|
มรกตกับการกลับมาเพื่อบดขยี้ของอัศวานนท์
โดย
เดือนเพ็ญ ลิ้มศรีตระกูล
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)
กลับสู่หน้าหลัก
14 ปีใน "มรกต" ของ "อัศวานนท์" ต้องสิ้นสุดลงพร้อมกับการก้าวเข้ามาของ "อัดนัน คาช็อกกี" แต่บทสรุปของตลาดน้ำมันพืชยังไม่จบ "ศุภลักษณ์ อัศวานนท์" กลับมาอีกครั้งอย่างรวดเร็วในโฉมหน้าใหม่ อาวุธตัวใหม่ พร้อมกับความเชื่อมั่นที่จะบดขยี้สิ่งที่เคยสร้างมากับมือ!
ความเชื่อของคนตะวันตกที่ว่า "ชีวิตผู้ชายเริ่มต้นเมื่อวัย 40" ดูเหมือนจะตรงกับชีวิตของ "ศุภลักษณ์ อัศวานนท์" อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท มรกต อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) เสียจริง ๆ เมื่อกลุ่มอัศวานนท์ ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ 52.14% ในบริษัท มรกตฯให้กับกลุ่ม "อัดนัน คาช็อกกี" มหาเศรษฐีชาวซาอุดีอาระเบียไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
การขายหุ้นครั้งนี้นอกจากจะเป็นจุดพลิกผันสำคัญของบริษัทมรกตฯ ที่ต้องเปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การบริหารงานของผู้ถือหุ้นใหม่แล้ว ยังเป็นจุดพลิกผันสำคัญของศุภลักษณ์ด้วยเช่นกัน เพราะแทนที่จะได้เป็นผู้บริหารกิจการที่มีความมั่นคงและอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว กลับต้องมาเริ่มต้นสร้างบ้านใหม่อีกครั้ง แม้จะได้ใช้ประสบการณ์นาน 14 ปีจากการสร้างบ้านหลังเก่ามาช่วยด้วยก็ตาม แต่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างแตกต่างกัน การเริ่มต้นครั้งใหม่จึงนับเป็นบทพิสูจน์ฝีมือครั้งสำคัญของชายวัย 40 ปีผู้นี้
อัดนัน คาช็อกกี มาพร้อมกับเงินและความก้าวร้าว
ชื่อของ "อัดนัน คาช็อกกี" เริ่มเป็นที่รู้จักของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย เมื่อปลายปี 2537 ที่ผ่านมา โดยมีราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษาธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การเป็นร่างทรงให้เขาในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน
ก่อนการเทคโอเวอร์บริษัท มรกต อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2538 เม็ดเงินจากกระเป๋าของอัดนัน คาช็อกกีได้เคยสร้างความเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาก่อนหน้านี้อย่างน้อย 2 บริษัท แต่ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่ ฮือฮาเท่าครั้งนี้
อัดนัน คาช็อกกีเริ่มธุรกิจในประเทศไทยด้วยการซื้อหุ้นบริษัท เซมิคอนดักเตอร์ เวนเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากนายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ และบริษัท เพรสซิเดนท์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด เป็นจำนวน 12.8 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 50 บาท มูลค่าทั้งสิ้น 640.22 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% ของหุ้นทั้งหมด
ซื้อหุ้นในบริษัท ชลประทานซีเมนต์ จากบริษัท แอตแพค และบริษัท ซีลาร์ จำนวน 9,882,874 หุ้น ราคาหุ้นละ 200 บาท คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,976.57 ล้านบาท หรือ 21.7% ของหุ้นทั้งหมด
