ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี แล้ว "นำจีเอฟ" กับ "นำไทย" จะไปทางไหน?


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นประเพณีทุก ๆ กลางปีและปลายปี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบงล. จีเอฟ จะโชว์เดี่ยวคาดการณ์แนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทย สำหรับครึ่งปีหลังของรอบปีนี้เป็นที่คาดว่าจะขยายตัว 8.5% ได้ถ้าหากรัฐบาลใหม่มีประสิทธิภาพในการบริหาร เพราะการที่ส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นตัวนำ และการใช้จ่ายในโครงการของรัฐบาลที่คั่งค้างจะมีความสำคัญสูง "ผมเป็นห่วงเรื่องนี้มากที่สุด ใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม อยากให้ประชาชนมีถนน น้ำ ไฟใช้รัฐบาลใหม่ต้องทำงานกับภาคราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมปฏิรูประบบงบประมาณ ทุกวันนี้รัฐบาลคุยว่ามี SURPLUS (เกินดุล) แต่จริง ๆ แล้วประชาชนมี INFRA-STRUCTURE DEFICIT ซึ่งน่าอึดอัดติดขัด ไปไหนไม่สะดวกเพราะรัฐบาลมีตังค์เหลือเยอะแต่ของไม่มีใช้ !" นี่คือปัญหาความวิตกกังวลของ ดร.ณรงค์ชัย ประเด็นคำถามของผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจจึงวนเวียนอยู่กับธุรกิจการเมืองหลังเลือกตั้ง โดยเฉพาะพรรคนำไทยซึ่งมีดร.ณรงค์ชัย เป็นที่ปรึกษาใหญ่อย่างเปิดเผย เห็นได้ชัดถึงการทุ่มเทตั้งวันแรกจนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งดร.ณรงค์ชัย เดินสายไปขอนแก่นช่วยหัวหน้าพรรค ดร.อำนวย วีรวรรณ กลับมาถึงกรุงเทพฯ ตอนบ่ายก็ลงคะแนนเลือกตั้งที่ปากซอยพร้อมพงษ์หน้าบ้าน ตกเย็นก็ไปลุ้นคะแนนอยู่ที่ที่ว่าการพรรคจนค่ำมืด สายสัมพันธ์ทางธุรกิจการเมืองนี้ ดร.ณรงค์ชัยได้แสดงบทบาทนักวิชาการเต็มที่ ที่ไม่กระทบต่อภาพพจน์จีเอฟ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มาแรง หลังจากนโยบายเปิดเสรีการเงินและประกันภัย จีเอฟก็ตระเตรียมแผนงานล่วงหน้าเพื่อขยายธุรกิจครบวงจรเต็มที่สุดแท้แต่โอกาสช่องทางไหนจะเปิดให้ทำได้ "ใบอนุญาตธนาคารมีความสำคัญตรงที่ ธนาคารสามารถออกตราสารทางการเงิน เช่น เช็ค และเคลียริ่งได้แต่บริษัทเงินทุนอย่างจีเอฟทำไม่ได้ เพราะลองนึกภาพสิว่าจีเอฟถือหุ้นอยู่ในกองทุนรวมออมสิน ที่ต้องจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนแสนกว่ารายทั่วประเทศ สมมุติว่าธนาคารไม่ยอมทำงานนี้ให้เรา ธุรกิจเราก็ลำบากแล้ว" เครือข่ายธุรกิจการเงินครบวงจรจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้กลุ่มจีเอฟต้องได้ใบอนุญาตธนาคารดังคำบอกเล่าของดร.ณรงค์ชัย สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ธนาคารใหม่ของกลุ่มจีเอฟนั้นจะอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานสาขาของ บงล.