คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ เจ้าแม่แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2536)



กลับสู่หน้าหลัก

คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ เป็นนักธุรกิจสตรีหัวก้าวหน้าคนหนึ่ง ที่ยืนหยัดต่อสู้เกี่ยวกับสิทธิสตรี มาตลอดชีวิต ทั้ง ๆที่ ในวัยเยาว์ ต้องดำรงตนอยู่ในกรอบ แห่งวัฒนธรรม ประเพณีอันเคร่งครัด

คุณหญิงสุภัทรา เป็นธิดาของมหาเสวกตรี พระยาราชมนตรี (สง่า สิงหลกะ) กับคุณหญิง บุกปั่น มีพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกันคือ นายสนองราชบรรหาร ( ชุบ สิงหลกะ) ชวนเธียร ทักษ์ สิงหลกะและสุมิตรา (สิงหลกะ) สุจริตกุล

เมื่อวัยเยาว์ คุณหญิงสุภัททรา ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนราชินี และถวายตัวรับใช้ในราชสำนัก ในฐานะตำแหน่งแรกเริ่ม" คุณพนักงานอยู่ร้าน" มีหน้าที่ตั้งเครื่องเสวย เวลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับเสวยพระกระยาหาร ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีฯ

ความที่เป็นพระกำนัล ใกล้ชิดนับว่าเป็นคดี ที่ทำให้วัยเด็ก ของคุณหญิงสุภัทรา ได้สั่งสม พื้นฐานความรู้ ความสามารถใหม่ ๆ ในช่วงที่อารยธรรม ตะวันตก เริ่มแผ่ขยาย เข้ามามีบทบาท ในวงสังคม ขั้นสูงของไทย ตลอดเวลา ที่อยู่ในวัง คุณหญิงสุภัทรรา ได้รับการศึกษาไปด้วย โดยมีครูเข้าไปสอนทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย พื้นฐานการศึกษานี้เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จทางธุรกิจในเวลาต่อมา

คุณหญิงสุภัทรา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกลาเจ้ายู่หัว เป็นอย่างมาก ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้คำนำหน้านามว่า " คุณ" เมื่อายุ 14 ปี และในคล้ายวันเกิด 25 สิงหาคม ก็ได้รับพระราชทานให้ร่วมโต๊ะเสวย คุณหญิงสุภัทรา ได้รับราชการในตำแหน่งนี้เรื่อยมา จวบจน กระทั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สวรรคต ขณะที่ คุณหญิงสุภัทรา อายุได้ 16 ปี

ในประวัติศาสตร์ ชีวิต " สี่แผ่นดิน" ของคุณหญิงสุภัทรา ผกผันไปตามชะตาชีวิต ที่ได้รับผลกระทบหลังจากการเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตย ใน ปี 2475 เป็นอันสิ้นสุด สภาพของนกน้อยในกรงทอง ซึ่งไปไหนมาไหนแต่ละครั้งแสนยากลำบาก ต้องมีคุณเฒ่าท้าวนางคุมตัวไป

ขณะนั้น คุณหญิงสุภัทรา มีอายุกว่า 18 ปี ได้ออกมาอยู่กับบ้าน และมุมานะ เรียนภาษาอังกฤษและภาษาไทยอย่างคร่ำเคร่ง ขณะที่ช่วยกิจการท่าเรือของมารดา ไปด้วย จนกระทั่งมารดา ถึงแก่กรรม ทิ้งมรดกธุรกิจท่าเรือให้กับธิดาคนเดียว ที่มีอายุครบ 20 ปีบริบรูณ์ดูแล

บรรยากาศความตื่นเต้น ในเสรีภาพ แห่งการแสวงหาความรู้เกิดขึ้น ได้ทำให้ คุณหญิงสุภัทรา ซึ่งขณะนั้น เป็นข้าราชการฝ่ายใน ได้เข้าเรียนต่อจนจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมืองในปี 2477 ขณะนั้นธรรมศาสตร์ โดยไม่จำกัด ว่าจะต้องจบ ม.8 และไม่ผ่านการสอบคัดเลือก