อย่างไรก็ดีการซื้อหุ้นในมรกตอินดัสตรี้ส์ ให้ผลที่ค่อนข้างแตกต่างจาก 2 ครั้งก่อน เพราะการซื้อหุ้นครั้งนี้ ทำให้กลุ่มของคาช็อกกี กลายเป็นผู้ถือหุ้นมากถึง 99.65% หรือ 9,965,300 หุ้น โดยเป็นการซื้อมาจากกลุ่มอัศวานนท์ จำนวน 5,214,020 หุ้น และซื้อจากกลุ่มนายสรอรรถ กลิ่นประทุมและนายชูชาติ หาญสวัสดิ์รวม 4,723,980 หุ้น ในราคาหุ้นละ 280 บาท หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2,800 ล้านบาท นับเป็นการลงทุนมากที่สุดของคาช็อกกีในตลาดหุ้นไทย
การลงทุนครั้งนี้เป็นการพลิกโฉมมรกต อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) จากบริษัทมหาชนมาเป็นบริษัทที่มีเจ้าของคนเดียวในพริบตา ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ให้เวลา 2 ปี สำหรับการกระจายหุ้นออกไปตามกฎเกณฑ์การเป็นบริษัทมหาชน
เดิมนั้นบริษัทมรกต หรือบริษัทไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2524 จากการร่วมทุนของอนุตร์ อัศวานนท์ อภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ และกลุ่มปาล์มโก้ ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มของ มาเลเซีย ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 16 ล้านบาท เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ ปี 2534 พร้อมกับเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 100 ล้านบาท
ช่วงก่อนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัท มรกตฯ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นครั้งแรก จากการถอนตัวออกไปของกลุ่มปาล์มโก้ โดยกลุ่มปาล์มโก้ขายหุ้นที่ถืออยู่ 39.3% ให้กับนายวณิช ไชยวรรณ ประธานกรรมการบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และนายสรสินธุ ไตรจักรภพ ประธานกรรมการ บริษัทศรีเทพไทย จำกัด
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2536 เมื่อนายวานิช นายสรสินธุและวิชัย นิเวศน์ ปฐมวัฒน์เทขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ประมาณ 40% ของทุนจดทะเบียนให้กับ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม และนายชูชาติ หาญสวัสดิ์ นักการเมืองพรรคชาติไทย
โดยกลุ่มผู้ขายหุ้นให้เหตุผลในการถอนตัวว่า เมื่อไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทในการบริหารงานที่นายศุภลักษณ์ครอบงำอยู่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะถือหุ้นต่อ
ทั้ง ๆ ที่ในช่วงของการเป็นพันมิตรกันนั้น ด้วยฝีมือการบริหารของฝ่ายอัศวานนท์ ที่ทำให้มรกตสามารถครองตลาดน้ำมันพืชได้สูงสุดถึง 25% ของมูลค่าตลาด 7,000 ล้านบาท รวมทั้งยังเป็นผู้นำฝ่ายน้ำมันปาล์มในการต่อสู้กับน้ำมันพืชถั่วเหลืองที่มี "องุ่น" เป็นฝ่ายรุกอย่างถึงพริกถึงขิง
แต่เมื่อกลุ่มนายสรอรรถและนายชูชาติตัดสินใจขายหุ้น 47.24% ที่ถืออยู่ให้กับอัดนัน คาช็อกกีไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตระกูลอัศวานนท์จึงตัดสินใจเทขายหุ้น 52.14% ออกไปเช่นกัน
ทำไมตระกูลอัศวานนท์ จึงตัดสินใจทิ้งมรกต?