จีเอฟ ที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางมาก ๆ ขณะเดียวกันที่กรุงเทพฯ สำนักงานสาขาธนาคารใหม่นี้ได้ซื้อที่ดินผืนใหญ่และเตรียมสร้างอาคารไว้แล้วข้าง ๆ ตึกจีเอฟทาวเวอร์ ซอยหลังสวน สิ่งที่จะปรากฎก็คือธุรกรรมทางการเงินของสำนักงานสาขาที่กรุงเทพฯ จะยิ่งใหญ่กว่าสำนักงานใหญ่ในต่างจังหวัดแน่นอน "การตั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคารใหม่ที่ขอนแก่นไม่มีความหมายอะไร เพราะตลาดเงินอยู่ที่ไหน เม็ดเงินก็อยู่ที่นั่น แต่ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบ เราต้องขายหุ้นที่ขอนแก่น 10% ของทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาท เพราะเราเพิ่มทุนเมื่อคราวที่แล้ว สบายใจได้เราเกินเกณฑ์ที่เขากำหนด" แบงก์ใหม่ที่ดร.ณรงค์ชัยเล่านี้แบงก์ชาติอนุญาตให้จีเอฟร่วมถือหุ้นเต็ม 10% และขอผ่อนผันทยอยลดสัดส่วนลงใน 5 ปี ขณะเดียวกันเมื่อโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เช่นธุรกิจประกันชีวิตเปิด กลุ่มจีเอฟภายใต้การนำของดร.ณรงค์ชัยย่อมไม่พลาด เฟ้นหาหุ้นส่วนมืออาชีพในต่างประเทศ และเตรียมพร้อมยื่นเอกสารที่ศึกษาอย่างดีต่อกระทรวงพาณิชย์ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ โดยมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท นอกจากนี้เรื่องค้างคาใจเกี่ยวกับบริษัทเงินทุนเอราวัณทรัสต์และทรัพย์ทวีทรัสต์ ที่จีเอฟ ร่วมกับกลุ่มเสธ.ทวี จุลละทรัพย์ ชนัฎ เรืองกฤตยาแห่งกรีนวัลเล่กรุ๊ป บุญฤทธิ์ ศักดิ์สุวรรณแห่งเมโทรดีเวลลอปเมนท์ ประสบปัญหาขายที่ดินแปลงใหญ่บริเวณรัชดาภิเษกมูลค่าประมาณ 3,000 กว่าล้านไม่ออก ทำให้ต้องเลิกล้มเซ็นสัญญากับธนาคารชาติไปในที่สุด เพราะตามเกณฑ์เดิมธนาคารชาติ คนที่จะเทคโอเวอร์ต้องชำระหนี้ตรงที่ดินเกือบ 200 ไร่ที่มีราคาประเมิน ตร.วาละ 190,000 บาทนั้นก่อน ถ้าขายไม่ได้ก็ต้องลงทุนถึง 5,000 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่คุ้มค่าภายใต้ภาวะผันผวนรุนแรงของตลาดเงินและอัตราดอกเบี้ยใน ครึ่งปีแรก "ที่ดินแปลงใหญ่ราคาตั้ง 3,000 กว่าล้านบาทไม่ใช่ขายกันง่าย ๆ เราพยายามขายอยู่นานหกเดือนก็ขายไม่ออก เงินมันหายาก เราไม่ใช่เจ้าพ่อดาวเทียมนี่นะ" ดร.ณรงค์ชัยเล่าให้ฟังอย่างหยิกแกมหยอก หัวหน้าพรรคบางคน อย่างไรก็ตาม จีเอฟก็ยังแสดงความสนใจต่อเกณฑ์ใหม่ที่ธนาคารชาติยืดหยุ่นและแยกยื่นประมูลสองบริษัทเงินทุนออกจากกัน แทนที่จะซื้อควบแบบทูอินวัน ศึกชิงเอราวัณทรัสต์ครั้งใหม่นี้ แม้ว่าครั้งนี้ จีเอฟจะไม่มีพาร์ทเนอร์กลุ่มเสธ.ทวีก็ตาม "เราต้องขอดูเกณฑ์ใหม่ธนาคารชาติก่อนเพราะแต่ละเกณฑ์เป็นเงินทั้งนั้น ส่วนที่ดินเอราวัณทรัสต์มีความน่าสนใจถ้าหากราคาถูกและเงื่อนไขดีกว่านี้ ทุกอย่างน่าสนใจทั้งนั้นในโลกธุรกิจ ขอให้ราคาเหมาะสม ถ้าหากราคาไม่เหมาะ ต่อให้ที่สวยเพียงไหนก็ไม่น่าสนใจ" ดร.ณรงค์ชัยกล่าวในที่สุด ปีนี้และปีหน้าเป็นปีที่ดร.ณรงค์ชัยต้องเหนื่อยกับการเตรียมงานใหญ่สองงาน คือ งานตั้งธนาคารใหม่ และบริษัทประกันชีวิต อันเป็น "ทางเลือกใหม่" ที่ดร.ณรงค์ชัย "นำจีเอฟ" ขณะเดียวกันบทบาทที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจเพื่อชาติที่กระทำควบคู่กันไปจึงหาข้อสรุปไม่ได้ว่าเวลาทำงานของดร.ณรงค์ชัย ยึดอะไรนำระหว่างธุรกิจกับการเมือง !

กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.