|
หุ้นกู้แปลงสภาพครึ่งหลังปี 2538 จะไปยุโรปหรืออยู่ในประเทศดีกว่ากัน?
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2538)
กลับสู่หน้าหลัก
การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 3 ปีของธนาคารสหรัฐฯ นอกจากจะเป็นปัจจัยที่สำคัญทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับมาคึกคักกันอย่างทั่วหน้า ยังเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นระดมทุนในครึ่งหลังปี 2538 ให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการออกตราสารหนี้ แต่จะเป็นการออกตราสารหนี้ประเภทไหนนั้น วาณิชธนากรต่างมีข้อเสนอที่แตกต่างกัน
วาณิชธนากร จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต ทักษิณ ฉัตรแก้ว ให้ข้อเสนอแนะว่า การออก "หุ้นกู้แปลงสภาพในประเทศ" (BAHT CONVERTIBLE DEBENTURE) เป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในครึ่งหลังปี 2538 และขณะนี้มีกิจการอย่างน้อย ๆ 7 แห่งกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการเสนอขาย จำนวนนี้ประกอบด้วยบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ ที่เพิ่งเปลี่ยนแผนจากเดิมที่ จะออกหุ้นกู้แปลงสภาพเสนอขายในยุโรปหรือ ECD
ตามมาด้วยบริษัททิปโก้ แอสฟัลต์, บริษัท อิตาเลี่ยนไทยที่เตรียมเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพในประเทศมูลค่า 5,000 ล้านบาท บริษัท จีเอสเอสอาร์เรย์ บริษัท สามารถ คอร์เปอเรชั่น และบริษัท เอกโฮลดิ้ง ต่างก็อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอขายหุ้นกู้เงินบาทในประเทศ
"ECD ตอนนี้ตายสนิท" ทักษิณ ให้ความเห็นพร้อมทั้งระบุว่าการออก ECD (Euro-Convertible Debenture หรือ "หุ้นกู้แปลงสภาพเสนอขายและจดทะเบียนในยุโรป" มีต้นทุนสูงมากเฉลี่ยแล้วประมาณ 10-15 ล้านบาทต่อการเสนอขายหนึ่งครั้ง ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการทำ ROAD SHOW ต่างประเทศเทียบไม่ได้เลยกับการเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายเพียง 1-2 ล้านบาท
"ในปัจจุบันนักลงทุนต่างประเทศที่สนใจจะลงทุนตลาดย่านเอเชีย มีข้อมูลในการลงทุนมากพอและมีเครือข่ายอยู่ในนี้แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปเสนอขายถึงยุโรป กรณีการเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพในประเทศของไออีซีเป็นตัวอย่างดีเพราะต่างประเทศก็สนใจลงทุนในสัดส่วนสูง สิ่งสำคัญคือต้องเป็น ผู้ออกต้องมีฐานะการเงินที่ดี และได้รับการจัดลำดับจากทริสในคะแนนสูง" แหล่งข่าวกล่าว
สัดส่วนของผู้ลงทุนในหุ้นกู้แปลงสภาพของบริษัท ไออีซี มูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาทนั้น 45% เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 25% เป็นนักลงทุนต่างประเทศ 14 เป็นนักลงทุนทั่วไป 5% เป็นกองทุนรวมในประเทศ และบริษัทประกันภัย
ที่สำคัญนักลงทุนต่างประเทศ ในปัจจุบันไม่สนใจที่จะลงทุนใน ECD ที่เสนอขายและจดทะเบียนในยุโรป เกือบทุกบริษัทราคาต่ำกว่าพาร์ อีกทั้งนักลงทุนต้องการสิทธิ์ในการขายหุ้นกู้คืน (PUT OPTION) ซึ่งทำให้บริษัทผู้ออกมีต้นทุนเงินที่ต้องสำรองเผื่อมีการขายคืน รวมแล้วต้นทุนไม่ต่ำกว่าการ กู้โดยตรงจากสถาบันการเงิน