นายศุภลักษณ์ อัศวานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มรกต อินดัสตรีส์กล่าวถึงสาเหตุที่กลุ่ม อัศวานนท์ขายหุ้นทั้งหมดทิ้งอย่างเป็นทางการว่า เนื่องมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือราคาที่กลุ่มผู้ซื้อเสนอให้ที่ 280 บาท เป็นราคาที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานต่อหรือกำไรที่ได้จากช่วงที่ผ่านมา
เหตุผลรองก็คือ เพราะเขาเชื่อว่าผู้ซื้อจะนำพาบริษัทให้ก้าวไปสู่ธุรกิจการเกษตรระดับสากล โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางธุรกิจแต่ละด้านของอัดนัน คาช็อกกีช่วยผลักดันให้มรกตทำธุรกิจส่งออกไปยังต่างประเทศได้
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการเทขายหุ้นจำนวน 47.24% ของกลุ่มนายสรอรรถ กลิ่นประทุมและนายชูชาติ หาญสวัสดิ์ให้นายอัดนัน คาช็อกกี ทำให้ศุภลักษณ์จำเป็นต้องขายหุ้นออกมา เพราะไม่ต้องการที่จะมีปัญหาในเรื่องอำนาจการบริหารงาน ซึ่งเคยเป็นปมขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นมรกตในยุคเริ่มต้นมาแล้ว
ว่ากันว่า ประเด็นหลังนับเป็นปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจ โดยเฉพาะศุภลักษณ์นั้นเบื่อหน่ายเต็มที่กับการบริหารงานที่ต้องมีฝ่ายอื่นคานอำนาจ ไม่มีอำนาจในการตัดสินเต็มที่
แล้วยิ่งอัดนัน คาช็อกกีเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่จากต่างชาติ ที่อาจจะไม่รู้เรื่องตลาดน้ำมันพืชเลย จะเข้าใจได้อย่างไรกับการทุ่มเทงบประมาณมหาศาลเพื่อป้องกันส่วนแบ่งตลาดและรุกไปข้างหน้า
"ศุภลักษณ์" ไม่อยากผิดพลาดครั้งสอง ที่เคยได้รับบทเรียนจากกลุ่มไชยวรรณ ดังนั้น 14 ปี ใน "มรกต" ของอัศวานนท์จึงต้องสิ้นสุดลง
ศุภลักษณ์ อัศวานนท์ แผนตลบหลังบนสังเวียนเดิม
ภายหลังการขายหุ้นทิ้งของกลุ่มอัศวานนท์ประมาณ 1 เดือน นายศุภลักษณ์ อัศวานนท์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท ได้ยื่นจดหมายลาออกจากการเป็นผู้บริหารของบริษัท ผลที่ติดตามมาก็คือ พนักงานจำนวนประมาณ 30% ของมรกต ได้ยื่นจดหมายลาออกตลาดนายศุภลักษณ์ไปด้วย
แม้ว่าศุภลักษณ์จะออกมาจากมรกตด้วยท่าทีเป็นมิตรและยินยอมพร้อมใจ แต่สิ่งที่ศุภลักษณ์จะทำต่อไป ดูเหมือนว่าจะเก็บความแค้นลึก ๆ ไว้ในใจ และพร้อมที่จะกลับไปขึ้นสังเวียนใหม่
ศุภลักษณ์และพรรคพวกหันมาสร้างบริษัท ไทย-ชาญวิทย์ การค้า จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเก่าที่กลุ่มอัศวานนท์ก่อตั้งมานานแล้ว แต่มิได้ทำธุรกิจอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
นายเพิ่มเกียรติ บุญอำนวย อดีตผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท มรกต อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งติดตามนายศุภลักษณ์มานั่งตำแหน่งเดียวกันที่ไทย-ชาญวิทย์ การค้า กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่ารวมแล้วมีพนักงานเก่าจากทุกแผนกของมรกตลาออกตามนายศุภลักษณ์มา 100 กว่าคน จากจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 400 คน โดยเฉพาะแผนกการตลาดและแผนกขาย ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจติดตามมาด้วยเกือบ 100% กล่าวคือ แผนกการตลาดลาออกทั้งแผนก ฝ่ายขายลาออกประมาณ 90% นอกจากนี้ยังมีฝ่ายโรงงานติดตามมาด้วยอีกจำนวนหนึ่ง
