธออย่างมาก ในการทำธุรกิจทัวร์เทคโนโลยีสำหรับผู้บริหารระดับสูง หรือเอ็กเซ็กคูทีฟทัวร์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการหาลูกค้า ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากเจ้านายเก่า และผู้บริหารระดับสูงของธนาคารต่าง ๆ ที่เคยติดต่อเป็นประจำในช่วงที่ทำงานในไอบีเอ็ม
งานชิ้นแรกของทราเวลเทคโนโลยี จึงเป็นผลพวงจากประสบการณ์ที่ได้มาจากการเป็นเลขานุการอย่างแท้จริง จินตนาได้รับเลือกให้จัดพาลูกค้าระดับ CHIEF INFORMATION OFFICER (CIO) ของไอบีเอ็ม ประเทศไทย ประมาณ 20 คน เดินทางไปดูงานทางด้านเทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 10 วัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริหารระดับสูงจากธนาคารต่าง ๆ เช่น วิชิต อมรวิรัตน์สกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานเทคโนโลยี ธนาคารไทยพาณิชย์
ภารกิจที่เธอได้รับจากไอบีเอ็ม คือจะต้องจัดทำโปรแกรมการเดินทาง จองสายการบิน จัดเตรียมโรงแรม ร้านอาหาร รถรับส่ง แต่ที่สำคัญทุกอย่างจะต้องทำในระดับ "ชั้นหนึ่ง" ทั้งสิ้น ซึ่งไอบีเอ็มให้เวลาในการเตรียมงานเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น
"งานประเภทนี้ มองดูแล้วเหมือนง่าย แต่หากทำให้ดีจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นประสบการณ์ที่แล้วมาช่วยได้อย่างมาก"
เมื่องานแรกผ่านพ้นไปได้ด้วยดีงานชิ้นที่สองก็ตามมา เมื่อไอบีเอ็ม สิงคโปร์ จัดงาน ไอบีเอ็ม เอเชีย แปซิฟิก โรดโชว์ คือการนำเทคโนโลยี เกี่ยวกับระบบการเบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ นำมาแสดงให้กับบรรดาลูกค้าธนาคารในไทย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีของไอบีเอ็ม ทราเวลเทค ของจินตนาก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดงานอีกครั้ง
เมื่อหมดงานไอบีเอ็ม จินตนาเริ่มจัดทัวร์เทคโนโลยีสำหรับผู้บริหารระดับสูง ตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ โดยประเดิมงานแรก ณ เมืองแฮนโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี มีชื่อว่า CEBIT ซึ่งเป็นงานแสดง สินค้าด้านเทคโนโลยีชั้นนำงานหนึ่งของยุโรป
ผู้ร่วมเดินทางไปกับจินตนา ล้วนแต่เป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารและมีบางส่วนที่เป็นผู้บริหารของบริษัทโทรคมนาคม และคอมพิวเตอร์ของไทย รวมแล้วประมาณ 20 คน อาทิ ธีระ อภัยวงศ์ จากธนาคารกรุงเทพและผู้บริหารงานธนาคารไทยทนุ ธนาคารทหารไทย นาถ ลิ่วเจริญ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มซีดีจีกรุ๊ป และผู้บริหารของไอบีเอ็ม
"ราคาบริการของเรา จะเป็นการกำหนดลูกค้า เพราะเราจะจองเที่ยวบิน โรงแรม ภัตตาคาร ระดับเฟิรสท์คลาสทั้งหมด ดังนั้นลูกค้าที่เดินทางไปกับเราจะเป็นผู้บริหารระดับสูงทั้งหมด"
แน่นอนว่า ประสบการณ์ในวิชาชีพเลขานุการในไอบีเอ็มช่วยเธอได้อย่างมากทีเดียว เพราะลูกค้าของจินตนาส่วนใหญ่ ล้วนคุ้นเคยกับเธอมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะลูกค้าทางด้านธนาคาร
งานชิ้นสำคัญของเธอในปีนี้ คืองาน TELECOM' 95 ณ กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่ในวันที่ 3-11 ตุลาคม เรียกว่าเป็นงานยักษ์ของคนในวงการโทรคมนาคมที่ต้องเฝ้ารอ เพราะ 4 ปี จะจัดขึ้นเพียงครั้งเดียว
ในวันนี้เธอมีลูกค้าที่ตอบรับมาแล้วประมาณ 150 คน แบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ล้วนเป็นผู้บริหารในวงการโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทยแทบทั้งสิ้นเรียกว่าเมื่อเอ่ยนามบริษัทต้นสังกัดแล้วทุกคนต้องรู้จักกันเป็นอย่างดี
จินตนาเล่าว่า แม้ว่างานส่วนใหญ่ของเธอจะไม่จำเป็นต้องใช้คนมากเพราะเธอจะเป็นผู้วางแผนงานทั้งหมด ทั้งในเรื่องการหาลูกค้า และจัดตาราง จองตั๋วเครื่องบิน หรือจองโรงแรมที่พัก และจะจ้างไกด์ทัวร์ในประเทศเหล่านั้นเป็นผู้ให้บริการลูกค้า ในช่วงเริ่มต้นกิจการเธอมีพนักงานร่วมทีมเพียงแค่ 2-3 คนเท่านั้น แต่ทุกวันนี้จินตนาต้องเพิ่มพนักงานอีก 6-7 คน เพื่อรองรับกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นเกินความคาดหมาย
แม้งานจะเดินไปด้วยดี แต่ใช่ว่าอุปสรรคจะไม่มี เพราะความที่เป็นบริษัททัวร์หน้าใหม่ จินตนา เล่าว่า ในคราวที่ต้องติดต่อกับสายการบินเพื่อจองที่นั่งเฟิร์สท์คลาส สายการบินบางแห่งถามเธอว่ามีลูกค้าไปด้วยแน่หรือ หรือบางแอร์ไลน์จะส่งคนดูว่าที่สถานที่ทำงานของทราเวลเทคว่ามีจริงหรือไม่
แต่สำหรับอดีตเลขานุการอย่างจินตนาแล้ว เธอเชื่อหวังไว้ว่าทราเวลเทคโนโลยี คงจะสามารถสร้างมิติใหม่ให้กับธุรกิจทัวร์ได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|