" สำหรับตัวข้าพเจ้า ขณะที่จะเริ่มเข้าเรียนกฏหมาย ในฐานะที่ข้าพเจ้าถูกแวดดล้อม และอบรมด้วยจารีตประเพณี "แบบโบราณ" อย่างเคร่งครัด เจตนาที่จะเข้าเรียนกฎหมาย ของข้าพเจ้า จึงต้องฝ่าอุปสรรค ข้อทัดทาน และการโจมตี อย่าง รุนแรง จากบรรดาญาติมิตรที่เคารพของข้าพเจ้าในเวลานั้น แต่ข้าพเจ้า หาได้ให้เหตุผลตอบข้อทัดทานที่ตำหนิไม่เห็นชอบด้วยกับการที่ผู้หญิงเรียนกฎหมายแต่อย่างไรไม่ แต่ด้วยความมั่นใจว่า การเรียนกฎหมายจะให้ผลดีแก่ข้าพเจ้าอย่างแน่นอน ฉะนั้น จึงไม่ยอม โอนอ่อนต่อข้อทัดทานและสมัครเข้าเรียนวิชากฎหมายจนได้" บันทึกของสตรีนักสู้อย่างคุณหญิงสุภัทรา นายกสมาคม บัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย สี่สมัย ซึ่งเขียนไว้ในบทความ "ผู้หญิงควรเรียนกฏหมาย หรือไม่?" ในหนังสือธรรมศาสตร์บัณฑิต ในปี 2484

ความรู้ด้านกฎหมาย เหล่านี้ ได้กลายเป็นอาวุธทางปัญญา ที่คุณหญิง ได้นำไปใช้ประโยชน์ ต่อสตรีส่วนรวม โดยเรียกร้องให้ มีการแก้ไขกฎหมาย ได้สำเร็จ เช่นสตรี ควรจะมีสิทธิจัดการกับทรัพย์สินส่วนตัวของตนเองได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต จากสามี หรือสตรีที่มีบุตรแล้ว สามารถทอดทิ้งไปอยู่กับอนุภรรยา ควรจะได้รับค่าเลี้ยงดู หรือในปัจจุบันที่ผู้ชายจดทะเบียนกับผู้หญิงได้หลายคน เพราะไม่มีการตรวจสอบ ก็ได้รับการแก้ไข

เมื่อสำเร็จการศึกษา คุณหญิงสุภัทรา ก็ยังคงทำกิจการเดินเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตลอด เริ่มต้นจากเรือจ้างที่มีเพียง 3-4 ลำใช้บ้านเป็นสถานีที่ทำงาน โดยตนเองต้องรับภาระคนเดียว เป็นทั้งผู้จัดการ เลขานุการ และสมุห์บัญชี แต่ปัจจุบัน กิจการเดินเรือ ในนามบริษัท สุภัทราได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเดินเรือในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งนี้

เมื่อหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่กิจการเดินเรือได้เกิดขึ้นจากแนวคิดของมารดา คุณหญิงสุภัทรา เริ่มจาก ใช้เรือพาย และเรือแจว รับคนข้ามฟาก แม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างฝั่งธนบุรี และฝั่งพระนคร

เมื่อสิ้นมารดา คุณหญิงสุภัทรา รับช่วงกิจการ เป็นช่วงที่มีการขยายมาใช้เรือยนต์ เนื่องจาการสัญจร ระหว่างสองฟากฝั่งมีมาก แต่เมื่อเกิดสงคราม โลกครั้งที่สอง กรุงเทพได้กลายเป็นแดนมัจจุราช ที่ชีวิตและทรัพย์สิน ถูกทำลาย ด้วยลูกระเบิด การเดินเรือก็กระทบกระเทือน คนงาน ไม่กล้าเสี่ยงภัย และลาออกกันมาก แต่ชาวบ้าน ก็ยังคงอาศัยบริการนี้