ผู้บริหารคนสำคัญที่ร่วมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้มรกตที่ลาออกมา พร้อมนายศุภลักษณ์นอกจากนายเพิ่มเกียรติแล้ว ประกอบด้วย นายโกวิท พรพัฒนนางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็น หัวใจสำคัญของการบริหารงานโรงงานและวัตถุดิบ นายสมชัย มะยุระสาคร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้จัดการโรงงาน นายเอกรินทร์ กฤษณยรรยง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้จัดการฝ่ายขาย นายวิจัย ดิลกสัมพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการโรงงาน นางเพชรา บุญอำนวย ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน นายวิชชจุฑา ดิลกสัมพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายอำนวยการกลาง นางสาวนพพร ลิ้วธำรงค์ สฤษดิ์ หัวหน้าแผนกโฆษณาและส่งเสริมการขาย
"สาเหตุที่ทำให้พนักงานลาออกตามนายศุภลักษณ์มากเช่นนี้ ก็เพราะมีความผูกพันกันมานาน ประกอบกับคุณศุภลักษณ์มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ร่วมงาน ทำให้ทำงานด้วยแล้วสบายใจ การลาออกจากมรกตมาอยู่ ไทย-ชาญวิทย์ครั้งนี้ พวกเรารู้สึกว่าเป็นการย้ายจากบ้านเก่ามาอยู่เซฟเฮาส์ใหม่มากกว่า รู้สึกเป็นปกติมาก เพราะยังมีสินค้าให้จัดจำหน่ายเหมือนเดิม"
โดยทั้งหมดนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการก่อสร้างบริษัท ไทย-ชาญวิทย์ การค้า เช่นเดียวกับที่เคยเป็นกำลังสำคัญให้กับมรกต อินดัสตี้ส์ จากผู้ประกอบการหน้าใหม่เมื่อปี 2524 จนกระทั่งกลายมาเป็นผู้นำตลาดน้ำมันพืชในที่สุด ด้วยส่วนแบ่งตลาด 25% ของตลาดน้ำมันรวม หรือ 35% ของตลาดน้ำมันปาล์ม
สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจของไทย-ชาญวิทย์ การค้านั้น แม้ว่าวิถีทางการเริ่มต้นจะสวนทางกับมรกต อินดัสตรี้ส์อยู่บ้าง แต่ถ้าพิจารณาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ไทย-ชาญวิทย์ การค้านี่แหละที่จะเป็นคู่ต่อสู้โดยตรงของมรกตในอนาคตอันใกล้
ไทย-ชาญวิทย์ การค้า เริ่มต้นธุรกิจอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยบทบาททางธุรกิจของบริษัทในช่วงนี้คือ การเป็นผู้แทนจำหน่ายให้กับผู้ผลิตอาหาร 3 บริษัท เริ่มจากผลิตภัณฑ์ตรา "รอยัล" ของบริษัท เสรีวัฒน์ จำกัด ที่ประกอบไปด้วย มักกะโรนี เส้นสปาเก็ตตี้ แป้งทำขนม สีและกลิ่นผสมอาหาร ซึ่งเดิมเสรีวัฒน์เคยให้มรกตเป็นผู้แทนจำหน่ายให้นานประมาณ 5 ปี และโอนย้ายตามศุภลักษณ์มาอยู่กับไทย-ชาญวิทย์ฯ
สินค้าตัวที่สองคือ ซอสพริกศรีราชา ตราถนอมของบริษัท น้ำพริกแม่ถนอม จำกัด ซึ่งดำเนินการโดยเจนเนอเรชั่นที่สามของกลุ่มผู้ผลิตซอสพริกศรีราชา ตราศรีราชาพาณิชย์ ซึ่งในอดีตมรกตเคยเป็นผู้แทนจำหน่ายในช่วงก่อนการขายแบรนด์และโรงงานให้กับผู้อื่นไป
สำหรับสินค้าตัวล่าสุดที่เพิ่งวางตลาด เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม คือ น้ำปลาตรามณีทิพย์ ของโรงงานรุ่งเรืองน้ำปลาไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นอกจากสินค้า 3 ตัวดังกล่าวมาแล้ว นายเพิ่มเกียรติกล่าวว่า ในเดือนสิงหาคม บริษัทจะได้เป็นผู้แทนจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงเพิ่มขึ้นอีกตัวหนึ่ง และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีสินค้าให้จัดจำหน่ายเพิ่มอีก 2-3 ตัว ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมด
อย่างไรก็ดี การเป็นตัวแทนจำหน่ายเป็นเพียงการเริ่มต้นธุรกิจของไทย-ชาญวิทย์ เพื่อให้มีงานและเงินหล่อเลี้ยงพนักงานเอาไว้เท่านั้น เพราะเป้าหมายสำคัญของบริษัทที่กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการอย่างขะมักเขม้นก็คือ การทำตลาดน้ำมันปาล์มอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง
"ตอนนี้ยังไม่มีการสรุปแน่นอน 100% ว่าเราจะทำน้ำมันปาล์มออกมาจำหน่ายอีกหรือไม่ แต่เท่าที่ดูแนวโน้มแล้วโอกาสเป็นไปได้มีสูง เพราะตลาดนี้เป็นตลาดที่เราชำนาญมาก" คำตอบของเพิ่มเกียรติที่ดูเหมือนแบ่งรับแบ่งสู้เช่นนี้ มีน้ำหนักว่าเป็นไปได้มากกว่า เพียงแต่ต้องรอเวลาอีกนิด จึงจะสามารถเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงได้
เพราะเท่าที่ทราบศุภลักษณ์ได้เตรียมการต่อสู้เอาไว้เรียบร้อยแล้วหลังจากตัดสินใจขายหุ้น ก่อนที่เขาจะลาออกจากมรกตด้วยซ้ำ
เอบิโก สะพานเชื่อมก่อนหวนตลาด
จากการสืบทราบของ "ผู้จัดการ" พบว่า ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาบริษัท ไทย-ชาญวิทย์ การค้าของศุภลักษณ์ได้เริ่มทำตลาดน้ำมันปาล์มบรรจุปี๊บในชื่อใหม่ว่า "โอลีน" แล้ว และคาดว่าในปลายเดือนกรกฎาคมหรือต้นเดือนสิงหาคมน้ำมัน "โอลีน" บรรจุขวดก็จะตามออกมาติด ๆ
สำหรับสาเหตุที่ศุภลักษณ์ออกน้ำมันได้เร็วขนาดนี้ เพราะเป็นการว่าจ้างให้บริษัท กลั่นน้ำมันบริสุทธิ์ จำกัด (PROCO) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเอบิโก้ โฮลดิ้งส์ ผลิตให้ โดยมีการเซ็นสัญญาว่าจ้างให้ผลิตนานประมาณ 2 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เพียงพอสำหรับการตั้งโรงกลั่นของตัวเองแห่งใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งถ้าต้องการ
ศุภลักษณ์ไม่เพียงแต่โชคดีที่ได้ PROCO เป็นผู้ผลิตน้ำมันให้ทันท่วงทีเท่านั้น เขายังโชคดีที่ได้เป็นผู้สานต่อแผนการตลาดน้ำมันปาล์มที่ PROCO ใช้เวลาเตรียมการมานาน 2 ปี เพื่อใช้สำหรับสร้างตลาดน้ำมันปาล์มของบริษัท ที่จะผลิตออกมาเป็นน้ำมันปี๊บและน้ำมันขวด ให้บริษัท เอบิโก้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ทำตลาดให้ เพราะขณะนี้กลุ่มเอบิโก้ได้ตัดสินใจยุติแผนการทำตลาดน้ำมันขวดไว้ชั่วคราวแล้ว (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ)
แหล่งข่าวจาก PROCO เปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า บริษัทได้ทำวิจัยทางการตลาดไม่ว่าจะเป็นการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคทัศนคติผู้บริโภคในการใช้น้ำมัน รวมถึงมีการวางคอนเซ็ปต์ในการทำงาน วางจุดขายของสินค้า การดีไซน์แพ็กเกจจิ้ง ออกแบบขวดเป็นขวดสี่เหลี่ยมผืนผ้า พร้อมฝาจุกดับเบิล ล็อกไว้เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งยังอยู่ระหว่างให้บริษัท ดีดีบี นีดแฮมวางแผนการโฆษณาให้อีกด้วย โดยหมดเงินไปแล้วทั้งสิ้น 8 แสนบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ยกให้ไทย-ชาญวิทย์นำไปสานต่อได้เลย