"ECD ของบริษัทล็อกซเล่ย์ เป็นตัวอย่างการเสนอขายต่างประเทศแล้วไม่สำเร็จขายได้ไม่หมด อันเดอร์ไรเตอร์ต้องรับเข้าพอร์ตไปจำนวนมาก" แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากเรื่องต้นทุนแล้ว ความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นเรื่องสำคัญ การออกหุ้นกู้แปลงสภาพในประเทศไม่มีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ที่สำคัญในปัจจุบันสภาพคล่องของการซื้อขายหุ้นกู้แปลงสภาพในประเทศเริ่มดีขึ้น เนื่องจากเริ่มมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เข้ามาทำหน้าที่ Market Maker โดยกำหนดราคาและเข้ามาซื้อขายเพื่อสร้างสภาพคล่องในตลาดแล้ว
ในขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เจ.เอฟ. ธนาคม เจ้าตลาดอันเดอร์ไรเตอร์ ECD ในเมืองไทย ยังยืนยันว่า ECD เป็นทางการระดมทุนทางหนึ่งที่ดีที่สุด
"อัตราดอกเบี้ยประมาณ 4-5% เหมาะสำหรับการออก ECD ทั้งในแง่ของผู้ออกและนักลงทุน สำหรับปีนี้เราคาดว่าคงจะออกประมาณ 1-2 หมื่นล้าน แต่คงต้องทยอยออก" มนตรี ศรไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม จำกัด ยืนยัน
มนตรี มองว่านักลงทุนในยุโรปยังมีความต้องการลงทุนในตราสารหนี้จากเอเชียที่ให้ผลตอบแทน 4-5 % สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในแถบนั้นที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2%
ในแง่ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้น จะสามารถระดมทุนได้โดยจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้เงินในประเทศที่ต้องเสียอัตราดอกเบี้ยประมาณ 13.0-13.5% ในขณะที่การออก ECD จะจ่ายดอกเบี้ยเพียง 4-5% รวมกับค่าใช้จ่ายในการประกันความเสี่ยง (SWAP) จากแปลงเงินสกุลอื่นเป็นเงินบาทและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จะต่ำกว่าการกู้เงินจากธนาคารในประเทศ
"การประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นลง ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จาก 6% ลดเหลือ 5.75% นับว่าเป็นผลดีต่อการระดมทุนโดยการออก ECD ซึ่งทำให้บริษัทผู้ออก ECD จะสามารถระดมทุนโดยเสียอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง"
วาณิชธนากร จากบล.เจ.เอฟฯ ตั้งเป้าหมายการเป็นที่ปรึกษาในการออก ECD ไว้ที่ 1-2 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 และ 4 ปีนี้จะมีมากขึ้น โดยจะเป็นการค่อย ๆ ทยอยออกมาทีละราย ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทนำบริษัทไปเสนอขาย ECD ในต่างประเทศแล้ว 12 ราย
มนตรี ชี้ว่าการที่ ECD ของหลายบริษัทที่เจอปัญหาราคาซื้อขายต่ำกว่าพาร์นั้น ขึ้นอยู่กับฝีมือของที่ปรึกษาการเงิน
"ที่ปรึกษาทางการเงินจะต้องคัดเลือกคุณภาพของบริษัทที่จะออก ECD ต้องเป็นบริษัทที่มีความพร้อมในการออก มีผลการดำเนินงานดีและมีชื่อเสียง แต่ในด้านของนักลงทุนเรายืนยันว่าตลาดรองยังให้ความสนใจอยู่มาก ทั้งนี้บริษัทที่จะเป็นที่ปรึกษาจะต้องช่วยกัน เพราะหากออก ECD แล้วขาดทุนมากอาจจะทำให้นักลงทุนเลิกสนใจใน ECD เลยก็ได้"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|