เล่ากันว่า คุณหญิงสุภัทรา ซึ่งขณะนั้น ตั้งครรภ์อยู่ ได้ออกควบคุมเรือเอง
ส่วนกลางคืน สามีรับหน้าที่แทน ทำอยู่เช่นนี้จนกระทั่งสงครามเลิก โดยเก็บค่าโดยสาร คนละ 25 สตางค์

คุณหญิงสุภัทรา เล่าถึงที่มา การใช้สีขาวเป็นสีเรือว่าจุดเริ่มต้นมาจาก การที่บริการเดินเรือข้ามฟากระหว่างท่าพระจันทร์ กับท่าโรงพยาบาลศิริราช ดังนั้นสีขาว จึงให้ความหมาย ถึงบริการรับใช้ อย่างบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับแพทย์ หรือพยาบาล

ในระยะแรก การก่อสร้างโป๊ะท่า เรือของบริษัทสุภัทรา จะสร้างด้วยไม้ คุณหญิงสุภัทรา ได้ให้เหตุผลว่า ความปลอดภัยของชีวิตผู้โดยสาร เป็นเรื่องสำคัญ เท่าที่สังเกตโป๊ะซิเมนต์ พลิกคว่ำ มักจะเกิดโศกนาฏกรรมตายหมู่ แต่การใช้โป๊ะไม้จะอันตรายน้อยกว่า

ในที่สุด กิจการเดินเรือ สุภัทราประสบความสำเร็จ และคุณหญิงสุภัทราได้หมั่นเดินทางไปต่างประเทศเช่นฮ่องกง หรืออิตาลี เพื่อนำควาามคิดใหม่ๆ มาปรับปรุงกิจการขนส่งและเดินเรือ มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ตามสภาวะเศรษฐกิจ เปลี่ยนจากเรือแจว กลายเป็นเรือยนต์แท็กซี่ขนาดเล็ก และพัฒนา กลายเป็นเรือด่วน เจ้าพระยาในปัจจุบัน ขณะที่เรือข้ามฟากก็ยังมีบริการให้อยู่ รวมทั้งขยายอาณาเขตท่าเรือ จากถนนตก-นนทบุรี

นอกจากนี้ คุณหญิง ยังตั้งโรงเรียน สุภัทรา ขึ้น บนเนื้อที่ 3 ไร่ ที่ฝั่งธนบุรี โดยหวังว่า ลูกสาวทั้งสองคน ซึ่งขณะนั้น เรียนด้านครูอยู่ที่สหรัฐ เมื่อกลับมาจะบริหารโรงเรียนนี้ แต่เธอกลับไม่สมหวัง เพราะทั้งสองต่างก็เลือกทางเดินชีวิตของตนเอง

ในอีกด้านหนึ่ง ของชีวิตส่วนตัว ที่เปรียบเสมือน The Dark Side of the Moon คุรหญิงสุภัทราได้แยกทางเดินชีวิตคู่ กับสามี " สอาด มีชูธน" อดีตอธิบดีกรมโรงงาน โดยทั้งคู่ให้กำเนิดบุตรีสองคน คือ สุภาพรรณ และภัทราวดี มีชูธน

สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ปัจจุบันเป็นทายาทธุรกิจที่ดูแลกิจการบริษัท สุภัทรา ขณะที่ภัทราวดี มีชูธน มีวิถีการทำงานอิสระที่แตกต่างออกไป แต่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังในวงการธุรกิจบันเทิง

ชีวิตของกุลสตรี ชาววัง ที่พลิกผันสถานภาพ เป็นนักธุรกิจสตรีที่ต้องตัดสินฉับไว และถูกต้อง สะท้อนถึงบุคลิกภาพ แห่งผู้นำ ของคุณหญิงสุภัทรา ให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่แห่งสัมปทานการเดินเรือ ในแม่น้ำเจ้าพระยาได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งคุณหญิงสุภัทรา มีอายุยืนยาวถึง 83 ปี พร้อมกับตำนานชีวิตของสตรีนักสู้ " เจ้าแม่แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา" คนนี้!!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.