ในส่วนของการผลิตนั้น กำลังการผลิตของ PROCO ประมาณ 60% ของกำลังการผลิตรวม 60,000 เมตริกตัน จะผลิตให้กับ "โอลีน" โดยในส่วนของน้ำมันขวด ช่วงต้นจะผลิตประมาณ 50,000 หีบต่อปี แต่คาดว่าในช่วง 2 ปี ข้างหน้าจะเพิ่มไปถึงเกือบ 200,000 หีบ
มรกต ปัญหาอยู่ที่คาช็อกกี
ตำนานความสำเร็จของน้ำมันปาล์มตรา "มรกต" ซึ่งศุภลักษณ์และทีมงานใช้ระยะเวลาในการก่อร่างสร้างตัวนาน 14 ปี เริ่มจากส่วนแบ่งการตลาดไม่ถึง 5% ขยับมาเป็น 25% ของตลาดน้ำมันพืชภายในประเทศ มูลค่า 7,000 บาท ในปัจจุบัน กำลังเป็นที่สงสัยว่าอาจจะต้องกลายเป็นอดีตในที่สุด ทั้งนี้เพราะกำลังมีปัญหาว่าใครจะเข้ามาสานต่อ
แหล่งข่าวบริษัท มรกต อินดัสตรี้ส์ จำกัด เปิดเผย "ผู้จัดการ" ว่า ขณะนี้ (กลางเดือนกรกฎาคม) บริษัทอยู่ระหว่างการรับสมัครผู้จัดการฝ่ายการตลาด และผู้จัดการฝ่ายขายอย่างเร่งด่วน เพื่อมารับช่วงการบริหารการขายและการทำตลาดต่อไป โดยในช่วงที่ยังไม่มีผู้รับผิดชอบโดยตรง บริษัทก็ยังทำตลาดและขายต่อเนื่อง โดยอาศัยพนักงานฝ่ายขายและฝ่ายอื่น ๆ ที่เหลืออยู่เป็นกลไกขับเคลื่อน แม้จะไม่ราบรื่นนักแต่ก็ไม่ทำให้การทำตลาดสินค้าสะดุดลงอย่างสิ้นเชิง
สำหรับผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทนนายศุภลักษณ์ในช่วงนี้คือ นางสุนันทา หาญวรเกียรติ ซึ่งเคยมีประสบการณ์ด้านเรียลเอสเตทมาก่อน แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเป็นการรับตำแหน่งชั่วคราวหรือถาวร นอกจากนี้ยังมีนางจารุนันท์ รุจนรงค์เข้ามาดูแลรักษาการแทนผู้จัดการฝ่ายการตลาด ในช่วงของการเฟ้นหาผู้จัดการฝ่ายการตลาด และผู้จัดการฝ่ายขายดังกล่าวมาแล้ว
นายสมชาย นานาศรีรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายขายและพัฒนาธุรกิจ บริษัท ยูไนเต็ดแฟต แอนด์ ออยส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันพืช "แวว" ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้จัดการเขตต่างจังหวัดของน้ำมันพืชมรกตอยู่นาน 7-8 ปี ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า การเปลี่ยนแปลงทีมบริหารในบริษัทมรกตครั้งนี้มีผลกระทบต่อตลาดน้ำมันพืชมรกตอย่างแน่นอน เพราะทีมงานเก่าของมรกตเป็นทีมงานที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ในการทำตลาดน้ำมันพืชมานาน
อย่างไรก็ดีผลกระทบจะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ คือความรวดเร็วในการสรรหาผู้บริหารและทีมงานที่มารับช่วงต่อ รวมถึงประสบการณ์ของผู้บริหารชุดใหม่ เพราะตลาดน้ำมันพืชเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาก หากได้ผู้บริหารที่ไม่มีประสบการณ์ในตลาดน้ำมันพืชโดยตรง โอกาสที่ส่วนแบ่งทางการตลาดของน้ำมันพืชมรกตจะถูกเบียดจากคู่แข่งอย่างหยก พาโมล่า พลอยและแววเป็นไปได้สูงมาก
"เท่าที่ตรวจสอบจากร้านค้า พบว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายนซึ่งเป็นช่วงที่ทีมเก่าลาออก มรกตส่งของให้ลูกค้าน้อยลง และบางร้านก็ไม่ได้รับสินค้าไปเลย ซึ่งทำให้ตลาดเกิดช่องว่างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของตลาดอุตสาหกรรม มรกตถูกแย่งแชร์ไปมากกว่าน้ำมันบรรจุขวด เพราะไม่มีผู้บริหารงานที่มีประสบการณ์ ประกอบกับเป็นตลาดที่ผู้ใช้ไม่มีความภักดีในตราสินค้า สามารถใช้น้ำมันยี่ห้ออื่นทดแทนได้ เมื่อน้ำมันตัวหนึ่งขาดแคลน อย่างแววเองก็เริ่มได้แชร์จากมรกตมาบ้างแล้ว ประมาณ 10-20% เช่นเดียวกับหยก พาโมล่า พลอยที่เข้าไปแชร์ส่วนแบ่งของมรกตได้เช่นกัน"
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ผู้เชี่ยวชาญตลาดน้ำมันพืชคนหนึ่งกล่าวว่า มีสาเหตุเนื่องมาจากการลดกิจกรรมทางการตลาด และการผลิตของผู้บริหารชุดเดิม ภายหลังจากการตัดสินใจขายหุ้นไปแล้ว เพื่อรอทีมบริหารของผู้ถือหุ้นใหม่มารับช่วงงานต่อ โดยส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ด้านการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อจะได้จัดหาวัตถุดิบที่จะต้องใช้ไว้ก่อน
"ช่วงขายหุ้นกลุ่มผู้บริหารเดิมก็ไม่กล้าทำอะไร เพราะอาจจะเสี่ยงกับการเกิดปัญหา จึงชะลอกิจกรรมทั้งหมด ซึ่งมันมาส่งผลกระทบมากกับมรกตในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องจำนวนสินค้าที่จะวางจำหน่าย จริงอยู่ตอนนี้อาจจะดูไม่ออกว่าสินค้าขาดตลาด เพราะเขาพยายามให้มีของขายในจุดที่เป็นการสร้างภาพพจน์ของสินค้า แต่ส่วนอื่นที่ไม่ใช่จุดที่จำเป็นต้องรักษาภาพพจน์ ของก็ขาดซึ่งคู่แข่งอื่น ๆ ก็ได้แชร์ไป และเป็นเรื่องยากที่มรกตจะดึงแชร์กลับคืนมาได้อีก"
ดังนั้น เมื่อดูตามสภาพการณ์แล้วจะพบว่า สถานการณ์ของมรกตในปีนี้ดูจะลำบากไม่น้อย สิ่งที่ต้องจับตาก็คือทีมผู้บริหารที่จะเข้ามาสานงานต่อนั้นมาจากไหน เพราะหากได้คนที่มีประสบการณ์ในวงการน้ำมันมาคงสามารถประคับประคองไปได้ แต่ถ้าไม่มีประสบการณ์คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวระยะหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกที่จะมีข่าวคราวการพยายามดึงตัวคนในวงการน้ำมันของมรกตออกมาเป็นระยะในช่วงนี้
"งานนี้มรกตแย่แน่ และจะแย่เพราะโอลีนนี่แหละ"
คำกล่าวนี้จะเป็นจริงหรือไม่ คงต้องรอดูว่าส่วนแบ่งการตลาดของน้ำมันมรกต 30% ในตลาดรวมน้ำมันปาล์มบรรจุขวด 550,000 หีบเมื่อปี 2537 จะเหลือเท่าไรเมื่อสิ้นปี 2538
แต่ปัญหาสำคัญดูเหมือนว่าจะเป็นที่ตัวคาช็อกกีเองที่หลายฝ่ายยังไม่มั่นใจว่าเขาจะเอาจริงเอาจังกับ "มรกต" หรือตลาดหุ้นไทยเพียงใด หรือจะมาเพียงเก็บเกี่ยวกำไรชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
"ภาพพจน์การเป็นนักปั่นหุ้นของคาช็อกกี ผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้มรกตมีปัญหาในการดึงตัวทีมงานผู้บริหารพอสมควร เพราะส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในด้านความมั่นคงเกรงว่าหากคาช็อกกีเทขายหุ้นในมรกตออกมาอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทีมบริหารอีกครั้ง" แหล่งข่าวในวงการน้ำมันพืชอีกคนวิเคราะห์ให้ฟัง
พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มว่า ไม่มีใครในวงการยอมเชื่อเลยว่าคาช็อกกีอยากทำธุรกิจน้ำมันพืชถึงขนาดยอมซื้อมรกตในราคาตั้งเกือบ 2,800 ล้านบาท เพราะทุกคนรู้ดีว่าการขายน้ำมันพืชนั้นให้ผลกำไร ต่ำมาก ไม่รู้กี่ชาติถึงจะให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับเงินที่เขาลงไป
โอลีน การกลับมาอีกครั้งของ อัศวานนท์?
ด้านน้ำมันปาล์ม "โอลีน" สินค้าตัวใหม่ของศุภลักษณ์นั้น นายสมชายและแหล่งข่าวในวงการน้ำมันพืชอีกคนให้ความเห็นไปทำนองเดียวกันว่า มีโอกาสเกิดได้ค่อนข้างสูง เพราะนอกจากจะมีนายศุภลักษณ์ซึ่งเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการน้ำมันปาล์มมานาน 14 ปี เป็นผู้นำแล้ว เขายังได้มือดีด้านโรงงาน การตลาด การขายไปครบทีมอีกด้วย เพียงแต่ต้องรอเวลานิดหนึ่งในการออกสินค้า
และเท่าที่สืบทราบกลยุทธ์สำคัญประการหนึ่งที่ศุภลักษณ์จะนำมาใช้ในช่วงเริ่มต้นการทำตลาดก็คือ กลยุทธ์เรื่องราคา
"โอลีนจะเช็ตราคาขายจริงไว้สูง แต่ 6 เดือนแรกคงจะขายต่ำกว่าบรรดาแบรนด์ลีดเดอร์อยู่ประมาณ 5% ภายใน 1 ปี จึงจะขยับขึ้นมาขายเท่ากับบรรดาแบรนด์ลีดเดอร์ทั้งหลาย"
อย่างไรก็ดี แม้ว่านายศุภลักษณ์และทีมงานจะมีฝีมือ แต่การจะทำให้น้ำมันใหม่ประสบความสำเร็จจนถึงขนาดขึ้นมายืนอยู่ในตำแหน่งผู้นำการตลาดเช่นเดียวกับมรกตนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เหนื่อยไม่น้อย เพราะสถานการณ์ตลาดน้ำมันพืชขณะนี้แตกต่างจาก 10 ปี ก่อนที่มรกตเริ่มส่งน้ำมันขวดเข้าสู่ตลาด อันเป็นยุคเริ่มต้นของตลาดน้ำมันพืชในประเทศไทย จากเดิมที่ผู้บริโภคนิยมใช้น้ำมันจากสัตว์มากกว่า จึงยังไม่มีใครเป็นผู้นำตลาดอย่างจริงจัง มีเพียงกุ๊กและทิพเท่านั้นที่เป็นที่รู้จัก
ในขณะที่ตลาดน้ำมันพืชสมัยนี้มีคู่แข่งอยู่ในตลาดไม่ต่ำกว่า 10 ยี่ห้อ โดยเฉพาะในส่วนของ น้ำมันปาล์มเอง นอกจากมรกตแล้ว ยังมีน้ำมันหยก ของบริษัทล่ำสูง ครองส่วนแบ่งตลาด 25% แวว ของยูไนเต็ด แฟต แอนด์ ออยส์ ครองส่วนแบ่งตลาด 20-24% พลอย 20% และพาโมล่า 10%
นี่ยังไม่นับรวมถึงน้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันผสมอื่น ๆ อย่าง ตราองุ่น ทิพ กุ๊ก ศรทอง โดยแต่ละยี่ห้อก็พยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ขณะเดียวกันก็ยังพยายามช่วงชิงส่วนแบ่งจากคู่ต่อสู้ตลอดเวลา ด้วยวิธีการโฆษณา ส่งเสริมการขายและลดราคาสินค้าครบรูปแบบ ซึ่งเป็นวิธีที่ศุภลักษณ์เองเคยใช้มาแล้วกับมรกตอย่างได้ผล
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เส้นทางการสร้าง "โอลีน" ของศุภลักษณ์ลำบากมากขึ้น แต่เม็ดเงิน 1,500 ล้านบาท ที่เขาได้จากคาช็อกกี น่าจะมีส่วนขจัดปัดเป่าขวากหนามและทำให้อนาคตของศุภลักษณ์สดใสมากขึ้นแน่นอน
หลังสิ้นสุดยุคสงครามระหว่างน้ำมันพืชถั่วเหลืองที่มี "องุ่น" เป็นหัวหอก และน้ำมันพืชปาล์มที่มี "มรกต" เป็นแม่ทัพ นับแต่นี้จะเกิดสงครามยกใหม่ที่ไม่เพียงแต่ต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดเท่านั้น
แต่สงครามน้ำมันพืชครั้งนี้จะกลายเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีที่มีเรื่องของ "แค้นนี้ต้องชำระ" เป็นฉากหลังอีกด้วย !
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|